xs
xsm
sm
md
lg

“รถซิ่ง..ไม่ใช่โจร” จริงไหม? ฟังขาใหญ่ “แดงสติ๊กเกอร์” ผ่าตัดมาตรา 44 กรณีรถซิ่ง-รถแต่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คล้อยหลังเสียงประกาศใช้อำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งปรามเด็กแว้นควบคุมการแต่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ก็ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวบทกฎหมายสำหรับกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวางทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์

“รถซิ่ง..ไม่ใช่โจร”
“แต่งรถ ไปฆ่าใครหรือ...”
“แต่งรถ ผิดตรงไหน”
ฯลฯ

และในทางปฏิบัติก็เกิดการต่อต้านด้วยการประท้วงปิดถนนในบางพื้นที่ เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนพิจารณาข้อกฎหมาย การบังคับ ที่ทำให้สิทธิ์ “คนรักรถ” ชื่นชอบในทรวดทรงบอดี้โค้งเว้าของสี่ล้อหายไป และถูกมองไม่ต่างอะไรกับอาชาญกรกระทำความผิดคนหนึ่งเพียงเพราะดัดแปลงสภาพรถยนต์ แม้ว่าล่าสุดจะมีความคืบหน้าดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีบทสรุปที่แน่ชัดในการแก้ไขยุติปัญหาหรือทางออกของทั้งสองฝ่ายนี้ได้ในเร็ววัน

ท่ามกลางประเด็นสังคมที่มองค่อนไปในทิศทาง “รถแต่ง” เท่ากับ “รถซิ่ง” ในสายตาของคนทั่วไป เราเดินทางไปหารุ่นใหญ่ของแวดวงสี่ล้อซึ่งมีศักดิ์ระดับ “ป๋า” และระดับ “พี่” แห่งวงการ ซึ่งออกมาร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง เป็นอีกหนึ่งแง่มุมที่น่าสนใจจากคนในแวดวงรถ

“แดงสติ๊กเกอร์” หรือ “วิชัย นุชพุ่ม” และ "อาร์ท-ภีมวัชช์ นุชพุ่ม" สองพ่อลูกช่างสติกเกอร์เลื่องชื่อลือนามลำดับต้นๆ ของประเทศไทยที่ไม่มีใครในวงการไม่รู้จัก เพราะในแวดวงรถแต่ง ไม่ว่าจะเพื่อสวยงามหรือจะซิ่งจะแข่ง ขนาดไฮโซคนดัง ทีมสิงห์สองพี่น้อง "ต๊อด-เต้ ภิรมย์ภักดี" รถสวยคู่ใจของนักการเมืองชื่อดังอย่าง "เนวิน ชิดชอบ" กระทั่งเจ็ตสกีของ "เจ เจตริน" ไปจนถึงเฮลิคอปเตอร์ในฉากหนังฮอลลีวูด อาทิ Hangover 2 และโฆษณา AXE PEACE พูดง่ายๆ คืออะไรที่เกี่ยวกับความเร็ว แรง ความชอบของผู้ชาย ล้วนแล้วแต่มีเขาผู้นี้เป็นส่วนหนึ่งประกอบอยู่ทั้งสิ้น

กว่าหลักเรือนหมื่นเรือนแสนกว่าคันที่ผ่านมือสองข้างกว่า 40 ปี จากความรักความชอบทำให้กลายเป็นคนแรกๆ ของเมืองไทยที่ก่อร่างสร้างอาชีพ "สติกเกอร์" ทั้งเกียรติประวัติที่ผู้คนนับถือและมีให้ คงไม่ได้มาเพราะฝีมือการบรรจงเสริมสวยเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการกระทำที่จริงใจ ทั้งในแง่จรรยาบรรณทางอาชีพ และความเป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกอาบน้ำร้อนมาก่อนแนะนำสิ่งต่างๆ ให้กับเด็กรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่รักในทางนี้

ดังนั้น เมื่อเกิดความไม่เข้าใจ ความเห็นต่าง ความคิดและการกระทำที่เห็นว่ามีทางออกที่ดีกว่า จึงเชื่อว่าคำแนะนำในบทสัมภาษณ์ถัดจากนี้ไปจะเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่มากไม่น้อยเป็นตัวเชื่อมบรรจบพร้อมกับชี้ช่องทางออกให้กับคนรัก(แต่ง)รถ

 จากที่มีข้อกฎหมายควบคุมออกมาแล้ว สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง

วิชัย : ต้องออกตัวก่อนว่าเราไม่ได้ว่าใคร เราเพียงแต่ต้องการจะสื่อสารเพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับทุกฝ่าย เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้น มันเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดจุด ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วมันจะเกิดปัญหาตามมาอีก ดังนั้น เราต้องหาคนที่จริงใจแล้วก็แก้ปัญหา และค่อยแนะนำเขาไป คือบอกเลยว่าพวกวัยรุ่น ถ้าเขายิ่งมีปัญหากับเรา เขาจะตอบโต้เรากลับอีกเยอะเลย จะจับๆ เดี๋ยวเราไปทางโน้น ไปกวนทางนี้ คือเป็นความสนุกของเขาไปแล้ว ไม่มีใครยอมใคร สมมติคนนี้โดนจับ เพื่อนกูโดนๆ เดี๋ยวไอ้คนนั้นก็ออกไป มันก็จะเป็นอย่างนี้ตลอดที่เราจะเจอะเจอมา พอหลังๆ มันก็เริ่มมีการจะปิดถนน คือรวมไปกันหมด ที่ออกมาพูดที่เราต้องการให้แยกแยะ ให้เขารู้ว่าอะไรเป็นอะไร

ภีมวัชช์ : จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ผมมองว่าเริ่มเบาลง คือขณะนี้ที่ได้มีการพูดคุยในบางส่วนตามสื่อ โมเมนต์มันเริ่มเปลี่ยน ส่วนหนึ่งจากตอนแรกที่คิดกันว่ามาตรการที่ออกมาควบคุมคงแข็งโป๊ก อย่างเรื่อง ดิสก์เบรก เรื่องเกจ์วัด หรือการจับรูปแบบต่างๆ เริ่มแรงขึ้น แม้แต่ข่าวที่แชร์ในเฟซบุ๊กถึงรถที่โมดิฟายเพื่อใช้งานเข้าป่าถ่ายสารคดีก็ยังโดนจับ ตอนแรกๆ มันก็ส่อเค้าไปในทางที่แย่ลงไปเรื่อยๆ แต่พอช่วง 2 - 3 วันที่ผ่านมา มันก็มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความเข้าใจ ไม่ว่าจะทั้งสองฝั่ง คือทางฝั่งเจ้าหน้าที่เขาก็เริ่มที่จะไม่ได้เห็นแค่ว่าดิสก์เบรกแล้วจับเลย เขาเริ่มมีการอธิบายที่ชัดเจนขึ้น ไม่ได้แข่งบนท้องถนน แต่งแต่ไม่ซิ่งไม่จับ จะจับพวกแข่ง ก็มีการตีโจทย์ให้แตกมากขึ้น ส่วนฝั่งของนักแต่งรถ เขาก็ได้รับการอธิบาย ก็ทำให้เข้าใจกันบ้าง

