xs
xsm
sm
md
lg

“สงสัยท่านรองจะถูกยิง” สิริเวศ เจริญชนม์ ดาบตำรวจดาราคิวทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คิวฮอตกว่าดาราระดับพระเอกนางเอก และอายุงานในวงการ ยืนยงยาวนานกว่าดาราดังๆ หลายคนเสียด้วยซ้ำ! สำหรับตำรวจผู้นี้ ที่ตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา นับแต่โฆษณาชิ้นนั้น “สงสัยท่านรองจะถูกยิง” แจ้งเกิดให้อย่างเป็นทางการ เขาก็กลายเป็นดาราคิวฮอตที่สุดคนหนึ่ง และจนถึงตอนนี้ ทั้งหนังทั้งละครที่ได้เล่น รวมกันแล้วก็มากกว่าร้อยเรื่อง



สำหรับคนที่เติบโตทันทีวียุคประมาณยี่สิบปีที่แล้ว คงไม่แคล้วต้องรู้จักวลีเด็ดในโฆษณาชิ้นหนึ่งซึ่งโด่งดังไปทั่วประเทศ เปรียบไปก็คงคล้าย “ส่งโค้กให้...ใครต่อใคร” ในยุคนี้
หมัดเด็ดของโฆษณาชิ้นดังกล่าว ไม่เพียงส่งพลังให้ถ้อยคำในโฆษณากลายเป็นคำฮิตติดปาก และถูกนำมาพูดต่อล้ออำขำกันทั่วบ้านทั่วเมือง หากแต่ยังเป็นปฐมบทที่มาอันสำคัญยิ่งสำหรับชีวิตของชายคนหนึ่ง ซึ่งในโฆษณาชิ้นนั้น เราได้เห็นเขาในชุดเครื่องแบบตำรวจเต็มยศ ยืนตะเบ๊ะต่อหน้าผู้บัญชาการ พร้อมกล่าวรายงาน “สงสัยท่านรองจะถูกยิง”

โฆษณาที่เป็นทั้งตำนาน และเป็นใบแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการให้กับดาบตำรวจสิริเวศ
สำหรับคนที่โตไม่ทันโฆษณาชิ้นนั้น แต่รักชอบละครจอแก้ว ย่อมจะเคยเห็นหน้าเขามาบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าละครเรื่องไหนจำเป็นต้องมีบทเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนใหญ่แล้ว เขามักได้รับเลือกให้แสดง ตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา นับแต่โฆษณาชิ้นนั้น “ผ่านเกิด” ให้ เขาก็กลายเป็นดาราคิวฮอตที่สุดคนหนึ่ง และจนถึงตอนนี้ ทั้งหนังทั้งละครที่ได้เล่น รวมแล้วก็มากกว่าร้อยเรื่อง
คิวฮอตกว่าดาราระดับพระเอกนางเอกเสียด้วยซ้ำ!
และอายุงานในวงการ ยืนยงยาวนานกว่าดาราดังๆ หลายคนเสียด้วยซ้ำ!

ในบทบาทการแสดง เขามักได้รับบทตำรวจ
แต่อีกหนึ่งด้าน การเป็นตำรวจก็คือชีวิตจริงๆ ของเขา..
“นายดาบตำรวจสิริเวศ เจริญชนม์” ตำรวจนักแสดงที่อาจไม่ดังมาก
แต่เชื่อสิว่า คุณอาจรู้จักเขา เคยเห็นหน้าเขาบ่อยครั้ง แต่อาจยังไม่รู้ชื่อ!!

จาก “สิงห์คะนองนา”
สู่ตำรวจดาราคิวทอง

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมากๆ ครับ เพราะเราไม่ได้คาดหวังมาก่อนเลยว่าจะมีคนรู้จักเราเยอะแยะขนาดนี้” ดาบตำรวจสิริเวศ เจริญชนม์ หรือ “ดาบเวศ” ตำรวจหนุ่มใหญ่วัยฉกรรจ์ ปลดหมวกประจำตำแหน่งจากศีรษะแล้ววางไว้ข้างกาย ก่อนเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการย้อนมองเส้นทางชีวิตที่ผ่านพ้นของตนเอง เขากล่าวเสริมสั้นๆ ในเบื้องต้นถึงเหตุผลที่มาของการเป็นดารา ว่าเพียงปรารถนาหาเงินช่วยเหลือพ่อแม่และครอบครัว ผ่านอาชีพเสริมที่ไม่ส่งผลเสียหายต่องานหลัก

