ในสมัยก่อน การพนันที่มอมเมาประชาชนอย่างหนึ่งก็คือ “หวย ก. ข.” ซึ่งมีกำเนิดในประเทศจีนราว พ.ศ.๒๓๖๔ ปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และ แพร่มาถึงเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ แสดงว่ามาเร็วมาก
สาเหตุที่ ร.๓ ทรงให้เปิดเล่นหวยขึ้น ก็เพราะว่าใน พ.ศ.๒๓๗๕ เกิดภาวะแห้งแล้ง ถึงกับต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศมากิน เงินหายไปจากท้องตลาดหมด จีนหง ผู้มีตำแหน่ง พระศรีไชยบาน นายอากรสุรา จึงกราบทูลว่า ราษฎรเก็บเงินฝังดินไว้มากไม่เอาออกมาใช้ แบบนี้ที่เมืองจีนใช้วิธีเปิดบ่อนหวย จึงมีเงินไหลกลับเข้ามาในตลาด ด้วยเหตุนี้จึงโปรดให้เจ้าสัวหงออกหวยเมื่อเดือนยี่ ปีมะแม พ.ศ.๒๓๗๘
เจ้าสัวหงออกหวยวันละครั้งในตอนเช้า ต่อมาพระศรีวิโรจน์ (ดิศ) เห็นว่า เจ้ามือหวยกำไรดี จึงขอตั้งโรงหวยขึ้นอีกโรง ออกในเวลาค่ำ เรียกกันว่า โรงเช้าและโรงค่ำ แต่ทำได้ไม่นานก็ถูกเจ้าสัวหงยึดไปออกทั้ง ๒ โรง แล้วเปลี่ยนเวลาออกเป็น หวยเช้าออกประมาณ ๐๒.๐๐ น.ของวันใหม่ ต่อจากนั้นอีกราว ๒ ชั่วโมงก็ออกหวยค่ำต่อเลย และ ยังมีวิธีล่อให้ลูกค้าที่แทงถูกหวยเช้า เอาเงินที่ได้ทั้งหมดแทงหวยค่ำต่อ ซึ่งจะจ่ายให้อย่างงาม เช่น แทงหวยเช้า ๑ สลึง ถูกได้ ๗.๕๐ บาท เอาไปแทงหวยค่ำต่อ ถ้าถูกอีกก็จะได้ถึง ๒๑๕ บาท ลูกค้าที่กล้าได้กล้าเสียจึงชอบวิธีนี้
ผู้ที่จะเป็นเจ้ามือหวยจะต้องประมูลกับหลวง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ ต้องส่งเงินอากรให้หลวงปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ นายอากรหวยมีบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนบานเบิกบุรีรัตน์” คนทั่วไปจึงเรียกกันว่า “ขุนบาน” แม้แต่เลิกบรรดาศักดิ์นี้ไปแล้ว คนก็ยังเรียกเจ้ามือหวยว่า “ขุนบาน” จนคำนี้มีความหมายถึงเจ้ามือหวย
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีผู้ขอตั้งโรงหวยที่เมืองเพชรบุรีอีก ๑ โรง แต่เล่นอยู่ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับสร้างวังที่เขาวัง ทรงสังเกตเห็นราษฎรยากจนลงมาก จึงโปรดให้เลิกโรงหวยที่เพชรบุรี รวมไปถึงที่อยุธยาด้วยอีกโรง ไม่ให้มีการเล่นหวยในหัวเมืองอีก ให้ตั้งได้เฉพาะที่กรุงเทพฯเท่านั้น
การออกหวยสมัยนั้นทำต่อหน้าประชาชนเหมือนการออกล็อตเตอรี่ในวันนี้ สถานที่ออกหวยก็คือโรงหวย โดยยกพื้นขึ้นเป็นเวที มีลานซีเมนต์อยู่ด้านหน้า จุคนได้เป็นพัน แต่มีลูกกรงเหล็กโปร่งกั้นไม่ให้คนดูเข้าไปยุ่มย่ามกับคนของขุนบานที่ทำงานอยู่บนเวที
ก่อนจะถึงเวลาออกหวย คนของขุนบานไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ คนจากสาขาต่างๆจะมาชุมนุมก้มหน้าก้มตาทำบัญชีกัน เมื่อถึงเวลาออกหวย ขุนบานจะให้นำแผ่นป้ายที่มีผ้าแดงคลุมมิดชิดมาแขวนไว้กลางโรง และปล่อยให้ตื่นเต้นระทึกใจกันซักพัก จึงค่อยๆดึงผ้าแดงแลบออกให้เห็นตัวอักษรใหญ่ ทันทีก็มีเสียงเฮลั่นของคนดู จากนั้นหน่วยกระจายข่าวของขุนบานก็จะกระจายออกไปตามทิศต่างๆ ปากก็ร้องตะโกนตัวหวยที่ออกไปด้วย ไม่ห่วงว่าดึกดื่นคนเขาจะหลับจะนอนกัน เพราะคนที่นอนอยู่หลายคนก็นอนรอฟังว่าหวยจะออกตัวอะไร
หวยจะออกตัวอะไรนั้นขึ้นอยู่กับขุนบานคนเดียว ว่าจะเลือกเอาตัวอะไรมาขึ้นป้าย ฉะนั้นผู้คนจึงคอยติดตามดูว่าขุนบานจิตใจจดจ่ออยู่กับอะไรในตอนนั้น เพื่อจะได้เอามาแปลเป็นตัวหวย บ้างก็เซ้าซี้ให้ขุนบานช่วยบอกใบ้ให้ ขุนบานจึงหาทางออกโดยจ้างคนมาเขียนคำใบ้หวยไว้หน้าโรง คนที่รับจ้างเขียนใบ้หวย มักจะเขียนเป็นบทเป็นกลอน เช่น
“หมู่ไม้เขียวชอุ่มพุ่มพฤกษา สกุณาโผผินบินว่อน ผู้เก็งถูกใจเราอย่านิ่งนอน เลือกอักษรให้เหมาะจะเคราะห์ดี”