แต่ทีนี้ ประเด็นหลักที่มันผิดที่มันเข้าใจก่อนหน้านี้ มันกลายเป็นการแบ่งแล้ว คือแบ่งในที่นี้หมายความว่า บางคนก็ออกมาบอกว่า "ผมไม่ได้แต่งรถนะ" "ผมไม่ได้ยุ่ง" "ผมไม่ได้ซิ่ง...ไอ้คนซิ่งไม่เกี่ยวกับผมนะ" เริ่มโยนกันแล้ว ซึ่งนั่นเป็นปัญหาหลักของการจะแก้ไขเรื่องทั้งหมด เพราะ ณ วินาทีนี้ มันต้องรับผิดชอบ ร่วมมือกัน คนในวงการทุกส่วนต้องพยายามช่วยเหลือ หรือลด หรือทำความเข้าใจ มันก็ต้องมีการรับผิดชอบ สนับสนุนกัน เนื่องจากมันเป็นองค์รวมที่เราต้องจับมือกันในการแก้ไข

 ใช่ไหมว่า ตัวบทกฎหมายมีความชัดเจนและเป็นที่เข้าใจยอมรับกันได้แล้ว

ภีมวัชช์ : ตัวบทกฎหมายก็ส่วนหนึ่ง เพราะอย่างที่เขาบอกออกมาว่ากรณีนี้จะไม่จับ แต่พอเข้าด่านถูกจับ ซึ่งสาเหตุก็เป็นประโยคยอดฮิต บอกว่าดัดแปลงสภาพ เราจะโดนกันประจำ ไม่ว่าจะใส่ล้อ ใส่เบรก เราก็อยากทำให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นมันก็จะมีความขัดแย้งอย่างที่ผ่านมา คือถ้าจะมีให้ชัดเจน ติดป้ายเขียนไว้อ่านให้เข้าใจก่อนถูกจับ ท่อดังเท่าไหร่ ต้องวัดจากระยะกี่เมตร เพราะเราต้องยอมรับว่าท่อที่เปลี่ยนสุดท้ายมันต้องมีเสียงที่ดังอยู่แล้ว ยังไงมีเกินครึ่งที่ต้องผิด แต่ความผิดนี้มันไม่ได้รุนแรงจนก่อกวนเกินไป เพราะบางคนเขาก็เปลี่ยนเพื่อเอาความสวยงาม เขาก็ไม่ได้ไปก่อกวน ไปซิ่งก็มีเยอะ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นชัดๆ ก่อนหน้านี้เรื่องของการเปลี่ยนสีทูโทน ต้องแจ้งเรื่องเปลี่ยนให้ตรงกับเล่ม ไม่เช่นนั้นโดนจับ แต่พอไปแจ้งกับทางกรมขนส่ง กรมขนส่งบอกว่าแจ้งไม่ได้ เพราะการแจ้งสีทูโทน ต้องมีเนื้อที่มากกว่าสีปกติ 40-50 เปอร์เซ็นต์ อันนี้คร่าวๆ ผมจำตัวเลขได้ไม่ชัด แต่ที่แน่ๆ หลังคาเปล่าๆ มันแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ สรุปบางด่านก็โดนจับ บางด่านก็ไม่โดนจับ ข้อนี้เราควรปรับเปลี่ยนหรือทำให้ชัดเจน อันนี้เป็นปัญหามากในช่วงที่ตัวสติกเกอร์มันฟีเวอร์ ไม่ว่าจะเป็นการติดหลังคาแก้ว หลังคาดำ ฝากระโปรงหน้าคาร์บอน มันเกิดความสับสน

คือเราต้องพูดว่าบางข้อ เราก็เต็มใจที่จะยอมรับ ถ้าเราเป็นนักแต่ง จะจับไม่เป็นไรครับ ก็ยินดีที่จะจ่ายค่าปรับ แต่ขอให้มันชัดเจน มีบรรทัดฐานในการจับ เพราะทุกวันนี้ ทำไมชาวรถแต่งเขาออกมาโวยวาย เนื่องจากเขาถูกจับด้วยความที่ไม่เคลียร์ในการจับกุม บางทีเขาก็คาใจ อย่างบอกว่า "น้องเปลี่ยนท่อ นี่เท่ากับดัดแปลงสภาพ" มันก็คาใจคนถูกจับ ต่อให้คนถูกจับผิดก็เถอะ มันก็คาใจ แต่ถ้าเราสามารถแก้ไข เราสามารถทำได้ อยากให้แก้ในแนวทางระยะยาว เช่น เข้าด่านปั๊บ อะไรคือความผิด มีป้ายบอกหมดเลย เพราะกฎหมายมันไม่ได้แรงถึงขนาดฆ่าคนตายหรือติดคุก คนแต่งรถเพื่อความสวยงาม ไม่ได้ซิ่ง แต่ท่อดังเกินนะ คุณถูกปรับเท่านี้ ถ้าเราวัดด้วยเครื่องนี้ๆ มีมาตรฐานเหมือนตรวจควันดำ เหมือนตรวจแอลกอฮอล์ชัดเจน มันเถียงไม่ได้ ให้ชัดเจน อะไรที่ผิดก็คือว่าตามผิด อะไรที่ถูกเราก็ควรให้มันถูก

วิชัย : ผมถึงได้บอกว่าต้องแยกแยะ คือต้องยอมรับว่าเรายังแยกระหว่างรถแต่งเพื่อความสวยงามกับรถแต่งเพื่อซิ่งไม่ออก...ถูกไหม มันก็เลยเกิดปัญหา คำว่ารถ 'ซิ่ง' อย่าไปเหมารวมที่เขาวิ่งอยู่ต่างจังหวัด แล้วเขากดเร่งคันเร่ง ปื๊ดดด...วิ่งไปประมาณ 130-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเฉพาะบางทีที่คุณเห็นจังหวะเขากระชากแซงรถสิบล้อ เสียงท่อมันอาจจะดังหน่อย แต่เขาเร่งเครื่องก็เพื่อจะหลบให้พ้น คุณจะไปว่าเขาซิ่งไม่ได้ ถ้าเขาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เรื่องของกฎหมายควบคุมความเร็วมันผิดอยู่แล้ว แต่บางทีอย่าว่าแต่รถแต่งเลย รถสแตนดาร์ดรถบ้านก็วิ่งระดับนั้น ทุกวันนี้ ลูกชายเอารถแต่งออกไปวิ่ง วิ่ง 110 วิ่ง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดนรถสแตนดาร์ดแซงกันกระจาย แต่ถ้าเขาวิ่งอยู่ในถนนที่รถเยอะๆ แล้วไปปาดกัน ไปแซงกัน หรือว่าไปแข่ง อันนั้นคือความชัดเจนของคำว่า 'ซิ่ง' คำว่า 'ก่อกวน' เราก็เลยมามองว่าคนยังแยกระหว่างรถซิ่งกับรถแต่งสวยงามไม่ออก

