xs
xsm
sm
md
lg

แฟชั่นไทยจะบุกโลก! พิมสิริ นาคสวัสดิ์ ผู้ปลุกปั้น ‘The Parrot’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น่าชื่นชม...“เพลิน-พิมสิริ นาคสวัสดิ์” อีกหนึ่งหัวหอกของวงการแฟชั่นไทยที่ทำให้สาวกแฟชั่นระดับนานาชาติได้สัมผัสกับศักยภาพของเสื้อผ้าแบรนด์ไทย “The Parrot” ด้วยสไตล์การออกแบบที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนร่วมสมัยที่สามารถสวมใส่ไปทำงาน แล้วไปสำราญต่อกับเพื่อนฝูงในเวลาแฮงเอาต์ได้อย่างเก๋ไก๋ไม่อายใคร

สำหรับคนที่หลงใหลในแฟชั่น น่าจะเคยผ่านหูผ่านตาเสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีถ้อยคำ The Parrot หรือ “นกแก้ว” เป็นเครื่องหมายการค้า ว่ากันว่านี่คือแบรนด์แฟชั่นไทยที่กำลังแข็งแรงขึ้นมาทุกขณะ เพราะไม่เพียงได้รับความนิยมจากคนไทยผู้ชื่นชมในแฟชั่น แต่ “นกแก้ว” ตัวนี้ยังโบกปีกบินไปมีชื่อเสียงยังแดนดินถิ่นไกลในระดับเอเชีย และปีกคู่นี้ยังคงไม่หยุดบิน เพื่อนำพาเสื้อผ้าแบรนด์ไทยไปไกลระดับสากล

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของเด็กสาวที่ลุ่มหลงในแฟชั่น แม้ทางบ้านไม่เห็นด้วย อีกทั้งสาขาที่เรียนก็อยู่ในสายสถาปัตย์ แต่เพราะความรักที่มีต่อศิลปะการแต่งกาย ทำให้ “เพลิน-พิมสิริ นาคสวัสดิ์” เลือกที่จะโบยบินตามความฝันในด้านแฟชั่น และ ณ ปัจจุบัน ก็ยากยิ่งที่จะปฏิเสธว่าความฝันของเธอนั้น สว่างไสวยิ่งนัก...

• จุดสนใจแรกเริ่มต่อแฟชั่น มาจากอะไร

จริงๆ เพลินสนใจแฟชั่นมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะว่าแม่แต่งตัวชิกมาก ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ จนคิดว่าแม่เป็นดีไซเนอร์หรือเปล่า (หัวเราะเบาๆ) คือชอบมาตั้งแต่นั้น เพลินชอบแบบ Fast Fashion เพราะว่าขี้เบื่อ เพลินจะไม่ดูพวกงานแฟชั่นที่เป็นแบบรันเวย์ยุโรป หรือ รันเวย์อเมริกา จริงๆ เพลินจะชอบพวก Zara H&M และ Dorothy Perkins เพราะรู้สึกว่า ทำได้ไง เปลี่ยนคอลเลกชันเร้วเร็ว แล้วมันออกมา เหมือนใส่ง่าย ใส่ได้บ่อย ดูดี เลยชอบแนวนี้

ส่วนงานในการออกแบบ เพลินชอบการออกแบบของ J.Crew กับ Zara ซึ่งจริงๆ ซาร่ามันดูน้อย แต่ว่าใส่แล้วดูดีและใส่ได้บ่อย แล้วเขาก็จะออกเร็วมาก นอกจากชอบดีไซน์แล้ว ยังชอบเรื่องความน้อยแต่ชัวร์ว่าดูดี แบบน้อยแค่นี้ แต่ดูดีแล้ว ใครหรืออายุเท่าไหร่ใส่ก็ดูดี และไม่ได้แพงมาก