“อันที่จริง ก็มีตำรวจหลายหน่วยที่เขารับงานไปถ่ายละครตอนว่างเว้นจากราชการอยู่แล้วล่ะครับ ซึ่งช่วงแรกที่ได้เข้าวงการการแสดงนั้น ผมเป็นพลตำรวจอยู่หน่วยบรรเทาสาธารณภัย ที่ สน.ลาดยาว แล้วแรกสุดเลยได้เป็นตัวประกอบเล็กๆ ในละครบางเรื่อง ก่อนจะได้เล่นโฆษณา และมีคนรู้จักเราจริงๆ จากโฆษณาสิงห์คะนองนา อาจเป็นเพราะว่าบุคลิกแบบคนต่างจังหวัดของเรามันตรงใจเขา เขาเลยให้โอกาสเราได้มาเล่น”

อย่างไรก็ตาม ก่อนถือกำเนิดและแจ้งใบเกิดในวงการ ผ่านวาทะ “สงสัยท่านรองจะถูกยิง” มันคือประสบการณ์สั่นประสาท “นักแสดงหน้าใหม่” ในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง
“รู้สึกกลัวมาก..” ดาบเวศลากเสียงยาวให้แก่ความกลัวในวันเก่าก่อน... “กลัวและประหม่า รู้สึกว่าเป็นของใหม่ที่ยากสุดๆ ผมใช้เวลาแสดงคำพูดประโยคนั้นประมาณ 50 เทกได้ และสิ่งที่ผมเห็นก็คือ ตอนที่เขาเอารถตู้มารับเราไปที่นครนายก ถ่ายทำที่ทุ่งนา แล้วมีรถจอดเป็นร้อยคัน เราเห็นปุ๊บก็รู้เลยว่างานนั้นเป็นงานใหญ่ โดยมีเราเป็นส่วนหนึ่งของงาน แล้วตอนนั้นล่ะครับ ผมนี่แบบ...แทบจะร้องไห้เลย”

ดาบสิริเวศนิ่งคิด ราวกับว่ากำลังพาความคิดย้อนไปสู่ชีวิตในวันนั้น...

“แต่เราก็คิดนะครับว่า อยู่ดีๆ เขาเลือกเรามาแล้ว เราก็ต้องทำอย่างที่เขาต้องการ มันอาจจะยาก แต่พอได้สัมผัสดูงานอยู่ประมาณครึ่งวัน เราก็พยายามสังเกตสังกา และค่อยๆ พบว่า อ๋อ คอนเซ็ปต์เขาเป็นอย่างนี้ มันมีเรื่องแสง เรื่องไฟ ตำแหน่งการนั่งการยืน เราก็ต้องทำไม่ให้พลาด เพราะถ้าคนหนึ่งคนใดผิดพลาดขึ้นมา มันจะส่งผลต่อทุกคนทั้งหมด”

งานแรกที่โหดหิน ผ่านพ้นไปด้วยดี และหลังจากนั้นก็มีการทาบทามงานโฆษณาเข้ามาอีกกว่าสิบชิ้น ก่อนจะเลื่อนขั้นไปเป็นงานละครและภาพยนตร์ในเวลาต่อมา และเพราะเหตุว่าชีวิตจริงเป็นตำรวจ บทของตำรวจจึงไหลมาเทมา จากหนึ่งเรื่องสองเรื่อง เป็นสิบเรื่อง ยี่สิบเรื่อง กระทั่งปัจจุบัน ผ่านบทบาทนี้มาแล้วกว่าร้อยเรื่อง

“เบื้องต้นก็เป็นตำรวจที่เดินประกบพระเอกครับ ตามหลังบ้าง เห็นไกลๆ บ้าง บางเรื่องเห็นแต่ใบหูก็มี (หัวเราะ) แต่พอทีมงานเริ่มรู้จักเรา เริ่มคุ้นหน้าคุ้นตาเรา เขาก็ให้โอกาสเราได้มาอยู่ใกล้ๆ เห็นหน้าเห็นตาชัดเจน และมีบทบาทมากขึ้น”

และก็อย่างที่เขาบอก มันเหนือความคาดหมาย หนุ่มบ้านนอกคนหนึ่ง กลายเป็นดาราที่ผู้จัดละครแทบทุกช่องต้องเรียกหา เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นมา หน้าตาของตำรวจนายนี้ ก็แทบจะกลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่ละครทีวีแทบทุกช่องจะต้องมี ชนิดที่ว่า เห็นเครื่องแบบสีกากีโผล่มาหน้าจอในฉากไหน เมื่อโคลสอัพภาพระยะใกล้ คนดูเป็นต้องได้เห็นใบหน้าของนายตำรวจผู้นี้ในฉากนั้น

“จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่บทตำรวจหรอกครับ” นายตำรวจยศดาบ กวาดสายตามองภาพที่อัดกรอบอย่างสวยงาม แขวนไว้บนผนังห้องทำงาน ทั้งหมดเป็นภาพโปสเตอร์จากหนังและละคร ...
“ผมเล่นมาแล้วแทบทุกบทบาทครับ แต่หลักๆ จะเน้นไปทางตำรวจ เพราะถ้ามีบทตำรวจ คนเขาก็จะนึกถึงเรา ส่วนมากเป็นละครแนวบู๊ แนวสืบสวน ถ้าเรื่องดังๆ ที่ถือว่าสร้างชื่อให้เราเลย ก็คงจะเป็น “คมแฝก” ครับ

“สำหรับการแสดง ผมถือว่าเราก็ได้ใช้วิชาตำรวจไปช่วยเสริมเขาด้วย เพราะผู้กำกับละครหรือคนเขียนบทเขาไม่ได้เป็นตำรวจ เขาอาจจะมีความเชี่ยวชาญเรื่องของการกำกับภาพ เสียง นักแสดง แต่พอเป็นเรื่องของคำพูดตำรวจ การจับปืน การหลบที่กำบัง หรืออย่างเวลาจะเข้าจับกุม ต้องทำยังไง เขาอาจจะไม่ทราบ เพราะกฏหมายมันจะเปลี่ยนไปเรื่อย เราก็จะกระซิบบอกเขา ก็เสริมตรงนั้นไป สิ่งนี้อาจเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เขาเรียกเราไปร่วมงาน เพราะมันไม่ใช่แค่ได้ตำรวจจริงๆ มาแสดงเพียงอย่างเดียว แต่ได้ประโยชน์เรื่องอื่นๆ ด้วย

“เขาให้งานเรา ไม่ใช่แค่เพียงเพราะว่าเราหล่อ ซึ่งเราแทบไม่มีเลย” คำกล่าวนี้จบ ดาบเวศหัวเราะร่วนอย่างคนอารมณ์ดี

“ถามผมว่าอะไรที่สำคัญที่สุดในการแสดง คงเป็นการมีใจรักครับ ต้องมีใจรักก่อน และเมื่อมีใจรักแล้ว เราก็ต้องทำตัวเราให้มีคุณค่า อย่าทำตัวเป็นภาระ มีคุณค่าในที่นี้คือ ถ้าเรารักอาชีพการแสดงละคร ก็ให้พยายามแสวงหาความรู้ เรื่องละคร เขาจะมีการติว มีการเรียนตลอดอยู่แล้ว แล้วก็มองหาโอกาส ซึ่งเขาก็มีประกาศรับอยู่เรื่อยๆ แต่เบื้องต้นเลย ต้องทำร่างกายให้มีความพร้อมเสมอ ตำรวจหลายคนที่ไปเล่นละคร ร่างกายไม่พร้อม หรือร่างกายอ้วน มันทำให้ภาพออกมาดูไม่สมาร์ท ผมคนหนึ่งล่ะที่จะไม่ยอมให้ตัวเองอ้วนเลย”

