xs
xsm
sm
md
lg

เป็ดพะโล้ชุบชีวิต...“ลี ไว กี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ล้มแรงๆ มาหลายครั้ง กระทั่งคิดว่าฆ่าตัวตาย น่าจะดีกว่ามีชีวิต...เปิดเรื่องราวเร้าพลังแรงใจ “ลี ไว กี” ท่านผู้เฒ่าชาวจีนผู้ดิ้นรนมาทั้งชีวิต จากแรงงานรับจ้าง สู่เจ้าของกิจการที่ปิดฉากอย่างชวนช้ำ ก่อนวาดฝีพายข้ามน้ำข้ามทะเลมานับหนึ่งที่เมืองไทย และชุบชีวิตใหม่ด้วยเป็ดพะโล้เลิศรส ขึ้นชื่อ จนใครต่อใครอยากลิ้มลอง...

“ลี ไว กี” อาจไม่ใช่คนดัง อีกทั้งไม่ใช่ซัมบอดี้ที่มีคนรู้จักมากมาย
แต่ตลอดระยะเวลาอันยาวไกลของชีวิต สิ่งที่เขามุ่งมั่นเพียรพิชิตนั้นน่าชื่นชม

เราอาจเคยได้ยินได้ฟังเรื่องเล่าของเหล่ามหาเศรษฐีลูกจีนที่ปากกัดตีนถีบมาแต่เด็ก พร้อมกับองค์ประกอบเรื่องแบบหอบเสื่อผืนหมอนใบ ข้ามน้ำข้ามทะเล ห่างจากแผ่นดินถิ่นเกิด เพื่อเปิดประตูโอกาสบานใหม่ให้ชีวิต เรื่องเหล่านี้ฟังดูเหมือนเชย แต่จริงๆ แล้วไม่เคยเลย ที่จะเชย...

สำหรับนักชิมผู้ชื่นชอบ บางคนอาจได้ชมชิม “เป็ดพะโล้ยี่ห้ออากี” มาแล้ว
แต่น้อยคนนักจะได้สัมผัสกับรสชาติชีวิตของชายคนหนึ่งซึ่งควรได้รับการประทับตราในฐานะ “นักสู้ผู้ไม่ยอมจำนน”
และนี่ก็คือ เรื่องราวของเขา... “ลี ไว กี”...

ปฐมบทลูกจีนสู้ชีวิต

“พ่อของผมมีอาชีพเป็นหมอดู ซึ่งตาบอดตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ แต่ก็สู้ชีวิตมาตลอด ท่านเป็นคนฉลาดและมองโลกในแง่ดีเสมอ พอมีลูกก็จะสอนว่าให้เรียนหนังสือสูงๆ ชีวิตจะได้ไม่ลำบาก แต่ก็มีอุปสรรคคือมีลูกเยอะ ทั้งหมด 11 คน เสียชีวิตไป 2 ก็เหลือ 9 คน พอผมอายุประมาณ 5-6 ขวบ พ่อก็พาแม่และลูกๆ ย้ายไปอยู่เกาะฮ่องกง เพราะหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า”

ฮ่องกงในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และมันก็ส่งผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้สำหรับคนที่จะโยกย้ายเข้าไปอยู่ โดยเฉพาะจากจีนแผ่นดินใหญ่

“50 กว่าปีก่อน ฮ่องกงเป็นเกาะที่มีการแบ่งแยกระหว่างฝั่งเจริญและไม่เจริญ ระหว่างฝั่งฮ่องกงกับฝั่งเกาลูน สมัยนั้นอังกฤษยังปกครองและรังเกียจคนจีนที่เข้ามา แล้วอีกอย่าง ครอบครัวเราก็เข้าไปแบบไม่ถูกกฎหมาย ต้องหลบอยู่นานกว่าจะได้บัตรรับรอง จริงๆ เมืองจีนกับฮ่องกงก็ไม่ได้ห่างกันมาก แต่ก็เข้าไม่ง่าย เพราะ ตม.เป็นฝรั่ง”

พอเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น อากี ในวัย 13 ปี ตัดสินใจก้าวออกจากห้องเรียนเพราะภาระค่าใช้จ่าย

“ตอนนั้นก็ทำงานรับจ้างครับ เราคิดว่าต้องไปช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ซึ่งจริงๆ ตอนที่ออกมาทำงาน เราก็มีโอกาสที่จะเรียนได้นะ แต่เพราะเราไม่ชอบเรียน อีกอย่าง คนรุ่นเราในตอนนั้น ไม่จำเป็นต้องเรียน อาศัยความขยันก็พอ บวกกับตอนนั้นยังไม่มีการบังคับอายุในการทำงาน แต่ละคนสามารถไปทำงานตามความสนใจได้เลย เมื่อมีเพื่อนมาชวนไปทำงาน ผมก็ไปเลย ไม่ต้องคิด

“เมื่อผมเข้าทำงาน เราโชคดีที่เจออาจารย์ที่สอน ซึ่งเขาเป็นหุ้นส่วนร่วมกับคนเซี่ยงไฮ้ สอนจากประสบการณ์ของเขา สอนทำกระเป๋า สอนให้พูดจีนกวางตุ้ง สอนทุกอย่างในขั้นตอนการผลิต และสอนการใช้ชีวิตในสังคมด้วยว่าต้องทำยังไง คือสอนทั้งวิชาชีพและการวางตัวในสังคม ในการใช้ชีวิต สอนให้ผมรู้จักโต ให้เป็นผู้ใหญ่ จนผ่านไป 2-3 ปี เขาก็บังคับให้ผมไปเรียนหนังสือตอนกลางคืน เรียนภาษาอังกฤษด้วย เพราะอายุ 13 ในตอนนั้น เรียนแค่ ป.5 เอง คือเรียนช้า แล้วไปเรียนตามที่อาจารย์ให้ไปเรียนได้ 2 ปีกว่า เพราะว่างานเหนื่อยหนัก เลยไม่ได้ไปเรียนต่อ"

“แต่พออายุ 19 ปี ผมก็ออกมาตั้งตัว ด้วยการเปิดโรงงานเล็กๆ คือเมื่อก่อน ลงทุนนิดหน่อยก็สามารถเปิดกิจการได้แล้ว แต่ลูกน้องก็แค่ไม่กี่คน พอมาถึงช่วงอายุ 24-25 ผมก็มีลูกน้อง 60 คนแล้ว พื้นที่โรงงานก็ใหญ่ มีทั้งขายในประเทศและส่งออก แต่ต่อมา ยอดขายไม่ค่อยดี เพราะทุกคนก็ประหยัดเงินกัน ออเดอร์ไม่พอที่จะเลี้ยงคน 60 คนได้ คือตอนนั้น ของใช้ฟุ่มเฟือยทุกอย่างก็ขายไม่ออกเช่นกัน ทุกคนต้องประหยัด แล้วเศรษฐกิจตกทั่วโลก แล้วเรารับออเดอร์จากอเมริกาเป็นหลักด้วย เพราะสมัยก่อนตลาดใหญ่สุดอยู่ที่นั่น แถมมาเจอวิกฤตน้ำมัน ช่วงประมาณ 1980 ด้วย ก็ทำให้ต้องปิดกิจการในครั้งแรกไป

สู่มหาเศรษฐี “เครื่องใช้ไฟฟ้า”

หลังจากธุรกิจครั้งแรกปิดตัวไป อากี ก็ยังคงมุ่งมั่นต่อที่จะทำธุรกิจแบบใหม่ เพราะเชื่อว่าตัวเองไม่ได้ล้มเหลวขนาดนั้น บวกกับอายุอานามที่ถือว่ายังหนุ่มยังแน่น ฉะนั้น เรื่องเรี่ยวแรงก็ยังคงมี และประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นจากคราวก่อน ว่าแล้วเขาก็เดินหน้าไปที่ ‘เครื่องใช้ไฟฟ้า’ ที่กำลังเริ่มมามีบทบาทกับครัวเรือน ในช่วงทศวรรษ 1980

