xs
xsm
sm
md
lg

“ชฤต ภู่ศิริ” เพราะคือความจริง จึงจับสะท้อนเป็นภาพงานศิลปะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ของดียังมีอยู่ ด้านดียังมีอยู่ แต่ใครบ้างจะไม่รู้ ว่าสิ่งที่ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก็มากมายไม่ใช่น้อย และนั่นก็คือสิ่งที่นักถ่ายภาพอย่าง “ชฤต ภู่ศิริ” ถ่ายทอดผ่านผลงานชุด “พรรฦก” ที่สะท้อนความจริงอันพิสดารพันลึกสมชื่อ และกลายเป็นกระแสที่ถูกแชร์และกล่าวถึงอย่างมากมายในช่วงเดือนที่ผ่านมา...

 
ลองหลับตานึกภาพในจินตนาการถึงสังคมไทย
ถามตัวเองว่า สิ่งแรกที่นึกออกคืออะไร
ความสวยงามของธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพรและชายหาดที่สวยงาม?
ภาพรอยยิ้มพิมพ์ใจ การมีน้ำจิตน้ำใจของผู้คน ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบาย?

ไม่มีใครปฏิเสธในความจริงเหล่านั้น
แต่ก็คงไม่มีใครกล้าพูดว่ามันคือทั้งหมดของความจริงที่มีอยู่
เพราะ ท่ามกลางภาพสวยๆ หรูๆ ที่ถูกนิยามผ่านคำโฆษณาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเป็นเมืองน่าอยู่ คงไม่มีใครไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ว่า บ้านเราเมืองเรายังมีอะไรอีกหลายอย่างที่อยากปิดตาทั้งสองข้างไม่เมียงมอง หรือกระทั่ง...ปล่อยให้มันเป็นไปแบบนั้นล่ะ เพราะไม่รู้จะทำอะไรกับมันได้

นั่นคือที่มาส่วนหนึ่งของงานชุด “พรรฦก” ที่ “อ้น-ชฤต ภู่ศิริ” จะพาเราไปคิดนึกตรึกตรองสิ่งที่เป็นอยู่จริง มันอาจเป็นความจริงบางด้านที่เราไม่อยากจะนึกถึง แต่เป็นไปได้ไหมว่า ขณะที่เราแกล้งลืมๆ หรือ “ชาชิน” เราเองก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งซึ่งร่วมกันออกแรงหามให้ความเป็นจริงเหล่านั้นดำรงอยู่ โดยไม่รู้ตัว...

• ผลงานล่าสุดที่คุณจัดแสดง นอกจากที่ต้องการสะท้อนสังคมแล้ว มันเหมือนกับความรู้สึกอัดอั้นตันใจโดยส่วนตัวด้วยหรือเปล่า

จริงๆ มันเกิดมาจากใช้ชีวิตประจำวันนั่นล่ะครับ คือเราเห็นสิ่งต่างๆ พวกนี้มาตลอด แล้ววันหนึ่ง เราก็เห็นมอเตอร์ไซค์ไม่ใส่หมวกกันน็อก แถมยังซ้อนนั่งถึง 4-5 คน มีเด็กด้วย จึงรู้สึกว่ามันก็เป็นภาพที่เราเคยเห็นอยู่ มีความที่ไม่น่าจะถูกต้องอยู่ ก็เลยเอาเรื่องพวกนี้มาคิด แล้วมาสร้างผลงาน

ถ้าถามว่าอัดอั้นมั้ย มันก็ไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ เราแค่รู้สึกว่า เรื่องพวกนี้ไม่น่าจะถูกต้อง คืออยากจะให้คนกลับมามองว่า มันทำไปเพราะเคยชิน หรือความสะดวกสบาย แต่มันก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควร บางอย่างก็ผิดกฎหมาย

• ราวกับว่า เราเห็นและทำเรื่องพวกนี้จนชิน แต่ไม่เคยคิดว่ามันผิดหรือถูกอย่างนั้นใช่ไหม

คือบางทีคนเรา ไม่ว่าจะทำสิ่งที่ถูกหรือผิด เราทำซ้ำไปซ้ำมา ทำบางอย่างซ้ำๆ ทุกวัน มันก็เกิดเป็นความเคยชิน เกิดเป็นการทำโดยไม่รู้ตัวบ้าง ก็ทำไปอย่างนั้นเพราะมันชิน ซึ่งบ้านอื่นเมืองอื่น เขาก็คงมีเหมือนกันแหละ แต่ว่าจะเป็นรูปแบบอื่น เพียงแค่งานชุดนี้จะเจาะจงเฉพาะเมืองไทย