• ชอบแฟชั่นขนาดนี้ แต่ก็ไปเรียนทางด้านสถาปัตยกรรม มันค่อนข้างแตกต่างกันนะ

เพราะพ่อแม่มองว่า ถ้าเรียนแฟชั่นในสายตาผู้ใหญ่ จะดูแคบไปหน่อย แบบใครก็ทำได้ ก็อยากให้เรียนวิชาชีพนิดหนึ่ง จึงเลือกเรียนสถาปัตย์แล้วกัน อย่างน้อยก็รู้พวกวิศวะบ้าง แต่พอเรียนตรงนั้น ก็ได้เรียนพวกสรีระสัดส่วน ความงาม อันไหนที่เรียกว่าสวยหรือไม่สวย ค่อนข้างเยอะ ก็เลยสนใจมากขึ้น แล้วเราก็เรียน Interior ออกแบบภายใน พอเรียนจบมา ก็ได้ออกแบบพวกร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า ของแบรนด์ต่างๆ ได้เห็นการทำงานในลักษณะนี้ จึงรู้ว่าเขาทำงานกันอย่างนี้เหรอ ก็เริ่มมาจากออกแบบให้เขา ต้องเรียนรู้จากแบรนด์เขาว่ามันเป็นยังไง ต้องออกแบบให้ได้ แล้วไปเรียนรู้วิธีการออกแบบจากเขาอีก ก็เลยสนใจมากขึ้น แล้วมาลองของตัวเอง เพราะว่าต้องมาลองตัดเสื้อผ้าอยู่แล้ว ก็เลยลองดูว่า ถ้าเกิดตัดชุดเดียว ก็ค่อนข้างเปลือง ก็เลยตัดหลายๆ ชุด แต่แพตเทิร์นเดียว มันจะได้ถูกลงหน่อย พอเพื่อนเห็นก็รู้สึกว่าชอบอ่ะ เอาด้วยสิ ก็เลยกระจายๆ กับหมู่เพื่อนก่อน

• แสดงว่าการเรียนสถาปัตย์ ถือว่าได้ออกแบบหลากหลาย

ใช่ค่ะ เพราะว่าเราเข้าใจแบบสามมิติ ค่อนข้างมากกว่าคนอื่น อย่างเวลาเรามองเสื้อผ้า เราจะมองแบบเป็นฟอร์มมากกว่าแค่มองแบบสองมิติ เราอาจจะไม่ได้มองแค่สีแค่ลาย แต่เรามองไปถึงสรีระ การใช้ที่ว่างของเสื้อผ้า มันจะช่วยได้เยอะ และทำให้เราคุ้นเคยกับ material ว่ามันมีอะไรแตกต่างกัน

พอเราเรียนจบมา ก็ยังใช้ศาสตร์นี้ทำงานอยู่ ยังไม่ทิ้งค่ะ ก็คือทำงานออกแบบก่อน แต่ว่าพอมาทำเสื้อผ้า ก็ไม่ได้เข้าออฟฟิศ รับเป็นฟรีแลนซ์เฉยๆ และก็รับเฉพาะงานที่คิดว่ามันไม่นาน เพราะว่าส่วนหนึ่งที่ชอบแฟชั่นมากกว่า เพราะว่ามันนาน กว่างานหนึ่งจะเสร็จ ก็ใช้เวลาเป็นปี แต่เสื้อผ้าชิ้นหนึ่ง วันสองวันก็เสร็จแล้ว ก็ได้เห็นผลงานเร็วกว่า เราก็จะชอบ

• เวลาต่อมา คุณจริงจังที่จะเกี่ยวกับแฟชั่นแล้ว พอลงมาทำเองแล้วเป็นยังไง

รู้สึกว่ามันมีข้อจำกัดเยอะเกินไป ถ้าเราไม่เรียน ก็คือตัวช่างแพตเทิร์นหรือช่างเย็บเขาก็จะบอกว่าแบบนี้ทำไม่ได้ เพราะว่าส่วนใหญ่เขาใช้ประสบการณ์ ทั้งๆ ที่เราเห็นงานเมืองนอกว่า ตรงนี้ไม่ต้องมีรอยต่อก็ได้ ทำไมมันจะทำไม่ได้ เพลินก็เลยคิดว่าไปหาความรู้เองก่อน ไม่งั้นก็จำกัด รายละเอียดก็เป็นไปตามที่ช่างบอก เราจะไปกำหนดตามที่ช่างกำหนดก็ไม่ได้ ก็เลยต้องเรียน

• อธิบายคอนเซ็ปต์ของแบรนด์หน่อยครับ

คือจะเป็น All Day Fashion ค่ะ ก็คือสามารถใส่ได้ตั้งแต่กลางวันจนกลางคืน จริงๆ แล้ว หลักของเราก็คือจะเป็นเสื้อผ้าทำงาน อยากให้ใส่ไปทำงานได้แบบไม่โป๊เกิน ไม่ได้เซ็กซี่เกิน แต่คือชุดเดียวกัน คือสามารถใส่ไปแฮงเอาต์กับเพื่อนๆ ได้ในตอนเย็นค่ะ โดยอิทธิพลมาจากวันหนึ่ง เราเปิดตู้เสื้อผ้ามา ก็มีแต่เสื้อผ้าสำหรับใส่ไปเที่ยว แต่ไม่มีแบบใส่ไปทำงานเลย ก็มีแต่เสื้อไปทำงานธรรมดา เสื้อเชิ้ตกางเกง พอเพื่อนนัดไปต่อ หยิบไปเปลี่ยน ก็รู้สึกนู่นนั่นนี่ กลับบ้านมาเปลี่ยน รถก็ติด ก็คิดว่าแล้วทำไมไม่มีเสื้อผ้าที่ซื้อมาใส่ทำงานด้วยและใส่ออกไปเที่ยวได้ด้วย