เพราะเกิดจากศูนย์
จึงต้องทุ่มให้เต็มที่

“ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด สุราษฎร์ธานี เริ่มเข้ากรุงเทพฯ เมื่อปี 2538 อายุสิบแปดสิบเก้า สอบเข้าตำรวจได้ ก็ขึ้นกรุงเทพฯ เลย ไม่เคยมากรุงเทพฯ สักครั้ง นั่งรถไฟมา พร้อมกับเสื้อผ้า 3-4 ชุด”

ราวกับภาพฉากในนิยายชีวิตของเด็กหนุ่มบ้านนอกทั่วไป ที่ออกเดินทางเสี่ยงดวง แสวงโชค บนดินแดนห่างไกล ดาบเวศในวัยนั้นก็ไม่ต่างไปจากนี้ สัญจรจากบ้าน หอบฝันเดินทางไกล และสำเนียงปักษ์ใต้สไตล์คอทองแดง ที่เขากล่าวว่า ปรากฏชัดแจ้งในโฆษณาชุดแรกๆ

“ก็ไม่ถึงกับใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงขนาดนั้นนะครับ คิดแค่ว่าขอเพียงได้เข้าวงการ อยากหารายได้เสริมดูแลพ่อแม่ เพราะเมื่อก่อนนี้ฐานะทางบ้านยากจนครับ ที่บ้านผม พ่อแม่ทำอาชีพกรีดยาง เผาถ่านขาย ซื้อไม้ยางพารามาแล้วก็เอาไปเผาเป็นถ่าน บางวันออเดอร์สั่งเข้ามาเยอะๆ คนงานทำไม่ทัน เราก็ต้องช่วย ทั้งขนไม้ยางพาราขึ้นรถบรรทุก เอาลงมาหน้าเตาถ่าน เก็บออกจากเตาถ่าน ทั้งหมดนั้นมันต้องใช้ความอดทนค่อนข้างมาก”

เพราะชีวิตเคยผ่านความลำบาก แม้ถึงวันที่พอจะมีช่องทางในการสร้างตน แต่เรื่องราวแต่หนหลัง ยังคงตอกย้ำดั่งคติคำสอนที่กระตุ้นเตือนสติเสมอมา...

“ชีวิตตรงนั้นทำให้ผมคิดเสมอว่า เราเกิดมาจากศูนย์ เรามาจากการที่เราไม่มีอะไรเลย ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีคนรู้จัก ไม่มีแม้กระทั่งเงินเดือน ทีนี้ พอเรามีเงินเดือน มีความสามารถ มีเพื่อนร่วมงานดี มีเพื่อนหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการตำรวจ เพื่อนทางด้านการแสดง หรือแม้แต่คนรอบข้างที่เรารู้จัก หลายคนเขาให้โอกาสเรา เราก็ต้องคิดและจำใส่ใจว่า ไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไร เราต้องทำให้เต็มที่ แล้วก็ทำให้ดีที่สุด เพราะว่าหน้าที่นั้นสำคัญ เมื่อได้รับมอบหน้าที่ หมายถึงว่าเขาเล็งเห็นความสามารถ ทุกบทบาทต้องทำให้ดีที่สุด อันนี้คือคติพจน์ของผม”

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ได้รับน้ำจิตน้ำใจซึ่งหยิบยื่นจากคนอื่น แต่โดยส่วนตน นายตำรวจผู้มีสัญลักษณ์ดาบบนเครื่องแบบ ก็ไม่หยุดแสวงหาโอกาสด้วยตัวของเขาเอง ที่ผ่านมา เขาบอกว่าทำมาแล้วหลากหลายอย่าง ไล่ตั้งแต่เฝ้าร้านทอง ในวงเล็บว่า “นอกเวลาราชการ” และรับจ้างธนาคารคุ้มกันรถขนเงิน งานเสริมเหล่านั้น รวมไปจนถึงขับรถแท็กซี่...