“ไม่รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว เพราะว่ายังหนุ่ม เพิ่ง 30 ต้นๆ เอง ไม่กลัวอะไร ก็ยังไปเป็นเซลส์ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่เหมือนกัน แต่ก็นับหนึ่งใหม่ เรียนรู้ทุกอย่าง ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า และภาษาไทย เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าก็เริ่มบูม ประมาณปี 1982-83 ก็เริ่มไต่เต้ามาจากเซลส์ตัวแทนจำหน่าย จากนั้นก็เริ่มตั้งตัว กินเงินเดือน ไปยืนขาย ช่วงนั้นได้เงินเดือน 3,000 เหรียญ ถือว่าเยอะอยู่ แต่ยังไม่มีค่าคอมมิชชั่น คือคนไทยเริ่มที่ไปเที่ยวฮ่องกงเยอะ ตอนนั้นก็เริ่มหัดพูดภาษาไทยแล้ว พอเวลาต่อมา ก็สามารถเริ่มตั้งตัวได้ คือก็เหมือนกับช่วงทำกระเป๋าเลย ค่อยๆ เรียนรู้ไป เพราะใหม่ๆ ก็ไม่รู้จักเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าเลย”

“ตอนนั้นที่สนใจเรียนภาษาไทย นอกจากที่คนไทยมาเที่ยวเยอะแล้ว ด้วยความที่ผมเป็นคนแต้จิ๋วซึ่งสามารถเรียนภาษาไทยได้มากกว่า อย่างบางคำที่ไม่เข้าใจ ผมสามารถใช้ภาษาถิ่นของผม ใช้ถามเขาได้ แล้วคนไทยบางส่วนที่มาซื้อของก็เป็นเชื้อสายแต้จิ๋วด้วย เลยทำให้เรียนรู้ภาษาได้เร็ว”

และด้วยความพยายามของอากี ทั้งในเรื่องการค้าขายและภาษาไทย ที่ค่อยๆ ไต่เต้ามาได้อย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์ที่ออกดอกผล กลายสภาพเป็นเจ้าของกิจการร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่คนไทยจะต้องมาเยือนที่ร้านแห่งนี้ ยามมาเยือนเกาะฮ่องกง

“ผมทำงานหนักได้ 4-5 ปี ก็สามารถไต่เต้าจนเป็นเจ้าของกิจการอีกครั้ง และการบริหารก็ง่ายกว่าโรงงานกระเป๋า เพราะว่าลูกน้องในร้านไฟฟ้ามีแค่ไม่กี่คนประมาณ 6-7 คน รวมออฟฟิศก็ 10 คน บริหารง่ายมาก ไม่เยอะแยะ แล้วทุกวันก็จะมีลูกค้ามาซื้อของหรือดูของเยอะแยะ สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ขายดีในช่วงเริ่มต้นใหม่ๆ จะเป็นทีวีเล็ก ซึ่งเมื่อก่อนจะเป็นขาวดำ ส่งไปขายเมืองไทยเป็นตู้คอนเทนเนอร์เลย จะเป็นแบบ 14 นิ้ว แล้วก็มี วอล์กกี้-ทอล์กกี้, กล้องถ่ายรูปแบบฟิล์มตัวเล็ก ใส่ฟิล์มลงไป, เครื่องเล่นวิทยุแบบวอล์กแมน ซึ่งเป็นตัวนำในช่วงเวลานั้นเลย และเครื่องอินเตอร์คอม กับเครื่องเสียงที่ขายดีมาก

เช่นเดียวกัน ความเป็นอยู่ของอากีและครอบครัว ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามไปกับธุรกิจกิจการด้วย ถึงขนาดที่ตัวอากีเอง ยังมั่นใจด้วยว่า ธุรกิจของเขาจะยั่งยืนตาม ยิ่งมีเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดใหม่ออกมา เขาก็ยิ่งชอบ เพราะจะทำให้กิจการของเขาเติบโตตามไปอีกด้วย

