ชายชราร่างผอมบาง เนื้อตัวมอมแมมด้วยคราบไคล เสื้อเชิ้ตรุ่งริ่งสีน้ำตาลหม่นยิ่งกว่าสีกาแฟ หนวดเครารุงรัง แถมสังกะตังเกาะกินเส้นผมจนจับเป็นก้อน กับภาพที่เขากระเตงสัตว์เลี้ยงสี่ขาไปโรงพยาบาล กลายเป็นภาพที่ถูกแชร์ไปอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์เมื่อไม่กี่วันก่อน พร้อมเสียงสะท้อนอย่างชื่นชมในน้ำจิตน้ำใจ
'คนจนผู้ยิ่งใหญ่'
'ลุงผมยาวผู้รักสัตว์'
และอีกสารพัดคำเรียกขาน ในทันทีที่เห็นและคอมเมนต์กันออกมา
เราเดินทางไปหา "ลุงอำนวย จันทร์เกิด" ผู้เป็นที่มาแห่งภาพดังกล่าว ณ ซอกหลืบทึบอับมุมหนึ่งในเมืองหลวง เพิงพักโกโรโกโส ที่นอนหมอนมุ้งและสิ่งของวางระเกะระกะ นั่นล่ะคือบ้านอยู่อู่นอนของชายชราผู้ที่โลกร่ำลือ...ชื่นชม...
จากคนมีบ้านที่จังหวัดชัยนาท โชคชะตาพัดเหวี่ยงให้กลายมาเป็นคนปั่นซาเล้ง เก็บของเก่าขายประทังชีวิต ชื่อของลุงอำนวยก็คงเหมือนกับคนจรหมอนหมิ่นคนอื่นๆ ที่ถูกกลืนหายไปในกระแสแห่งสังคมเมืองใหญ่ แต่ด้วยจิตเมตตาที่เขามีต่อเพื่อนร่วมโลกมาแต่ไหนแต่ไร ทำให้ชื่อของลุงส่องฉายขึ้นมาจากซอกหลืบทึบอับที่ว่านั้น...
"ไม่เป็นภาระเลย เพราะสำหรับลุง ถ้าไม่มีเขาเนี่ย ชีวิตมันเหมือนขาดความอบอุ่น ชีวิตมันจะเศร้า ชีวิตมันจะเหงาไปเลย แล้วก็ขาดความมั่นใจด้วย" ชายชราจรจัดผมเผ้ารุงรังจับหนาเป็นก้อน กล่าวเริ่มต้นถึงความรู้สึกที่ผูกพัน 'หนึ่ง' ชีวิตมนุษย์ กับ 'แปด' ลมหายใจสี่ขา ทั้งสุนัขและแมวเข้าด้วยกัน
"คือมันเป็นเหมือนเพื่อน เป็นเหมือนคนคอยดูแล ถ้าผมไม่มีพวกเขา จะนอนหลับๆ ตื่นๆ คล้ายฝันร้ายอยู่เรื่อยๆ เพราะผม... (หยุดนิ่งมองซ้าย-ขวา) อาศัยอยู่ข้างถนน กินนอนใต้สะพาน อย่าคิดว่าไม่มีอันตราย ขึ้นชื่อว่าคนจรด้วยกัน มันมีสารพัด ขโมยยังมี เรามีพวกเขา เราก็อุ่นใจ เกิดอะไรพวกมันก็จะเห่าขู่ก่อน"
พื้นที่ขนาดความกว้าง ราว 10 คูณ 5 เมตร ของถนน 3 เลน ถูกแบ่งเป็นล็อกๆ จับจองเป็นเจ้าของไม่ต่ำกว่า 5 มุ้งหลังคาฟ้า
ไม่ใช่ครอบครัว ไม่ใช่ญาติพี่น้อง ทว่าเป็นคนนาม “จร” ไม่ต่างกัน...
และบ่อยครั้งที่ท่ามกลางบรรยากาศรายรอบซึ่งเต็มไปด้วยซากข้าวของเครื่องใช้ที่ไร้ค่าจากคนกลุ่มหนึ่ง กล่องกระดาษลัง ขวดน้ำพลาสติกบี้แบนกองพะเนินเท่าศีรษะ เศษเหล็ก รวงอะไหล่รถ ซากจักรยานผุพัง สุมระเนระนาดกองโตที่ทั้งหมดถูกซุกซ่อนอยู่ภายใต้สะพานข้ามคูน้ำเล็กๆ อันมาจากคลองหลักคือคลองแสนแสบ ย่านซอยลาดพร้าว 43 จะกลายเป็นสิ่งของมีค่าของคนจรหรือผู้ที่มีอาชีพเก็บของเก่า จนเป็นจุดประสงค์แรกเริ่มของการนำมาซึ่งสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขเพื่อความปลอดภัย
กระนั้น มันก็กลับเกินเลยไปกว่า คำว่า "นาย-บ่าว" เพราะที่สุดแล้ว มันได้ก่อเกิดเป็นมิตรภาพระหว่าง "เพื่อน" ร่วมทาง
"แรกๆ ที่คิดก็เพราะนึกถึงความปลอดภัยนั่นแหล่ะ แต่ทำไปทำมา เราเป็นคนรักสัตว์อยู่แล้วด้วย สิ่งที่ได้กลับมาก็เลยคือความสุข ความอุ่นใจ ความมั่นใจที่มีเขาอยู่กับเรา