• จากความคิดตรงนั้น คุณก็เริ่มมาทำผลงานและเตรียมงานเลย

ใช่ครับ พอเราคิดว่าจะนำเสนอเรื่องราวประมาณนี้ ก็วางเป็นข้อๆ เลยว่า มีกี่รูป รูปนี้มันเกี่ยวกับอะไร แล้วพอได้แต่ละรูปมา เราก็มานั่งสเกตซ์งาน ประมาณว่า รูปนี้อยากได้อารมณ์ยังไง มีคาแรกเตอร์แบบไหน มีโลเกชั่นยังไง จากนั้นก็เริ่มหาโลเกชั่นตามที่เราสเกตซ์ และก็หาองค์ประกอบ คือนับตั้งแต่ก่อนถ่าย มีการเตรียมงานประมาณ 3-4 เดือน จากนั้นก็ถ่าย 1-2 เดือน แล้วก็ทำการรีทัชและตัดต่อรูปอีก 1 เดือน

งานส่วนใหญ่จะมีสองภาพเป็นคู่กัน มันคล้ายๆ การเล่าเรื่องน่ะครับ มันมีการขยายความ มีการแสดงบางอย่างให้ชัดเจนขึ้น หรือมีการขยายความกันและกัน ถ้าเป็นรูปเดียว บางที เราดูแล้วอาจจะไม่เข้าใจ หรือดูแล้วจบตรงนั้น แต่ถ้าพอมีภาพขยายความ ดูแล้วมันต่อเนื่องอีกหน่อย

• นิยามงานของคุณเป็นการจิกกัดสังคมได้หรือเปล่า

ไม่นะครับ คือช่วงตอนทำ ผมไม่รู้สึกว่าเป็นการจิกกัด หรือเสียดสีนะ คือทุกข่าว ทุกสำนัก จะลงเหมือนกันหมดเลยว่า จิกกัด จี๊ดจ๊าด เจ็บแสบ ซึ่งถ้าใครรู้จักผมเป็นการส่วนตัว จะไม่ใช่ลักษณะนั้น ที่เราทำ อย่างที่บอกคือต้องการนำเสนอ มันมีเรื่องที่ควรจะแก้ไข เรื่องที่มันเป็นปัญหาอยู่

• ดูจากตัวผลงานทั้งหมด มันค่อนข้างขัดแย้งกับคำประกาศที่เขาพยายามสร้างมาว่ามันดีอยู่นะ

ภาพทุกชิ้นจะสะท้อนค่านิยมที่ถูกปลูกฝังหรือสั่งสอนกันมา เหมือนความเป็นไทย เรื่องความถูกต้อง อะไรพวกนี้ มันก็เหมือนกับค่านิยมในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป เหมือนเรารับค่านิยมฝรั่งอะไรมามาก มันก็มีผลกับวิถีชีวิต ซึ่งที่จริง เราก็ไม่ได้ต่อต้าน เพราะว่าเราก็อยู่ในยุคสมัยนี้ แต่ก็ยังจะอยากให้คงเหลือวัฒนธรรมดั้งเดิมบ้าง

• จากผลสำรวจเมืองนอก เมืองไทยมักติดอันดับในเรื่องแง่ดีตลอด แล้วพอมาเป็นแบบนี้ โดยส่วนตัวมันค่อนข้างที่จะขัดแย้งมั้ย

ถ้าอย่างงั้น ผมมองว่าเขาคงดูหลายอย่าง คือความเป็นไทยในส่วนที่ดีมันก็ยังมีอยู่ แต่อันนี้ก็ไม่ได้บอกว่าคนไทยไม่ไหวแล้ว เพียงแต่ว่าเราจัดด้านที่ไม่ค่อยดีไม่ถูกต้องมานำเสนอ เพื่อที่ว่า ถ้าเป็นไปได้ เราจะได้เอาไปปรับปรุงให้มันดีขึ้น ถ้าพูดให้ติดตลก ก็เหมือนกับให้ฝรั่งเห็นเอง เพราะด้านดีที่เผยแพร่ในตอนแรก มันก็เหมือนการโฆษณา อย่างเราจะโฆษณาสินค้าอะไรสักอย่าง ต้องพูดในเรื่องดีๆ ของมัน ก็เป็นอย่างนั้น แต่โฆษณามันก็ไม่ได้หลอกลวงทั้งหมดนะครับ มันก็ยังมีความจริงอยู่บ้าง