“กิจการในตอนนั้นถือว่าดีมากๆ จริงๆ ร้านก็แข็งแรงมากด้วย แล้วก็ใจกล้า เราก็เติมสต๊อกตลอด ขายไปเติม เติมเยอะเลย แล้วพอช่วงที่มือถือมา แรกๆ ก็ไม่รู้สึกอะไรเลย มือถือมาใหม่ๆ ก็ทำแบบเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า ซื้อมาขายไป ไม่มีอะไรเลย ตั้งแต่แบบยุคกระดูกหมู เครื่องใหญ่ๆ อย่างมากเราขาย ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอะไร ยังได้อยู่ พูดง่ายๆ ก่อนการมี MP3 และโทรศัพท์มือถือเข้ามา เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทันสมัยที่สุดทุกรุ่นทุกแบบ ขายได้และขายดีตลอด จนเรามีสิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายเลย เราสั่งมาขายได้ มีลูกค้าต้องการ เราสามารถเจรจาต่อรองกับยี่ห้อต่างๆ ได้ เราไม่กลัวเลย แล้วยิ่งมีรุ่นใหม่มา ยิ่งชอบด้วย เพราะว่า หากรุ่นเก่าขายไม่ออก แล้วมีรุ่นใหม่มา เรายิ่งขายดีมากเลย พอมีของใหม่มาเรายิ่งขายดีมากเลย อย่างพอมีการใช้งานที่ดีขึ้น เราชอบมาก เพราะว่ามีการขายได้อย่างต่อเนื่อง”

แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง วิวัฒนาการก็มีความก้าวหน้าต่อ แต่ทางตัวอากี หาได้ปรับตัวทันไม่ เขายังคงเชื่อมั่นในตัวเองว่า ยังคงที่จะผ่านพ้นไปได้ เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งนั่นคือสัญญาณเตือนครั้งใหญ่ ที่ทำให้เขาไม่ทันตั้งตัว

“ตอนนั้นคือช่วงหลังปี 2000 ช่วงนี้คือหนักเลย พอถึงไอโฟนรุ่นแรกออกมา ทุกคนแห่กันไปซื้อไอโฟนแทน ของที่มีอยู่ในร้านนี่ขายไม่ออกเลย เหมือนกับวงการเพลงเลย พอฟัง MP3 มากขึ้น คนก็ไม่ไปซื้อของแท้ อารมณ์เดียวกันเลย อย่างของเราก็ตายเหมือนกัน คือเรามีปัญหาอย่างหนึ่งคือ คิดว่า ถ้ามีตัวใหม่ออกมา ยังไงก็น่าจะยังขายได้อยู่ คุณไม่ให้ผมขายใช่มั้ย ผมก็มียี่ห้ออื่นมาขาย แต่ว่าไม่ใช่ หลังจากนั้น ทุกยี่ห้อก็ทำแบบขายทั้งหมดเลย ไม่ให้จัดจำหน่ายเองแล้ว ยิ่งเมืองไทยนะ ถ้าคุณเอาเงินสดไปซื้อ เครื่องไฟฟ้าโตยาก คือตัวเองมีปัญหายังไง ยังยืนยันจุดเดิม สมองคิด แต่ไม่ไปทำ คิดว่าตัวเองเจ๋ง คิดว่าไม่กลัว ช่วงอายุเกือบ 50 ทำไม่กี่ปีก็จะเกษียณ ไม่กลัว สู้อีกไม่กี่ปี คิดว่าอย่างนี้ แต่ปรากฏว่า กำไรไม่มี มีแต่ขาดทุน เร็วมาก เราสู้ไปได้อีก 1-2 ปี เงินค่อยๆทยอยไปหายไป จนเราต้องขายของในบ้าน เพื่อมาพยุงธุรกิจ