"นั่นคือความรักไง เรารักมัน มันก็รักเรา มันไม่ใช่ภาระหรือปัญหาเลย คือถ้าถามว่าผมเลี้ยงไหวหรือ วันๆ ลำพังตัวเองยังหาข้าวกินแทบไม่พอ อย่างเมื่อกี้ เพิ่งได้กินข้าวมื้อแรกตอนบ่าย 3 โมง มันไม่ใช่ปัญหาอะไรเลย เรากินคำหนึ่งมันกินสองคำสามคำก็ยังดี มันก็ชินแล้ว ทุกวันนี้มันก็อยู่สบายๆ ยังไงก็รอด
"ก็กินเท่าที่มี วันนี้อาจจะมีปลากินบ้าง พรุ่งนี้อาจจะเป็นก้างปลา มะรืนอาจจะเป็นหัวปลา ปิ้งๆ ทอดๆ ก็กินธรรมดาทั่วไป แต่ไม่ใช่ของเหลือจากเรา คือกินเหมือนคน กินมื้อหนึ่งก็เหมือนกับเราเลย
ข้ามสะพานที่พักพิง ห่างออกไปไม่ถึง 200 เมตร ก็จะเจอะเจอตลาดสะพาน 2 หรือเดินย้อนหลังมุดคานหยั่งน้ำหนักสะพานไปยังตลาดภาวนาตรงสี่แยกไฟแดง อันเป็นทั้งแหล่งที่อยู่เดิมเมื่อก่อนและแหล่งซื้อขายตลาดสดที่ลุงอำนวยบอกว่ามักแวะเวียนไปเสมอเพื่อจับจ่ายข้าวปลาอาหารสำหรับ 9 ชีวิตคนและสัตว์ ก่อนจะกลับมารื้อข้าวของ หม้อ ชาม ก่อฟืนไฟด้วยกิ่งไม้และขี้ไต้จากเศษกระดาษเท่าที่มีในบริเวณนั้น
ลุงอำนวยบอกด้วยรอยยิ้มว่า "เรารู้ว่าหมาเล็กๆ จะชอบกินข้าวต้ม ก็สับๆ คลุกๆ ปลากระดูกแล้วก็ใส่เกลือลงไป ส่วนหมาใหญ่เขาจะชอบข้าวสวยๆ"
"ตัวนี้ชื่อน้องสีแดง ชื่อเล่นชื่อน้องตุ้ม (หัวเราะ) ตัวนี้ชื่อน้องสีขาว ชื่อเล่นชื่อแม่ม้า แม่ม้านี่ช่วงหลังๆ เขาดื้อ เรียกเข้าบ้านก็นอนกระดิกหางอยู่หน้าประตู ประตูที่มุดเข้ามาอ่ะนะ ไม่ยอมเข้า ก็เลยเรียกแม่มะๆ คือเปลี่ยนเป็นชื่อแม่หม้าย พอเรียกอย่างนั้น เขาก็เข้าทุกครั้ง ไม่งั้นนอนเฉยๆ ไม่ยอมเข้า
"ส่วนอีกสองตัวก็ชื่อน้องหนึ่งกับน้องสอง ทีแรกก็เลี้ยงแค่สองตัวเท่านั้นแหละ เอามาจากบ้านที่ชัยนาท อยู่ๆ ไปก็มีคู่ กลายเป็นสี่ตัว"
เช่นเดียวกับแมวคู่ผัวตัวเมีย ที่ส่งต่อสายพันธุ์เกิดเป็นเจ้าขาวนวลบ้องแบ๊ว และอีกหนึ่งหน่อซึ่งวิ่งปร๋อ ลับไปในเงามืดที่แสงตะวันสาดส่องไม่ถึง
"เขาตื่น...วิ่งไปอยู่กับแม่แน่ะ" ลุงอำนวยกล่าว และแม้จะจำสลับสับสนกับชื่อเพื่อนผู้ซื่อสัตว์อย่างสุนัขคอกลูกที่เรียกวกวนไปมา แต่ลุงอำนวยไม่เคยลืมวินาทีที่เสียงร้องดัง "เหมียวๆ" ย่างกรายเข้ามาในโสต เมื่อครั้งสมัยวัยฉกรรจ์ หยิบจับแบกหาม อิฐ หิน ปูน ทราย ในสถานะกรรมกรรับจ้าง
"แมวนี้ไปเก็บมาจากตอนทำงานก่อสร้างที่ต่างจังหวัด ตอนนั้นเข้าไปในป่า จะไปเก็บตำลึงมากิน แล้วได้ยินมันร้องอยู่ที่กกไม้ มันเพิ่งคลอด ลุงก็ไปดูอยู่ 2-3 วัน ก็ไม่เห็นแม่มันกลับมาสักที เรากลัวมันตายก็เลยเอามันมาเลี้ยงในที่ก่อสร้าง ทีนี้พอเสร็จงานก่อสร้าง เราก็ต้องย้ายออกด้วยไง จะไปทิ้งก็ได้ ไม่มีใครเอาอีก
"คือมันยังไม่ลืมตา เขาเพิ่งจะคลอดออกมา อยู่ในป่า เราก็กลัวตาย เพราะไม่มีแม่ให้นมกิน ก็ต้องเอากลับมาด้วย"
100 บาท คือราคาค่างวดที่ตกเฉลี่ยตลอด 4-5 วันต่อที่สรรหาขยะขาย หาใช่อุปสรรคปัญหาต่อความรักความเมตตาที่จะเผื่อแผ่ถึงเพื่อนร่วมโลก...