• เหมือนว่าเราต้องการส่งสารและส่งเสียงเพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

ก็ส่วนหนึ่งครับ แต่การจะแก้ไขเรื่องพวกนี้มันก็ต้องทุกฝ่าย ทั้งรัฐเอง หรือคนทุกคน เรื่องที่เขาต้องเปลี่ยน ต้องใส่ใจมากขึ้น โดยส่วนตัว ก็ไม่ได้กลัวนะครับ เพราะมันเป็นเรื่องจริง คือคนไทยทุกคนก็เห็นว่าเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อใส่ร้าย และผมก็ไม่ได้เป็นแอนตี้ฮีโร่นะ เราแค่นำเสนอในความเป็นจริง มันก็คล้ายๆ นักข่าว แต่ก็ไม่ถึงขนาดนั้น แค่เอาความเป็นจริงมาสร้างเป็นงานศิลปะ แค่นั้นเอง

สำหรับผม มันเหมือนการส่งสัญญาณให้แก่ทุกคนน่ะครับ ให้ทุกคนเห็นว่ามันมีเรื่องพวกนี้อยู่ แล้วเราจะช่วยแก้ไขหรือเปล่า ซึ่งถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบมาจัดการแก้ไข ผมก็คิดว่าดีนะครับ คือถ้าเขาเห็นว่ามีประโยชน์ แล้วจะเอาเรื่องไปพัฒนารณรงค์ ทำกฎหมายให้มันเข้มขึ้น มันก็เป็นผลดี

• การที่ผลงานถูกพูดถึง อาจจะฮือฮาให้คนรู้สึกตื่นตัว แต่พอผ่านไปสักพัก เราจะน้อยใจหรือเปล่าว่า คนเขามาดูผลงานเราแล้วชอบ แต่ก็ไม่มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น

ก็ไม่น้อยใจนะครับ เพราะมันก็เป็นปกติน่ะ เหมือนมีกระแสมีข่าวอะไรขึ้นมา ก็เป็นธรรมดาของโลก โอเค ณ ช่วงหนึ่ง มีคนเขาเห็น เขาสนใจ แต่เขาจะเอาไปปรับปรุงหรือเปล่า มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเขาปรับปรุงได้ดี แต่ถ้าไม่ มันก็เป็นปกติ อย่างน้อยก็อาจจะสร้างแรงบันดาลใจเล็กๆ น้อยๆ

• ถามอย่างตรงไปตรงมา อะไรคือความคาดหวังจริงๆ สำหรับการสร้างงานชุดนี้ขึ้นมา

มี 2 ด้านครับ
หนึ่ง อยากให้คนสนใจงานศิลปะมากขึ้น เพราะว่าคนไทยจะไม่ค่อยดูงานศิลปะ อาจจะด้วยความกลัวที่ว่าดูไม่รู้เรื่อง ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมทำงานศิลปะชิ้นนี้ให้ดูง่ายและเข้าถึงง่าย อาจจะมีศิลปินบางคนบอกว่า งานชุดนี้มันง่ายๆ และพื้นๆ ไป มันไม่ลึกซึ้ง คืองานของผมทุกงาน ต้องการให้คนดูเข้าใจได้ง่ายและเข้าถึงคนทั่วไป บางคนไม่เคยสนใจศิลปะมาก่อนเลยมาดูงานของเรา ก็รู้สึกดีที่มีคนที่ไม่เคยสนใจศิลปะเลย หันมาดูงานศิลปะเป็นครั้งแรก

สอง อยากให้คนเห็นเรื่องราวพวกนี้ แล้วหันกลับมาดูตัวเองว่า เราเคยทำอย่างนี้หรือเปล่า เคยขับมอเตอร์ไซค์แล้วไม่สวมหมวกกันน็อกมั้ย ถ้าเราเคย ยังทำอยู่หรือเปล่า และทำเพราะอะไร เพราะเคยชินหรือสะดวกสบาย แล้วมันมีผลเสียมั้ย สุดท้าย เราควรจะปรับปรุงมั้ย แต่สำหรับผม ก็ไม่ได้ว่าทำงานชุดนี้ แล้วประเทศไทยเปลี่ยนไป มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เราเพียงอยากให้คนได้ตระหนักเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องจะปรับหรือไม่นั้น ผมก็ไม่ได้หวังอะไร