• ทราบมาว่า คุณสนใจความเป็นเอเชียมาก เพราะอะไรครับ

เพราะว่าสรีระของฝรั่งกับเอเชียไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ฝรั่งจะเป็นแบบขายาวตัวสั้นโครงกระดูกใหญ่กว่า เพราะฉะนั้น การดีไซน์ก็ต่างกัน แต่คนเอเชียก็จะมีสรีระอีกแบบ ซึ่งอาจจะตัวยาวขาสั้นกว่า ไซส์เล็กกว่า โครงสร้างก็เล็กกว่า เราก็คิดว่าน่าจะมีเสื้อผ้าที่ตอบรับอันนี้ คือจริงๆ ไม่ได้สนใจแค่เอเชีย คือสนใจคนไทย เพราะเรารู้สึกว่า เราอยากทำอะไรก็ได้ที่ให้รู้ว่ามาจากเมืองไทย มีความเป็นชาตินิยมอยู่ คือถึงแม้ว่าจะชื่อแบรนด์เป็นอย่างงี้ แต่ก็ยังมีคำว่า Bangkok ห้อยท้ายอยู่ คือแบรนด์อื่นๆ ก็จะมีชื่อเมืองที่ห้อยอยู่ด้วย แล้วทำไมไม่มีแบรนด์ของคนไทยบ้าง

• แนวคิดนี้มาจากไหน

คือมีความคิดที่เริ่มมาจากวันที่ไปเรียนวันหนึ่ง เขาให้พูดถึงแบรนด์ที่ดังแล้วติดตลาดทั่วโลก จะเป็นในลักษณะอะไรก็ได้ ทีนี้ พอมาถึงเรา ที่เป็นคนไทย ตอนอยู่ในห้อง แต่นึกไม่ออก ที่พูดแล้วทั้งห้องจะร้องอ๋อ ก็เลยคิดว่าทำไมไม่มีเลย ถ้าเกิดวันหนึ่งได้โอกาสทำ แล้วทำให้เขานึกออกแล้วเป็นคนไทย คือตอนนั้นก็บอกไปว่า กระทิงแดง Red Bull เพื่อนร่วมห้องก็ตกใจกันใหญ่ว่า เหรอ เขาไม่รู้ว่าเป็นของคนไทย ประมาณนั้น

• ในระหว่างความทันสมัยกับความคลาสสิก เราเลือกจุดเด่นทั้งสองอย่างนี้มาผสมผสานกันยังไงครับ

เลือกจุดเด่นของทั้งสองฝั่ง คือจริงๆ เทรนด์ที่มาใหม่ มันก็ชอบเอาของเก่ากลับเข้ามากลิ่นอายอยู่แล้ว เหมือนว่าช่วงนี้ก็ฮิตของยุค 1960 กลับมา เพราะฉะนั้น มันก็ต้องมีความคลาสสิกเข้ามาด้วยอยู่แล้ว ซึ่งแค่คนตื่นเต้นว่ามันทันสมัยมากขึ้น แต่ถ้าถามเพลิน เพลินจะนึกถึงการใช้งานเป็นหลักว่าถ้าเขาหยิบตัวนี้ไป เขาใส่ได้บ่อย ใช้ได้อีกนานๆ เพลินก็ว่าคลาสสิกแล้ว เพราะคำนี้มันไม่ใช่สไตล์หรอก แต่มันคือการที่อยู่ไปได้นาน แล้วค่อยใส่เทรนด์ความเป็นสมัยใหม่เข้าไป

• คิดว่าอะไรคือเอกลักษณ์ที่สำคัญของ ‘The Parrot’ ครับ

อาจจะด้วยตัวผ้า ด้วยดีไซน์ผ้าที่ละเอียด คนเอเชียละเอียด ก็อาจจะทำให้เขาชอบด้วย แต่เราก็ไม่ได้เน้นให้ดูเอเชียนะ เราก็ใส่ความเป็นอินเตอร์เข้าไปด้วย ก็อาจจะทำให้เขารู้สึกอะไรแปลกใหม่ ซึ่งจริงๆ เอกลักษณ์นั้นสำคัญ เพราะถ้าไม่มี ก็เท่ากับไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรที่ให้เขามาเลือกเรา แต่ถ้าเรามีเอกลักษณ์ เขาก็จะรู้ว่า ถ้ามันเป็นแบบนี้ ต้องหาที่นี่ ซึ่งการออกแบบของเพลินจะเน้นให้มันมีความเป็นผู้หญิงที่เซ็กซี่แต่ดูไม่โป๊ อาจจะดูเท่แต่เฉี่ยว ไม่ได้เน้นโชว์ผิวหนังมาก เพราะเราเน้นเสื้อผ้าทำงาน