"มันไม่เรียกว่าเลือกที่จะช่วยหรอก ไอ้การที่เราเลี้ยงเขาเนี่ย คือเราต้องการมันทั้งชีวิตและจิตใจ อย่างที่บอก มันอุ่นใจที่มีเขา เขาจะกินหรือเป็นอะไร เราก็ต้องดูแล ถ้าเราอยากรักษาชีวิตเขาไว้ อย่างที่พาไปหาหมอเมื่อสองสามวันก่อนหน้านี้ เขาก็ไอเหมือนหายใจไม่ออก คล้ายก้างติดคอ หมอเขาก็คิดพันหนึ่งค่ารักษา ผมก็ได้คนที่เขาเห็นเราในโรงพยาบาล (โรงพยาบาลรักษาสัตว์ ม.เกษตรบางเขน) เขาได้ยินว่าเราไม่มีเงิน เขาก็ช่วยจ่าย ก็ได้พวกคนที่รักเขาช่วยเหลือเป็นบุญของเขา
"แต่ถ้าไม่มีเราก็...คือถ้ามันจะตาย ไม่มีก็ต้องเอาไปรักษา พาขึ้นรถขึ้นอะไรไป จนมุมจริงๆ เขาก็ให้ไปเซ็นสัญญาติดค้างไว้เพื่อชีวิตเขาอ่ะ เท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีโต้เถียง เราไม่เกี่ยงราคาเลย ค่อยๆ ผ่อนจ่าย เดือนละเท่าไหร่ก็ว่าไป เรามั่นใจอยู่แล้วว่าทำได้ เราก็แค่ตั้งใจทำให้มากขึ้น ในระหว่างที่เราต้องการเอาชีวิตเขาไว้น่ะนะ
"แล้วอีกอย่าง เขาไม่มีอาชีพเหมือนเรา ขนาดเรามีอาชีพ เรายังไม่ค่อยพอจะกินเลย ถ้าเราไปซื้อขายกันหมด เขาจะอดไหมล่ะ...อด แม้ว่าธรรมชาติของสัตว์มันจะหากินได้ของเขาอ่ะนะ แต่ถึงอยู่ได้ เราก็ต้องเผื่อแผ่เขาบ้างก็ดีไง คือช่วยกัน ทุกคนคิดว่าช่วยกัน เราก็รวยกว่า คนละไม้คนละมือ อยากให้ช่วยกันคิดอย่างนี้ มันจะมีความสุข
"เราก็ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่าคำดูถูก ไม่เจียมตัว แต่ที่ได้ยินมาก็ไม่มี แต่ถึงมีเราก็ไม่อาย ก็เราไม่ได้แบมือขอใครเขานี่ ไม่ว่าเราจะไปไหน เราก็ไปตามหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือลากรถออกมา เรามีถุงปุ๋ยใส่รถมา อะไรพอขายได้ เราก็หยิบๆ เราจะไปอายทำไม"
..."ถ้าเขามีที่นอนประจำอยู่แล้ว เราก็ไม่ยุ่ง ไม่เอากลับมาเลี้ยง" ลุงอำนวยเผย เมื่อถามถึงเพื่อนสี่ขาตามไหล่ทางที่นอกเหนือไปจากที่เลี้ยงไว้ส่วนตัว "คือถ้าเขามีที่อยู่ประจำอยู่แล้ว เราจะแค่ถ้าเห็นเขาอด ก็จะเอาข้าวใส่ถุงหิ้วไปให้เขากิน หรือเป็นขี้เรื้อนนอนรอวันตาย ไม่มีใครสนใจ เราก็เอากำมะถันกับขมิ้นไปถูๆ ไถๆ (หัวเราะ) ทุกวัน"
"ก็เยอะ...แต่พอสวยแล้วก็โดนอุ้มหายไป" ลุงอำนวยว่าด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะบอกอีกว่าแม้จะเป็นอย่างนั้น แต่ก็ไม่เคยนึกเสียใจ กลับดีใจด้วยซ้ำที่มันมีบุญ
"เคยถามคนใกล้เคียง หมาที่ผมช่วยไปไหน เขาก็บอกว่าโอ้ลุง มีคนอุ้มขึ้นรถไปแล้ว หนูขายของอยู่ เห็นกับตาเลย เขายังมาขอด้วยนะ เราได้ยินอย่างนั้น เราก็ดีใจ ดีใจจริงๆ (ยิ้ม) ที่ยังมีคนคิดเหมือนเราว่ารักเขาไง ไม่เสียดายอะไรเลย เรารู้อยู่แล้วว่ามันต้องหาย
"อย่างหมากะทิมันสวย แต่มันเป็นขี้เรื้อนเป็นตุ่มๆ ขึ้นทั้งตัวตั้งแต่หัวยันหาง ไม่มีใครสนใจมัน อย่างที่บอก นอนรอวันตาย แต่พอมันหาย มันสวย มีเจ้านายรถเก๋งอุ้มไปเลี้ยง มันก็เป็นบุญของมันแล้ว"
"คือความคิดนี้มันมีมานานแล้ว อันที่จริง ผมอยากให้ทุกคน ไม่ว่าจะจนหรือรวย หน้าบ้านรั้วบ้านอยากให้มีจานข้าวนก จานข้าวหมูหมา น้ำท่า ทั่วประเทศอยากให้เป็นอย่างนั้น แบบช่วยกันคนละไม้ละมือ สัตว์ทั้งหลายเขาจะได้มีกิน มีกล้วยก็เว้นไว้ให้เขาสักเครือ สมมติมีสวนกล้วยอ่ะนะ มีขนุนร้อยลูกก็เว้นให้เขาสัก 2 ลูก ไว้ให้นกเขากิน ถ้าเป็นผม ผมทำอย่างนั้น เราต้องมองให้ลึกๆ คือทุกอย่างมันต้องการการช่วยเหลือทุกปัญหาล่ะ"
"ถามว่าทุกปัญหาคืออะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างคนจร คนอย่างผมก็เหมือนหมา ก็ถูกของเขา ก็ถูกต้อง ไม่ได้ไปคิดน้อยใจอะไร แต่ถ้าไม่มีคนดูแลแล้วมันจะอยู่อย่างไรในสังคม เปรียบเทียบเหมือนว่าพ่อแม่ผมป่วย ถ้าผมไม่ไปช่วยดูแล จับเช็ดตัว อุ้มเข้าห้องน้ำ แล้วคนป่วยจะช่วยเหลือตัวเองได้ไหม สังคมก็เหมือนกัน หมาแมวก็เหมือนกัน"
ชายชรายิ้มเต็มดวงหน้า ก่อนจะขยับข้าวของที่กระจัดกระจายล้มทับรถเข็นเล็กๆ สีน้ำเงินกระดำกระด่าง ไขกุญแจปลดล็อกห่วงโซ่ที่ตรึงรถซาเล้งไว้เสาเหล็ก พลางเอ่ยปากขอตัว ภารกิจวันนี้ยังอีกยาวไกล ในฝันอันไม่แพรวพรายมากมายนัก คือถังขยะข้างถนนที่เสมือนขุมทรัพย์ของคนจรคนจนที่ยังพร้อมจะดิ้นรน ไม่หยุดนิ่ง
“คนจนผู้ยิ่งใหญ่” หรือ?
เราไม่ได้ยินถ้อยคำยกยอป้อตนเช่นนั้นจากปากของชายชราเลยแม้แต่คำเดียว
แต่ถ้าในความรู้สึกของคนอื่นๆ จะขนานนามแกว่าอย่างนั้น
ก็สุดแท้ของใครแต่ละคน...
................................................................................................................................................................................................
ประวัติ
ชื่อ อำนวย นามสกุล จันทร์เกิด
อายุ 65 ปี
อาชีพ เก็บของเก่าและกรรมกรก่อสร้าง (บางครั้งคราว)
ภูมิลำเนาเดิม เกิดที่ ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท แรกเริ่มเดิมทีเข้ากรุงเทพฯ เพราะความฝันอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นตามแบบคนรุ่นหนุ่มสาวทั่วไป โดยหลังจากเว้นว่างช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูทำนา ก็เข้ามารับจ้างเป็นกรรมกรแบกหาม เป็นช่างก่อสร้าง ช่างเชื่อม หาเลี้ยงปากท้องหรือกระทั่งรับจ้างเป็นคนขับรถโดยสารปรับอากาศ
*********************************************************************
ฝันของคนจน
อนาคตของคนจร
• ทุกวันนี้ชีวิตมีความสุขหรือไม่ อายไหมที่เราเป็นคนจรไร้บ้าน แถมภาพลักษณ์เนื้อตัวก็สกปรก
ลุงอำนวย : ไม่อาย ทุกวันนี้มีความสุขดี เรื่องภาพลักษณ์ส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครกลัวนะ ผู้คนแถวนี้รู้จักกันหมด แต่เขาจะรู้จักในชื่อ “ลุงผมยาว” เขาไม่รู้ว่าเราชื่อลุงอำนวย แต่ว่ามันก็จะมีคนบางส่วน เฉพาะคนบางส่วนนี้หมายความถึงคนที่ระดับรวยๆ หน่อย อันนั้นดูเหมือนว่าจะมีปัญหา แต่คนหนุ่มๆ สาวๆ ที่เดินอยู่ทุกวัน ไปเรียน ไปทำงานอย่างนี้ไม่มี มีแต่เขาบอกลุง "เอาขนมปังไปกิน" "เอากาแฟไปกิน" คือคล้ายๆ ว่าเขาจะซื้อไปกินเองนั่นล่ะ แต่พอเจอลุง เขาก็เอามาวางไว้ให้ ถ้าเขาเจอโดยบังเอิญ เห็นเรานั่งเล่น นั่งรอรถเมล์ หรือกำลังจะไปเก็บขยะตามข้างทาง เขาเห็นเขาก็จะให้
• การที่เราไม่มีบ้านเพราะตัวเราเองหรือเปล่า เรากินเหล้าเมายาหรือเปล่า แล้วความฝันที่ทำให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ จนมีชีวิตแบบนี้เพราะอะไร
ลุงอำนวย : ไม่ๆ แต่เพราะเราท้อกับชีวิต คือหลังจากขึ้นโรงขึ้นศาลตอนขับรถโดยสารปรับอากาศแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรม เราก็ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรแล้ว ก็เลยกลับมาทำก่อสร้างแล้วก็เก็บของเก่าช่วยอีกแรง ถามว่ากินเหล้าไหม ก็ยอมรับมันมีบ้าง อย่างเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ เราก็อยากให้ชีวิตเราดีขึ้นทุกคนเนอะ (ยิ้ม) ก็ฝันว่าอยากจะมีชีวิตใหม่ ความฝันของลุงก็ไม่มากอะไร คือถ้าเรามีเงินทุนเมื่อไหร่ เราก็อยากมีร้านอาหาร อยากจะไปทำฟาร์มกบฟาร์มไก่ อยากจะกลับไปปลูกผัก ทำไร่ทำนาเหมือนเดิมที่บ้านชัยนาท ทางนั้นเขาก็อยากให้เรากลับไป แต่เราก็ต้องมีทุนในการย้ายข้าวของ ไหนจะหมาแมว เพราะของใคร ใครก็รักใช่ไหม
คือถ้ากลับไปทำไร่ทำนาเหมือนเดิม เราก็จะทำนาสวนผสมอย่างที่ในหลวง (ยกมือไหว้) ท่านสอน ปลูกอะไรหลายๆ อย่างเป็นสวนผสม แล้วอีกส่วน เราก็จะทำเป็นฟาร์มกบสัก 100-200 ตัว พอได้ระบายขาย ได้เป็นค่าอาหาร แล้วก็จะเลี้ยงฟาร์มไก่ เลี้ยงยังไง ทำยังไง ผมก็อาศัยดูจากโทรทัศน์ ดูแล้วก็จดไว้
แต่ว่าในขณะที่เราทำตรงนี้ ฟังให้ดีนะ ผมก็ยังคอยทำประโยชน์ให้กับสังคม ระดับใต้ดิน เช่นผม เดินไปเจอคนเป็นลมเป็นแล้ง เป็นลมอยู่ข้างถนน ขี้ราดเยี่ยวราด ผมช่วยจริงนะ อย่างคนจรด้วยกันเนี่ย เจอผมช่วยเลย บางทีช่วยโทร.เรียกรถพยาบาลราชวิถีมารับเลย หรือบางทีมียาดมยาหม่องไปขอน้ำร้อนน้ำชามากรอกให้เลย ฟื้น ไปซื้อข้าวต้มมากรอกให้ บางคนตายคาที่เลย ตายเลย เพราะพอรถพยาบาลมาถึง มันสิ้นใจพอดี ตาย
ผมช่วยงานสังคมจริงๆ ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ผมเดินตามถนนไปเก็บขยะริมๆ ถนน พวกนอตรถเนี่ยหล่นเกลื่อนกลาดหมด มันหล่นทีละส่วนสองส่วน เยอะเข้ามันก็หลายตัว เราก็เก็บ เพราะผมรู้เลยว่าถ้าเกิดกงล้อมันดีดไป มันจะไปโดนกระจกคันหลัง เรารู้เลยว่าเนี่ย ถ้ามันดีดเป้งไปเนี่ย มันไปโดนกระจกคันหลัง ถ้าเกิดไปข้างฝั่งคนขับมันอาจตายเหมือนกัน หรือไม่ก็สลบ เรานึกภาพได้หมด ผมจะเก็บให้ทุกตัวเลย หัวนอตใหญ่ๆ เก็บใส่ถุงปุ๋ยหมดล่ะ ได้วันหนึ่งหลายสิบตัว เราลองสอดส่ายสายตาดูเถอะ ถ้าเราสนใจ มีเยอะแยะริมถนน หัวเล็ก หัวใหญ่
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช
'คนจนผู้ยิ่งใหญ่'
'ลุงผมยาวผู้รักสัตว์'
และอีกสารพัดคำเรียกขาน ในทันทีที่เห็นและคอมเมนต์กันออกมา
เราเดินทางไปหา "ลุงอำนวย จันทร์เกิด" ผู้เป็นที่มาแห่งภาพดังกล่าว ณ ซอกหลืบทึบอับมุมหนึ่งในเมืองหลวง เพิงพักโกโรโกโส ที่นอนหมอนมุ้งและสิ่งของวางระเกะระกะ นั่นล่ะคือบ้านอยู่อู่นอนของชายชราผู้ที่โลกร่ำลือ...ชื่นชม...
