xs
xsm
sm
md
lg

เสียงเป็นต่อ รูปหล่อเป็นรอง “ต้อง รังสิต บิวโร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แวดวงเพลงยุคนี้หรือยุคไหนๆ มักดำเนินเดินหน้าด้วยการใช้หน้าตาเป็นส่วนประกอบอันดับต้นๆ คนทุกคนย่อมชอบคนหน้าตาสวยหล่อ นั่นไม่ใช่เรื่องผิด กระนั้นก็ดี อย่าลืมว่าโลกนี้ยังมีคนอีกมากมายแบบผู้ชายคนนี้ที่ฟ้าลิขิตให้ชีวิตเกิดมาเป็นศิลปิน และรอการชี้วัดที่ศาสตร์ศิลป์และเส้นเสียง โดยไม่เกี่ยงเรื่องรูปลักษณ์หน้าตา


ในช่วงปีที่ผ่านมา ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Begin Again เชื่อว่าเพลง Lost Stars คงจะสร้างความประทับจับใจอยู่ในความทรงจำมิรู้ลืม
เพราะถึงแม้ตัวหนังจะดำเนินจนจบเรื่องไปแล้ว แต่เสียงร้องของ "อดัม เลวีน" นักร้องหน้าเทพบุตรแห่งวง Maroon 5 ยังคงติดโสตและตรึงใจ และบทเพลงดังกล่าวก็กลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตแทบทุกชาร์ต ไม่เว้นกระทั่งร้านเหล้าที่แทบจะกลายเป็น “เพลงชาติประจำร้าน” ที่นักดนตรีทุกร้านต้องเล่นต้องร้องสนองความรักความชอบของลูกค้า

นั่นยังไม่นับรวมถึงปรากฏกาณ์ที่ว่า Lost Stars ได้รับการนำมาขับขานคัฟเวอร์หรือทำซ้ำในเวอร์ชันส่วนตัวกันอย่างเนืองแน่น
ไล่ตั้งแต่ศิลปินชื่อดัง ไปจนกระทั่งเน็ตไอดอล หรือแม้แต่ผู้คนทั่วไป
ดูเหมือนว่าใครต่อใคร ต่างก็รู้สึกลึกซึ้งตรึงใจในเนื้อหาความหมายและความไพเราะเพราะเพริดของบทเพลง

กระนั้นก็ดี หากจะให้พูดถึง “หนึ่งเดียว” ที่ขยับเข้าใกล้ความจริงมากที่สุด และเหมาะที่จะขนานนามในฐานะ 'อดัม เลวีน' เวอร์ชันไทยมากที่สุด
ต้องเขาคนนี้เท่านั้น!!
เพราะอะไรน่ะหรือ? คำตอบง่ายๆ ก็คือว่า เมื่อคุณเสิร์ชชื่อเพลงลงบนเว็บไซต์ยูทูป เราจะพบเห็นคลิปของเขาผู้นี้เคียงบ่าเคียงไหล่ในบรรทัดใกล้ชิดกับนักร้องหนุ่มต้นฉบับ

บัดนี้...เขาคนที่ว่า นั่งลงตรงหน้าเรา พร้อมจะเปิดปากบอกเล่าถึงเส้นทางชีวิตท่ามกลางหมู่ดาว
แต่ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้คุณหลับตาแล้วลองฟังเพลง Lost Stars ในเวอร์ชันที่เขาขับร้องเสียรอบหนึ่ง เปิดฟังโดยไม่ต้องนึกถึงหน้าตาผู้ขับร้อง แล้วค่อยลองเปิดอีกสักรอบ พร้อม “ฟัง” และ “ชม” โฉมหน้าของชายผู้นี้
ที่ชื่อ "ต้อง-ศิวดล ทองดี"
แล้วค่อยวิเคราะห์ว่าเขาเหมาะหรือไม่ กับสมัญญา “อดัม เลวีน แห่งแผ่นดินสยาม”...