• เรียกได้ว่า ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าของคุณ ก็มาถึงจุดวิกฤตแล้ว

ถ้าแบบความรู้สึกที่ยอมนะ จริงๆ ผมรู้สึกนะ ยอมนะ ไม่เสีย เพราะว่าตัวเองมีปัญหาอย่างนึงตรงหน้า คือด้วยความที่เรามีร้านหลาย 10 ปี ไม่มีใครไม่รู้จัก เป็นที่ใหญ่ในวงการ ชื่อเสียงดัง คิดว่าตัวเรายังพอมีอำนาจอยู่บ้าง คิดว่าเรายังเป็นที่รู้จักอยู่ คิดว่าตัวเองมีเพื่อนเยอะ ไม่กลัว อดทนสิ ก็ยังเอาของมาขาย เราก็ยังสามารถเอารุ่นใหม่มาได้ เพราะยังคิดว่าเป็น dealer อยู่ สั่งมาขายได้ คิดอย่างงี้ในตอนนั้น ดันทุรัง

คือรู้ว่าสถานการณ์ยังแย่แล้ว แต่กูก็ยังสู้ต่อ คือสู้แต่เงินไม่พอหมุน ไปขายบ้าน มีเงินไม่พอก็ไปยืมเงินจากเพื่อนมา แรกๆ จะแบบต้องเช็คผ่าน คิดยังไงต่อ อย่างสมมติว่า วันนี้ขายได้ 30,000-40,000 เพราะว่ายอดตก ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่มีล้าน-สองล้านได้ หลังๆ ก็ยอดตกเรื่อยๆ ลูกค้าก็เริ่มมาน้อย เพราะยอดขายให้ลูกค้าน้อยลง แถมยังมีของแค่ไม่กี่อย่างแล้ว สมมติว่า มีลูกค้าเข้ามา 10 คน 7 คนบอกอยากได้ไอโฟน สะท้อนว่า วัฒนธรรมการบริโภคก็เปลี่ยนไป

• แล้วพอมาถึงช่วงยอมแพ้แล้ว ความรู้สึกเสียใจเป็นธรรมดา

คือเรายอมแพ้ตั้งแต่มีคนตีเช็คออกไป ตอนนั้นคือตัวเองเหนื่อยมากแล้ว เครียดจนนอนไม่หลับเลย จริงๆ เราอาจจะสู้ไม่ไหวแล้ว แต่คิดในแง่ดีว่า ไม่เป็นไรลองดู เพราะว่าผมต้องเลี้ยงพี่น้องที่มาอยู่กับผม หลายสิบปี แต่พอมาถึงช่วงปิดร้านจริงๆ ช่วงที่คนมาเอาของออกจากร้าน พอถึงช่วงกลางคืนนะ ความรู้สึกในตอนนั้นคือ เหมือนภูเขาออกจากอกน่ะ ไม่ต้องไปเครียดกับอะไรอีกแล้ว สำเร็จ เคลียร์ พี่น้องผมก็ต่อว่าไม่ได้ เพราะหมดปัญญาแล้วจริงๆ รู้นะ ไม่ใช่ไม่ยอมสู้นะ หมดเกลี้ยงเลย ลูกน้องทุกคนรู้หมด รับผิดชอบถึงนี้แล้วนะ หมดแล้ว วันสุดท้ายที่ปิดกิจการ เรายืนอยู่ในร้าน ถอนหายใจ 1 ที แบบโล่งเลย

• โล่งที่ว่าคือ สบายใจ หรือ พรุ่งนี้จะเอาไงต่อดี

ยังไม่ได้คิด แต่ว่าถึงที่บ้าน นั่งลงไป นั่งอยู่ สมองคิด พรุ่งนี้ทำยังไงวะ ไม่ต้องไปร้านแล้ว ร้านหยุดแล้ว ต่อไปจะเป็นยังไง ผมเอาเอกสาร statement เครดิตการ์ด เป็นหนี้ ล้านกว่า ทุกยี่ห้อเลย แล้วก็นั่งคิด ทำยังไงดีวะ แต่เรายังมองโลกในแง่ดี ไม่เป็นไร พรุ่งนี้ค่อยว่ากันอีกทีนึง ใหม่ๆ ยังไม่ได้คิด อะไรมาก แต่พอไปเรื่อยๆ จริงๆ นอนไม่หลับหรอก ต้องต่อไปทำยังไง แต่นึกไม่ออก เพราะไม่มีปัญญาจริงๆ ไม่มีทางเลย

