xs
xsm
sm
md
lg

อ่านไป ยิ้มไป ASEAN SMILES : ให้โลกร้อยเราไว้ด้วยรอยยิ้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แปลกแต่จริง ที่ผู้คนจำนวนมากในอาเซียนรู้จักและรับรู้เรื่องราวของประเทศต่างๆ ที่อยู่ไกลโพ้น มากกว่าประเทศที่อยู่ใกล้ตัว มีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่เรียนรู้และรู้จักเพื่อนบ้านที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ดังนั้น หมุดหมายแห่งการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนครั้งนี้ น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่ผู้คนในอาเซียนจะได้หันมาเรียนรู้กันและกันให้มากขึ้น

ย่อหน้าข้างต้นคือเนื้อหาใจความบางส่วนจาก “บทบรรณาธิการ” อันบอกกล่าวเล่าแจ้งถึงที่มาที่ไปของหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งใช้ชื่อว่า ASEAN SMILES ที่เพียงสบตากับหน้าปก ก็ชวนให้รู้สึกถึงความรื่นรมย์ของโลก...ผ่านรอยยิ้ม
ภาพโดย ดร. ธนะวัฒน์  ลิขิตคีรีรัตน์
แน่นอนว่า เพียงแค่เห็นชื่อ ทุกคนก็คงจะพอมองออกถึงสาระประเด็นที่จะได้เห็นในหนังสือเล่มนี้ และในช่วงที่หลายคนอื่นตื่นเต้นกับการมาถึงของเออีซีหรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในยุคหลังๆ มานี้ เราท่านย่อมได้เห็นหนังสือที่เกาะกระแสเออีซีกันแบบล้นตลาด
แล้วหนังสือเล่มนี้แตกต่างจากหนังสือเล่มอื่นๆ ตรงไหนอย่างไร?

ในบทบาทบรรณาธิการหนังสือเล่มดังกล่าว “รุ่งมณี เมฆโสภณ” ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมไว้กับเรา เธอคืออดีตผู้สื่อข่าวมืออาชีพที่เชี่ยวชาญด้านข่าวเอ็กซ์คลูซีฟหรือข่าวประเภทเจาะลึกซึ่งคนในแวดวงสื่อสารมวลชนให้ความเชื่อถือ ขณะเดียวกันเธอยังเป็นคอลัมนิสต์นักเขียนหนังสือที่มีผลงานรวมเล่มมาแล้วจำนวนหนึ่ง เช่น “อำนาจ” หรือ “ถอดหน้ากากสายลับตัวแม่ สตรีหมายเลข 0” ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ยังทำให้ใครหลายคนยังขบคิดเป็นปริศนาว่าใครคือสตรีหมายเลขนั้น

ยิ่งไปกว่านั้น รุ่งมณี เมฆโสภณ ยังเคยเป็นอดีตผู้สื่อข่าวผู้บุกเบิกศูนย์ข่าวอินโดจีนของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ตระเวนทำข่าวในพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว เวียดนาม กัมพูชา การเข้ามารับหน้าที่บรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ จึงจะพูดเป็นอื่นไปไม่ได้ หากไม่ใช่ Put the Right Girl on the Right Job.
รุ่งมณี เมฆโสภณ
• ขณะที่ตลาดหนังสือ อุดมไปด้วยหนังสือเออีซี อะไรคือคอนเซปต์เริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้แตกต่างไปจากเล่มอื่นๆ

ตอนแรกที่คิดจะทำ มันมืดไปหมดเหมือนกันนะ (ยิ้ม) รู้แต่ว่าอยากทำ จุดเริ่มต้นมาจากอาจารย์ธรณ์ (ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) และคุณวิทยา (วิทยา ร่ำรวย บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์) คุยกันว่า ปี พ.ศ.2558 มันเป็นหมุดหมายของเออีซีหรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มันน่าจะมีอะไรออกมาบ้าง แล้วสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ก็ไม่ได้ทำหนังสือที่เป็นหนังสือปกแข็งอย่างนี้มานาน เพราะทุกคนรู้ว่าหนังสือแบบนี้ทำยาก

