ศูนย์ข่าวศรีราชา - ทลฉ.มอบเงินกว่า 6 ล้านบาท ให้แก่โรงเรียน 7 แห่งโดยรอบท่าเรือฯ เพื่อสนับสนุนการสอนภาษาอังกฤษให้แก่เยาวชนในพื้นที่ ด้วยการจ้างครูต่างชาติสอนทักษะภาษาอังกฤษในทุกด้าน หวังให้เยาวชนได้มีเครื่องมือพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และเตรียมความพร้อมเยาวชนในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
วันนี้ (18 พ.ค.) ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เป็นประธานในพิธีมอบเงินสนับสนุนโครงการจ้างครูต่างชาติ ให้แก่โรงเรียน 7 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่รอบท่าเรือแหลมฉบัง และทำพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างท่าเรือฯ โรงเรียน และบริษัท อัมสัม เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ในการดำเนินโครงการพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับเยาวชนในพื้นที่รอบท่าเรือแหลมฉบัง ประจำปีการศึกษา 2558 ณ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติทางน้ำ ท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนโดยรอบท่าเรือฯ และนักเรียน รวมทั้งตัวแทนบริษัทอัมสัม เอ็นเตอร์ไพรส์ฯ ร่วมในพิธี
ร.อ.สุทธินันท์ เผยว่า ท่าเรือแหลมฉบัง ได้จัดโครงการพัฒนาภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบท่าเรือฯ มาตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากเห็นว่า การพัฒนาเยาวชนให้ก้าวสู่สากลจะต้องมีศักยภาพในการคิดอ่าน และสร้างสรรค์ โดยใช้ทักษะทางภาษาอังกฤษสื่อสาร รวมทั้งทักษะในการใช้เทคโนโลยี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี พ.ศ.2558 เนื่องจากเยาวชนเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงควรให้การสนับสนุน และวางพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นด้านทักษะ การฟัง พูด อ่าน และเขียน ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพ และในครั้งแรกของการดำเนินงานมีโรงเรียนเข้าร่วมเพียง 4-5 แห่ง แต่เมื่อการดำเนินงานประสบผลสำเร็จจึงมีโรงเรียนต่างๆ ขอรับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น
สำหรับปีงบประมาณ 2558 ได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการดังกล่าว รวม 7 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านโป่งสะเก็ด โรงเรียนบ้านนาวัง โรงเรียนบ้านบางละมุง โรงเรียนอนุบาลบ้านบางละมุง โรงเรียนวัดใหม่เนินพยอม โรงเรียนบ้านโรงหีบ และโรงเรียนวัดแหลมฉบัง เป็นเงินทั้งสิ้น 6,930,000 บาท
โดยการดำเนินโครงการฯ เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จัดโครงการ World Class Standard ด้วยการปูพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษให้แก่เยาวชนก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐอาเซียน ทั้งด้านทักษะการ ฟัง พูด อ่าน และเขียน โดยออกแบบวิธีการเรียนการสอนตามธรรมชาติ เพื่อให้สอดคล้องต่อแนวการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2546 (หมวด 4 มาตรา 22) ซึ่งมุ่งเน้นกระบวนการจัดการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพ
และคณะอนุกรรมการการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการหนึ่งที่ท่าเรือแหลมฉบัง ได้กำหนดไว้ในกรอบการดำเนินกิจกรรมด้านโครงการสวัสดิการสังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสามารถพัฒนาภาษาอังกฤษให้เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับสูงได้ต่อไป