xs
xsm
sm
md
lg

จ้ำบ๊ะ ตำนานเปิดหวอในงานวัด กลับกลายมาหวานชื่นใจ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

ร้านจ้ำบ๊ะ ประเภทหวานเย็นชื่นใจ
ในสมัยเมื่อ ๖๐-๗๐ ปีก่อน จะมีการแสดงอย่างหนึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เรียกกันว่า “จ้ำบ๊ะ” งานวัดทั้งหลายจะขาดการแสดงประเภทนี้ไม่ได้ แม้แต่งานภูเขาทองและงานวัดเบญจมบพิตร ซึ่งเป็นงานใหญ่ของปี ก็ยังมีจ้ำบ๊ะอยู่หลายโรง

การแสดงระบำแบบจ้ำบ๊ะ ไม่ต้องใช้ศิลปะใดๆ ผู้แสดงหน้าตาก็ดูจะหาสวยยาก นุ่งผ้าสั้นๆไม่ใส่ชั้นใน ออกมาเต้นหน้าเวทีให้คนดูที่นั่งต่ำกว่าเห็นวับๆแวมๆ พอได้จังหวะก็เปิดให้เห็นอย่างอล่างฉ่าง ทำให้คนที่อยากเห็นของดีที่มีอยู่ทั่วไป แต่หาดูยาก พากันเฮกันลั่น แต่ที่เห็นกันอย่างเต็มตานั้น ก็ไม่ได้เห็นของจริงอย่างจะแจ้ง ส่วนมากจะพอกแป้งหรือดินสอพองไว้จนขาวโพลน แต่ก็พออาศัยทำให้ตื่นเต้นได้

โรงระบำจ้ำบ๊ะจึงมีแต่ผู้ชายเป็นคนดู และมี ๒ เวที เวทีหนึ่งเป็นเวทีการแสดงอยู่ในโรง ที่ต้องเสียเงินเข้าไปดู มีเก้าอี้สำหรับคนดูตั้งเป็นแถวๆ บางโรงก็ไม่มีเก้าอี้ ให้ยืนดูกันก็ไม่มีใครรังเกียจ อีกเวทีหนึ่งอยู่หน้าโรง สำหรับโฆษกออกไปประกาศเชิญชวนคนดู และพูดเหมือนนักเลือกตั้งสมัยนี้ไม่มีผิด โฆษณาว่าผู้หญิงที่จะมาเปิดให้ดูนั้นล้วนแต่สาว ขาว สวย อวบอั๋น ซึ่งเป็นรสนิยมของยุคนั้น แต่กลับหาความจริงไม่ได้ ส่วนใหญ่มักเป็นแม่ลูกอ่อนหรือเด็กๆ

คนที่ชอบดูจ้ำบ๊ะจะมีอาแป๊ะแก่ๆเป็นแฟนอยู่ไม่น้อย โฆษกจึงมักโฆษณาเป็นภาษาจีนด้วย ยังจำได้อยู่ประโยคหนึ่งที่ว่า “ชีชีแปะแป๊ะ เจ้กนั้งเจ้กพวด” และก่อนการแสดงแต่ละรอบ จะมีคนออกไปเต้นเป็นหนังตัวอย่างบนเวทีหน้าโรง ทิ้งท้ายด้วยการ“เปิดหวอ”ล่อคนดู พอการโชว์ช่วงนี้จบ ตนดูก็จะตามเป็นขบวนเข้าไปในโรง การแสดงรอบนั้นจึงเริ่มขึ้น

ค่าดูจ้ำบ๊ะคนละ ๑-๒ บาท แม้ผู้หญิงที่แสดงจะหาหน้าตาสวยยาก แต่ก็มีคนนิยมดูกันไม่น้อย เพราะไม่ได้เข้าไปดูหน้า จ้ำบ๊ะจึงระบาดไปทั่วทั้งงานเล็กงานใหญ่ ตั้งแต่งานฉลองรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นงานใหญ่ที่สุดในรอบปี จนถึงงานวัดทั่วไปก็ต้องมีจ้ำบ๊ะ

ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นคนริเริ่มจัดแสดงจ้ำบ๊ะขึ้นก่อน แต่ก็คาดว่าคงไม่พ้นไปจาก ๒ คนนี้ คือ นายหรั่ง เรืองนาม ซึ่งเป็นเจ้าของคณะ “ระบำมหาเสน่ห์” ที่โด่งดังของยุคนั้น เปิดแสดงที่ ๙ ชั้นเยาวราชก่อน ตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงย้ายมาเปิดวิกที่ตลาดบำเพ็ญบุญ ตรงข้ามศาลาเฉลิมกรุง ส่วนอีกคนก็คือ นายเปรื่อง เรืองเดช ซึ่งเป็นราชาระบำโป๊ยุคนั้นเช่นกัน นสพ.สยามนิกร ฉบับวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๙๕ รายงานว่า ในงานฉลองรัฐธรรมนูญปีนั้นซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่ที่สนามหลวง มีจ้ำบ๊ะถึง ๔-๕ โรง ส่วนใหญ่เป็นของนายเปรื่อง เรืองเดช เหมาเป็นราชาจ้ำบ๊ะ