จากคนมีบ้านที่จังหวัดชัยนาท โชคชะตาพัดเหวี่ยงให้กลายมาเป็นคนปั่นซาเล้ง เก็บของเก่าขายประทังชีวิต ชื่อของลุงอำนวยก็คงเหมือนกับคนจรหมอนหมิ่นคนอื่นๆ ที่ถูกกลืนหายไปในกระแสแห่งสังคมเมืองใหญ่ แต่ด้วยจิตเมตตาที่เขามีต่อเพื่อนร่วมโลกมาแต่ไหนแต่ไร ทำให้ชื่อของลุงส่องฉายขึ้นมาจากซอกหลืบทึบอับที่ว่านั้น...
"ไม่เป็นภาระเลย เพราะสำหรับลุง ถ้าไม่มีเขาเนี่ย ชีวิตมันเหมือนขาดความอบอุ่น ชีวิตมันจะเศร้า ชีวิตมันจะเหงาไปเลย แล้วก็ขาดความมั่นใจด้วย" ชายชราจรจัดผมเผ้ารุงรังจับหนาเป็นก้อน กล่าวเริ่มต้นถึงความรู้สึกที่ผูกพัน 'หนึ่ง' ชีวิตมนุษย์ กับ 'แปด' ลมหายใจสี่ขา ทั้งสุนัขและแมวเข้าด้วยกัน
"คือมันเป็นเหมือนเพื่อน เป็นเหมือนคนคอยดูแล ถ้าผมไม่มีพวกเขา จะนอนหลับๆ ตื่นๆ คล้ายฝันร้ายอยู่เรื่อยๆ เพราะผม... (หยุดนิ่งมองซ้าย-ขวา) อาศัยอยู่ข้างถนน กินนอนใต้สะพาน อย่าคิดว่าไม่มีอันตราย ขึ้นชื่อว่าคนจรด้วยกัน มันมีสารพัด ขโมยยังมี เรามีพวกเขา เราก็อุ่นใจ เกิดอะไรพวกมันก็จะเห่าขู่ก่อน"
พื้นที่ขนาดความกว้าง ราว 10 คูณ 5 เมตร ของถนน 3 เลน ถูกแบ่งเป็นล็อกๆ จับจองเป็นเจ้าของไม่ต่ำกว่า 5 มุ้งหลังคาฟ้า
ไม่ใช่ครอบครัว ไม่ใช่ญาติพี่น้อง ทว่าเป็นคนนาม “จร” ไม่ต่างกัน...
และบ่อยครั้งที่ท่ามกลางบรรยากาศรายรอบซึ่งเต็มไปด้วยซากข้าวของเครื่องใช้ที่ไร้ค่าจากคนกลุ่มหนึ่ง กล่องกระดาษลัง ขวดน้ำพลาสติกบี้แบนกองพะเนินเท่าศีรษะ เศษเหล็ก รวงอะไหล่รถ ซากจักรยานผุพัง สุมระเนระนาดกองโตที่ทั้งหมดถูกซุกซ่อนอยู่ภายใต้สะพานข้ามคูน้ำเล็กๆ อันมาจากคลองหลักคือคลองแสนแสบ ย่านซอยลาดพร้าว 43 จะกลายเป็นสิ่งของมีค่าของคนจรหรือผู้ที่มีอาชีพเก็บของเก่า จนเป็นจุดประสงค์แรกเริ่มของการนำมาซึ่งสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขเพื่อความปลอดภัย
กระนั้น มันก็กลับเกินเลยไปกว่า คำว่า "นาย-บ่าว" เพราะที่สุดแล้ว มันได้ก่อเกิดเป็นมิตรภาพระหว่าง "เพื่อน" ร่วมทาง
"แรกๆ ที่คิดก็เพราะนึกถึงความปลอดภัยนั่นแหล่ะ แต่ทำไปทำมา เราเป็นคนรักสัตว์อยู่แล้วด้วย สิ่งที่ได้กลับมาก็เลยคือความสุข ความอุ่นใจ ความมั่นใจที่มีเขาอยู่กับเรา
"นั่นคือความรักไง เรารักมัน มันก็รักเรา มันไม่ใช่ภาระหรือปัญหาเลย คือถ้าถามว่าผมเลี้ยงไหวหรือ วันๆ ลำพังตัวเองยังหาข้าวกินแทบไม่พอ อย่างเมื่อกี้ เพิ่งได้กินข้าวมื้อแรกตอนบ่าย 3 โมง มันไม่ใช่ปัญหาอะไรเลย เรากินคำหนึ่งมันกินสองคำสามคำก็ยังดี มันก็ชินแล้ว ทุกวันนี้มันก็อยู่สบายๆ ยังไงก็รอด
