กรมศุลากร - รมว.กระทรวงทรัพย์ ร่วมกันแถลงจับกุมงาช้างแอฟริกาจำนวน 511 กิ่ง น้ำหนักว่า 3.1 ตัน มูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาท
วันนี้ (27 เม.ย.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับนโยบายการปฏิบัติราชการศุลกากร พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. และ นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ร่วมแถลงข่าวการจับกุมงาช้างแอฟริกาลักลอบผ่านแดน จำนวน 511 กิ่ง น้ำหนัก 3,127 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท โดยสามารถจับกุมได้เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา
นายสมชัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข FCIU 5235796 บรรทุกมากับเรือ RHL FELICITAS โดยตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวแจ้งขนสินค้านำเข้าโรงพักสินค้าของบริษัทท่าเรือกลุ่มกรีนสยาม (B2) เพื่อรอนำสินค้าผ่านแดนไปยัง สปป.ลาว โดยสำแดงชนิดสินค้าเป็นใบชา น้ำหนัก 11,000 กิโลกรัม ซึ่งจากการตรวจสอบต้นทางของสินค้าดังกล่าวมาจากเมืองมอมบาซา ประเทศเคนยา ทวีปแอฟริกา มีการนำตู้คอนเทนเนอร์ลงเรือเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยตู้คอนเทนเนอร์ถูกนำขึ้นเรือชื่อ CAPE MOSS ในวันที่ 6 เม.ย. แล้วเดินทางผ่านท่าเรือโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และท่าเรือพอร์ทกลัง ประเทศมาเลเซีย ก่อนถูกนำขึ้นท่าไว้ที่ท่าเรือสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ต่อมาตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวถูกนำขึ้นเรือ RHL FELICITAS เมื่อวันที่ 21 เม.ย. เพื่อขนย้ายมายังประเทศไทย โดยตู้คอนเทนเนอร์มาถึงท่าเรือแหลมฉบัง ในวันที่ 25 เม.ย. ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสินค้าภายในตู้ดังกล่าวพบว่ามีงาช้างซุกซ่อนปะปนมากับใบชาจึงได้อายัดสินค้าดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อไป
ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางการได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการค้างาช้าง รวมทั้งขอความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะทางประเทศไทยนั้นถือว่าประสบปัญหาเรื่องอนุสัญญาไซเตสมาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว ที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ปีนี้ก็ถือว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด โดยกรมศุลกากรทำการจับงาช้าง 2 ล็อตใหญ่ได้ ถือว่าเป็นผลที่น่าพอใจมาก หลังจากการจับกุมทางสำนักตำรวจแห่งชาติก็จะมีการสืบสวนสอบสวนต่อว่างาช้างที่จับกุมได้นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร เพื่อจะหาทางจับกุมผู้ลักลอบขนงาช้างผ่านประเทศไทยต่อไป ซึ่งทางกรมศุลกากรมีข้อมูลอยู่แล้วว่างาช้างถูกส่งมาจากท่าเรือใดในแอฟริกา และจะส่งต่อไปที่ใด นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกำชับให้จัดการกับต้นตอคือผู้ผลิต อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าที่อำเภอพยุหะคีรี มีชื่อเสียงด้านการแกะสลักงาช้าง แต่เมื่อปราบปรามการค้างาช้างแล้ว ชาวบ้านก็จะมีงานมีรายได้ที่ลดลงนายกรัฐมนตรีจึงเกิดความเป็นห่วงว่าประชาชนจะไม่มีงานทำ ต้องส่งเสริมให้ทำอาชีพอื่นๆ ต่อไป
ขณะที่ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่จะต้องมีการร่วมมือและประสานงานกันทั้งตำรวจสากล กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยดำเนินการตรวจสอบผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบจำหน่ายงาช้างต่อไป
เบื้องต้นงาช้างดังกล่าวถูกยึดเป็นของกลาง เนื่องจากมีความผิดมาตรา 38, 99 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบกับมาตรา 16, 17 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482, มาตรา 58/1 แห่งพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2558, มาตรา 23 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งงาช้างเป็นสินค้าต้องห้ามผ่านประเทศ ตามอนุสัญญาไซเตสว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ก่อนสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป