xs
xsm
sm
md
lg

“ธงชาติและเพลงชาติไทย..” เป็นเสียงของประพันธ์ หิรัญพฤกษ์ : เปิดตัวเจ้าของเสียงพูด ก่อนยืนตรงเคารพธงชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ธงชาติและเพลงชาติไทย
เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย
เราจงร่วมใจยืนตรงเคารพธงชาติ
ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราช
และความเสียสละของบรรพบุรุษไทย

แปดโมงเช้า เรามีนัด หกโมงเย็น เราก็มีนัด มันคือเวลาที่เสียงแห่งความเป็นชาติประกาศก้อง พร้อมกับถ้อยคำย้ำเตือนถึงคุณค่าของความเป็นชาติ..สามสิบกว่าปีที่ผ่านมา ถ้อยคำข้างต้นเป็นดั่งอนุสาวรีย์ที่ยืนยงคงอยู่ข้างหูของคนไทยมาโดยตลอด เราพาไปทำความรู้จักกับ “ประพันธ์ หิรัญพฤกษ์” เจ้าของเสียงพูดดังกล่าวซึ่งเป็นอดีตผู้ประกาศข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ และเชิญชวนทุกท่านยืนตรงเคารพธงชาติ

สำหรับเราคนไทย คงคุ้นเคยกันดีกับเสียงประกาศขึ้นต้นก่อนการยืนตรงเคารพธงชาติและเพลงชาติในเวลาแปดนาฬิกาตอนเช้า และสิบแปดนาฬิกาในตอนเย็น แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า หลายคนนั้น รู้เสียงแต่ไม่รู้หน้า เราจึงเสาะหาบุคคลผู้เป็นต้นเสียงดังว่ามาให้คุณได้รู้จัก

“ประพันธ์ หิรัญพฤกษ์” ชายชราวัย 74 ที่ปัจจุบัน เกษียนราชการและออกมาใช้ชีวิตเรียบง่าย ขณะที่ยังทำงานรับใช้มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เปิดเผยความเป็นมา ตลอดจนแง่คิดจากชีวิตและการทำงานของคนคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของเสียงอมตะมาตราบกระทั่งทุกวันนี้...

• ขอย้อนถามไปถึงที่มาที่ไปยังไง ก่อนจะได้มาอ่านคำขึ้นต้นก่อนเพลงชาติไทย

เมื่อก่อน ลุงเคยเป็นนักดนตรีอยู่วงสุนทราภรณ์ ก็เล่นดนตรี ตระเวนไปทั่ว แต่มีครั้งหนึ่ง ลุงได้เห็นผู้ประกาศข่าวเขามาดูดนตรี จึงรู้สึกสนใจและลองไปสอบ แล้วลุงก็สอบผ่าน เข้าทำงานรับราชการเมื่อปี พ.ศ. 2510 ที่กรมประชาสัมพันธ์ ในตำแหน่งผู้ประกาศข่าว รวมเวลาที่รับราชการมาก็เกือบ 40 ปี

• เขามีการคัดเลือกอย่างไรหรือคะ ในตำแหน่งของผู้ประกาศสมัยนั้น

ก็สอบธรรมดา มีการแข่งขันกันตามปกติของการสอบเข้าบรรจุข้าราชการ แต่บังเอิญลุงสอบได้ (หัวเราะ) เเต่ว่าครั้งแรกนั้นสอบไม่ผ่าน เพราะเขารับคนเดียว แต่ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2510 เขารับข้าราชการหลายอัตรา ลุงก็เลยสอบได้ (หัวเราะ)

• เพราะน้ำเสียงของเราหล่อชัดเจนหรือเปล่าคะ

ไม่หรอก (หัวเราะ) ลักษณะคุณภาพของผู้ที่เป็นผู้ประกาศของกรมประชาสัมพันธ์ เสียงของวิทยุประเทศไทยมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน คือเสียงต้องทุ้มนิดๆ แต่จุดสำคัญนั้นอยู่ที่การอ่านข่าวที่ลื่นไหล ไม่มีปัญหาของการอ่าน อักขระชัดเจนในภาษาไทย นี่คือสิ่งสำคัญมากกว่า