• ในฐานะของคนสร้างแบรนด์แฟชั่นคนหนึ่ง คุณอ่านสถานการณ์แฟชั่นไทยในตอนนี้อย่างไรบ้าง

จริงๆ เรามีทรัพยากรดีๆ เยอะมากเลยนะคะ ตั้งแต่ช่าง ไปจนกระทั่งดีไซเนอร์ ต่อให้ไม่ได้จบมาโดยตรงก็ตาม และอีกอย่าง เรามีลูกค้าที่ชอบแฟชั่นเยอะมาก เมืองไทยเราเป็นเมืองแฟชั่นได้สบายเลย แต่ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องของเด็กๆ เรื่องของผู้หญิง เป็นเรื่องของการแต่งตัว ชอปปิ้ง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ในเมืองไทยและในโลก คือถ้าเขามาช่วย ก็สามารถที่จะผลักดันให้ร้านเสื้อต่างๆ พัฒนาไปได้ไกล ถ้าทำก็อาจจะได้เห็นคนเก่งๆ เยอะขึ้น เพราะอย่างที่บอก มีพร้อมหมด แต่ไม่รู้จะไปยังไง เหมือนกับวงการศิลปะ ที่ยอมรับแต่ไม่ได้มีการสนับสนุน ก็มีไปก็ดี แต่ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น

• แต่เวลาไปคว้ารางวัลก็เฮตาม

ใช่ๆ ก็โชคดีที่มีคนได้รางวัล แต่ก็ไม่มีใครช่วยผลักดันเท่าไหร่ มันมีแต่น้อยและจำกัด ซึ่งเราต้องเป็นส่วนหนึ่งที่จะทลายความคิดกำแพงนี้ให้ได้ เพราะนอกจากผู้ใหญ่และคนทั่วไปแล้ว แฟชั่นมันก็ทำอะไรได้เยอะนะ หลายคนที่ขายเสื้อผ้าออนไลน์ พ่อแม่ก็จะงงๆ ว่าทำทำไม เสียเวลา ไปทำงานดีกว่า ซึ่งถ้าเขาได้รับการสนับสนุน เขาน่าจะไปได้ไกล ซึ่งเราก็เคยโดนเหมือนกัน เพราะที่บ้านก็ไม่ยอม มีกิจการของตัวเอง เขาก็อยากให้มาทำที่บ้าน พอจะมาทำตรงนี้ ก็ไม่แน่ใจ คือใครที่รู้จักพ่อเพลิน (สุรวุฒิ นาคสวัสดิ์ : เจ้าของบริษัท เทคเนค จำกัด) จะเห็นว่าพ่อโหดมากในทางธุรกิจ เขาจะมีแนวทางความคิดที่ชัดเจน เขาเป็นคนเก่งด้วย เขาค่อนข้างมั่นใจว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดี ในเวลาที่ไปยื่นข้อเสนอหรืออะไรที่มันใหม่มากๆ เขาก็จะตั้งคำถามว่ามันจะดีเหรอ

แต่ส่วนตัวเพลินเชื่อว่า ถ้ามันมีอะไรใหม่ๆ มันก็สามารถที่จะทำให้ดีได้ ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีเสมอ เรามีสิทธิ์ที่จะนำเสนอใหม่ๆ ได้เหมือนกัน คืออาจจะมีดื้อกับพ่อบ้าง แต่เขาก็เข้าใจ งั้นลองทำดู ตอนแรกพ่อก็ไม่ยอมนะ เขาให้เราอธิบายไม่รู้กี่สิบรอบ จนเราต้องไปแอบทำ พอทำเสร็จ เขาเริ่มเห็นระหว่างทางว่าโอเค จากนั้นจึงเริ่มมาสนับสนุนเรา บางทีก็ต้องทำเลย

• ความท้าทายต่อไปของคุณคืออะไร

ก็ต้องไปลุยต่างประเทศมั้งคะ แต่ขอไปในประเทศอื่นในเอเชียก่อน จากนั้นค่อยๆ ไปในทวีปต่อไปค่ะ ถือว่าเป็นบทพิสูจน์หนักมาก แต่ถ้าไปได้ ก็พอใจ ไปได้ก่อน แล้วต้องไปได้ดีต่อ ทำให้เขายอมรับที่เราออกไปขาย ให้โอกาสเราไปขาย และนั่นคือสเต็ปถัดไป ถ้าเราได้โอกาสนั้นมา จะทำยังไงที่ทำให้ดีต่อ นั่นคือสเต็ปที่สาม แล้วสเต็ปสุดท้ายคือ ทำยังไงให้รักษามันอยู่ เพราะว่าขายดี มันก็อาจจะไม่ตลอด เราเห็นแบบขายดีแป๊บเดียวก็ไป เราก็ต้องทำให้มันอยู่ไปได้นานๆ




เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช, The Parrot

กำลังโหลดความคิดเห็น