ดังนั้น เราต้องแยกแยะ และอันดับแรกที่เรามองคือการที่เราจะไปแก้รถซิ่งรวมตัวกัน เราจะไปแก้ตัวบทกฎหมายเลยเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่เรายังแยกตัวเราเองไม่ออกว่าอันไหนคือซิ่งอันไหนคือแต่ง แต่สิ่งที่เราทำได้ ณ วันนี้ทันที คือเราสามารถแก้ไขด้วยตัวเราเองก่อน เราช่วยแก้ไขคนรอบข้างเรา เราแก้ไขคนรู้จักเรา เราแก้ไขน้องๆ ในคลับเรา เราแก้จากตัวของเราก่อน เมื่อเราแก้จากตัวของเราได้ เมื่อเราแสดงให้คนภายนอกได้เห็นแล้วว่า ถึงแม้เราจะแต่งรถ แต่เราไม่ได้เป็นรถซิ่งที่ก่อกวนสร้างความเดือดร้อน การที่เขามองภาพรวมเราเป็นอย่างนั้นมันก็จะเปลี่ยนไป คือตอนนี้เรื่องผิดหรือถูกกฎหมายละไว้ก่อน เราต้องพยายามแก้เพื่อแสดงความจริงใจว่าเรารับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น เราร่วมกันรับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้น เราเชื่อว่าสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง อาจจะไม่หมดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้คนเปลี่ยนมาเป็นทั้งหมด แต่อย่างน้อยๆ คนส่วนมากทำได้ เขาก็จะเห็น แล้วเขาก็จะยอมรับในสิ่งที่อยากจะร้องขอ หรืออยากจะพูดคุย

ส่วนที่เหลือ รถแต่งซิ่ง ถ้าผิดก็ว่ากันไปตามผิด ตามตัวบทกฎหมาย การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือแก้ทั้งสองฝ่าย แต่ควรเริ่มที่ฝ่ายรถแต่งก่อน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็ทบทวนใหม่ พวกข้อมูลเรื่องราว เพราะทุกวันนี้ เทคโนโลยีรถ รถบ้านธรรมดาวิ่ง 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้สบายๆ รถแบบอีโคคาร์ทำความเร็ว 170-180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ฉะนั้น บางอย่างเราก็ต้องมาพิจารณาก่อน คือถ้ามองทางที่ดีที่สุด เราควรเอาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านสาขามาลงลึกในแต่ละเรื่อง สมมติเรื่องสี เอาช่างสีกับช่างสติกเกอร์มา เรื่องเครื่องเอาช่างซ่อมเครื่องช่างโมดิฟายเครื่องยนต์มา หรือเรื่องชุดแต่ง เราก็เอามาพูดคุยกันว่าในจุดกึ่งกลาง หาว่าตรงนี้มันเป็นอย่างไร เกินไปหรือไม่ อันนี้ไม่ได้ผิด ไอ้ตรงนี้ยืดหยุ่นได้ เรามาคุยหาจุดกึ่งกลางที่เราจะอยู่ร่วมกันในประเทศนี้ ในบ้านหลังนี้อย่างสงบสุข รถแต่งมันอยู่ในบ้านเรามากว่า 50-60 ปี ถ้าคุณจะไม่ให้มีรถแต่งเลย มันเป็นไปไม่ได้

ภีมวัชช์ : ผมขอเสริมจากความคิดเล่นๆ อย่างเช่น ถ้าคุณอยากจะทำท่อ ผมเห็นท่อแต่ละผลิตภัณฑ์ของร้าน เราอยากทำ เราชอบความสวยงาม แต่ทำอย่างไรไม่ให้ผิดข้อกฎหมาย ทางร้านก็ควรทำงานร่วมกับส่วนที่เกี่ยวข้อง เอาท่อที่ทำไปตรวจสอบแล้วมีตราปั๊ม หรือชุดพาส ก็ขอใบรับรองจากวิศวกร เอามาติดรถต้องมีใบวิศวกร ทุกอย่างเป็นกระบวนการที่ผ่านการถูกต้องทั้งในเรื่องความปลอดภัยหรือทั้งในเรื่องกฎ

ผมอยากให้คนในวงการที่ทำอาชีพอยู่กันได้ เพราะตอนนี้ก็มีหลายๆ ส่วนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่ชัดเจน แล้วนักแต่งรถยุคแรกๆ ตอนนี้ก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศไทยก็มี เป็นรุ่นใหญ่ในวงการอะไรก็เยอะ มันก็ไม่ได้หมายความว่าคนแต่งรถเป็นคนที่ไม่ดี

• ทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นเพราะการตัดสินจากภายนอก

ภีมวัชช์ : ณ วันนี้ ง่ายๆ ถ้าเรามองคน จะไปว่าคนที่มีรอยสักว่าเป็นคนไม่ดีได้อย่างไร คนมีรอยสักหรือคนที่ทำทรงผมแปลกๆ ก็เหมือนคนแต่งรถ เรามีรถแปลกๆ เพราะเรามีความชอบส่วนตัวของเรา เราแค่ชอบไม่เหมือนคนอื่น ไม่ใช่ว่าเราจะทำไม่ดีหรือเป็นคนไม่ดี ฉะนั้น มันก็ต้องแยกกัน แต่เราก็ต้องแสดงตัวตน คือเราต้องทำให้เขารู้ว่าเราไม่ใช่อย่างที่เขาคิด อยู่ที่ตัวแต่ละบุคคล อย่างถ้าผมมีรอยสักแล้วผมไปนั่งในที่ที่ไม่ควรนั่ง ไปทำในสิ่งที่ไม่ควรไปทำ คนอื่นจะมองอย่างนั้นมันก็ไม่แปลก แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควร คนเขาก็จะมองเราอีกแบบหนึ่ง

วิชัย : จริงๆ อยู่ที่การทำตัว สมมติเราแต่งรถ แต่งเหมือนที่จะซิ่ง ทั้งโหลดเตี้ย ใส่ล้อแม็ก แล้วเราวิ่งไปบนถนน เราไปเจอรถคันหนึ่งเสียอยู่ข้างทาง เห็นเขายืนทำอะไรไม่ได้ เราจอดรถ เราทำตัวแสดงความมีน้ำใจให้เขา แล้วช่วยเหลือ "เป็นอะไรไหมครับ" ยกตัวอย่าง เกิดยางแตกให้ช่วยไหม รถมีปัญหาช่วยโทร.แจ้ง ไม่รู้จักอู่ เรามีอู่เอาไหมช่วยโทร.ให้ คือถ้าในท้องถนนเรามีน้ำใจ คนก็มองแล้วว่าวัยรุ่นแต่งรถซิ่งแต่มาช่วยเรา ภาพลักษณ์มันก็เปลี่ยนไป คือคุณต้องมีน้ำใจ การที่จะทำอะไรบนท้องถนนมันมีมากมายนักที่จะช่วยที่จะทำ มันก็เป็นการพิสูจน์ตัวเองว่า เฮ้ย...พวกเราแต่งรถก็มีน้ำใจ มันก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง ถ้าเราทำกันจนเป็นนิสัย คนอื่นเขาก็จะเห็น มันก็ดีขึ้นมาอะไรขึ้นมา มันอยู่ที่การกระทำ