"ก็กินเท่าที่มี วันนี้อาจจะมีปลากินบ้าง พรุ่งนี้อาจจะเป็นก้างปลา มะรืนอาจจะเป็นหัวปลา ปิ้งๆ ทอดๆ ก็กินธรรมดาทั่วไป แต่ไม่ใช่ของเหลือจากเรา คือกินเหมือนคน กินมื้อหนึ่งก็เหมือนกับเราเลย
ข้ามสะพานที่พักพิง ห่างออกไปไม่ถึง 200 เมตร ก็จะเจอะเจอตลาดสะพาน 2 หรือเดินย้อนหลังมุดคานหยั่งน้ำหนักสะพานไปยังตลาดภาวนาตรงสี่แยกไฟแดง อันเป็นทั้งแหล่งที่อยู่เดิมเมื่อก่อนและแหล่งซื้อขายตลาดสดที่ลุงอำนวยบอกว่ามักแวะเวียนไปเสมอเพื่อจับจ่ายข้าวปลาอาหารสำหรับ 9 ชีวิตคนและสัตว์ ก่อนจะกลับมารื้อข้าวของ หม้อ ชาม ก่อฟืนไฟด้วยกิ่งไม้และขี้ไต้จากเศษกระดาษเท่าที่มีในบริเวณนั้น
ลุงอำนวยบอกด้วยรอยยิ้มว่า "เรารู้ว่าหมาเล็กๆ จะชอบกินข้าวต้ม ก็สับๆ คลุกๆ ปลากระดูกแล้วก็ใส่เกลือลงไป ส่วนหมาใหญ่เขาจะชอบข้าวสวยๆ"
"ตัวนี้ชื่อน้องสีแดง ชื่อเล่นชื่อน้องตุ้ม (หัวเราะ) ตัวนี้ชื่อน้องสีขาว ชื่อเล่นชื่อแม่ม้า แม่ม้านี่ช่วงหลังๆ เขาดื้อ เรียกเข้าบ้านก็นอนกระดิกหางอยู่หน้าประตู ประตูที่มุดเข้ามาอ่ะนะ ไม่ยอมเข้า ก็เลยเรียกแม่มะๆ คือเปลี่ยนเป็นชื่อแม่หม้าย พอเรียกอย่างนั้น เขาก็เข้าทุกครั้ง ไม่งั้นนอนเฉยๆ ไม่ยอมเข้า
"ส่วนอีกสองตัวก็ชื่อน้องหนึ่งกับน้องสอง ทีแรกก็เลี้ยงแค่สองตัวเท่านั้นแหละ เอามาจากบ้านที่ชัยนาท อยู่ๆ ไปก็มีคู่ กลายเป็นสี่ตัว"
เช่นเดียวกับแมวคู่ผัวตัวเมีย ที่ส่งต่อสายพันธุ์เกิดเป็นเจ้าขาวนวลบ้องแบ๊ว และอีกหนึ่งหน่อซึ่งวิ่งปร๋อ ลับไปในเงามืดที่แสงตะวันสาดส่องไม่ถึง
"เขาตื่น...วิ่งไปอยู่กับแม่แน่ะ" ลุงอำนวยกล่าว และแม้จะจำสลับสับสนกับชื่อเพื่อนผู้ซื่อสัตว์อย่างสุนัขคอกลูกที่เรียกวกวนไปมา แต่ลุงอำนวยไม่เคยลืมวินาทีที่เสียงร้องดัง "เหมียวๆ" ย่างกรายเข้ามาในโสต เมื่อครั้งสมัยวัยฉกรรจ์ หยิบจับแบกหาม อิฐ หิน ปูน ทราย ในสถานะกรรมกรรับจ้าง
"แมวนี้ไปเก็บมาจากตอนทำงานก่อสร้างที่ต่างจังหวัด ตอนนั้นเข้าไปในป่า จะไปเก็บตำลึงมากิน แล้วได้ยินมันร้องอยู่ที่กกไม้ มันเพิ่งคลอด ลุงก็ไปดูอยู่ 2-3 วัน ก็ไม่เห็นแม่มันกลับมาสักที เรากลัวมันตายก็เลยเอามันมาเลี้ยงในที่ก่อสร้าง ทีนี้พอเสร็จงานก่อสร้าง เราก็ต้องย้ายออกด้วยไง จะไปทิ้งก็ได้ ไม่มีใครเอาอีก
"คือมันยังไม่ลืมตา เขาเพิ่งจะคลอดออกมา อยู่ในป่า เราก็กลัวตาย เพราะไม่มีแม่ให้นมกิน ก็ต้องเอากลับมาด้วย"
100 บาท คือราคาค่างวดที่ตกเฉลี่ยตลอด 4-5 วันต่อที่สรรหาขยะขาย หาใช่อุปสรรคปัญหาต่อความรักความเมตตาที่จะเผื่อแผ่ถึงเพื่อนร่วมโลก...
"มันไม่เรียกว่าเลือกที่จะช่วยหรอก ไอ้การที่เราเลี้ยงเขาเนี่ย คือเราต้องการมันทั้งชีวิตและจิตใจ อย่างที่บอก มันอุ่นใจที่มีเขา เขาจะกินหรือเป็นอะไร เราก็ต้องดูแล ถ้าเราอยากรักษาชีวิตเขาไว้ อย่างที่พาไปหาหมอเมื่อสองสามวันก่อนหน้านี้ เขาก็ไอเหมือนหายใจไม่ออก คล้ายก้างติดคอ หมอเขาก็คิดพันหนึ่งค่ารักษา ผมก็ได้คนที่เขาเห็นเราในโรงพยาบาล (โรงพยาบาลรักษาสัตว์ ม.เกษตรบางเขน) เขาได้ยินว่าเราไม่มีเงิน เขาก็ช่วยจ่าย ก็ได้พวกคนที่รักเขาช่วยเหลือเป็นบุญของเขา
"แต่ถ้าไม่มีเราก็...คือถ้ามันจะตาย ไม่มีก็ต้องเอาไปรักษา พาขึ้นรถขึ้นอะไรไป จนมุมจริงๆ เขาก็ให้ไปเซ็นสัญญาติดค้างไว้เพื่อชีวิตเขาอ่ะ เท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีโต้เถียง เราไม่เกี่ยงราคาเลย ค่อยๆ ผ่อนจ่าย เดือนละเท่าไหร่ก็ว่าไป เรามั่นใจอยู่แล้วว่าทำได้ เราก็แค่ตั้งใจทำให้มากขึ้น ในระหว่างที่เราต้องการเอาชีวิตเขาไว้น่ะนะ
"แล้วอีกอย่าง เขาไม่มีอาชีพเหมือนเรา ขนาดเรามีอาชีพ เรายังไม่ค่อยพอจะกินเลย ถ้าเราไปซื้อขายกันหมด เขาจะอดไหมล่ะ...อด แม้ว่าธรรมชาติของสัตว์มันจะหากินได้ของเขาอ่ะนะ แต่ถึงอยู่ได้ เราก็ต้องเผื่อแผ่เขาบ้างก็ดีไง คือช่วยกัน ทุกคนคิดว่าช่วยกัน เราก็รวยกว่า คนละไม้คนละมือ อยากให้ช่วยกันคิดอย่างนี้ มันจะมีความสุข
"เราก็ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่าคำดูถูก ไม่เจียมตัว แต่ที่ได้ยินมาก็ไม่มี แต่ถึงมีเราก็ไม่อาย ก็เราไม่ได้แบมือขอใครเขานี่ ไม่ว่าเราจะไปไหน เราก็ไปตามหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือลากรถออกมา เรามีถุงปุ๋ยใส่รถมา อะไรพอขายได้ เราก็หยิบๆ เราจะไปอายทำไม"
..."ถ้าเขามีที่นอนประจำอยู่แล้ว เราก็ไม่ยุ่ง ไม่เอากลับมาเลี้ยง" ลุงอำนวยเผย เมื่อถามถึงเพื่อนสี่ขาตามไหล่ทางที่นอกเหนือไปจากที่เลี้ยงไว้ส่วนตัว "คือถ้าเขามีที่อยู่ประจำอยู่แล้ว เราจะแค่ถ้าเห็นเขาอด ก็จะเอาข้าวใส่ถุงหิ้วไปให้เขากิน หรือเป็นขี้เรื้อนนอนรอวันตาย ไม่มีใครสนใจ เราก็เอากำมะถันกับขมิ้นไปถูๆ ไถๆ (หัวเราะ) ทุกวัน"
"ก็เยอะ...แต่พอสวยแล้วก็โดนอุ้มหายไป" ลุงอำนวยว่าด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะบอกอีกว่าแม้จะเป็นอย่างนั้น แต่ก็ไม่เคยนึกเสียใจ กลับดีใจด้วยซ้ำที่มันมีบุญ
"เคยถามคนใกล้เคียง หมาที่ผมช่วยไปไหน เขาก็บอกว่าโอ้ลุง มีคนอุ้มขึ้นรถไปแล้ว หนูขายของอยู่ เห็นกับตาเลย เขายังมาขอด้วยนะ เราได้ยินอย่างนั้น เราก็ดีใจ ดีใจจริงๆ (ยิ้ม) ที่ยังมีคนคิดเหมือนเราว่ารักเขาไง ไม่เสียดายอะไรเลย เรารู้อยู่แล้วว่ามันต้องหาย
"อย่างหมากะทิมันสวย แต่มันเป็นขี้เรื้อนเป็นตุ่มๆ ขึ้นทั้งตัวตั้งแต่หัวยันหาง ไม่มีใครสนใจมัน อย่างที่บอก นอนรอวันตาย แต่พอมันหาย มันสวย มีเจ้านายรถเก๋งอุ้มไปเลี้ยง มันก็เป็นบุญของมันแล้ว"
"คือความคิดนี้มันมีมานานแล้ว อันที่จริง ผมอยากให้ทุกคน ไม่ว่าจะจนหรือรวย หน้าบ้านรั้วบ้านอยากให้มีจานข้าวนก จานข้าวหมูหมา น้ำท่า ทั่วประเทศอยากให้เป็นอย่างนั้น แบบช่วยกันคนละไม้ละมือ สัตว์ทั้งหลายเขาจะได้มีกิน มีกล้วยก็เว้นไว้ให้เขาสักเครือ สมมติมีสวนกล้วยอ่ะนะ มีขนุนร้อยลูกก็เว้นให้เขาสัก 2 ลูก ไว้ให้นกเขากิน ถ้าเป็นผม ผมทำอย่างนั้น เราต้องมองให้ลึกๆ คือทุกอย่างมันต้องการการช่วยเหลือทุกปัญหาล่ะ"
"ถามว่าทุกปัญหาคืออะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างคนจร คนอย่างผมก็เหมือนหมา ก็ถูกของเขา ก็ถูกต้อง ไม่ได้ไปคิดน้อยใจอะไร แต่ถ้าไม่มีคนดูแลแล้วมันจะอยู่อย่างไรในสังคม เปรียบเทียบเหมือนว่าพ่อแม่ผมป่วย ถ้าผมไม่ไปช่วยดูแล จับเช็ดตัว อุ้มเข้าห้องน้ำ แล้วคนป่วยจะช่วยเหลือตัวเองได้ไหม สังคมก็เหมือนกัน หมาแมวก็เหมือนกัน"
ชายชรายิ้มเต็มดวงหน้า ก่อนจะขยับข้าวของที่กระจัดกระจายล้มทับรถเข็นเล็กๆ สีน้ำเงินกระดำกระด่าง ไขกุญแจปลดล็อกห่วงโซ่ที่ตรึงรถซาเล้งไว้เสาเหล็ก พลางเอ่ยปากขอตัว ภารกิจวันนี้ยังอีกยาวไกล ในฝันอันไม่แพรวพรายมากมายนัก คือถังขยะข้างถนนที่เสมือนขุมทรัพย์ของคนจรคนจนที่ยังพร้อมจะดิ้นรน ไม่หยุดนิ่ง
“คนจนผู้ยิ่งใหญ่” หรือ?
เราไม่ได้ยินถ้อยคำยกยอป้อตนเช่นนั้นจากปากของชายชราเลยแม้แต่คำเดียว
แต่ถ้าในความรู้สึกของคนอื่นๆ จะขนานนามแกว่าอย่างนั้น
ก็สุดแท้ของใครแต่ละคน...
................................................................................................................................................................................................