• ในฐานะที่คุณลุงเคยทำสื่อมาก่อน คุณลองมองสื่อปัจจุบันอย่างไรบ้างคะ

ยุคนี้ทำข่าวยาก เพราะว่าการแข่งขันสูงมาก สมัยก่อนนั้นคนให้ความสำคัญกับสื่อวิทยุเป็นหลัก แต่สื่อสมัยนี้มีการเกิดขึ้นและเติบโตกันอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันกันสูงมาก สื่อจะอยู่ยากขึ้น และอาจจะมีบางสื่อที่ต้องล้มหายตายจากไป เพราะสื่อมักเน้นความฉับไว ความรวดเร็ว แต่จำไว้เสมอว่าความฉับไว ยิ่งมากเท่าไร ความถูกต้องก็น้อยลงเท่านั้น ถึงแม้การทำสื่อในสมัยก่อนจะค่อนข้างช้า แต่แน่นอนว่าข่าวนั้นจะไม่ผิดพลาด

• ยุคหลังๆ มันจะมีวาทกรรมแบบว่า “คุกคามสื่อ” หรือ “สื่อถูกคุกคาม” คุณลุงมองเรื่องนี้อย่างไรคะ

ก็มีนะ คุกคามสื่อ เพราะสื่อกับฝ่ายรัฐมันคือฝ่ายตรงข้าม สื่อพยายามแคะเรื่องนั้นเรื่องนี้ ขณะที่รัฐบาลก็พยายามจะปิด จะเปิดเผยในบางเรื่อง เรื่องนี้ทุกรัฐบาลทุกสมัยเป็นเรื่องที่สื่อกับรัฐไม่มีทางลงเอยไปด้วยกันได้ เป็นคู่กัดกันโดยแท้ เขาเรียกว่ามันเป็นสัจจะ

• อะไรคือหลักในการทำงานสื่อของคุณลุงคะ

เรียนรู้และศึกษา จริงๆ ไม่ว่าอาชีพไหน ก็ควรมีการศึกษาเพิ่มเติม เรียนรู้ต่อสิ่งนั้น อย่างลุงเป็นผู้ประกาศ มันจำเป็นที่เราต้องรู้ให้มาก การเรียนรู้จำเป็นสำหรับผู้ประกาศทุกคน ต้องมีความรู้กว้างขวาง ศึกษาข่าวให้ครบทุกด้าน ผู้สื่อข่าวก็เหมือนกัน ทำไปๆ ความรู้มันจะค่อยๆ สั่งสมมากขึ้นเรื่อยๆ

• ทราบมาว่าลุงได้รับรางวัลเกี่ยวกับการใช้ภาษาด้วยใช่ไหมคะ

ใช่ครับ (ยิ้ม) ได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นรางวัลที่ภูมิใจมาก หลังจากนั้นก็มีการเชิญลุงไปบรรยาย มีคนมาสอบถาม ให้ไปสอนบ้าง ลุงก็พยายามถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังๆ อย่างเต็มที่ที่สุด เพราะภาษาไทยเราคือภาษาหลักที่สำคัญและไม่มีใครเหมือน

• ภาษาไทยเราในมุมมองคุณลุงเป็นอย่างไรบ้างคะ

ลุงมองว่าปัจจุบัน ภาษานั้นมันไปไกลมาก แต่ถ้าให้มองถึงภาษาไทย ลุงคิดว่าเป็นภาษาหลักที่ไม่มีใครสามารถเหมือนได้ ซึ่งถือเป็นความน่าภูมิใจเป็นอย่างมากที่เราเกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย ได้ใช้ภาษาไทย เพราะไม่ว่าเราจะไปไหนจะใช้ภาษากลางเป็นภาษาหลัก ไม่ว่าคนเหนือจะพูด คนใต้จะพูดหรือคนอีสานพูด เราก็ฟังกันรู้เรื่อง มันคือความภูมิใจอย่างมาก แม้จะมีภาษาที่เกิดขึ้นมาใหม่ด้วยวัยรุ่นเราสรรสร้าง แต่มีการเกิดขึ้นได้ ก็มีการตายลงได้ของคำเหล่านั้น