ทีนี้ พอเริ่มคิด อาจารย์ธรณ์กับพี่วิทยา แล้วก็มีแหล่งข้อมูลคือ อาเซียนศึกษาของจุฬาลงกรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นส่วนสำคัญกับสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ เพราะเคยทำหนังสืออาจารย์ปีติ ศรีแสงนาม ก็มีคอนเน็กชั่นกันอยู่ ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนหาบรรณาธิการ เขาก็มาติดต่อเรา เพราะเห็นถึงประสบการณ์ แต่เราไม่เคยทำหนังสือปกแข็งหนาๆ แบบนี้เลย มันก็เป็นเรื่องที่ท้าทายดี คือไม่รู้หรอกว่ามันยากลำบากแค่ไหน รู้สึกแค่ว่าท้าทายดี อีกอย่าง เราก็มีภูมิหลังเกี่ยวกับการทำงานในภูมิภาคนี้มา เราเคยทำข่าวในสามประเทศ ลาว เวียดนาม กัมพูชา เพราะฉะนั้น ก็จะมีความสนใจเกี่ยวกับเพื่อนบ้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้วส่วนหนึ่ง

คือเรามีความคิดมาตลอดว่า คนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยรู้จักเพื่อนบ้าน แต่ไปรู้จักประเทศไกลๆ เราก็อยากส่งเสริมให้คนรู้จักเพื่อนบ้านเยอะขึ้น ดังนั้น มันก็ตรงกับจริตเรา เราก็ตกลงรับเป็นบรรณาธิการให้หนังสือเล่มนี้ ลงมือคิด ทำ เริ่มต้นด้วยการรวบรวมช่างภาพ และรวบรวมคนที่จะเขียน ฟุ้งกันไปต่างๆ นานาว่าอยากได้คนนั้นคนนี้ แต่หลังจากประชุมกันไป คอนเซ็ปต์หนังสือมันเริ่มจะใหญ่โต เพราะอย่างคนอื่นๆ สำนักอื่นๆ เขาทำหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือภาพ เขามักจะโฟกัสเป็นประเด็นๆ ไป เช่น เจ็ดวันในพม่า ในลาว นครวัด หรือว่าแม่น้ำโขง แต่นี่เราจะรวมทุกเรื่อง มันดูเยอะ ซับซ้อน อลังการงานสร้างมาก เป็นการคิดใหญ่ พอคิดใหญ่ก็ทำงานยาก แต่เมื่อทำออกมาได้ มันก็เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เหมือนกัน ทุกคนภูมิใจ ไปที่ไหนเห็นหนังสือก็ปลื้มปีติกับหนังสือ
ภาพโดย ดร. ธนะวัฒน์  ลิขิตคีรีรัตน์
• ถามถึงชื่อหนังสือ ASEAN SMILES ต้องการสื่อถึงอะไร

รอยยิ้มอาเซียน คือมันก็มีปัญหานะในทุกที่ที่ต้องรวมตัวกัน มันมีความเหมือน มีความต่าง แต่เรากำลังพูดถึงอนาคตที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มที่จะก้าวเดินไปด้วยกัน เราอาจจะไม่สะท้อนความทุกข์โศกของผู้คน แต่เราก็ไม่ละเลยที่จะพูดถึง อย่างเช่น เรื่องแรงงานข้ามชาติ แรงงานในอาเซียน เรื่องการศึกษาที่หลายคนไม่ได้รับโอกาส เราก็พูดถึง แต่เราไม่ได้ไปเน้นที่ความโศกเศร้าอาดูรของอาเซียน เราเน้นว่า ไม่ว่าเราจะอยู่กันอย่างไรในขณะนี้ แต่การร่วมมือกันของประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ร่วมกัน เรายกแผ่นดินหนีจากกันไปไหนไม่ได้ เราต้องอยู่ด้วยกัน แต่ว่าเราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร ก็ต้องด้วยการเข้าใจกัน เกื้อกูลกัน และก้าวเดินไปด้วยกัน อันนี้คือคอนเซปต์ที่ออกมาว่าต้องมีรอยยิ้ม