 แต่ตอนนี้ข้อเรียกร้องต่างๆ ก็ต้องการความชัดเจนโดยเร็วที่สุด

ภีมวัชช์ : มันต้องใช้เวลา มันเปลี่ยนในเดือนสองเดือนไม่ได้ เพราะปัญหาตรงนี้มันสะสม แต่เราต้องช่วยกันดูแล สอดส่อง เพื่อที่จะได้ปรับทัศนคติของประชาชนคนทั่วไป ต้องใช้เวลา เรื่องพวกนี้มันละเอียดอ่อน อย่างล่าสุด เราไปพูดคุยกับกลุ่มคลับรถแต่งที่ต่างจังหวัด เพราะทราบข่าวจากในวงการ จากพวกลูกศิษย์คุณพ่อ ลูกศิษย์เรา ว่าจะมีการรวมตัวใช้รถปิดถนนกว่า 300 คัน จะถามเรื่องที่เกิดขึ้นนิดหน่อย เรื่องตัวบทกฎหมาย ม.44 รถซิ่งนี้ผิดไหม ทุกคนก็บอกว่าไม่ผิด เราก็บอกว่าผิดสิ คำว่าซิ่ง คุณต้องแยกคำว่าซิ่งกับคำว่าแต่งรถซิ่ง คือรถที่วิ่งเกินความเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด มันก็ผิดอยู่แล้ว แล้วการที่พวกคุณกำลังจะทำการปิดถนน ซึ่งเป็นถนนที่ไม่ใช่ถนนส่วนตัว มันเป็นของสาธารณประโยชน์ที่เกิดจากภาษีประชาชน คุณเอาสิ่งพวกนี้มาใช้เพื่อการส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น มันก็ไม่ต่างอะไรไปจาก 'โจร' ที่พอเขาจับเรา เราบอกว่าไม่ใช่ คือที่คุณเรียกร้องกันทุกวันนี้ เราไม่ใช่ผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย แต่การกระทำมันค้าน มันแสดงถึงการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองชอบ โดยไม่สนใจคนอื่น

ทีนี้แล้วจะเอาอะไรไปเรียกร้องสิทธิจากผู้ปกครอง จากผู้มีอำนาจ ในเมื่อตัวคุณยังทำกันอย่างนี้ แล้วน้ำหนักเสียงที่มี มันจะมากพอไหม การที่เราจะเรียกร้องสิทธิหรืออยากให้คนเห็นคุณค่าในตัวเรา เราต้องเริ่มจากเรา ในสิ่งนั้นๆ ซะก่อน เราต้องเลิกกระทำ เราต้องเลิกสร้างความเดือดร้อนในสิ่งนั้นๆ ซะก่อน เพื่อว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่เราทำได้ เมื่อเราแสดงให้เขาเห็นว่าเราบริสุทธิ์ใจ เราพร้อมที่จะแก้ปัญหา เสียงที่เราค่อยๆ ร้องขออยู่เนี่ยมันจะค่อยๆ ดังขึ้นๆ จนคนอื่นจะสามารถรับรู้ได้เอง ดังนั้น ต้องใช้คำว่าแก้ที่พวกเรา พวกเราแก้ง่ายที่สุด ต้องเริ่ม เพราะ ณ ตอนนี้มันยังไม่ได้เลวร้ายขนาดถึงขั้นที่เราไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ถ้าคุณไปปิดถนนวิ่งหลายร้อยคัน เผลอๆ อย่าว่าแต่วิ่งเลย วันข้างหน้า แค่จอดมีตติ้งคุยกันตามภาษาคนรักรถ เขาก็อาจจะไม่ให้คุณทำแล้ว และถ้าแรงไปกว่านั้น ถนนจะไม่มีให้เราได้ใช้แล้ว พรุ่งนี้อาจจะไม่มีถนน ออกไปก็โดนแล้ว ฉะนั้นถ้าคุณอยากจะมีพื้นที่ให้คุณได้ทำในสิ่งที่คุณรัก เราควรจะให้เกียรติตัวเราก่อน ควรจะสร้างเกียรติให้กับตัวเราก่อน ก่อนที่จะไปร้องเรียกขอเกียรติจากคนอื่นเขา

วิชัย : แต่กฎการออกข้อบังคับก็ยังจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องให้ไวที่สุด เพราะอย่างกรณี ถ้าเป็นรถแต่ง แต่งแล้วผิดกฎหมาย บวกกับยิ่งทำผิดกฎหมาย ขับรถผิดกฎจราจร รถแต่งจะยิ่งโดนมองไปในทิศทางที่ไม่ดี ไม่เหมือนรถบ้าน ขับผิดกฎ ขับเร็ว ปาดหน้า แซงซ้ายขวากันไปมาก็ไม่ค่อยโดนตำนิติเตียน แต่พอแต่งรถหน่อยหนึ่ง คนก็มองเป็นรถซิ่งแล้ว โอ้...ปาดไปปาดมา ไอ้แรงสะท้อนมันไหลมาเข้ากับรถซิ่ง รถซิ่งทำผิดนิดหนึ่ง มันสะท้อนมาอีกเยอะเลย ตำรวจมาก็เห็นแล้วรถซิ่ง ไอ้นี่หนักแล้ว ซิ่งมาแล้ว ต้องโทษก่อนแล้วว่ารถซิ่งไม่ดี เพราะฉะนั้น อยู่ที่ตัวการกระทำของบุคคล อันนี้จะเป็นบทพิสูจน์ให้ผ่านไปได้