• คิดว่า ถ้าจะมีสาเหตุสักอย่างที่ทำให้ทุกอย่างยังคงเดิม มองว่าเพราะอะไร

ความรักสะดวก รักสบาย ความมักง่ายบ้าง เคยชินบ้าง เอาสะดวกเข้าว่า คือถ้าให้สะท้อน ผมว่าคนไทยมีความชิลในทุกสถานการณ์ อาจจะไม่ใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยหรือกฎหมาย เรื่องศีลธรรมความถูกต้อง ความใส่ใจในเรื่องพวกนั้นมันน้อยลง มันแสดงให้เห็นว่า ต่อให้หน่วยงานมารณรงค์ให้ตายยังไงก็ยังสูญเปล่า คือมันก็ยังมีคนที่ทำตามกฎที่เขาวางไว้อยู่ แต่คนส่วนใหญ่ ก็มักไม่ค่อยสนใจทำตามกฎระเบียบเท่าไหร่

• โดยส่วนตัว ถ้าที่คนไทยยังมีนิสัยแบบนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณร้ายแรงหรือเปล่า

(นิ่งคิด) คือถ้าทิ้งไว้นาน มันก็อาจจะร้ายแรง เช่น การขี่มอเตอร์ไซค์โดยไม่ใส่หมวกกันน็อก เขาก็ทำเพราะความเคยชิน สะดวก ซึ่งอาจจะขี่มาสิบกว่าปี ไม่เคยจะมีอะไรเกิดขึ้นเลย แต่อาจจะต้องรอให้โดนก่อน ถึงจะสำนึก ประมาณว่า ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา คนไทยจะเป็นลักษณะนั้น คือถ้าไม่เกิดขึ้น ก็จะคิดว่า ไม่เกิดขึ้นหรอก มันไม่มีอะไร
-------------------------------------------------------------------------
3 ภาพจากผลงาน “พรรฤก”
บาดลึก ถึงเนื้อในสังคม

เดินทางโดยสวัสดิภาพ

“มันแสดงให้เห็นหลายอย่าง ทั้งความมักง่าย ไม่เคร่งครัดต่อกฎจราจร ความไม่ใส่ใจ ความไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมทาง
ความมักง่ายก็เช่น จะมีคนข้ามถนน ซึ่งเราก็เห็นในความจริงบ่อยๆ ว่า สะพานลอยก็อยู่บนหัว แต่ก็ไม่ข้ามด้วยความมักง่าย ความสะดวกสบาย เคยชิน หรือ ขี้เกียจขึ้นเพราะเหนื่อย หรือมอเตอร์ไซค์ก็ไม่ใส่หมวก มีลูกซ้อนก็ไม่ใส่หมวก หรือบางทีเห็นตัวพ่อใส่หมวก แต่ลูกไม่ใส่”

ผลีผลาม

“ภาพนี้มันก็สะท้อนสังคม คือเปรียบเสมือนว่า เด็กที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยควร ซึ่งเมื่อก่อนเราจะเห็นข่าวแค่ชั้นมัธยม แต่ตอนนี้จะลดลงไปเรื่อยๆ ไปจนชั้นประถม ซึ่งแม้แต่ฝรั่งเองก็รับไม่ได้กับเรื่องพวกนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า สังคมเกิดอะไรขึ้น บางคนอาจจะโทษสื่อหรือเกมอะไรแบบนั้น ซึ่งมันก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด พ่อแม่หรือครูบาอาจารย์ หรือสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนด้วย”

ใจดำ-จำใจ

“คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่ามันคือความเหลื่อมล้ำ ฝั่งหนึ่งคิดว่าคนรวยเอาเปรียบคนจน รวยแล้วไม่ช่วยเหลือ ไม่เอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ แต่เราก็สามารถมองอีกมุมหนึ่งได้ คือมองในมุมของผู้หญิง การจะรวยจะจนมันไม่เกี่ยว แต่ในสังคมปัจจุบันที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร การที่เขาไม่ช่วย เพราะเขาไม่รู้ว่าผู้ชายคนนั้นมาดีหรือไม่ดี คนทั่วไปอาจจะด่าว่า ทำไมผู้หญิงไม่ช่วยคนแก่ตากฝน ซึ่งความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่ก็ได้ อยากให้มองมุมลึกลงไปอีก”

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น