ประวัติ
ชื่อ อำนวย นามสกุล จันทร์เกิด
อายุ 65 ปี
อาชีพ เก็บของเก่าและกรรมกรก่อสร้าง (บางครั้งคราว)
ภูมิลำเนาเดิม เกิดที่ ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท แรกเริ่มเดิมทีเข้ากรุงเทพฯ เพราะความฝันอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นตามแบบคนรุ่นหนุ่มสาวทั่วไป โดยหลังจากเว้นว่างช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูทำนา ก็เข้ามารับจ้างเป็นกรรมกรแบกหาม เป็นช่างก่อสร้าง ช่างเชื่อม หาเลี้ยงปากท้องหรือกระทั่งรับจ้างเป็นคนขับรถโดยสารปรับอากาศ
*********************************************************************
ฝันของคนจน
อนาคตของคนจร
• ทุกวันนี้ชีวิตมีความสุขหรือไม่ อายไหมที่เราเป็นคนจรไร้บ้าน แถมภาพลักษณ์เนื้อตัวก็สกปรก
ลุงอำนวย : ไม่อาย ทุกวันนี้มีความสุขดี เรื่องภาพลักษณ์ส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครกลัวนะ ผู้คนแถวนี้รู้จักกันหมด แต่เขาจะรู้จักในชื่อ “ลุงผมยาว” เขาไม่รู้ว่าเราชื่อลุงอำนวย แต่ว่ามันก็จะมีคนบางส่วน เฉพาะคนบางส่วนนี้หมายความถึงคนที่ระดับรวยๆ หน่อย อันนั้นดูเหมือนว่าจะมีปัญหา แต่คนหนุ่มๆ สาวๆ ที่เดินอยู่ทุกวัน ไปเรียน ไปทำงานอย่างนี้ไม่มี มีแต่เขาบอกลุง "เอาขนมปังไปกิน" "เอากาแฟไปกิน" คือคล้ายๆ ว่าเขาจะซื้อไปกินเองนั่นล่ะ แต่พอเจอลุง เขาก็เอามาวางไว้ให้ ถ้าเขาเจอโดยบังเอิญ เห็นเรานั่งเล่น นั่งรอรถเมล์ หรือกำลังจะไปเก็บขยะตามข้างทาง เขาเห็นเขาก็จะให้
• การที่เราไม่มีบ้านเพราะตัวเราเองหรือเปล่า เรากินเหล้าเมายาหรือเปล่า แล้วความฝันที่ทำให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ จนมีชีวิตแบบนี้เพราะอะไร
ลุงอำนวย : ไม่ๆ แต่เพราะเราท้อกับชีวิต คือหลังจากขึ้นโรงขึ้นศาลตอนขับรถโดยสารปรับอากาศแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรม เราก็ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรแล้ว ก็เลยกลับมาทำก่อสร้างแล้วก็เก็บของเก่าช่วยอีกแรง ถามว่ากินเหล้าไหม ก็ยอมรับมันมีบ้าง อย่างเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ เราก็อยากให้ชีวิตเราดีขึ้นทุกคนเนอะ (ยิ้ม) ก็ฝันว่าอยากจะมีชีวิตใหม่ ความฝันของลุงก็ไม่มากอะไร คือถ้าเรามีเงินทุนเมื่อไหร่ เราก็อยากมีร้านอาหาร อยากจะไปทำฟาร์มกบฟาร์มไก่ อยากจะกลับไปปลูกผัก ทำไร่ทำนาเหมือนเดิมที่บ้านชัยนาท ทางนั้นเขาก็อยากให้เรากลับไป แต่เราก็ต้องมีทุนในการย้ายข้าวของ ไหนจะหมาแมว เพราะของใคร ใครก็รักใช่ไหม
คือถ้ากลับไปทำไร่ทำนาเหมือนเดิม เราก็จะทำนาสวนผสมอย่างที่ในหลวง (ยกมือไหว้) ท่านสอน ปลูกอะไรหลายๆ อย่างเป็นสวนผสม แล้วอีกส่วน เราก็จะทำเป็นฟาร์มกบสัก 100-200 ตัว พอได้ระบายขาย ได้เป็นค่าอาหาร แล้วก็จะเลี้ยงฟาร์มไก่ เลี้ยงยังไง ทำยังไง ผมก็อาศัยดูจากโทรทัศน์ ดูแล้วก็จดไว้
แต่ว่าในขณะที่เราทำตรงนี้ ฟังให้ดีนะ ผมก็ยังคอยทำประโยชน์ให้กับสังคม ระดับใต้ดิน เช่นผม เดินไปเจอคนเป็นลมเป็นแล้ง เป็นลมอยู่ข้างถนน ขี้ราดเยี่ยวราด ผมช่วยจริงนะ อย่างคนจรด้วยกันเนี่ย เจอผมช่วยเลย บางทีช่วยโทร.เรียกรถพยาบาลราชวิถีมารับเลย หรือบางทีมียาดมยาหม่องไปขอน้ำร้อนน้ำชามากรอกให้เลย ฟื้น ไปซื้อข้าวต้มมากรอกให้ บางคนตายคาที่เลย ตายเลย เพราะพอรถพยาบาลมาถึง มันสิ้นใจพอดี ตาย
ผมช่วยงานสังคมจริงๆ ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ผมเดินตามถนนไปเก็บขยะริมๆ ถนน พวกนอตรถเนี่ยหล่นเกลื่อนกลาดหมด มันหล่นทีละส่วนสองส่วน เยอะเข้ามันก็หลายตัว เราก็เก็บ เพราะผมรู้เลยว่าถ้าเกิดกงล้อมันดีดไป มันจะไปโดนกระจกคันหลัง เรารู้เลยว่าเนี่ย ถ้ามันดีดเป้งไปเนี่ย มันไปโดนกระจกคันหลัง ถ้าเกิดไปข้างฝั่งคนขับมันอาจตายเหมือนกัน หรือไม่ก็สลบ เรานึกภาพได้หมด ผมจะเก็บให้ทุกตัวเลย หัวนอตใหญ่ๆ เก็บใส่ถุงปุ๋ยหมดล่ะ ได้วันหนึ่งหลายสิบตัว เราลองสอดส่ายสายตาดูเถอะ ถ้าเราสนใจ มีเยอะแยะริมถนน หัวเล็ก หัวใหญ่
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช