“แสนแสบ” เป็นคลองยุทธศาสตร์ที่ขุดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ขณะไทยทำสงครามยืดเยื้อนานถึง ๑๔ ปีกับญวนที่เข้ายึดครองเขมร โดยขุดคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง เพื่อใช้ในการขนส่งเสบียง ยุทธปัจจัย ตลอดจนกำลังพลให้สะดวกขึ้น โดยเริ่มขุดต่อจากคลองตันที่เชื่อมคลองหัวหมาก คลองบางกะปิ คลองมหานาค และคลองรอบกรุงอยู่แล้ว ผ่าทุ่งบางกะปิไปออกแม่น้ำบางปะกงที่บางขนาก เมืองฉะเชิงเทรา
เมื่อขจัดอิทธิพลญวนออกจากเขมรได้แล้ว คลองนี้จึงกลายเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ ทำให้การเดินทางจากบางกอกไปเมืองแปดริ้วและเมืองปราจีนสะดวกรวดเร็วขึ้นมาก ต่อมาก็มีผู้คนอพยพมาอยู่ตามแนวชายคลอง ขยายพื้นที่ทางการเกษตรออกไป แต่มาดังเพราะเป็นฉากในอมตะนิยายเรื่อง “แสนแสบ” ของ ไม้ เมืองเดิม ซึ่งมี “อ้ายขวัญและอีเรียม” เป็นคู่พระคู่นางที่ดังลั่นทุ่ง และดังมาจนถึงวันนี้ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแล้วครั้งเล่า สร้างทีไรก็ดังทุกที
เมื่อพูดถึง “บางกะปิ” ก็มีข้อสงสัยหลายข้อกับบางนี้ อันดับแรกก็คือชื่อบาง เหตุใดจึงไปทำกะปิกันกลางทุ่ง ต่างกับกะปิทะเลตรงไหน ความจริงเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับกะปิที่ใช้ตำน้ำพริก แต่ย่านนี้มีคนไทยที่นับถืออิสลามมาอาศัยอยู่มาก และอยู่เป็นกลุ่มก้อน จึงเรียกที่อยู่ของตัวเองว่า “กะปิเยาะห์” ซึ่งเป็นชื่อของหมวกที่ผู้ชายใส่ทำละหมาดและใส่ในชีวิตประจำวัน จนถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม แต่ไทยพุทธรู้จักแต่กะปิที่กินเป็นประจำ จึงเรียกกันว่า “บางกะปิ” และเรียกท้องทุ่งเป็น “ทุ่งบางกะปิ” ไปด้วย
อีกเรื่องหนึ่ง ตอนนี้เป็นที่รู้กันดีว่า บางกะปิอยู่ที่ปลายถนนลาดพร้าว ที่ว่าการเขตบางกะปิก็ตั้งอยู่ตรงนั้น รวมทั้งตลาด โรงเรียน ต่างก็มีชื่อว่าบางกะปิด้วยกันทั้งนั้น เดอะมอลล์ตรงนั้นยังมีชื่อว่า “สาขาบางกะปิ” แต่ถ้าไปถามคนรุ่นเก่าที่ยังวนเวียนอยู่กับอดีตเมื่อ ๖๐-๗๐ ปีก่อน (อย่างผู้เขียน) จะบอกว่าบางกะปิอยู่ที่ถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นย่านที่อยู่ของคนรวยและฝรั่ง แบงก์กรุงเทพที่ตั้งอยู่แถวหัวถนนสุขุมวิท ก็มีชื่อ “สาขาบางกะปิ” ส่วนแบงก์กรุงเทพที่อยู่ใกล้ๆที่ว่าการเขตบางกะปิ กลับมีชื่อว่า “สาขาคลองตัน” อีกทั้งคอฟฟีช็อฟของโรงแรมชวลิต ถนนสุขุมวิท ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมแอมบาสเดอร์ ก็ใช้ชื่อว่า “บางกะปิเทอเรส”
ความจริงทั้งย่านคลองตันและย่านถนนสุขุมวิทก็อยู่ในเขตทุ่งบางกะปิด้วยกัน บางกะปิไม่ได้ย้ายบางจากถนนสุขุมวิทไปอยู่คลองตัน แต่ทุ่งบางกะปิกว้างใหญ่ครอบคลุมทั้งสองย่าน กรุงเทพฯขยายเมืองออกทางย่านถนนสุขุมวิทก่อน คนสมัยก่อนจึงรู้จักแต่ทุ่งบางกะปิในย่านนี้ ส่วนทุ่งบางกะปิด้านคลองตันยังเป็นทุ่งนานอกเมือง
ส่วนชื่อ “แสนแสบ” ก็มีข้อสงสัยในที่มาของชื่อเหมือน “บางกะปิ” เช่นกัน ว่า “แสบ” เพราะอะไร รู้กันทั่วไปว่า “แสบเพราะยุงชุมเหลือทน” จากบันทึกการเดินทางของนักสำรวจชาวอังกฤษชื่อ นาย ดี.โอ. คิง กล่าวไว้ว่า
“...คลองนี้ยาวถึง ๕๕ ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯกับแม่น้ำบางปะกง บริเวณที่ราบชนบท... คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์... ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ ...”
เลยเชื่อกันว่าแสบเพราะยุงนี่เอง ทั้งยังมีเหตุผลที่น่าเชื่อ เพราะย่านนี้เป็นที่ราบลุ่มชุ่มน้ำ มีน้ำขังอยู่ทั่วไป น่าจะเป็นแหล่งเพาะยุงได้เป็นอย่างดี
ส่วนข้อสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่งก็น่าเชื่อไม่น้อยไปกว่ากัน ว่าน่าจะเพี้ยนมาจาก “เซนแญป” ภาษามลายู ซึ่งแปลว่า “คลองเงียบ” เป็นชื่อเรียกขานของชาวมุสลิมที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองภาคใต้ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แต่แรกให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่แถววัดชนะสงคราม จนสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อขุดคลองเสร็จแล้ว จึงให้คนกลุ่มนี้มาอยู่ตามแนวคลองที่ขุด คนเชื้อสายมาเลย์เหล่านี้เคยเห็นแต่คลองใกล้ทะเล กระแสน้ำไหลแรง เมื่อมาอยู่ริมคลองที่น้ำนิ่งเพราะมีประตูน้ำปิดอยู่หัวท้าย จึงเรียกคลองนี้ว่า “เซนแญป” พี่ไทยเลยฟังเพี้ยนเป็น “แสนแสบ”ไป
ก่อนจะเชื่อว่าแสบเพราะอะไรแน่ ลองฟังข้อมูลนี้อีกเรื่อง
เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำพิธีเปิดการเดินรถไฟสายตะวันออก กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา ที่สถานีหัวลำโพง เมื่อเสร็จพิธีแล้วเลยเสด็จประพาสเมืองฉะเชิงเทราทางรถไฟ แต่เดิมกะว่าจะเสด็จกลับทางรถไฟเหมือนขาไป แต่เกิดมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรคลองแสนแสบ จึงโปรดให้จัดกระบวนเรือกลับทางคลอง แม้จะไม่เร็วเหมือนรถไฟ แต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงชอบประพาสอยู่แล้ว จึงทรงยอมประทับแรมกลางทางในคลองแสนแสบถึง ๒ คืน และมีพระราชประสงค์จะไปอย่างเงียบๆไม่ให้ใครรู้ เหมือนอย่าง “ประพาสต้น” แต่ความแตกตั้งแต่ตอนเตรียมเรือแล้ว ทรงบันทึกการเดินทางไว้ว่า
“ออกเรือ ๒ โมงกับ ๑๙ นาที เข้าประตูน้ำไม่ช้า เหตุด้วยเป็นเวลาน้ำขึ้น เปิดน้ำไม่ถึงศอกได้ระดับ ตามทางแต่งเครื่องบูชาเสียแล้ว...”
ขณะนั้นอยู่ระหว่างลอกคลองแสนแสบพอดี มีเรือขุด ๔ ลำ ทรงขึ้นตรวจเรือขุดที่มีฝรั่งควบคุมด้วย คืนแรกทรงประทับแรมที่วัดปากบึง ซึ่งทรงบันทึกไว้ว่า
“...ที่วัดนี้มีโบสถ์ฝาก่ออิฐ แต่อยู่ในกลางบึง ซึ่งน้ำแห้งดินแตกระแหง แต่ยังแลเห็นบัวอยู่ มีสิ่งซึ่งเป็นที่น่าสังเกตคือหอจัตุรมุขซึ่งทีเหมือนหอไตรย แต่อาจเป็นพระบาทก็ได้ เพราะไม่มีหนังสือไว้เป็นอันขาด ไม่มีถนนเลย มีพระอยู่แต่ ๓ รูปครึ่ง คือตาบอดเสียองค์หนึ่ง ทำกับเข้าและกินเข้าบนการเปรียญ...”
คำว่า “เข้า” ทรงหมายถึง “ข้าว” แต่ข้อความสำคัญทรงบันทึกขณะประทับแรมในคลองแสนแสบไว้ว่า
“...มาแถบนี้มีที่ว่างมาก มีตัวแมลงมาก แต่ยุงน้อยกว่าบางกอก ความจริงยังไม่เคยกัด แต่เขาว่ามี ข้อกันดารของคลองนี้เรื่องน้ำจืด มีประตูเสียน้ำนอนคลอง แต่ใช้ไม่ได้ด้วยขุ่นค่น ชาวบ้านเขาใช้น้ำบ่อ”
ทรงกล่าวถึงยุงของคลองแสนแสบว่า “ความจริงยังไม่เคยกัด แต่เขาว่ามี” เลยทำให้สงสัยว่า นาย ดี. โอ. คิง รู้จักยุงหรือเปล่า หรือเข้าใจว่าตัวแมลงที่มีมากเป็นยุง
ส่วนที่ทรงว่า “มีประตูเสียน้ำนอนคลอง” ก็แสดงว่าเป็น “คลองเงียบ” น้ำไม่ไหล
นำความเห็นต่างๆในเรื่องที่ “แสนแสบ แสบเพราะอะไร?” ซึ่งเป็นข้อสงสัยกันมานาน ให้อ่านกันเล่น ส่วนจะเชื่อว่า แสบเพราะอะไร ก็เชิญพิจารณากันตามอัธยาศัย