• ในส่วนของคนที่หยิบหนังสือเล่มนี้อ่าน เขาน่าจะได้อะไรบ้าง

เขาจะเข้าใจมากขึ้น เข้าใจเพื่อนบ้านมากขึ้น รู้จักเพื่อนบ้านมากขึ้น จริงๆ เรามีหลายอย่างเหมือนกันนะ แต่นี่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยเหรอ ยกตัวอย่างเรื่องน้ำมนต์ พม่าก็มีน้ำมนต์ บาหลีนี่ฮินดูเกือบทั้งเกาะเลย ก็มีเรื่องน้ำมนต์เหมือนกัน คืออ่านหนังสือแล้วจะรู้สึกว่าเราไม่ได้ไกลกันเลย เรามีจุดร่วม นี่คือสิ่งที่เราจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราจะมองเขาอย่างเข้าใจขึ้น เอ๊ย การนุ่งผ้าซิ่นหรือโสร่ง มันไม่ได้มีแต่ที่เมืองไทยนะ เพียงแต่อาจจะเรียกไม่เหมือนกันเท่านั้น อาจจะต่างกันด้วยลวดลายผ้า อาจจะต่างกันด้วยวิธีการนุ่ง นุ่งสั้น นุ่งกรอมเท้า นุ่งถึงตาตุ่ม อะไรก็ว่าไป แต่เราก็นุ่งซิ่นเหมือนกัน

หนังสือเล่มนี้มันครอบคลุมหมดทุกเรื่องราว เล่าประวัติศาสตร์ แล้วให้มองอย่างเข้าใจว่าแต่ละที่ การเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคแต่ละสมัยมันเป็นอย่างไร พูดถึงสถาปัตยกรรมว่ามันสะท้อนอะไร เราเห็นอะไรบ้างเวลาเรามองสถาปัตยกรรม มันบอกเล่าอะไร มันก็จะทำให้ข้ามเส้นแบ่งประเทศ พรมแดนมันจะกลายเป็นเส้นแบ่งที่เลือนราง แต่จะมีความดำรงอยู่ร่วมกันของประเทศในภูมิภาคนี้ มันไม่มีเส้นพรมแดนมากั้น ไม่มีทะเลมากั้น เพราะเราไม่ได้ต่างอะไรกันมากมายเลย เขาก็กินข้าวเหมือนกับเรา เขามีการเก็บทรัพยากรเหมือนกันกับเรา ทำน้ำปลา กะปิ ปลาร้า มันคล้ายกัน เราเคยรู้ไหมว่า ไปพม่าแล้วเนี่ย เหมือนภาคใต้ของเราเลย มีผักแนมให้ทั้งถาดเลย ถ้าเรารู้อย่างนี้ มันก็คล้ายๆ กันนะ เออ ทำไมขนมจีน กัมพูชาเขาก็กินนะ

มันจะทำให้รู้สึกว่าไม่ใช่ “ของเรา” ของบางอย่างมันเป็น “ของร่วม” แล้วมันก็ฝังรากอยู่ในภูมิภาคนี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่บางทีเราละเลยและมองไม่เห็น แล้วก็ยึดติดว่าอันนี้เป็นของเราหรือเริ่มต้นจากเรา เราไม่ไปตีกันว่าใครเริ่มต้นก่อน เราไม่ได้ไปค้นคว้าว่าใครเป็นเจ้าของ แต่เราจะสะท้อนให้เห็นว่าเรามีรากเดียวกัน