นักเลงหวยก็จะเอาไปตีความไปต่างๆนานา ที่ตีว่า “สกุณา” ก็ต้องเป็น “นก” จึงแทง น.เทียนสิน แต่ถ้าหวยดันผ่าไปออก ร.กิมเง็ก คนแทงก็จะร้องว่า
“ปัทโธ่ ดันนึกว่าเป็นนกได้ ที่แท้เป็นแร้งนี่เอง”
ส่วนคนที่แทง บ.ใบไม้ เพราะเขียวชอุ่ม แต่ผ่าไปออก ป.กังสือ ก็จะร้องว่า
“ปัทโธ่ เขียวชอุ่มนึกว่าเป็นใบไม้ ที่แท้เป็นป่านี่เอง”
แท้ที่จริงแล้ว คนใบ้หวยกับขุนบานไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวกันเลย คนเขียนใบ้หวยก็เขียนส่งเดชไปวันๆ เพื่อค่าจ้าง ส่วนขุนบานก็เลือกตัวที่คนแทงน้อยที่สุดมาออก ขุนบานจึงรวยเละลูกเดียวไม่มีทางเจ๊ง คนหาเช้ากินค่ำก็ได้แต่อาบเหงื่อต่างน้ำหาเงินมาประเคนขุนบานด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา เป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงความลุ่มหลงมัวเมาของราษฎรต่อหวยกอขอ แม้รัฐบาลจะได้รับเงินอากรจากการผูกขาดเป็นจำนวนมาก แต่เงินส่วนใหญ่ก็ไปสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้แก่ขุนบานและพวกพ้อง ความยากจนตกอยู่กับประชาชนทั่วไป แต่ครั้นจะเลิกในทันที ตอนนั้นรัฐบาลมีรายได้จากหวยมาใช้ในงบประมาณแผ่นดินถึงปีละ ๓,๘๔๙,๖๐๐ บาท ครั้นจะขึ้นภาษีสินค้าขาออกขาเข้ามาทดแทน ก็ทำไม่ได้ เพราะถูกต่างชาติทำสัญญาผูกมัดไว้ว่า จะเก็บภาษีไม่เกินร้อยละ ๓ ครั้นจะเพิ่มภาษีภายในประเทศ ก็จะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้ราษฎร จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทดแทนอากรหวยเสียเอง แต่เมื่อทรงสำรวจพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แล้ว ก็ปรากฏว่ายังมีภาระมากมาย ต้องใช้ในการจัดตั้งกองเสือป่าและลูกเสือ ทั้งยังมีรายจ่ายที่ตกค้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จประพาสยุโรป และการก่อสร้างที่ยังค้างอยู่คือ พระที่นั่งอนันตสมาคม กับพระที่นั่งบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจำเป็นต้องทำให้สำเร็จ ต้องใช้เงินส่วนพระองค์ร่วม ๑๐ ล้านบาท จึงไม่อาจชักไปทดแทนอาการหวยได้ ต้องระงับความคิดเลิกหวยไประยะหนึ่ง
เวลาแห่งการรอคอยล่วงเลยมาจนถึงปี ๒๔๕๘ หลังจากเสวยราชย์มา ๖ ปีเศษ การเงินส่วนพระองค์ค่อยกระเตื้องขึ้น พระองค์มิได้ทรงลืมอาณาประชาราษฎร์ที่กำลังจมปลักอยู่ในห้วงการพนัน จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยเด็ดขาดที่จะสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เข้าช่วยรัฐบาลที่ต้องขาดรายได้จากการเลิกหวย จึงทรงประกาศ “พระราชบัญญัติการพนัน” ในที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๕๘ ให้เลิกหวย ก.ข.ในมณฑลกรุงเทพฯ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดเล่นการพนันออกหวย หรือการพนันโดยใช้ทำนองเดียวกันกับการออกหวย ให้ลงโทษผู้นั้นดังต่อไปนี้ คือ
ให้ปรับเจ้ามือหรือเจ้าสำนักคนหนึ่งคราวละ ๔,๐๐๐ บาท เป็นพินัยหลวงทุกคราวที่ออกหวย ถ้าไม่มีเงินค่าปรับให้จำคุก ๖ เดือน
ให้ปรับผู้แทงคนหนึ่งคราวละ ๒,๐๐๐ บาท เป็นพินัยหลวงทุกคราวที่แทง ถ้าไม่มีค่าปรับให้จำคุก ๓ เดือน
ให้ปรับผู้สมรู้เป็นใจไม่ฟ้องร้องคนหนึ่งคราวละ ๑,๐๐๐ บาท เป็นพินัยหลวง ถ้าไม่มีค่าปรับจำคุก ๑ เดือน
ด้วยพระราชบัญญัตินี้ หวย ก.ข.ที่มอมเมา หลอกลวงประชาชน สร้างความมั่งคั่งให้ขุนบาน ก็สุดสิ้นลงในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๘ ประชาชนชาวไทยผู้ลุ่มหลงก็พ้นจากความเป็นทาสของการพนันที่ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยไม่รู้ตัว โดยรัฐบาลก็ไม่ขาดรายได้ ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ชดเชยให้งบประมาณแผ่นดิน ทดแทนอากรจากหวย