 สำหรับคุณ หัวใจหลักของการเป็นคนรักรถอย่างแท้จริง มีบรรทัดฐานอย่างไรบ้าง

ภีมวัชช์ : ต้องบอกอย่างนี้ว่า คนที่รักรถจริงๆ เขาย่อมไม่ทำลายสิ่งที่เขารัก ไม่ทำลายวงการ ด้วยอารมณ์ของตัวเองหรือด้วยความชอบส่วนตัว เราต้องมองถึงองค์รวมเป็นหลัก คือถามว่า ณ ตอนนี้ สิ่งที่จำเป็น เราต้องมีตัวอย่างดีๆ ในหลายๆ วงการ เพราะวงการรถมันก็มีหลากหลายส่วน ไม่ต่างไปจากโลกโซเชียลที่เขามีเน็ตไอดอล คนนี้เป็นไอดอลของคนนี้ๆ สไตล์นี้ๆ ท่านทั้งหลายเหล่านี้จะต้องออกมาช่วยกัน เอาปากเอาเสียงและทำตัวเราให้เป็นตัวอย่าง เป็นบรรทัดฐานให้กับน้องๆ เราต้องน้อมเขาเดินไปในทิศทางที่ดี ต้อนเขากลับมา แม้จะมีคนบางกลุ่มกลับมาไม่ได้ ถ้าเราพยายามแล้วส่วนที่เหลือก็ว่าตามบทกฎหมาย

 อย่างนั้นถ้าใช้นิยามคำว่า "ซิ่ง" หมายถึงการขับรถผิดกฎหมาย รถยนต์ที่ไม่ได้แต่งก็ไม่ต่างจากรถที่แต่ง

วิชัย : พอๆ กัน คือถ้านับแต่รถบนท้องถนน ไม่รวมแบบที่ปิดถนนแข่ง แน่นอนว่าถ้าปิดถนนวิ่ง มันก็เป็นรถซิ่งนั่นแหละ แต่ถ้ามารยาทในการขับ คิดว่ารถแต่งอาจจะมารยาทดีกว่ารถบ้านด้วยซ้ำไป พูดง่ายกว่า รถซิ่งบางทียังรู้กฎรู้เกณฑ์ ก็ถึงได้บอกว่ารถแต่งทำอะไรผิดนิดหนึ่ง ผลสะท้อนออกมาเนี่ยหลายเท่าเลย แต่ถ้าเป็นรถบ้านผลสะท้อนไม่มี พูดไม่ได้ อ้างไม่ได้ จริงๆ มันก็ความผิดหรือมารยาทในการขับก็พอๆ กัน รถบ้านบางทีจะมากกว่าด้วย ทำไมรู้ไหม รถบ้านที่มากกว่า เพราะบางทียังขับไม่คล่อง ขับไม่เก่งก็ซื้อรถกันแล้ว ยิ่งเด็กๆ พ่อแม่สนับสนุน เมื่อวานมีลูกค้ามาคน เด็กอายุแค่ 16-17 ปี พ่อแม่ซื้อรถให้ ถามว่าคุณขับรถยังไม่เก่งเลย ถอยเข้าถอยออกยังไม่ได้เลย แต่ซื้อให้ พอไปบนท้องถนนปั๊บ ก็ไม่รู้จักกฎจราจร คุณขับตามใจที่คุณจะขับ อันนี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง พวกนี้ก็เยอะ ตรงไหนห้ามเลี้ยว ตรงไหนห้ามจอด อะไรต่ออะไรไปกันมั่วไปหมด

• สมมติจะมองว่าจุดเริ่มของตรงนี้ จะนำไปสู่การเป็นรถซิ่งที่อาจจะทั้งแต่งหรือไม่ได้แต่งก็ตาม ส่วนตัวเรามองอย่างไรถึงจะปรับเปลี่ยนได้

วิชัย : อยู่ที่พ่อแม่ พ่อแม่ต้องเป็นคนที่ดูตรงนั้น แต่นี่บางทีก็แค่ลูกขาหยั่งถึงเหยียบคลัตช์ได้ก็ซื้อรถให้ลูกใช้แล้ว เชื่อไหมว่าอย่างผมกับลูก เราบอกเลยว่าถ้ายังไม่จบมหาวิทยาลัย จะไม่มีการซื้อรถให้ขับ ลูกชายผมขับรถแข่งมาทั้งหมด 10 ปี แบ่งเป็นขับโกคาร์ตมา 7 ปี ขับรถใหญ่รายการ Prototype sports รายการแข่ง TGTC แข่งในสนามให้ทีมสิทธิผลอีก 3 ปี แต่โทษที ขับบนถนนนี้แทบจะหลับเลย เพราะเขารู้ไง คือพวกนี้นักแข่งจะไม่มีแบบนี้ มันไม่คุ้ม เราชนกันในสนามกันจนชินแล้ว ชนจนกลัว

ภีมวัชช์ : คือวุฒิภาวะ ความรับผิดชอบพอไหม ไม่ใช่ว่ารถแต่งแรง เราต้องขับแรง ที่เห็นขับเร็วๆ อย่างนั้นจะเป็นเด็กใหม่ เด็กอายุ 16-17-18 ปี พ่อแม่ซื้อรถให้ ตัวเองก็เริ่มไปแต่ง แต่งโน่นทำนี่ ก็จัดอยู่ในพวกเด็กแว้น บางที เราก็เตือน ไปเปลี่ยนเครื่องแรงๆ รู้ไหมว่ามันอันตราย เพราะเล่นเปลี่ยนเครื่องแรงอย่างเดียว ช่วงล่างไม่ได้ทำอะไรเลย ช่วงล่างสแตนดาร์ด แล้วมันจะรับไหวไหม เบรกก็ธรรมดา มันจะรับไหวไหม เด็กพวกนี้ไม่รู้ ก็จะเปลี่ยนจะเอาแต่เครื่องแรงๆ ไว้ก่อน จากเดิมที่ไม่ถึง 100 แรงม้า ไปเปลี่ยนเป็น 200 แรงม้า แรงม้ามันขึ้นมาเท่าไหร่ มันก็อันตราย ขับเข้าโค้ง ขับขึ้นทางด่วนคุณก็หลุดแล้ว บางทีเราก็ต้องแนะนำ

 เราจะมีการให้อนุสติเตือนอย่างไรได้บ้างหรือไม่

วิชัย : นอกจากการที่เราจะต้องคอยบอกกล่าว ให้ความเข้าใจ เรื่องนี้มันก็เกี่ยวโยงกับการออกข้อบังคับที่ว่ามา คือถามว่ากฎที่ออกมา เด็กแว้นผิดแล้วไปจับพ่อแม่เขา พ่อแม่ต้องมีความผิดด้วย อันนั้นไม่ใช่ปัญหา แก้ตรงนั้นแก้ไม่ได้ หรือเรื่องอื่นๆ ก็คล้ายๆ กัน ถึงได้ต้องย้ำว่าอย่างไรก็ต้องแยกให้ออกระหว่างรถแต่งเพื่อซิ่ง กับรถแต่งเพื่อสวยงาม เราต้องมีการพูดคุยกัน เชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมา อันไหนเหมาะสม-ไม่เหมาะสม ส่วนความคิดของเราก็คือ ทุกส่วนต้องมีความรับผิดชอบ ในกรณีอย่างที่ว่ามานี้ ถ้าเครื่องแรงหรือมีการแต่งที่เห็นว่ามันจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเองและคนอื่น อู่รถ ช่างเครื่อง และเจ้าของกิจการห้างร้าน ที่มีลูกค้าเชื่อถือสนิทสนมให้ความไว้ใจ ต้องช่วยกัน