“ตำรวจหรือว่าหน้าที่อื่นก็หาเงินง่ายเหมือนกัน ผมว่ามันอยู่ที่การแสวงหา ผมเห็นมาเยอะแล้ว คนที่แสวงหาในทางที่ไม่ถูกต้อง สุดท้ายแล้วชีวิตก็ไม่เคยได้ดี ทุกอาชีพมีหมด คนที่แสวงหาอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน มีหมด แต่เราก็ต้องมองความจริงว่า ถึงแม้คนอื่นจะไม่เห็น แต่เราเห็น ถ้าเราทำชั่ว ในใจของเรามันจะเกิดความกลัวอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ที่เห็นตามข่าวต่างๆ ก็คิดซะว่าเป็นกรรมของเขาที่เขาละโมบในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้ามีรุ่นน้องหรือรุ่นเดียวกันก็จะเตือนเขาว่าอย่าทำนะ หรือถ้าทำอยู่ ก็เลิกซะ อยู่อย่างพอเพียงดีที่สุด ลดรายจ่าย ไม่ต้องเพิ่มรายได้ ก็อยู่ได้แล้ว”

“ชักจะพูดเหมือนพระเอกเข้าไปทุกที” เราลองกระแซะ “แล้วในชีวิตการแสดงเคยอยากเป็นพระเอกบ้างไหม”
“พระเอกงานน้อย ปีหนึ่งมีไม่กี่เรื่อง” นายดาบตำรวจวัยสามสิบปลาย ไล่เสียงหัวเราะผ่านลำคอ หลังจบประโยคคำพูด “สู้เป็นผู้ช่วยพระเอกดีกว่า ผู้ช่วยพระเอกนี่จะมีงานตลอด”

“ผู้ช่วยพระเอกที่มักจะมาตอนจบ” ดาบตำรวจร้อยเรื่องหัวเราะร่วนอีกครั้ง เพราะนี่คือความจริงซึ่งกลายเป็นมุกแซวขำขัน ที่ชาวบ้านชาวช่องผู้จดจ้องกับละครทีวีมักจะเห็นเป็นปรากฏการณ์ปกติ ตั้งแต่สมัยสรพงษ์ ชาตรี จนถึงยุคของ “เจมส์จิ” ที่ตำรวจมักจะมาตอนจบ...ทุกทีสิน่า...

“คือหลังจากคดีเกิดขึ้นมา เขาจะนึกถึงตำรวจ” ดาบเวศ อธิบายความหมายของเหตุผลว่าเพราะอะไร ตำรวจจึงชอบมาท้ายเพื่อน “เป็นการมาช่วยตัดประเด็นว่าใครผิดใครถูก นำไปสู่การคลี่คลายคดี และตำรวจในความเป็นจริงก็คล้ายๆ กันนะครับ อย่างเวลามีคดีระหว่างคนสองคน แต่ละคนย่อมคิดว่าตัวเองถูก ไม่มีใครเคยคิดว่าตัวเองผิด ทีนี้เราก็ต้องนำเอาหลักทางกฏหมายมาไขข้อประเด็นว่าแท้จริงแล้วใครถูกใครผิด ซึ่งการทำแบบนี้ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ถูกใจทุกฝ่าย เอาเป็นว่าเอาความจริงมาเฉลี่ยกันและกันว่าใครผิดใครถูก”

กระนั้นก็ดี ใช่ว่าจะมีเพียงบทตำรวจหรือผู้ช่วยพระเอก เพราะรับมาแล้วแทบทุกบทบาท พลิกขั้วสลับข้างไปเป็นลูกคนค้ายาเสพติดก็ยังเคย และอย่าว่างั้นว่างี้เลย แม้แต่พระเอกมิวสิกก็ยังเคยเป็น ชนิดที่ว่าเล่นจนแฟนงอนไปโน่นเลย!

“ก็เป็นเพลงลูกทุ่งของคุณศิริพร อำไพพงษ์ น่ะครับ เล่นหลายเพลงเหมือนกัน พูดขึ้นมาก็ขำดี” ตำรวจหนุ่มใหญ่ ยิ้มแย้มแซมใบหน้า ขณะกล่าวถึงช่วงเวลาตอนเป็นตำรวจหนุ่มน้อยสมัยโน้น
“คือตอนที่ไปเล่น แฟนผมเขาก็ไปด้วย แล้วในฉากมิวสิก ผมนั่งมอเตอร์ไซค์ มีนางเอกซ้อนท้ายแล้วเขาต้องกอดผม ผมก็เล่นไปตามบทบาท ต่างคนต่างจับมือ ทำตาเคลิ้มใส่กัน แฟนเห็นก็แซวว่าไม่ต้องเล่นแล้ว พอแล้ว” ตำรวจดาราหัวเราะรื่นกับคืนวันหนหลัง เอี้ยวสายตามองไปยังภรรยาซึ่งนั่งฟังอยู่ไม่ไกลนัก

