หลายประเทศที่คนเกือบทั้งประเทศนับถือศาสนาเดียวกัน มีศาสดาองค์เดียวกัน แต่ก็ยังอุตส่าห์มีปัญหาขัดแย้งในเรื่องศาสนาถึงขั้นทำสงครามเข่นฆ่ากันได้ แค่ต่างนิกายกันเท่านั้น
แต่ในบ้านเรา แม้จะเป็นคนต่างศาสนา ก็ร่วมมุ้งกันได้ ทั้งคนในบ้านก็ต้อนรับเขยสะใภ้ต่างศาสนาอย่างอบอุ่น ไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์แต่อย่างใด อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข จะรังเกียจก็แต่คนไม่มีศาสนาเท่านั้น
นี่แหละคือแบบฉบับที่งดงามของสังคมไทย
ในอดีตเคยมีหมอสอนศาสนาคริสต์เคยลองใจ ขอเปิดสอนศาสนาในวัดพุทธ แต่คำตอบที่ได้รับ ทั้งคนขอและคนที่ได้ยินเรื่อง ต่างคาดไม่ถึง
ตอนนั้นอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ หรือที่เรียกกันว่า “ทูลกระหม่อมพระ” ทรงผนวชตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๒ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นว่า ระยะนั้นมีชาวยุโรปเข้ามาติดต่อกับเมืองไทยมากขึ้น หลังจากที่หายหน้าไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อพระเพทราชาและขุนหลวงสรศักดิ์ผู้เป็นปฏิปักษ์กับชาวยุโรปขึ้นครองราชย์ ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพราะคนไทยไม่สามารถสื่อสารกับผู้มาเยือนกลุ่มนี้ได้ แม้แต่ทูตตะวันตกที่เข้ามา ก็ไม่อาจเจรจากันได้โดยตรง ต้องอาศัยล่ามจำเป็นที่เป็นชาวมลายู แล้วแปลภาษามลายูเป็นไทยอีกที ในที่สุดก็จบลงด้วยการพูดกันไม่รู้เรื่อง การเจรจาต้องล้มเหลว อีกทั้งเมื่อไม่รู้ภาษาอังกฤษ ก็ไม่อาจรู้ความเป็นไปของโลกภายนอก อาศัยแต่คำบอกเล่าของคนจีนคนมลายูที่เดินทางไปมาค้าขายถ่ายทอดให้ฟัง จึงไม่อาจเข้าใจโลกตะวันตกได้
เมื่อทรงตระหนักถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษเช่นนี้ “ทูลกระหม่อมพระ” จึงทรงขอให้มิชชันนารีอเมริกันมาสอนภาษาอังกฤษถวายที่วัดบวรฯ ซึ่งนอกจากพระองค์จะทรงศึกษาเองแล้ว ยังมีคนหนุ่มหัวก้าวหน้ามาเรียนด้วยอีกหลายคน ซึ่งคนเหล่านี้ได้เป็นกำลังสำคัญเมื่อขึ้นครองราชย์
มิชชันนารีอเมริกันที่มาเป็นครูสอนภาษาให้แก่นักเรียนภาษาอังกฤษรุ่นแรกของกรุงสยาม ก็คือ นายแพทย์เจสซี คาสแวล ซึ่งในพงศาวดารเรียกว่า “หมอหัศกัน” ได้บันทึกไดอารีเมื่อวันเปิดสอน ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๘ ไว้ว่า
“วันนี้เริ่มต้นสอนภาษาอังกฤษแก่เจ้าฟ้าที่วัด ข้าพเจ้าสอนตั้งแต่ ๙.๐๐-๑๐.๐๐ น.ในชั้นเรียนมี ๑๕ คน ๑ ใน ๓ เป็นพระสงฆ์ ที่เหลือเป็นชาวบ้านธรรมดา ข้าพเจ้าสอนในวันจันทร์ อังคาร พฤหัส ศุกร์”
หมอคาสแวลขอไม่รับค่าจ้างสอน แต่ทูลขอเปิดสอนศาสนาคริสต์ที่วัดบวรฯเป็นการตอบแทน “ทูลกระหม่อมพระ”ก็พระทัยถึง ประทานอนุญาตให้ใช้ศาลาที่ด้านหน้าวัดได้ ๑ หลัง ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงความใจกว้างของศาสนาพุทธ ไม่ถือว่าศาสนาอื่นเป็นคู่แข่งที่จะต้องกีดกันแล้ว ยังแสดงถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาในประเทศไทยอย่างแท้จริง
การต่างศาสนาในประเทศไทย ไม่ว่าศาสนาใด จึงไม่มีผลแต่อย่างไร ทั้งด้านปฏิบัติหรือด้านจิตใจ และพระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงเป็นศาสนูปถัมภกทุกศาสนา