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่หนังสือวิชาการ ดังนั้น เราจะย่อยข้อมูลเหล่านั้นอย่างไรให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย ด้วยภาษาง่ายๆ และให้เข้าใจกัน คุณสามารถที่จะไปต่อยอดได้ ให้เห็นว่าเขามีอย่างนั้นอย่างนี้คล้ายเรา เราจะรักกันมากขึ้น ผูกพันกันมากขึ้น ซึ่งบางที ความผูกพันเหล่านี้ เราไม่เคยรับรู้มาก่อน
ภาพโดย ดร. ธนะวัฒน์  ลิขิตคีรีรัตน์
• ฟังมาว่า ขั้นตอนหนึ่งของการทำหนังสือเล่มนี้ คือการประสานกับหน่วยงานของประเทศนั้นๆ ด้วย

เนื่องจากว่า เราต้องค้นคว้าเยอะมาก เราต้องมีที่ปรึกษาในแต่ละเรื่องด้วยนะ ทั้งเรื่องข้อมูลและภาษา อีกส่วนหนึ่งคือเรามีหนังสือถึงสถานทูตแต่ละสถานทูตนะ เพื่อแจ้งว่าเรากำลังทำเรื่องนี้ๆ อยู่ เราอาจจะต้องขอความร่วมมือในบางเรื่องบางราว ตอนนี้หนังสือเสร็จแล้ว เราส่งไปถึงสถานทูตทั้งหลาย เขาก็ตอบรับมาว่าชื่นชมหนังสือ ตอนเปิดตัวก็มีสถานทูตบางประเทศมาด้วย

• ไหนๆ ก็มาถึงตรงนี้แล้ว ถามเป็นข้อมูลความรู้หน่อยครับว่า อีกเก้าประเทศในประชาคมเออีซี เขามีการตื่นตัวในเรื่องนี้กันมากน้อยไหนอย่างไร

เขาตื่นตัวอาจจะมากกว่าเราด้วยซ้ำนะ ของเรานี่ถือว่าน้อยมากนะเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วของเรานี่ยังเป็นอะไรที่ค่อนข้างเชยอยู่น่ะ คือเป็นการรณรงค์ปักธงเออีซีกันหน้าโรงเรียนอะไรอย่างนั้น แต่มันยังไม่ใช่เรื่องขององค์ความรู้ หรือไม่ก็แบบ “ซัวซะเดย” (สบายดี) คือกิมมิกเออีซีกันด้วยการรู้จักภาษา

อีกอย่างที่น่าพูดถึง คือต่อไปนี้ ภาษาอังกฤษมันจะเป็น Working Language ของอาเซียน ไม่ใช่ภาษาทางการนะ แต่เป็นภาษาที่ใช้สำหรับทำงานร่วมกัน แต่ของเรานี่ยังดูเหมือนไม่ไปถึงไหนเลย ขณะที่ภาษาอังกฤษของประเทศเพื่อนบ้านเขาแข็งแรงนะ เด็กกัมพูชาตื่นตัวเรื่องภาษาอังกฤษมากกว่าเรา ในหนังสือเล่มนี้ก็จะมีข้อเปรียบเทียบว่าอีกหน่อย ถ้าคนในกัมพูชาพูดภาษาอังกฤษได้มากกว่านี้ เขาจะแซงเราในเรื่องการบริการ เขาจะพร้อมในการให้การบริการระดับนานาชาติสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ มากกว่าเรา
ภาพโดย ดร. ธนะวัฒน์  ลิขิตคีรีรัตน์
ยกตัวอย่างง่ายๆ คนไทยไม่ได้ตื่นตัวในการพูดภาษาต่างชาติจริงๆ จังๆ เดี๋ยวนี้ มีมากขึ้นนะ มีการเรียนภาษาพม่า ภาษากัมพูชา แต่ไม่แข็งแรงมาก แต่ถ้าเราเข้าไปในเวียดนาม ในพม่า ในกัมพูชาดูสิ เขาพูดภาษาไทยกันได้แข็งแรงน่ะ เขาเตรียมคนของเขาเลย แล้วคนของเขาก็ตื่นตัว อย่างเราไปเจอล่ามที่กัมพูชา ล่ามของเขาพูดภาษาไทยนะ เมื่อก่อนเจอแต่ล่ามภาษาอังกฤษ แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่ต้อง ส่วนของเรานี่ภาษาอังกฤษก็ไม่แข็งแรง ภาษาเพื่อนบ้านก็ไม่เอา มีทัศนะที่ไม่ค่อยดีต่อเพื่อนบ้านอีก คือบอกว่าชอบฝรั่งนะ แต่พอให้พูดภาษาอังกฤษ กลับอาย ไม่อยากพูด