“เขาคิดไปเอง ไม่มีอะไรค่ะ” พี่โชติกา ภรรยาคู่ชีวิตแก้ต่าง พลางยิ้มเขินๆ “เวลาเขาไปถ่ายละครหรือทำงานอะไร พี่ไม่ได้รู้สึกอะไร เรารู้ว่าเป็นเรื่องงานการแสดง แต่บางทีเขาก็คิดว่าพี่อาจจะรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้หรือเปล่า จริงๆ ไม่มีอะไรค่ะ”

“เขาเป็นคนสนุกสนาน ร่าเริง” พี่โชติกา กล่าวเสริม “ตลกนะ ตลกเฮฮา พวกคนแก่ก็จะชอบ เพราะเขาเป็นคนพูดจาหยอกล้อเก่ง เช่น บางทีก็แซวเมียให้คนแก่ฟัง คนแก่ก็จะขำว่าเอาภรรยามาล้อมาอำเล่นเนี่ยอ่ะนะ” คนรักของตำรวจดาราแย้มยิ้มเต็มหน้า ชอบใจในความมีอารมณ์ขันและอารมณ์ดีของคู่ชีวิต

“แต่เวลาผมอยู่ในบทบาทการแสดง ผมจะซีเรียสจริงจังกับการทำงานมากครับ” ดาบเวศ กล่าวขึ้น “เพราะผมกลัวว่าจะบกพร่อง แล้วไปดึงเพื่อนร่วมงานให้เขาต่ำลงได้ เบื้องหน้าจะมีดารามีชื่อเสียงเต็มไปหมด เราทำงาน เราก็ต้องจริงจัง เพื่อให้งานออกมาดี

“ที่สำคัญ ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยปฏิเสธงานครับ หมายความว่างานไหนที่เราเคลียร์เวลาให้ไม่ตรงกับงานประจำได้ เราก็โอเค และสุดท้ายก็ไม่ได้ฝันอะไรสูงส่งมากมาย ขอเพียงให้อยู่ในวงการนี้ได้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ต้องนานมาก ขอแค่เกษียณก็พอครับ” รอยยิ้มบนใบหน้าหลังวาจากล่าวจบ อนุมานได้ว่าเป็นรอยยิ้มของคนที่ค้นพบ “ความสุข” และ “ใช่” ในแนวทางของตนเอง...

ครบเครื่องเรื่องหน้าที่
ตำรวจ-ดารา-บิดา-สามี

“ส่วนตัวผมคิดว่าผมยังไม่ประสบความสำเร็จทั้งสองอย่างนะ ทั้งหน้าที่การงานหลักคือการเป็นตำรวจและงานการแสดง มันยังคงต้องเดินต่อไป ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่เยอะ ก็เลยคิดว่าน่าจะต้องทุ่มเทเกี่ยวกับราชการให้มากขึ้น”

อย่างที่รู้ว่า ถึงแม้บทบาทฐานะตำรวจในหนังในละครจะติดยศมาแล้วแทบทุกยศ แต่ในชีวิตจริง “ดาบตำรวจ” ยังเป็นยศที่มีย่างก้าวอีกยาวไกลบนเส้นทางสายผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ดาบเวศเล่าว่าเพราะเหตุนี้เขาจึงพยายามขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา และการศึกษาระดับปริญญาโทก็คือหนึ่งตัวอย่างแห่งความพยายามนั้น

จากตำรวจแผนกช่างซ่อมบำรุงที่เป็นมายาวนานกว่าสิบปี ปัจจุบันหน้าที่ของดาบเวศ คือการเป็นผู้บัญชาการหมู่งานกิจกรรม กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) โดยมีภารกิจหลักๆ ในฐานะวิทยากรให้คำบรรยายตามสถานศึกษา สถานพินิจ หรือสถาบันเอกชนต่างๆ ที่มีการร้องขอเข้ามา