ภีมวัชช์ : การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคือคุณต้องเอาทุกฝ่ายมาคุย แล้วเรามาหาจุดกึ่งกลางว่า อันนี้รับได้นะ อันนี้เกินไปไหม อย่างอายุ 17 ปี แต่ว่ามีตังค์แล้วไปซื้อเครื่อง 600 ม้า ตรงนี้อยู่ที่วิจารณญาณของอู่ด้วย ต้องมองถึงเขา อายุเท่านี้ขับรถ 600 แรงม้า วุฒิภาวะ ความนึกคิด เขารับผิดชอบมันไม่ไหว มันอยู่ที่พวกเราต้องมีส่วนร่วมกัน

จริงๆ ผมชอบเรื่องหนึ่งในส่วนของรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ ตามที่มีข่าวออกมาทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งคนขับสมัครเล่นหรือนักแข่งออกมาพูดคุยกันหาแนวทางออกร่วมกัน คนที่สามารถขี่ได้ กำหนดอายุสัก 25 คือมันมีวุฒิภาวะทางด้านความคิด ทางด้านสิ่งต่างๆ มากพอที่จะดูแลรถที่มันมีความแรง จากตอนแรกเท่าที่ตั้งไว้ประมาณ 30 ปี คือถ้าถามผม ความเกินเลยพ่อแม่เขาก็ใจดีเกิน อายุ 16 ซื้อรถให้ลูก ตอน 20 ไปเรียนผมยังโหนรถเมล์เลย จริงๆ เราก็มองว่ามันเว่อร์ไป

วิชัย : นั่นแหละคือการยื่นความตาย ความพิการ ให้ลูก แล้วเด็กพวกนี้ถามว่าอายุ 16-17 ปี เขาไม่ขับคนเดียวแน่ เพื่อนเขาต้องนั่ง นั่งแล้วก็เชียร์ ยุ ถามว่าเราอายุ 20 กว่าๆ 25-30 ปี เพื่อนยุเราอย่างนั้น ก็ไม่ขึ้น กูยังมีแฟน กูยังมีพ่อแม่ คือความคิดมันไปไกล แต่เด็กๆ เขายังมองไม่ถึง มันหลายอย่าง เราต้องปรับทั้งคนขับ ปรับทั้งพวกส่วนเกี่ยวข้องแต่ละวงการ ต้องเอามาดูแลกันหมด แต่มันก็ยาก ที่ตราบใดที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์บังคับที่ว่ามันแน่นนอน

 หลังจากวันนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องมาตรกฎระเบียบ ณ ตอนนี้เรามองเห็นจุดที่น่ากังวลอะไรบ้างเกี่ยวกับข้อบังคับเหล่านี้

ภีมวัชช์ : คำว่า 'ดุลพินิจ' หลังจากที่เราต้องพูดคุยหาข้อตกลงจากทั้งสองฝ่ายที่มันลงตัวที่สุดแล้วมีลายลักษณ์อักษรชัดเจน ก็ควรจะต้องเสริมให้มุมมองเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมในการใช้ดุลพินิจ เพราะต้องยอมรับว่าในวงการรถยนต์ เราก็เจอกันเป็นประจำ บางคนใช้ผิด บางคนใช้มันเกินเลย อย่างการเปลี่ยนหลังคาเนี่ย มันก็ไม่ได้ไปเกี่ยวกับการทำให้มองสีรถผิดตรงไหน เพราะมันอยู่มุมบน คนที่มองเห็นคือคนที่มองจากข้างบน ดังนั้น ถ้ามันไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วใช้ดุลพินิจดูแล้วมันไม่สามารถทำให้คนมองรถนี้ผิดสีได้ มันก็ไม่น่าจะผิด แต่ก็มีที่เขายังโดนกันในบางพื้นที่

 จากประสบการณ์หลายสิบปีที่คลุกคลีอยู่กับคนในแวดวง ส่วนตัวมองว่า ม.44 เข้มงวดเกินไปหรือไม่

วิชัย : มันไม่เข้มนะ มันมีแต่เราทำตัวเข้มกันไปเองก่อน จากที่เราดูรอการชี้แจงมาจนถึงวันนี้ถึงได้มาพูด เขาก็ยังไม่ได้ห้ามอะไรมากมาย เพียงแต่ก่อนหน้านี้ เรากลัวว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้เราก็พยายามที่จะเบรกตรงนี้ซะก่อน ก่อนที่จะมีปัญหาหรือทำให้คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนในวงการมองเราไปในทางที่ดี และจะพลอยให้พวกวงการเดือดร้อน

เอาแค่นี้พอ คุณอยากจะแข่งรถ ไปสนามแข่ง เขาก็มีที่ ก็มีผู้จัด อย่าง 3k แบตเตอรี่ เขาก็พยายามจัดแข่งในรุ่นประเภทรถบ้าน ใครอยากจะแข่ง เข้ามาสมัคร ก็แข่งไป เขาก็สนับสนุน พวกคลับของ EVO คลับของ SUBARU หรือประเภทรถเก่า Retro เขาก็เก็บไม่กี่ร้อยบาท ก็สามารถไปขับเล่น อย่างนั้นจะดีซะกว่า ได้ความรู้ได้ประสบการณ์ด้วย เขาก็พยายามที่จะช่วยเหลือ ดีกว่าไปซิ่งบนถนน ทำให้มันถูกกฎหมาย

ภีมวัชช์ : คือในเรื่องความเข้มงวดก็อย่างที่คุณพ่อบอก แต่ที่มันเกิดปัญหามันมาจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก ข่าวมันกระจ่ายเร็ว แม้แต่ช่วงแรกที่กฎหมายมาตรา 44 กระจายมา ตัวจริงฉบับจริง ผมยังไม่เคยเห็นด้วยซ้ำ แต่กระแสมันพุ่งไปแล้ว คนโวยวายกันไปแล้ว คนประท้วงกันไปแล้ว

ส่วนในประเด็นที่คุณพ่อแนะว่าควรจะหาทางแก้ให้วิ่งสนาม ผมเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งก็ต้องบอกก่อนว่าการแข่งในสนามค่าใช้จ่ายมันสูงมาก คนที่จะทำได้คือคนมีตังค์ แต่ที่ซิ่งบนถนนคือคนไม่มีเงิน ส่วนใหญ่ไปดูรถแต่งเต็มๆ ไม่ได้ซิ่งบนถนนหรอก แต่ที่ประเภทแต่งมั่งไม่แต่งมั่งนั่นแหละ มีเยอะ เขาลงสนามไม่ได้ แต่ ณ ปัจจุบันมันเริ่มมีข้อดี มันเริ่มมีสนามสัญจร (การแข่งขันรถประเภททางตรง) ในแต่ละที่ รายการพวกนี้ค่าสมัครไม่แพง เขาเรียกว่ามีความเปิดกว้างให้กับคนเหล่านี้ได้เข้ามาสัมผัสมากขึ้น มีสนามสัญจรหลายๆ สนามที่เขาจัด อย่างล่าสุดกำลังจะมีสนามเกิดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ก็จะหยุดพวกสายซิ่งแถวนครสวรรค์ กำแพงเพชรได้ คือถ้าเรามองว่ารายการทุกรายการเข้าสนามหมดเป็นไปไม่ได้ เพราะอะไร การแข่งปีหนึ่งๆ หลักล้าน คนไม่มีตังค์ ก็ไปถึงระดับนั้นไม่ได้ จุดเริ่มประเด็นปัญหาที่เขาถึงต้องมาวิ่งกันบนถนน คือมีแค่นั้น เขาวิ่งได้แค่นั้น เขาหาที่เขาสามารถที่จะวิ่งได้ตรงนั้น