ก่อนหน้านั้น งานประจำปีต่างๆจะมีละครลิงเป็นดาราเด่นของงาน แสดงกันทั้งกลางวันกลางคืนจนลิงง่วงตกเวทีก็มี แต่พอมีจ้ำบ๊ะเกิดขึ้นละครลิงเลยเฉา นอกจากนี้ งานประเภทนี้ยังสรรหาของแปลกพิสดารมาแสดงกัน อย่าง เมียงู คนสองหัว เงือกสาว กระสือสาว และอีกหลายอย่างที่ไม่มีทางเป็นของจริงไปได้ แต่ก็ยังมีคนเสียเงินเข้าไปดูให้หายสงสัย แม้แต่คนหรือสัตว์พิการต่างๆ ก็ยังเอามาแสดงเก็บเงินในงานวัดได้

การแสดงของแปลกๆแบบนี้ บางอย่างที่คนแสดงเป็นหญิงสาว ก็มีจุดขายที่ล่อให้ผู้ชายสนใจยิ่งขึ้นไปอีก คือให้คนดูจับต้องลูบคลำได้ อย่างเมียงู โฆษกจะมีลูกเล่นประกาศให้น่าสนใจว่า

“สองเท้าก้าวเข้ามา บาทเดียวดูเพลินไม่มีอะไรเกินเมียงู ลูบได้คลำได้ แต่อย่าเอาไม้แหย่รู...”

ส่วนเวทีมวยก็มักไปตั้งอยู่ใกล้โรงจ้ำบ๊ะ อาจจะถือเป็นย่านท่องเที่ยวของผู้ชาย โฆษกเวทีมวยเลยได้ลูกเล่น หันไปบอกทางเวทีจ้ำบ๊ะว่า

“จ้ำบ๊ะหยุดแสดงเดี๋ยว มวยจะเริ่มชกแล้ว นักมวยใส่กระจับไม่ได้...”

จ้ำบ๊ะได้รับความนิยมมากในยุคนั้น แม้แต่โรงงิ้วเยาวราชก็หันมาเปิดแสดงจ้ำบ๊ะ งานวัดทั้งหลายก็ไม่ยอมขาดจ้ำบ๊ะ พระเณรพลอยได้เห็นหนังตัวอย่างที่เต้นล่อคนอยู่หน้าโรงไปด้วย ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นทุกที สภาวัฒนธรรมได้ขอร้องให้สถานีวิทยุต่างๆนำเพลงที่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยมาเปิด เพื่อรณรงค์ต่อต้านจ้ำบ๊ะ ในที่สุดจ้ำบ๊ะก็เป็นของต้องห้าม ถูกสั่งให้เลิกโดยเด็ดขาด

จ้ำบ๊ะหายจากสังคมไทยไปนาน จนคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักจ้ำบ๊ะ ปัจจุบันมีการแสดงในลีลาแปลกๆจากต่างประเทศเข้ามา เช่นในชื่ออะโกโก้ โคโยตี้ เต้นประกอบเพลงเร้าใจในลีลายั่วยวน โดยนุ่งน้อยห่มน้อย หรือไม่นุ่งไม่ห่มเลยก็มี จนเข้าขั้นลามกอนาจาร คำว่า “จ้ำบ๊ะ” เลยถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีก เปรียบเปรยว่าการแสดงเหล่านี้ ลามกอนาจารไม่ต่างไปจากจ้ำบ๊ะในอดีต

ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ยังรู้จัก “จ้ำบ๊ะ” อีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่ระบำลามกอย่างในสมัยก่อน แต่เป็นขนมหวานดับร้อนชื่นใจ ทำด้วยน้ำแข็งไส โปะไปบนขนมปังหรือปาท่องโก๋ที่หั่นเป็นชิ้นพอคำ แล้วราดด้วยน้ำหวาน ซึ่งส่วนมากจะใช้สีแดง โรยด้วยนมข้นหวานแต่งหน้า แต่ก่อนก็เรียกกันว่า “ขนมปังน้ำแดง” แต่ตอนนี้กลับเรียกว่า “จ้ำบ๊ะ” ซึ่งต่างกับ “จ้ำบ๊ะ”ในสมัยก่อนไปคนละเรื่องคนละแคว ไม่รู้ว่าแปรไปได้ยังไง
บรรยากาศงานวัด
จ้ำบ๊ะยุคใหม่
จ้ำบ๊ะรูปแบบใหม่ ไปคนละเรื่องคนละรส
กำลังโหลดความคิดเห็น