• คำว่าชาติไทยกับคนไทยสมัยนี้ คุณลุงมีความคิดอย่างไรบ้างคะ

คำว่าชาติ ในสังคมมันมีความแตกต่างกัน เพราะถึงแม้จะเกิดในประเทศเดียวกัน แต่ความคิดความอ่านอาจจะต่างกัน แต่ถ้าให้พูดถึงชาติแล้ว เชื่อได้ว่าคนไทยเรานั้นคือหนึ่งเดียว เพราะชาติและความเป็นชาติ ไม่ว่าจะอย่างไร ชาติไทยมันก็ยังคงอยู่ ถึงแม้จะมีความเปลี่ยนแปลงยังไง ชีวิตแบบไทย หาที่ไหนก็หาไม่ได้หรอก ชีวิตแบบไทย กินอย่างไทย อยู่อย่างไทย พูดอย่างไทย หาไม่ได้ในที่อื่นๆ แล้ว สิ่งที่น่าภูมิใจอย่างหนึ่งคือ สังคมไทยเป็นดั่งสังคมแบบเครือญาติ เจอหน้ากันถึงแม้ไม่รู้จักกัน ก็เรียกพี่ ป้า น้า อา ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกัน นี่คือลักษณะของสังคมเครือญาติ เป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นจุดเด่นของไทยเรา

• ถามถึงจุดเริ่มต้นที่มาของการได้ไปเป็นผู้อ่านคำขึ้นต้นก่อนเคารพเพลงชาติหน่อยค่ะว่าเป็นมาอย่างไร

ความจริงแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2524 ภายหลังการปฏิวัติ คุณสุรินทร์ แปลงประสบโชค ผู้อำนวยการช่อง 11 ยุคนั้น เขาเป็นคนเขียนคำนี้ขึ้นมา แล้วให้ลุงเป็นคนอ่าน ออกอากาศตั้งแต่ปี 2524 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ แต่เมื่อปี 2554 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเขาจะออกรายการรวมการเฉพาะกิจ จึงมาจ้างให้เราไปอัดเสียงใช้ข้อความเดิมแต่เอาเสียงใหม่เอา คือเสียงเราปัจจุบัน ก็มาออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา

• คนมักจะพูดว่านี่คือเสียงที่เป็นอมตะ

ไม่หรอกครับ ใครมาพูดก็สามารถเป็นอมตะได้ แต่ลุงโชคดีได้รับเลือกให้มาพูด ใครที่มาพูด แล้วเราได้ฟังทุกวันๆ มันก็เป็นอมตะได้นะ (หัวเราะ) แต่ก็คิดเหมือนกันนะว่า ไม่รู้เขาจะเปิดฟังกันไปถึงตอนไหน (หัวเราะ) ไม่แน่นะว่า พรุ่งนี้เขาอาจเปลี่ยนแล้วก็ได้ ลุงไม่รู้อนาคต (ยิ้ม)

• ลุงมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง เมื่อเสียงเราเป็นเสียงที่คนได้ยินกันทุกเช้าทุกเย็น

ก็อดภาคภูมิใจไม่ได้ มันความเป็นจริง (ยิ้ม) เช้าแปดโมงก็ได้ยินเสียงเรา หกโมงเย็นก็ได้ยินเสียงเรา ภูมิใจมากตรงที่คนเราเกิดมาชาติหนึ่ง ได้ทำงานระดับชาติ ได้ทำงานเพื่อประเทศของเราขนาดนี้ มันคือสิ่งที่จารึกในใจตลอดมา

• หลายคนมักถามว่าทำไมถึงต้องมีคำอ่านก่อนเพลงชาติไทยจะขึ้น

เพื่อให้คนได้รู้ว่า ทำไม เราต้องยืนตรงเพื่อเคารพธงชาติไทยและเพลงชาติไทย

• หลากคนหลากความคิด และหลายคนก็สงสัยว่าทำไมเราต้องยืนเคารพเพลงชาติ คุณลุงคิดอย่างไรบ้างคะ

มันก็เป็นความคิดของเขา แต่ในความคิดของลุงคือการได้หยุด ได้คิด บางคนยืนไม่พอร้องตามเลย อินไปมาก (ยิ้ม) แต่ว่าในส่วนของลุง มันก็ดีอย่างหนึ่ง ให้หยุดแล้วคิด เมืองไทยของเรา ชาติไทยของเรา เราโตมาเพราะบรรพบุรุษได้สร้างสมไว้ ก็เป็นความดีอย่างหนึ่ง ส่วนบางคนที่ว่าไม่จำเป็น ก็แล้วแต่เขา เพราะมันก็ย่อมจะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จะให้คนคิดแบบเดียวกันหมด มันคงไม่ได้หรอก คนเราพื้นฐานมันมากันคนละอย่างครับ

เรื่อง : อนงค์นาฏ ชนะกุล
ภาพ : ศิวกร เสนสอน

กำลังโหลดความคิดเห็น