ดังนั้น รายการย่อยๆ เหล่านี้ตามเขตภูมิภาคต่างๆ จะเป็นตัวที่ช่วยให้ดึงคนเข้ามาได้ชัดเจน คนที่เป็นไอดอลสามารถดึงเข้ามาเปลี่ยนความคิดในสถานที่อย่างนี้ได้ แม้มันจะไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ช่วยให้เขาได้มีช่องทางในการที่จะได้แสดงความเป็นตัวของเขาเอง

 กฎข้อบังคับสมัยเราเข้มงวดเท่าตอนนี้หรือเปล่า แล้วทำไมก่อนหน้านั้นถึงไม่มีข่าวคราวหรือเกิดปัญหาอะไรอย่างตอนนี้

วิชัย : ไม่เท่าสมัยนี้ แม้ว่าสมัยก่อนจะทำเตี้ยกัน ใส่ล้อใหญ่ ใส่โรลบาร์ แต่เขาก็วิ่งกันธรรมดา ก็ไม่มีปัญหา แข่งกันที่วัชรภูมิบ้างละ แข่งที่เอเซียน่า บนถนนอาจจะมีบางครั้งแถวถนนอังรีดูนังต์ ซิ่งกันตอนกลางคืน แต่มันก็มีน้อย และความเดือดร้อนมันไม่เท่าทุกวันนี้ เพราะเมื่อก่อน รถรามันไม่เยอะ ก็ไม่ได้เดือดร้อนใคร แถมสมัยก่อนที่เขาเล่นกัน เขามีความคิดความอ่าน สมัยนั้นรู้จักอยู่ทีมหนึ่งชื่อทีม เรนโบว์ เขาเรียกว่าทีมลูกเศรษฐี อันนี้ก็เหมือนเป็นพี่เป็นน้องเลยนะ ก็มีทั้งนามสกุลคนใหญ่ๆ โสภณพนิช, เตชะไพบูลย์ แล้วก็ ทนง ลี้อิสระนุกูล เจ้าของสิทธิผล เด็กพวกนี้เขาก็แต่งรถกัน แต่เขาขับกันอย่างมีเหตุมีผล แล้วเราก็เป็นคนบอกให้เขาไม่ให้ซิ่งบนถนนด้วย เราเรียกมาแนะนำ เป็นถึงทายาทมีหน้ามีตามีความรู้ความสามารถ ทำไมไม่แข่งในสนาม ก็จัดการเอารถเขาไปแข่งที่ดอนเมือง ขับได้สักพักทีนี้ไปแข่งแรลลี่แล้ว คือต้องพยายามดึงเด็กพวกนี้ให้มา ถ้าเราดึงมาได้ เราพามาให้ถูกรายการ ให้อยู่ในสนาม พอเขารู้ว่าอะไรเป็นของจริง บนถนน เขาก็จะไม่สนใจอีกเลย

ส่วนหนึ่งผมจึงเห็นด้วยกับความคิดของท่านเนวิน ชิดชอบ ที่เปิดสนามฟรี ไม่ต้องเสียตังค์ ให้เขาได้ระบายออก ให้เขาได้รู้จักการระบายถูกที่ พอเขามาแล้ว เราก็แทรกการอบรมเข้าควบคู่ เด็กพวกนี้ก็ดีขึ้น พอเราเข้าใจในวงการ เราก็ใช้ทั้งพระเดชพระคุณ เดี๋ยวนี้จังหวัดบุรีรัมย์ไม่มีแล้วซิ่งกันบนถนน

แต่ว่าเวลาผ่านไป พวกนี้มันก็เลิกกันไป วัยรุ่นพอผ่านไปปุ๊บขึ้นอายุ 20 ปีกว่าๆ ทำงานมีแฟนมีครอบครัว มันก็เปลี่ยนไป รุ่นใหม่ก็ขึ้นมาแทนตลอดๆ ก็ได้แรงเชียร์จากพ่อแม่ ซื้อรถ ถามว่าเราซื้อให้ลูกไหม เราก็ซื้อให้ลูก นี้ก็พึ่งเอา Rx8 มาคันหนึ่ง แต่ต้องถามว่าเอามาเพื่ออะไร ต้องดูจุดประสงค์ด้วย แต่งตัวถัง ติดสติกเกอร์ไลน์สวยๆ ทำช่วงล่าง เราเอามาเพื่อให้เขาแต่งโชว์ เพื่อเอาไปโชว์ตามงาน จุดประสงค์เราไม่ได้เพื่อเอาไปซิ่ง แต่ทีนี้ แรงบันดาลใจจากพ่อแม่ที่ให้ลูก บางที เราก็พูดถึงพ่อแม่เขาก็ไม่ได้ ความรักลูก แต่ว่าสามารถบอกได้ เราเคยสอนทั้งเด็กและผู้ปกครองพ่อแม่เขา คุณให้ลูกขับรถ คุณให้ความปลอดภัยอะไรกับเขา เขาก็บอกโอ๊ย รถทำอย่างโน้นอย่างนี้ จริงๆ มันไม่เกี่ยว ความปลอดภัยที่ดีที่สุดคือพาลูกคุณไปเรียนขับรถโกคาร์ต ไปขับรถในสนาม คุณจะต้องเรียนรู้ถึงความเร็วขนาดนี้จะควบคุมรถอย่างไร ฝึกทักษะในการขับรถให้ดีให้เก่ง แล้วลูกคุณจะปลอดภัย ตรงนี้

• สอบได้ใบขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนดยังไม่เพียงพอหรือ