“ในหน้างาน เราจะมีหลายแผนกครับ แผนกการจับกุม ปราบปราม เรื่องการพิทักษ์เด็ก ส่วนแผนกผมคือแผนกกิจกรรมเด็ก เน้นการให้ความรู้ควบคู่ไปกับกิจกรรมสันทนาการเพื่อความผ่อนคลาย”

ในชีวิตการแสดง ได้ปราบโจรผู้ร้ายหรือไกล่เกลี่ยเรื่องราว แต่ในโลกความเป็นจริง ดาบเวศเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าขณะนี้สิ่งเสพติดกำลังเป็นปัญหาระดับชาติ และนั่นก็ทำให้เขาและหน่วยงานมุ่งมั่นพยายามที่จะเป็นแสงไฟดวงหนึ่งซึ่งส่องทางให้คน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้รู้ได้เห็นและได้คิด ไม่นำพาชีวิตไปพัวพันกับสิ่งมึนเมา

“ปัญหายาเสพติดคือปัญหาระดับชาติ อย่ามองแค่เด็กอย่างเดียว มองไปถึงพ่อแม่เขาด้วย เพราะถ้าพ่อแม่ติดคุก โอกาสที่เด็กจะคล้ายพ่อแม่ก็มีสูง ปัจจุบันมีเด็กที่อยู่ในความเสี่ยงแบบนี้เยอะ ดังนั้น ถ้าสังคมไม่หันมามองถึงปัญหายาเสพติดว่าเป็นปัญหาระดับชาติ ผมว่าอีกไม่นาน ประเทศเราคงจะแย่

“สิ่งที่ผมพยายามบอกกับเด็กเวลาไปบรรยาย คือไม่ว่าที่มาที่ไปของพวกเธอจะเป็นอย่างไร แต่เราต้องคิดถึงอนาคตของเรา บางคนอ้างว่าไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะพ่อแม่แตกแยกกัน ผมก็จะบอกว่า ลองหันกลับไปมองคนอื่นๆ สิ หันกลับไปมองคนต่างด้าวที่เขามารับจ้างในประเทศเราสิ เรามีโอกาสดีกว่าเขาตั้งมากมาย แต่บางทีเราก็อ้างโน่นอ้างนี่...ทั้งหมดนี่ก็คือพยายามสอนให้เขาได้คิด และคิดได้ด้วยตัวเอง เราจะไม่บังคับว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ เพราะการบังคับเด็ก เขาจะทำตามคำสั่งหรือตามคำบังคับแน่ๆ ตอนอยู่ต่อหน้าเรา แต่พอเขาห่างจากเรา เขาอาจจะเป็นแบบอื่น”

อาจเป็นเพราะในด้านหนึ่งรับบทบาทของพ่อซึ่งมีลูกสองคน จึงเป็นผลให้นายตำรวจยศดาบซึมซับเข้าใจในวิถีของวัยรุ่นยุคปัจจุบันได้ดี

“ผมเลี้ยงลูกเหมือนเพื่อน แต่คุณแม่เขาจะเป็นคนออกกฏ ผมเลี้ยงลูกเหมือนเพื่อน หมายความว่า พยายามทำให้เขาได้คิดเอง เราแค่จุดประกายให้เขา ไม่บังคับ แต่ให้อยู่ในสายตาเรา ทุกอย่างให้เขาคิดเอง แต่เราจะทำให้ดูก่อน สมมติว่าขี่จักรยาน เราจะเริ่มจากการจูงจักรยานก่อน เขาจูงแล้วล้มบ้างก็ว่ากันไป แต่อยู่ในวิสัยที่ไม่เกิดอันตราย จนเขาพัฒนาการขึ้นไปเรื่อยๆ จากที่ใช้ล้อพ่วงข้าง ก็ถอดออกทีละข้าง เขาอาจจะล้มบ้าง แต่เดี๋ยวเขาก็ทำได้อย่างมั่นคง