ไม่ใช่ “อดัม เลวีน”
แต่ไม่ใช่ “ดวงดาวที่สูญหาย”

"ผมเทียบเขาไม่ได้เลย ยังไงก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น" ศิวดล ทองดี ขยับริมฝีปากเริ่มต้นบทสนทนา แซมเสียงหัวเราะเล็กน้อย เหมือนไม่คาดฝันว่าจะได้ยินยลคนยกยอเขาแบบนั้น
"อดัม เลวีน กว่าเขาจะผ่านจุดนี้มาได้ เขาผ่านอะไรมาเยอะ กว่าจะมาเป็นนักร้องนำวง Maroon 5 เขาอยู่วงการมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ผมเพิ่งเข้าวงการมา 2-3 ปีเองครับ ผมยังต้องเก็บเกี่ยวอีกเยอะ ชีวิตผมตอนนี้ก็ไม่ต่างจากคนเล่นเกม คนเล่นเกมยังต้องเก็บเลเวล ผมยังเลเวลน้อยอยู่ ผมยังเทียบชั้นเขาไม่ได้"

“เลเวล” ที่เขาว่า คงหมายถึงประสบการณ์ทางดนตรีและชีวิตที่ค่อยๆ เริ่มสั่งสมมาจากการทำคลิปคัฟเวอร์เล่นๆ กับเพื่อนฝูง หลังชีวิตพ้นขอบรอบรั้วมหาวิทยาลัย
"ผมอยู่ชมรมดนตรี ผมเรียนดนตรีมาก่อน แล้วหลังเรียนจบ ผมทำงานที่บ้าน ดูแลกิจการครอบครัว มีเวลาว่างค่อนข้างเยอะ ก็เลยคิดว่าน่าจะทำเพลง ก็ทำเล่นกันกับเพื่อนๆ ครับ เพื่อจะได้ไม่ลืม และได้รื้อฟื้นความรู้เราด้วย แล้วตอนนั้นบังเอิญยูทูปเริ่มเปิดตัว ยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายมากนัก เราก็เลยลองทำคลิปเล่นๆ แชร์กันในหมู่เพื่อน แต่ทีนี้ พอทำไปได้คลิปหนึ่ง ก็มีคนอื่นเข้ามาดู เข้ามาขอเพลง ผมก็เลยลองทำมาเรื่อยๆ (หัวเราะ)

"คือผมไม่ได้คิดว่าจะมาถึงขั้นนี้นะ อย่างที่บอกว่าทำเล่นๆ กับเพื่อน ก็ทำไปเรื่อยๆ จนมีอยู่คลิปหนึ่ง ผมทำเพลง 'แกล้ง' ของวงซิลลี่ฟูลส์แล้วมีคนเอาไปแชร์ในพันทิป เลยกลายเป็นจุดสนใจให้คนเข้ามาดูเราเยอะ หลังจากนั้นก็ปากต่อปาก ผมก็เริ่มทำคลิปต่อเนื่อง แต่ผมไม่ได้ตั้งใจว่าทำคลิปเพื่อให้คนดูเยอะนะ ผมทำเพื่อสนองนี้ดตัวเองมากกว่า”

"เพราะด้วยรูปลักษณ์เราเป็นอย่างนี้" ศิวดล กล่าวด้วยน้ำเสียงที่เปลี่ยนไป ก่อนจะเว้นวรรคเล็กน้อยแล้วขยับเสียงผ่านลำคอในประโยคต่อมา
"อย่างผม หน้าตามันก็ไม่ได้แล้ว การที่คนจะกดเข้ามาดูได้ก็ต้องมีคนแนะนำ เพราะในยูทป คนมักจะตัดสินใจครั้งแรกว่าเลือกดูหรือไม่ดูจากรูปภาพหน้าจอ ซึ่งมันก็เหมือนเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการที่จะทำให้คลิปมันขยับยอดวิวขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าพอมีคนเข้ามาดูเสร็จปุ๊บ โอเค หน้าตามันอย่างนี้ แต่มันร้องได้ มันเกินความคาดหมายที่เขารู้สึก ความประทับใจมันก็เพิ่มขึ้น"

จากพันเป็นหมื่น จากแสนเป็นล้าน คือตัวเลขที่ค่อยๆ ขยับไล่เรียงขึ้นในแต่ละคลิป และล่าสุดกับเพลง 'ลูกอม' ของวง 'วัชราวลี'

