xs
xsm
sm
md
lg

เชิดชู..อาจินต์ ปัญจพรรค์ ผู้เขียน “มหา’ลัยเหมืองแร่” เป็นนักเขียนอมตะ รับเงินรางวัลหนึ่งล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประกาศแล้ว รางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำปี ๒๕๕๗ โดยในปีนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ได้แก่นักประพันธ์ชั้นครู นาม “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ผู้เขียนชีวิตด้วยชีวิต จุดประกายความคิดและปัญญา สร้างคุณูปการแก่แวดวงการประพันธ์และให้โอกาสแก่นักเขียนรุ่นหลัง

ดำเนินมาจนถึงครั้งที่ 8 แล้ว สำหรับการมอบรางวัลนักเขียนอมตะ ซึ่งก่อตั้งโดยมูลนิธิอมตะด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อยกย่องนักเขียนไทยที่มีความสามารถให้ปรากฏ และเป็นกำลังใจแก่นักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า อันควรแก่การนำเสนอเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงสู่สังคมไทยและสากล

โดยการพิจารณามอบรางวัล “นักเขียนอมตะ” ดำเนินมาจนถึงคนที่ ๘ โดยรางวัล “นักเขียนอมตะ” ถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศซึ่งเปี่ยมด้วยคุณค่าและมาตรฐาน คงไว้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ อิสระ และเชิดชูประวัติแห่งผู้อุทิศตนที่ทุ่มเทสร้างผลงาน โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดสรร คือ

๑.เป็นนักเขียนสัญชาติไทย ยังมีชีวิตอยู่ในวันที่ทำการเสนอชื่อ
๒.มีผลงานตีพิมพ์ต่อเนื่องเป็นภาษาไทย เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี
๓.ผลงานดังกล่าวต้องมีคุณค่าสร้างสรรค์สังคมและมวลมนุษยชาติ

ทั้งนี้ผู้ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” จะได้รับเงินสนับสนุน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) พร้อมโล่รางวัล และใบประกาศเกียรติคุณ

ที่ผ่านมา มูลนิธิอมตะได้มอบรางวัลให้แก่นักเขียนผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยได้มอบรางวัลนักเขียนอมตะมาแล้ว ๗ ท่าน ได้แก่

๑.นายศักดิชัย บำรุงพงศ์ หรือนามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์” “นักเขียนอมตะ” คนที่ ๑
๒.นายโรจ งามแม้น หรือนามปากกา “เปลว สีเงิน” “นักเขียนอมตะ” คนที่ ๒
๓.นายโกวิท อเนกชัย หรือนามปากกา “เขมานันทะ” “นักเขียนอมตะ” คนที่ ๓
๔.นายสมบัติ พลายน้อย หรือนามปากกา “ส.พลายน้อย” นักเขียนอมตะ คนที่ ๔
๕.พระไพศาล วิสาโล นักเขียนอมตะ คนที่ ๕
๖.นายคำสิงห์ ศรีนอก หรือนามปากกา “ลาว คำหอม” นักเขียนอมตะ คนที่ ๖
๗.นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือนามปากกา “พนมเทียน” นักเขียนอมตะ คนที่ ๗
ภาพจากเฟซบุ๊ก อาจินต์ ปัญจพรรค์
สำหรับปีนี้ ผู้ที่รับการเชิดชูด้วยรางวัลดังกล่าว ก็ได้แก่ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งซึ่งตามเหตุและผลที่ระบุไว้ในคำประกาศ มีเนื้อหาใจความดังต่อไปนี้

“อาจินต์ ปัญจพรรค์” คือนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่รังสรรค์ผลงานจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่าเป็นผู้แปรเปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นพลัง “เขียนชีวิตด้วยชีวิต” จุดประกายทางปัญญา มีคุณูปการและให้โอกาสแก่นักเขียนรุ่นหลัง

ผลงานของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ถือเป็นรากลึกแห่งผลรวมทางความคิด อันเนื่องมาจากประสบการณ์แห่งการใช้ชีวิต ทั้งในฐานะนักเขียนและบรรณาธิการที่ได้รับความเคารพและการยอมรับนับถืออย่างยิ่งมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการนิตยสารที่รับใช้และยกย่องชีวิตอย่าง ฟ้าเมืองไทย ฟ้าเมืองทอง ฟ้านารี และฟ้าอาชีพ

ผลงานวรรณกรรมชิ้นเอกที่มีชื่อเสียง เช่น รวมเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ ปรัชยาไส้ นวนิยายเรื่อง เจ้าพ่อ เจ้าเมือง ล้วนสะท้อนสังคมและชีวิตของคนทุกชนชั้น ก่อให้เกิดความคิด ความหวังและแรงบันดาลใจต่อการหยัดยืนดำรงตนให้สมคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ดังคำกล่าวของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ที่ว่า

“ยิ่งกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความหมายอันเป็นต้นรากของสาเหตุต่างๆ
ชีวิตก็ยิ่งจะค้นพบทางสว่างแห่งการยึดถือของตัวตนเพิ่มมากขึ้น”

ด้วยคุณสมบัติและผลงานอันทรงคุณค่ายิ่ง มูลนิธิอมตะจึงพิจารณามอบรางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำพุทธศักราช ๒๕๕๗ ให้แก่ “อาจินต์ ปัญจพรรค์”

ประกาศ ณ วันศุกร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๘

สำหรับประวัติชีวิตโดยคร่าวๆ ของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ที่หลายคนเรียกขานด้วยความเคารพนับถือว่า “ครูอาจินต์” นั้น เกิดวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2470 ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรคนที่ 3 ของขุนปัญจพรรคพิบูล (พิบูล ปัญจพรรค์) และนางกระแส (โกมารทัต) ปัญจพรรค์ บิดารับราชการกระทรวงมหาดไทย ย้ายไปเป็นนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดหลายแห่ง พี่สาวคนโตชื่อ “ชอุ่ม ปัญจพรรค์” เป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่งเช่นกัน

ในส่วนการประพันธ์ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” เป็นคนที่รักการอ่านหนังสือ และสนใจข่าวสารจากสื่อต่างๆ จนทำให้เกิดความสนใจในงานประพันธ์มาตั้งแต่ยังเยาว์ ผลงานอย่าง “มหา'ลัยเหมืองแร่” ที่ได้รับการนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ หรือ “เจ้าพ่อ” “เจ้าเมือง” คือผลงานที่เข้าขั้นยอดเยี่ยมตลอดกาล ยังไม่นับรวมงานประพันธ์อื่นๆ ที่อยู่ในความชื่นชอบของผู้อ่าน ขณะเดียวกัน บทบาทในฐานะคนทำหนังสือซึ่งให้กำเนิดนิตยสารที่เป็นเสมือนกับตักสิลาของนักเขียนอย่าง “ฟ้าเมืองไทย” ก็คือคุณูปการอันยวดยิ่งที่นักประพันธ์ผู้นี้ได้ก่อไว้แก่แวดวงการประพันธ์แห่งประเทศไทย

ที่ผ่านมา “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ได้รับการยกย่องเชิดชูด้วยเกียรติยศจำนวนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น รางวัลนักเขียน “ศรีบูรพา” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ หรือแม้กระทั่งรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ ขณะที่ในปัจจุบัน ยังคงทำงานประพันธ์เป็นอาชีพ โดยมีผลงานเผยแพร่อยู่และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง
ภาพจากเฟซบุ๊ก อาจินต์ ปัญจพรรค์
ภาพจากเฟซบุ๊ก อาจินต์ ปัญจพรรค์
ภาพจากเฟซบุ๊ก อาจินต์ ปัญจพรรค์
ผลงานส่วนหนึ่งของ อาจินต์ ปัญจพรรค์

กำลังโหลดความคิดเห็น