นับหนึ่งอีกครั้งที่ “เมืองไทย”

เมื่อธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ประสบกับความล้มเหลวด้วยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี พ่วงด้วย ‘ความมั่นใจในตัวเองที่มีมากเกินไป’ ทำให้ อากี กลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัวอีกครั้ง ในวัยเกือบ 60 ซึ่งโดยทั่วไป หากคนอายุขนาดนี้คงยกธงขาวไปแล้ว แต่สำหรับเขายังคงมุ่งมั่นที่จะสู้ต่อไป จนกระทั่งเขาได้เข้ามาที่ประเทศไทย บันทึกในการเป็นเจ้าของกิจการ ก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ณ ดินแดนสยามประเทศ แผ่นดินที่ซึ่งให้ความตอบแทนสำหรับเขาที่จะสู้ในชีวิตต่อไป...

“หลังจากธุรกิจล้ม เราก็รีบหางานทำ ติดต่อว่าใครจะให้เราทำงานด้วยมั้ย หรือจะไปหาของที่เมืองจีนมาขาย แต่โชคดีก็มีอยู่ที่หนึ่ง ที่มีตำแหน่งเซลส์ให้เราทำ ก็เป็นเพื่อนเก่าของผม ซึ่งเขาก็เป็นเซลส์เหมือนกัน แล้วต่อมาก็มาเปิดกิจการเหมือนกัน มี 10 สาขา คือเขาก็ได้ยินข่าวของผมเหมือนกัน เขาก็ยื่นมือมาช่วยผม โดยคิดเงินเดือนแบบพิเศษให้ ดีกว่าคนอื่น แต่เราทำได้แค่ปีกว่า เพราะเขาประสบปัญหาขาดทุน จนตลาดหลักทรัพย์มาเทกโอเวอร์เขา ทำให้ผมต้องออกมา ช่วงนั้นเริ่มมีปัญหา เครียดอีกแล้ว ตัวเองก็เครียดจนผอม นอนไม่หลับ บางทีเป็นถึง 3-4 คืน เริ่มมีปัญหา คิดนั่นคิดนี่ จนเวลาผ่านไปปีหนึ่ง พอพี่ชายทราบเรื่อง ก็ชวนมาเมืองไทย ซึ่งพี่ชายผมตั้งหลักแหล่งอยู่ที่พัทยา เนื้อจระเข้ เขาบอกว่าลองดูแล้วจะหาที่ให้ทำ เราก็โอเค ประมาณช่วงปี 2014”