วิชัย : ไม่พอ ใบขับขี่ก็แค่จอดรถ ถอยเข้า-ออก เลี้ยวซ้าย-ขวา ขึ้นสะพานอะไรอย่างนี้ มันไม่ใช่ คุณต้องไปเลย ไปเรียนรู้ ทำไมตำรวจต้องเรียนขับรถล่ะ ตำรวจทางด่วน ตำรวจทางหลวงต้องเรียนขับรถ นั่นแหละคือความปลอดภัย อยากให้ลูกปลอดภัย ก็ต้องสนันสนุนให้เขาขี่เป็น ยกตัวอย่างให้ฟังเรื่องการขับรถแข่งกับรถบ้านมันผิดกันตรงไหน รถแข่งในสนามเขาเรียกไลน์ สังเกตทำไมรถวิ่งเรียง ถนนแข่งออกจะกว้าง นั่นก็เพราะว่าเขาใช้ความเร็วและต้องทำอย่างไรให้สนามสั้นที่สุด แต่บนถนนมี 3-4 เลน คนไม่เข้าใจวิ่งกันบนทางด่วนมาเร็วๆ เข้าโค้งไม่ได้ มันโอเวอร์ ก็คว่ำ กระเด็นออกข้างนอกบ้าง เรียนก็จะได้รู้ ยางแตกด้วยความเร็ว 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต้องควบคุมรถอย่างไร และคุณก็จะได้ประสบการณ์ต่างๆ อีกเยอะ ไม่ใช่แค่คุณซื้อแต่รถสปอร์ตแรงๆ ให้ขับ ซื้อให้ลูกขับก็ขับอย่างเดียว มันไม่ได้ มันก็จะเกี่ยวถึงความปลอดภัยและมารยาทในการขับด้วย

คือเราต้องให้ข้อคิดเขา ไม่ใช่ดัดนิสัย ให้ข้อคิดเขาว่าเขาควรจะทำไอย่างไร ทำตัวแบบไหน สมมุติว่าคุณแต่งรถสักหน่อย คุณใส่สปอยเลอร์อันเดียว เปลี่ยนล้อแม็ก ก็เป็นรถซิ่งไปแล้ว คุณควรจะทำตัวแบบไหน ให้มันเข้ากับสังคมได้ วงการแต่งรถมีหลายกลุ่ม แต่งเพื่ออะไรใช่ไหมครับ ตอนนี้ที่อยากให้มันดีขึ้น คือพวกแต่งรถไม่ให้ใครเดือดร้อน จุดพวกนี้สำคัญ เราไม่ต้องพูดถึงรถซิ่งแล้ว ปล่อยให้เป็นเรื่องทางกฎหมาย เราพูดถึงรถแต่งที่ควรจะมีการแนะนำกันอย่างไร หาคนที่มีความเชื่อถือ ให้เขาพยายามช่วยพูดช่วยเสริม แนะนำทางที่ถูกที่ควร เพราะส่วนมาก เจ้าของธุรกิจต่างๆ เขาก็มีประสบการณ์สูง เขาก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็แนะนำกันไป มันก็คงจะดีขึ้น

มันก็ต้องรวมกันทั้งสองฝ่าย อย่าว่าแต่ตอนนี้จะแบ่งเป็นสองฝ่ายเลย ผ่ายรถก็มีหลายสาย ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็แยกส่วนอีกเยอะ มีหน่วยงานนี้ๆ ถามว่าถ้าเราพูดไปแล้ว เราแนะนำไปแล้ว เข้าใจ ในการช่วยกันทำ ช่วยอะไร มันก็จะดีขึ้น คนเรากฎหมายจะออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าฝืนกฎหมาย คุณก็ผิดอยู่แล้ว แต่คือต้องการให้ทางหน่วยงานทางราชการเข้าเข้าใจ ให้แยกแยะให้ถูก ที่เราออกมาพูดแสดงความคิดเห็นนี้คือจุดยืนของเรา

 ทิศทางในอนาคตที่อยากจะเห็นบทสรุปประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น

วิชัย : เรื่องดุลพินิจ เรื่องการร่วมกันหาทางออก ชั่งโมงนี้ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ใครช่วยเหลืออะไรได้ก็ต้องทำ หรืออย่างที่ลูกผมว่าถ้าคุณยังอยากที่จะมีถนนให้คุณได้ขับรถที่คุณชอบ อยากจะมีที่จอดรถให้เราได้คุยกันอย่างสนุกสนนาน เป็นกลุ่มตามความชอบ มีที่ให้เราได้แสดงความเป็นตัวของตัวเรา เราต้องช่วยกัน เพราะถ้าคุณไม่ช่วย มัวแต่ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยว มันก็เหมือนกับไฟกำลังไหม้แล้วเราไม่มาช่วยกันดับ

ภีมวัชช์ : ก็อยากให้เราแยกแยะ เพราะสิ่งเหล่านี้มันก็เหมือนน้ำ มันช่วยเราได้ มันก็จมเราได้ เบรกมันอยู่ลึก รถที่ดี รถที่ทำมาดี ถ้าเราใช้ถูกทาง มันสามารถพาเรารอดพ้นจากสถานการณ์ที่เลวร้ายได้ถูกไหมครับ แต่ถ้ารถที่ทำมาดี เราใช้ไม่ถูกทาง เรานั่นแหละที่นำพารถไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้าย หรือไม่ต่างไปจากอาวุธปืน ยกตัวอย่างรถซิ่งก็เหมือนปืน ถ้าคุณเหน็บปืนตามท้องถนน คุณก็คือจิ๊กโก๋ แต่ถ้าคุณเดินเหน็บปืนเดินเข้าสนามแข่งขัน คุณก็คือนักกีฬา มันอยู่ที่เราเท่านั้นเองที่จะทำในสิ่งที่ถูกหรือผิด รถไม่ได้ผิด รถแต่งไม่ได้ผิด รถจะแรงไม่ได้ผิด แต่มันอยู่ที่คนจะนำพารถคันนี้ไปทำผิดหรือทำถูก

ดังนั้น เราก็อย่างที่บอกครึ่งๆ ครึ่งของฝั่งเรา เราต้องแก้ที่ตัวของคนขับ เราต้องช่วยกันรณรงค์ ช่วยกันดูแล คือถ้าด้วยสภาวะความนึกคิดและจิตใจ ฝั่งรถวงการรถยนต์ต้องเป็นผู้ดูแล ทุกคนร่วมกันปรับทัศนคติ เราจะต้องช่วยทางประเทศชาติดูแลด้วย ปรับเปลี่ยนหรือหาช่องทางให้เขาได้วิ่งหรือให้เขาได้แสดงออก นั่นคือหน้าที่ของพวกเราทุกคน ส่วนหน้าที่ของอีกฝั่งคือการแก้ไข ตัวบทหรือสิ่งต่างๆ ให้มันชัดเจนและยั่งยืนโดยที่ไม่ได้แข็งจนเกินไป จนมันเดือดร้อน และหรือไม่ได้อ่อนจนเกินไปจนมันใช้การไม่ได้ แต่อยู่ในระดับที่มันเป็นกึ่งกลางที่เราทุกคนได้คุยกันแล้ว หรือได้ปรึกษาหารือจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว มันเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ทำให้พวกเราทุกคนอยู่ร่วมกันในบ้านหลังใหญ่ ที่ชื่อประเทศไทยได้ดี






เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น