"ถามว่าการมีคลิปถึงล้านมันยากไหม มันก็ยากในมุมของเรา เพราะว่าคนไทยก็มีคลิปหลักล้านเยอะ ซึ่งเขาอาจจะเด่นในทางด้านอื่น อย่างน้องคนนี้น่ารัก น้องคนนี้สวย ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะชอบใครสักคนหรือจะชื่นชมใครคนอื่น อันดับแรกเลย เขาก็มักจะต้องมองหน้ามองตาก่อน

“ถามว่าซีเรียสเรื่องพวกนี้ไหม ไม่...ผมไม่ได้ซีเรียสอะไร มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะการร้องเพลงมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน้าตา เราคิดว่าเราก็มีดีของเรา ผมไม่ได้ขายหน้าตา ผมไม่ได้บอกว่า เอ๊ย!! กูเป็นนายแบบ เราหน้าตาดี เรามาขายหน้าตานะ แต่ผมมาเพื่อร้องเพลง คือถ้าบอกว่า เราหน้าตาไม่ดี ไม่น่ามาร้องเพลง มันไม่ใช่ แต่ถ้ามาบอกเราว่า ร้องเสียงอย่างนี้ไม่น่ามาร้อง อันนั้นน่าจะซีเรียสมากกว่า เพราะมันผิดความตั้งใจ

"คือให้คนรู้จักเราจากการทำเพลงดีกว่า ให้เพลงมันทำงานของมัน พอถึงจุดหนึ่ง เพลงมันทำงานของมันแล้ว เขาก็จะกลับมารู้จักเรา"

และอัลบัม 'ต้อง & เจนนี่' แฟนคลับเจ็ดหมื่นกว่าๆ ในนามของ 'รังสิต บิวโร' คือคำว่า 'รู้จัก' ในความหมายเขา ที่ถึงแม้จะยังไม่ใช่วงกว้าง แต่ก็เป็นก้าวทางที่เขาขอเลือกเดินด้วยตัวเอง โดยให้ผลงานเพลงทำหน้าที่นั้น

"ผมอาจจะมองว่าผมเป็นคนที่ยังไม่ได้มีใครรู้จักในวงกว้างมากกว่า อย่างเพลง 'สักวันที่ฉันมีเธอ' ออกมา 3 ปีแล้ว คนก็ยังฟัง ยังไม่ค่อยรู้จักผมจากเพลงนั้น คือถามว่าเรามีของไหม เรามี เรามีของที่พร้อมจะปล่อยออกไป แต่ตอนนี้อาจจะยังไม่ใช่เวลาของเรา ผมว่ามันจะมีเวลาของเราอยู่จุดหนึ่ง แต่ว่ายังไม่ใช่เวลานี้ ผมถึงได้ปฏิเสธเรื่องที่บอกว่าผมเป็นอดัม เลวีน เมืองไทย เพราะก็ต้องบอกอีกว่า ผมยังต้องเก็บไปเรื่อยๆ ค่อยทำความรู้จักคนไปเรื่อยๆ วันนี้คนอาจรู้จักผมแค่จังหวัดเดียว แต่พรุ่งนี้ผมจะไปอีกจังหวัดหนึ่ง

"ก็มีหลายๆ คนถามผมว่าทำไมไม่ไปประกวดเวทีร้องเพลงต่างๆ ทางทีวี ผมว่ามันไม่ใช่ทางผม ไม่ใช่แนวผม เขาก็มีติดต่อผมมาเหมือนกัน อยากให้เราประกวด อยากให้เราเข้าไปแข่งด้วย มันก็เป็นทางลัดที่ดีที่จะทำให้คนรู้จักเราในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น แต่ถามว่าทำไมผมไม่คว้าโอกาสนั้นไว้ คนจะรู้จักผมเยอะ ถ้าผมไปประกวดหรือลองไปออกทีวี แต่ผมไม่ได้คว้า ผมก็บอกว่าผมเลือกทางที่ผมจะส่องแสงเอง

“ฝรั่งเขามีคำพูดอยู่คำหนึ่งว่า You choose your own way to shine. แปลว่าคุณต้องเลือกวิธีการที่คุณจะส่องแสงจรัสเอง คุณอย่าให้ใครมาเลือกวิธีการ คุณต้องเลือกวิธีการของตัวเอง ผมก็เลือกวิธีนี้ ผมก็ไม่เอาวิธีนั้น ผมก็อยากจะทำของผมเองมากกว่า"