• ฟังมาว่า เคยมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายด้วย

มีครับ เราไม่อยากอยู่เลย เพราะว่าไม่มีอะไรเหลือเลย แต่บางทีก็คิดอีกแง่ว่า ทำไมโง่วะ คิดจะฆ่าตัวตายทำไม มองโลกในแง่ร้าย ถ้ากูตาย คนอาจจะหัวเราะเยาะก็ได้นะ คือคนไทยรู้จักเราเยอะนะ ถ้าเราตายไป คือยังมีความคิดแบบนี้ยับยั้งอยู่ พอพี่ชายทราบเรื่อง เขาก็บอกว่ามีปัญหาอะไรช่วยได้นะ เขากลับมาก่อน 5 ปี กลับมาก่อนปิดร้าน 2 ปี ซึ่งสมัยก่อนเขาเคยอยู่เมืองไทยเหมือนกัน เขาโทร.มาบอกเราว่า มาเมืองไทยสิ ลองดู ตอนใหม่ๆ เขาบอกว่าเหนื่อยมาก แต่ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว เราก็โอเค เราก็ตามมา เสร็จแล้ว เราก็มาดูงาน คือขายดีมากเลยนะ วันนึงมีทัวร์จีนมาลงเยอะเลย กำไรวันละ 2000-3000 กว่าบาท เราก็เริ่มสนใจ จนต่อมามีขยายสาขา ซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นร้าน อาคาร พี่ชายก็ขับรถพาเราไป ก็เป็นท่าเรือเป็นเต็นท์ เหมือนกับเราขายริมถนน เราก็ไม่เอาเพราะทำใจไม่ได้ ไปปิ๊งข้างถนนอ่ะ อยู่ได้ยังไง ก็กลับไปฮ่องกง หลังจากนั้นอีกเดือน - 2 เดือน ต่อมา พี่ชายก็บอกอีกรอบว่า เริ่มเปิดร้านอาหารนะ ให้มาช่วยนะ เราก็โอเค เหมือนกับไม่อยากปฎิเสธเขา แต่ว่าไม่อยากรับปากอะไร จนกลายมาเป็นร้านนี้แหละ

• อะไรที่ทำให้มาขายเป็ดครับ

จริงๆ คนสำคัญของร้านคือ คุณอ้อย (สุกัญญา หาญอนุชน : หนึ่งในหุ้นส่วนของทางร้าน) เขาทำอาหารเป็น มีพรสวรรค์และพรแสวงด้วย เรารู้จักกันมา 30 ปีแล้ว เป็นเพื่อนของเพื่อน แล้วพี่ชายผมรู้ว่าเขาทำอาหารเป็น ก็ชวนว่าทำร้านอาหารมั้ย คือเมื่อก่อนไปเที่ยวฮ่องกงบ่อย เพราะบริษัทยามีโอกาสให้เขาไป อย่างไปกับหมอหรืออะไร ก็เจอกันตลอด แล้วระหว่างเขากับพี่ชายผมก็คุยไปคุยมาเกี่ยวกับการทำอาหาร เสร็จแล้วพี่ชายรู้ว่าผมมีปัญหา บวกกับรู้ว่าผมกับคุณอ้อยสนิทกัน คือเขาโทร.มาบอกว่าเปิดร้านแล้วนะ ให้ผมมาช่วยร้าน คือตอนมาที่ร้านครั้งแรกนี่คือ ยังติดภาพเก่าๆ อยู่ ไม่ชอบเลย เพราะหนึ่ง ผมทำอาหารไม่เป็น สองร้อน ซึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็เคยมีความคิดที่จะมาเปิดร้านอาหารที่นี่นะ แต่ว่ามันไม่ใช่แบบนี้ จะเป็นแบบภัตตาคาร มีห้องแอร์ แต่พอมาเป็นแบบในร้าน ร้อนมากเลยทำได้ยังไง คือมามองในตอนนั้น ยังมีอคติอยู่ แต่ไปๆมาๆ ก็ไม่อยากให้พี่ชายเสียใจ แล้วตัวเองก็อยากมีอะไรที่ลองดูจริงๆ ก็กลับไปคิดอยู่หลายเดือนเหมือนกัน

