xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ดังแห่งยุค “โคลนติดล้อ” - “ล้อติดโคลน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

จากคอลัมน์หนึ่งของ ดุสิตสมิธ
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ แม้จะเป็นการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่หนังสือพิมพ์ในสยามก็เฟื่องฟูขึ้นสุดขีด มีหนังสือพิมพ์ออกมากถึง ๑๓๐ ฉบับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงออกหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งในชื่อ “ไทย” และ รายเดือนอีกฉบับในชื่อ “ดุสิตสมิธ” ทรงร่วมแสดงความคิดเห็นในหนังสือพิมพ์ที่ออกด้วย ในนามปากกา “อัศวพาหุ” “รามจิตติ” และ “ฟันแหลม” เป็นต้น

บทพระราชนิพนธ์ซึ่งเป็นเรื่องเกรียวกราวถูกกล่าวขวัญกันไปทั่ว ก็คือคอลัมน์ในชื่อ “โคลนติดล้อ” โดยใช้นามปากกา “อัศวพาหุ” เปรียบเปรยถึงพวกที่คอยคัดค้านว่า เป็นพวกที่ถ่วงความเจริญของชาติ เสมือนโคลนที่ติดล้อรถ

ต่อมาก็มีผู้ใช้นามปากกาว่า “โคนันทวิศาล” เขียนบทความในชื่อ “ล้อติดโคลน” ลงในหนังสือพิมพ์ “กรุงเทพฯเดลิเมล์” ตอบโต้บทความเรื่อง “โคลนติดล้อ” ว่าถ้าสารถีคนขับรถมีฝีมือไม่ขับรถไปลงโคลน โคลนจะติดล้อได้อย่างไร ซึ่งได้ใช้เหตุผลที่น่าฟังมาเป็นข้อโต้แย้ง จึงเป็นเรื่องที่ฮือฮากันมากในยุคนั้น

ทั้งนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า เจ้าของนามปากกา “อัศวพาหุ” นั้นคือใคร การเขียนบทความโต้แย้งพระเจ้าแผ่นดินในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นับเป็นเรื่องล่อแหลมและบังอาจอย่างมาก สืบรู้กันต่อมาว่า ผู้ใช้นามปากกา “โคนันทวิศาล” ก็คือ นายพลเรือตรี พระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล)

แต่เมื่อถึงงานพระราชพิธีฉัตรมงคลต่อมา ปรากฏว่า มีชื่อพระยาวินัยสุนทรได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้า ที่ถือกันว่าได้เป็น “พระยาพานทอง” ด้วย และในขณะที่พระยาวินัยฯคลานเข้าไปรับพระราชทานตรานั้น ได้มีพระกระแสรับสั่งว่าพระองค์ไม่ได้ถือโกรธแต่อย่างใด ทั้งยังทรงชมเชยว่าเป็นคนกล้า ที่ช่วยออกความคิดแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ต่อมาบุตรชายของพระยาวินัยสุนทรได้เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อโด่งดังของวงการหนังสือพิมพ์เมืองไทยถึง ๓ คน คือ อุทธรณ์ พลกุล, วิมล พลกุล และชาญชัยศรี พลกุล หรือ โดม แดนไทย

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเล่าไว้ว่า

“...บางคนฝีปากกล้าก็พูดเหน็บแนมพระองค์อย่างรุนแรง บางครั้งทรงพระพิโรธถึงกับพระหัตถ์สั่นเทิ้มขณะทรงจับหนังสือพิมพ์อยู่ และพระพักตร์แดงกล่ำ แต่ในไม่ช้าพระองค์ก็ทรงดับเสียได้ตามวิสัยปราชญ์ โดยทรงได้สติว่า นายอัศวพาหุหรือนายรามจิตติ ก็คือประชาชนคนหนึ่ง มิใช่พระมหากษัตริย์ นับว่าพระองค์เป็นนักกีฬาที่น่าสรรเสริญ...”
กำลังโหลดความคิดเห็น