แต่ที่น่าดีใจก็คือ เรายังมีคนที่พูดได้สองสามภาษา อย่างคนที่อยู่แถวๆ รอยต่อเขตชายแดน แถวสุรินทร์ ศรีสะเกษ เมื่อก่อนเขาอาจจะอาย อายที่จะพูดภาษาลาว อายที่จะพูดภาษาเขมร แต่ในยุคนี้ นี่คือความได้เปรียบของตัวเอง สมัยก่อน เราอาจจะมีทัศนคติบางอย่าง และขึ้นอยู่กับแต่ละคน อย่างเช่นบางคนไม่อยากให้ใครรู้กำพืด รู้ว่าที่ไปที่มาของตัวเองเป็นอย่างไร แต่ถ้าคนรู้สึกภูมิใจในความเป็นคนท้องถิ่น ในแผ่นดินถิ่นเกิดของตัวเอง ไม่ได้รู้สึกว่าด้อย มีความด้อย ความภูมิใจเหล่านั้นมันจะปรากฏออกมาให้เห็น เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องของทัศนคติ แต่ตอนนี้ มันคือความได้เปรียบทางภาษา คุณจะมีโอกาสในการทำงานที่มากขึ้น ถ้าคุณรู้ภาษามากกว่าหนึ่งภาษา เมื่อก่อน เราอาจจะบอกว่าภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ เดี๋ยวนี้เราสามารถใส่ลงไปได้เลยว่า ลาว กัมพูชา หรืออินโดนีเซีย ถ้าพูดได้ แล้วเขียนได้อีก ก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก เพิ่มมูลค่าในตัวเอง
ภาพโดย บารมี  เต็มบุญเกียรติ
• เมื่อสักครู่พูดถึงการรณรงค์เออีซีในบ้านเราที่ยังไม่ใช่เรื่ององค์ความรู้ ถามว่า ASEAN SMILES จะมีส่วนเสริมในจุดนั้นอย่างไรไหม

อย่างน้อยที่สุด ผู้อ่านจะได้ผลึกของความรู้ที่ผ่านกระบวนการทำข้อมูลจากเอกสาร จากหนังสือ จากการพูดคุยกับผู้คน และจากประสบการณ์ของคนทำงานที่ไปลงพื้นที่มา จนเกิดเป็นผลึกหนึ่ง และเป็นผลึกซึ่งผ่านการย่อยมาแล้วเพื่อให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย และยังสร้างความเข้าใจกันและกันในภูมิภาคนี้ด้วย ที่ผ่านมา หนังสือเออีซีในตลาด เยอะพอสมควร แต่มันจะเป็นคู่มือทั่วๆ ไป ไม่ใช่เรื่องของการสร้างความเข้าใจจริงๆ หรืออย่างเวลามีคนพูดถึงข้อมูลข่าวสารอะไรต่างๆ เกี่ยวกับเออีซี มันไม่ตกผลึกเป็นองค์ความรู้ แต่สิ่งที่เราพยายามทำ เราพยายามที่จะให้องค์ความรู้ เป็นสิ่งที่ตกผลึกและตกค้างอยู่ในหนังสือเล่มนี้ อ่านแล้วจะมีความคิดแตกแขนงมากขึ้น เพื่อการนำไปสู่การเรียนรู้และเข้าใจกันและกัน และนอกเหนือจากเราคนไทย ชาติอื่นๆ หรือคนทั่วโลกก็สามารถที่จะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ด้วย เนื่องจากเราทำออกมาเป็นสองภาษา คือภาษาไทยเล่มหนึ่ง ภาษาอังกฤษอีกเล่มหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงเหมือนกัน
ภาพโดย ชาธร  สิทธิเคหภาค
• เรียกว่ามีหนังสือเล่มนี้หนึ่งเล่ม เดินทางได้ทั่วเออีซีเลย?