พอช่วงนึง ก็มาเจอเพื่อนเก่าที่เป็นไกด์ คนแรกก็มาถามคุณอ้อยว่า หน้าตาคุ้นๆ นะเหมือนรู้จักกัน คุณอ้อยก็ถามกลับว่า ใครล่ะ ผมได้ยินเสียงแถวนั้น เลยเดินออกมาว่า ใช่ครับ อากีเอง จากนั้นเขาก็ซื้อและชิม แล้วก็เชิญชวนให้มากินกัน ทุกคนบอกอร่อยหมด แต่ตัวเองก็ยังไม่มั่นใจในรสชาติของตัวเอง เพื่อนๆ บอกอร่อย ทุกคนก็บอกว่า ใช้ชื่อ อากีเลย เพราะเราก็ยังเป็นที่รู้จักกับคนไทยอยู่บ้าง แล้วถ้าอาหารไม่อร่อย บริการไม่ดี ห้ามใช้ชื่ออากี ซึ่งจริงๆ เราก็ใช้ชื่อปกติ แต่เพื่อนบอกให้เปลี่ยนชื่อ เราก็เปลี่ยนเป็นชื่อเราเลย เพราะมีลูกค้าประจำ แต่ไม่พอ ซึ่งวันธรรมดาอาจจะเงียบ แต่วันเสาร์-อาทิตย์ อาจจะเยอะหน่อย จริงๆ กำไรอาจจะไม่เยอะ ขาดทุนตลอด แต่พอเปลี่ยนชื่อ ผ่านไป 1 เดือน คนเริ่มรู้จักขึ้น แต่พอได้ออกทีวีปุ๊บ เกิดเลย

• การที่ได้มาอยู่เมืองไทยจริงๆ คุณได้เห็นอะไรจากที่นี่ครับ

ได้เห็นน้ำใจคนไทย คนไทยมีน้ำใจมาก คือทั้งรู้จักหรือไม่ก็ตาม อย่างที่บอกไปตอนต้น นี่แหละคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก คนไทยมีน้ำใจเสมอ ผมอยากขอบคุณแผ่นดินไทย ที่ให้โอกาสได้ทำมาหากินอีกครั้ง หวังว่าถ้าจะได้ทำอะไรต่อไป ก็ยินดี คือเราไม่ใช่เป็นคนโลภมาก ซึ่งเมื่อมาถึงจุดจุดนึงในอนาคต เราอาจจะมีอะไรคืนให้สังคม คืออาจจะเป็นโปรเจกต์เล็กๆ ซึ่งเราก็ต้องขอบคุณคุณอ้อยเหมือนกัน คือเราไม่ได้เรียนจากที่ไหน คือเป็นตัวเองนี่แหละ คือไม่เคยเป็นพ่อค้ามาก่อน แล้วพอมากินที่นี่ ลูกค้าบอกว่าอร่อย ก็ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น

• โปรเจกต์ต่อไปของคุณ คืออะไร

โปรเจกต์ต่อไปของผมคือ อยากที่จะทำทัวร์ สาเหตุที่อยากทำทัวร์ คือ เราจะมีความเป็น Service Mind สูง งานขายของที่ฮ่องกง จะเป็นขายของ 2 หมื่น เลี้ยงข้าว 2 หมื่นกว่า คือที่เงินไม่เหลือเก็บ ไม่ได้ซื้อบ้าน เพราะว่าส่วนนึงก็มาจากอย่างงี้ เพราะว่าตอบแทนๆ ทำแล้วมีความสุข ทำจนลืมไปว่า ตกลงฉันขายของหรือเลี้ยงข้าว แล้วก็ช่วยสร้างชีวิตคน ซึ่งตอนนี้อากีสามารถสร้างบริษัททัวร์ได้เลยว่า จะเลือกได้เลยว่า คนไหนมีฝีมือ คนไหนดี เพราะว่ารู้จักกันมา 20-30 ปีในวงการ อันนี้คือต่อจากเป็ด คือถ้าเราทำทัวร์ มั่นใจได้เลยว่า หนึ่ง ไม่เหมือนใคร สอง ไม่หลอกไม่โกงแน่นอน แต่ลูกค้าจะได้พิเศษไม่เหมือนใคร ตอนนี้ใกล้จะเปิดตัวแล้ว รอเรื่องจดทะเบียน คือเราก็มีโปรเจกต์ใหม่มา เพราะเราไม่โง่ที่จะกลับไปเหมือนเก่าแล้ว คือเรายังมองเห็นศักยภาพว่า คนที่มาให้กำลังใจล้นหลาม เพราะฉะนั้น ทุกคนคืออาจารย์ของเราหมด บอกได้เตือนได้เสมอ

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น