ไม่ใช่ไม่คิด
เพียงแต่ไม่ติดยึด

"หลับตาฟัง ก็ไม่เห็นหน้ากูดิวะ"
สิ้นเสียงพูดพร้อมหัวเราะอย่างเห็นขัน ชายหนุ่มร่างใหญ่พลิกตัวไปหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วเสิร์ชหาคลิปคลิปหนึ่ง โดยในคลิปดังกล่าวนั้นปรากฏเพียงตุ๊กตาหมีหนึ่งตัว ตระหง่านบดบังเจ้าของเสียงร้องอยู่หน้ากล้อง...

"แรกๆ เรามีความรู้สึกอย่างนั้นอยู่บ้างครับ เราก็มีบางจุดที่ยังคิดเรื่องนี้อยู่บ้าง" เขาว่าด้วยสีหน้าจริงจัง ก่อนจะปิดคลิปดังกล่าวพร้อมกับคลี่ดวงหน้ากลับมาเป็นปกติ
"ผมเจอมาเยอะคอมเมนต์อย่างเนี้ย แล้วด้วยความที่เราเป็นคนชอบประชดประชันแดกดันด้วย เราก็เลยทำขึ้นมาคลิปหนึ่ง แต่พอทำไปปุ๊บ ก็มีคนส่วนใหญ่มาบอกว่า ทำไมต้องเอาตุ๊กตาหมีมาตั้ง เราก็ย้อนกลับไปว่าไม่อยากเห็นหน้าไม่ใช่เหรอ หลับตาฟังดีกว่าเห็นหน้านิ เขาก็บอกว่าไม่ดี เห็นหน้าดีกว่า เราก็เลยหยุด ไม่ทำต่อ แค่คลิปเดียวพอ"

"คือพอเราเข้าใจวิธีคิดคน หลังจากเราเจอคอมเมนต์เยอะเรื่องหน้าตาของเราที่ไม่เหมาะกับการร้องเพลง ถึงได้รู้ว่ามันเป็นความสุขของเขาอ่ะ ความสุขที่จะได้ปลดปล่อย ได้พูด ถ้าเราไปดิ้นตามเขา ทุรนทุราย โวยวาย หรือเรามานั่งร้องไห้เสียใจ มันไม่มีประโยชน์ คนด่าเขาก็ยิ่งแฮปปี้ เขาเห็นเราโดนด่าแล้วเราดิ้นเพราะเขา เขาก็ยิ่งชอบ แต่ว่าถ้าเราขอบคุณเขา ขอบคุณที่เหมือนเป็นอุปสรรคอีกขั้นหนึ่งให้เราก้าวผ่าน มันก็ทำอะไรเราไม่ได้

"ถ้าเราอยากพิสูจน์ อยากจะเก่ง อยากจะอยู่เหนือคนอื่น เราก็ต้องพัฒนา เพราะชีวิตเราเหมือนกับว่ามีกำแพงสูงกว่าคนอื่น เราจึงต้องปีนสูงกว่าคนอื่น เราจะทำตามมาตรฐานที่เท่าคนอื่นไม่ได้ หน้าตาเราเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องแอกทีฟกว่าคนอื่น"

ขณะที่เปลือกมักถูกเลือกก่อนแก่นตามวิถีธรรมดาสามัญ ศิวดลใช้ระยะเวลานานพอสมควรกว่าจะมั่นใจอย่างตอนนี้ ที่ใบหน้าเขาเฉิดฉายอยู่บนปกอัลบัม "ต้อง & เจนนี่" และไม่คิดปิดบังโฉมหน้าเช่นในอดีตอีกแล้ว

"ก็พอสมควรนะ (พูดพลางพยักหน้า) ผมใช้เวลาลบความคิดเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยที่อยู่มหาวิทยาลัยแล้ว คือจำได้เลยว่า ตอนนั้นเวลาที่ขึ้นไปร้องเพลง เราจะไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ เพราะด้วยรูปลักษณ์เราเป็นอย่างนี้ด้วย แถมประสบการณ์เราก็ยังน้อย พอเราได้ยินได้ฟังมันก็มีท้อ มีอารมณ์น้อยใจบ้าง

"แล้วพอเราออกมาอยู่ข้างนอก มาทำเพลงของเราเอง เราได้รับฟีดแบ็กกลับมาว่า เราโอเค เราจึงค่อยมั่นใจขึ้น มันทำให้เรารู้สึกว่า เอ๊ย เราก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร เพราะแต่ละคนที่เขามาบอกเรานั้น เป็นโปรดิวเซอร์ เป็นคนทำงานเพลง เขาคงไม่ได้มาอวยเล่นๆ เขามาติเพื่อก่อจริงๆ มันก็ทำให้เราคิดว่า มีจุดนี้แล้ว เราก็ไม่ควรจะไปอายกับเรื่องหน้าตาหรือเรื่องอะไร เพราะนี่คือสิ่งที่เราตั้งใจทำ เราตั้งใจทำเกี่ยวกับดนตรีมากกว่า แล้วถ้าผลงานเราดี เราทำได้ดี คนก็น่าจะแฮปปี้”....

"มันก็หลายๆ อย่างนะ" เขาเผย ก่อนจะกล่าวเสริมขอบคุณครอบครัวที่เสมือนเป็นจุดขับเคลื่อนสนับสนุน เป็นแรงผลักชั้นดี แม้ตัวเขาไม่เคยจะปริปากปรับทุกข์ในชีวิต

"มาถึงจุดนี้ได้ผมต้องขอบคุณที่บ้านมากๆ ขอบพระคุณพ่อแม่ที่สนับสนุน แม้ว่าเวลาเราท้อ เราน้อยใจ ผมไม่ได้ปรึกษาท่าน แต่เราก็รู้ว่าเขาอดทนกับเรามามาก เพราะที่บ้านไม่ใช่ผมคนเดียวที่เป็นนักดนตรี น้องผมก็เป็น (นักร้องนำวง Roses Fall) มันก็ทำให้เขาต้องอดทนเป็นพิเศษ

"ก็ต้องขอบคุณกำแพง ขอบคุณมุมมองการใช้ชีวิต ขอบคุณตัวเราเองที่ไม่ยอมแพ้ในวันนั้น คือเราใช้ชีวิตแบบไม่ยึดติด ถามว่าเราใช้ชีวิตโดยยึดอะไร เราบอกว่า เราปัจเจกนิยม ก็คือเรามองทุกคนเป็นปัจเจกหมด เรามองว่าทุกคนก็เป็นตัวของตัวเอง เราจะมาเหมารวมไม่ได้ว่าคนลักษณะแบบนี้ต้องเป็นแบบนี้ทุกคน เราไม่ได้มองอย่างนั้น แต่เรามองว่าทุกคนมีวิธีคิดและมีความคิดเป็นของตัวเอง ทุกคนมีทางเดิน มีทางเลือก มีอะไรเป็นของตัวเอง อาจจะพบเจอเรื่องแบบเดียวกัน แต่คิดไม่เหมือนกัน

"มันเลยทำให้เราไม่เหมารวม แล้วพอเราไม่เหมารวมว่าคนนั้นต้องคิดอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ เราก็จะเห็นว่ามันเป็นแค่วิธีคิดของคน เป็นความสุขของเขา เราจะไม่มองว่าทำไมเขาไม่ทำแบบนี้ ทั้งที่ใครๆ เขาก็ทำเหมือนกันหมด ถ้าเขามีความสุขก็ไม่ต้องไปโต้แย้งเขา มันเป็นเรื่องของแต่ละคน คนนี้เขาก็คิดแบบนี้ มีวิธีคิดของเขาเอง เราก็ไม่ควรจะต้องเอามาเป็นเรื่องคิดติดใจ ทำไมมันไม่คิดแบบนี้นั้น ทำไมไม่ทำเหมือนกันวะ มันไม่ใช่ เราแฮปปี้กับตัวเราก็พอแล้ว"