มันหนักน่ะ (ยิ้ม) หนังสือเล่มนี้หนักอย่างน้อยสามกิโลกรัม เพราะฉะนั้น อาจจะหนักไปหน่อย มันเหมาะจะเป็นหนังสือประจำห้องสมุด ห้องรับแขก หรือให้เป็นของฝากของขวัญ แต่ถ้าใครมีเวลา ก็ไม่อยากดูรูปอย่างเดียว อ่านเนื้อหาด้วย มันจะให้ความรู้ความเข้าใจ อย่างเราพูดถึงเรื่องจักรยานในเวียดนาม เราไม่ได้พูดถึงแค่ว่าจักรยานเป็นเครื่องพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่เราพูดถึงว่า อดีตจนถึงปัจจุบัน จักรยานสำหรับคนเวียดนาม เป็นเครื่องมือทำมาหากิน เขาบรรทุกของไปขาย เหมือนพวกหาบเร่ แทนที่จะแบก ก็ไปกับจักรยาน เราก็พูดเรื่องพวกนี้ด้วย แล้วจะพูดถึงว่า บางคนเห็นจักรยานแล้วนึกถึงสมัยที่แม่เลี้ยงตัวเองมา พาปั่นจักรยานไปนู่นนี่ เรื่องเล่าพวกนี้จะถูกบรรจุไว้ในหนังสือด้วย มันจะทำให้การมอง ไม่ใช่มองแค่ปรากฎการณ์ แต่เราจะเห็นมิติจากสิ่งที่ปรากฏมากขึ้น เห็นภาพของอดีตที่เคลื่อนไหวมาจนถึงปัจจุบัน แล้วก็มองไปไกลถึงอนาคตว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป อย่างปัญหารถติด เราพูดถึงปัญหารถติดในกรุงเทพฯ กันเยอะ แต่ฮานอย โฮจิมินห์ แม้กระทั่งเวียงจันทน์ ไม่ธรรมดาแล้วนะ เริ่มมีปัญหารถติดแล้วนะ เราก็ให้ภาพพวกนี้ด้วย ว่ามันเกิดอะไรขึ้น

และความพิสดารของมันก็คือว่า ภาพจริงๆ ที่ถ่ายมาได้ มีอยู่ประมาณสองหมื่นภาพ แต่ถูกคัดเลือกให้เหลืออยู่ในเล่มนี้ประมาณสามร้อยภาพ ดังนั้น ตอนนี้จึงกำลังมีความคิดในการต่อยอดทำอะไรต่อไปอีก คือเราไม่ได้จบแค่ ASEAN SMILES อย่างแน่นอน
ภาพโดย บารมี  เต็มบุญเกียรติ
ภาพโดย ดร. ธรณ์  ธำรงนาวาสวัสดิ์
ภาพโดย บารมี  เต็มบุญเกียรติ
ภาพโดย จันทร์กลาง  กันทอง
ภาพโดย พรศักดิ์ ณ นคร
ภาพโดย พรศักดิ์ ณ นคร

กำลังโหลดความคิดเห็น