“เหมือนกับเรื่องของเครื่องบิน หลักการเดียวกัน คือจะลงอย่างไรให้ไม่เจ็บ หรือจะลงแบบเจ็บ ถ้าเครื่องบินเราลงแบบฉุกเฉินก็จะระเบิด ก็ต้องค่อยๆ ไต่เพดานบินลงมา พ่อแม่บางคนดุลูก ตบลูก ทะเลาะกับลูก ผมว่ามันไม่ถูก เราควรจะประคับประคองเขา การพูดคุยกันดีๆ จะทำให้ปัญหาครอบครัวค่อยๆ คลี่คลายไปในทางที่ดี และเมื่อเด็กผ่านช่วงวัยที่เป็นวัยเสี่ยงได้ สุดท้ายเขาก็จะอยู่ในสังคมได้”

ในวัย 39 ดาบตำรวจผู้เป็นที่กล่าวขานจากวาทะ “สงสัยท่านรองจะถูกยิง” ดูครบครันทั้งความคิดและวิถีการดำเนินชีวิตในทุกบทบาทที่รับผิดชอบ

สำหรับแวดวงการแสดง... “ผมมีเพื่อนๆ ตำรวจในสังกัดประมาณ 50 คน เราก็จะแบ่งงานกันไป ผมก็เหมือนเป็นพี่ใหญ่ เมื่อมีงานเข้ามา ผมจะแชร์ในไลน์กลุ่ม แจ้งข่าวกันและกัน ช่วยเหลือแบ่งปัน เกื้อกูลกันและกัน”

สำหรับแวดวงตำรวจ... “ดาบเวศถือว่าเป็นตัวหลักในงานแผนกเรา” พ.ต.ต.ยศนันท์ ฤกษนันท์ ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วยงานที่สังกัด กล่าวถึงตำรวจดาราในสังกัด “เพราะเขามีความสามารถ อัธยาศัยดี ไปไหนก็มีแต่คนเรียกร้องให้ไปอีก ทำให้ผู้รับการอบรมเขาสนใจ เวลาถ่ายทอดอะไร เด็กๆ เขาดูหนังดูละครและเคยเห็นหน้าดาบเวศมาก่อนทางละครโทรทัศน์ ก็จะกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วม ให้ความสนใจเป็นพิเศษ ก็ถือว่าดาบเวศเป็นหน้าเป็นตาของหน่วยงานเราครับ”

สำหรับบทบาทของพ่อและสามี ถ้อยคำของภรรยาคู่ชีวิต คงยืนยันตัวตนของผู้ชายคนนี้ได้เป็นอย่างดี... “เราอยู่ด้วยกันมาหลายปี เขาเป็นผู้นำครอบครัวที่ดี ลูกๆ ก็รักพ่อและติดพ่อมาก เพราะเขาจะเป็นคนพาเที่ยวพาเล่น ใจดี และที่ผ่านๆ มา ก็เคยมีคนมาปรับทุกข์กับเราเรื่องแฟนเจ้าชู้อยู่บ่อยๆ ขณะที่เราไม่มีปัญหาแบบนั้น เรารู้สึกว่าโชคดีที่มีเขา ไม่ทำให้เรากลุ้มใจหรือหนักใจอะไรเลย”

...ทั้งหมดทั้งมวล ล้วนสะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัด ในบทบาทอันครบเครื่องของตำรวจนายนี้
ที่นิยามแห่งการเป็น “ตำรวจดารา” ไม่ได้หมายถึงเพียงตำรวจผู้โอ่อ่าอัครฐาน ไปขวามาซ้าย ก็มีคนนบนอบ เอาอกเอาใจ
หากแต่วิธีคิด วิถีการดำเนินชีวิต ตลอดจนความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน
คือเสาหลักพื้นฐานที่ทำให้ “ดารา” ดวงนี้ จรัสแสงท่ามกลาง “ดารา” ดวงอื่นๆ
...เราอาจสงสัยว่าท่านรองจะถูกยิง
แต่ใครล่ะจะกล้าสงสัย ว่าตำรวจนายนี้
มิใช่ “คนจริง” อีกคนหนึ่ง...


ดาบสิริเวชและครอบครัว
เรื่อง : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์
กำลังโหลดความคิดเห็น