ไม่ใช่แค่รัก
แต่มันคือส่วนหนึ่งของชีวิต

ถึงบรรทัดนี้ความหมายของ “ชีวิต” ในพจนานุกรมของใครหลายคนอาจแปลกแยกแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับศิวดลในวันวัย 35 ปี กับรูปลักษณ์ที่ไม่ชวนมองเท่าไหร่นักในตอนแรก กลับดูมีเสน่ห์ให้พินิจติดตามอย่างน่าประหลาด

"อิทธิพลดนตรีถือว่ามีผลกับชีวิตผมเลยนะ ผมคิดว่าหลายคนก็คงเป็นคล้ายๆ กัน ผมว่าดนตรีมีส่วนทำให้เรากล้าที่จะพูดอะไรให้คนกลุ่มใหญ่ๆ ได้ฟัง" เขาว่าถึงแรงจูงใจชีวิตที่ยกให้ 'ดนตรี' เป็นเสมือนดาบและโล่ ทั้งจูโจมและปกป้อง ให้เดินสะดวกบนถนนทางสายนี้

"ถามว่าปัญหาการทำเพลงก็เยอะ อุปสรรคส่วนตัวก็เพียบ อะไรที่เป็นแรงจูงใจให้ทำต่อ ผมก็บอกได้คำเดียวเลยว่า “มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” คือฟังแล้วอาจจะดูน้ำเน่า มันจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตได้อย่างไร คือคนทำเพลงทำดนตรีเขาคิดอย่างนั้นจริงๆ ลองถามคนทำดนตรีทำเพลงก็ได้ เขาก็จะบอกอย่างนี้

"เพราะถ้าแค่บอกว่าชอบดนตรี แค่ชอบอย่างเดียวไม่ได้ ใครๆ ก็ชอบดนตรี คนฟังเพลงก็ชอบดนตรี มันต้องหมกมุ่น หมกมุ่นกับดนตรี คือมันไม่ใช่แค่รักไง ใครที่มาอยู่จุดนี้ มานั่งทำเพลงทุกวัน มันอยู่ในจุดที่หมกมุ่นแล้ว แล้วพอหมกมุ่นมันทำอย่างอื่นไม่ได้หรอก มันต้องทำตลอด อยู่กับมันตลอด เรียกว่าเสพติดก็ได้ มันจะคิดทุกอย่างเป็นดนตรี ขนาดนั่งฟังนั่งคุย ทุกอย่างยังเป็นดนตรีเลย

"เพราะฉะนั้นตรงนี้ต่างหากที่ผมซีเรียส ไม่ใช่เรื่องรูปลักษณ์ ผมกดดันเรื่องผลงานอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นคลิปคัฟเวอร์หรืออัลบัมที่สองซึ่งกำลังทำอยู่ เราจะทำ เราจะปล่อยออก เราก็นั่งคิดแล้วคิดอีก อัดแล้วอัดอีก ถึงหรือยัง โอเคหรือยัง อันนี้คือเรื่องใหญ่มากๆ สำหรับผม เราไม่ได้คิดว่าจะต้องมานั่งแต่งหน้าแต่งตาก่อน เช็ดเหงื่อก่อนเหมือนที่แซวๆ ผมในคลิป เราไม่ได้คิดอย่างนั้น เฟรม หน้า แสง สี เป็นอย่างไรไม่รู้ เรารู้แค่ว่าเพลงต้องดี คุณภาพงานต้องได้"
"แล้วเขาจะกลับมาหาว่าเราคือใคร..."

สิ้นคำกล่าว ชายหนุ่มวัย 35 หยิบกีตาร์ขึ้นมาบรรเลงให้เพลงทำหน้าที่บรรยายฉากจบ เรื่องราวภายใต้เมโลดี้กับสำเนียงเสียงร้องอันกังวานเพราะเสนาะหู เรารับรู้ถึงออร่าในคำบอกเล่านั้น
มีดวงดาวมากมายที่สูญหายในท้องนภา
มีดารามากมีที่ไม่ถูกมองเห็นในจักรวาลแห่งเสียงเพลง
แต่เราเชื่อว่า นั่นคงไม่ใช่ดาวฤกษ์ดวงนี้
ต้อง-ศิวดล ทองดี...






เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ศิวกร เสนสอน
กำลังโหลดความคิดเห็น