xs
xsm
sm
md
lg

เสรี วงษ์มณฑา มองสังคมใน “ยุคดราม่าครองเมือง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เราพูดมาตลอดว่าเราไม่ได้ผิดเพศ และเราก็ไม่ชอบคนที่ใช้คำว่า “สับสนทางเพศ”
เราไม่ได้สับสน เรารู้ว่าร่างกายเราเป็นผู้ชาย แต่จิตใจเราเป็นผู้หญิง
ถามว่า แล้วเราสับสนตรงไหน
สับสนแปลว่าต้องไม่เข้าใจ นี่เราเข้าใจตัวเองดี ดูรูปร่างก็รู้แล้วว่าเป็นผู้ชาย
ขณะเดียวกันก็เข้าใจด้วยว่าจิตใจเราเป็นผู้หญิง
ถามว่า แล้วเราสับสนตรงไหน
ชอบใช้กันจังเลย สับสนทางเพศ
เราไม่ได้สับสน เรารู้ความต้องการของตัวเราตั้งแต่แรก”

...สำหรับคนที่คุ้นเคยกับเรื่องราวของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ที่ชื่อ “ดอกเตอร์เสรี วงษ์มณฑา” คงคุ้นเคยกับการแสดงความคิดเห็นในน้ำเสียงที่ตรงไปตรงมาแบบนี้กันเป็นอย่างดี และสำหรับหลายคน ไม่เพียงแค่คุ้นเคย หากแต่ยังรักใคร่ในความตรงไปตรงมาของ “อาจารย์เสรี” ผู้นี้ด้วย

ดอกเตอร์เสรี วงษ์มณฑา น่าจะเป็นหนึ่งในจำนวนบุคคลไม่มากนัก ที่พูดอะไรก็ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ แสดงความคิดเห็นในเรื่องไหน ก็สั่นสะเทือนสังคมได้ ไม่มากก็น้อย และเรื่องราวล่าสุดที่ทำให้เราเดินเข้าไปหาบุรุษผู้ยอมรับความเป็นจริงว่ามีจิตหญิงในร่างชายผู้นี้ก็คือ รายการ “เสรีดราม่า” ที่ออกอากาศทางช่องซูเปอร์บันเทิง

ความน่าสนใจนั้นอยู่ที่ว่าอาจารย์เสรีได้หยิบเอาเรื่องราวที่ถูกพูดถึงเกรียวกราวในโลกโซเชียลมีเดีย มาชำแหละให้เห็นเป็นช็อตๆ
เรา “ดราม่า” กันเพราะอะไร?
เพียงเพื่อยอดไลค์ ยอดแชร์ และคอมเมนต์
เท่านั้นใช่ไหม?
มีอะไรที่ควรมีมากกว่านั้นหรือเปล่า
นอกจากความตื่นเต้นสะเทือนใจ
ชั่วครู่ชั่วคราว แล้วก็ลืมเลือน...

• อะไรคือเหตุผลที่มาของ “เสรีดราม่า” อย่างที่เห็น
มันเป็นคอนเซ็ปต์ของทางรายการที่มองว่า เรื่องราวต่างๆ ที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย บางเรี่องมันก็เป็นดราม่า ดราม่าก็หมายความว่ากระชากอารมณ์บ้าง โอเวอร์ไปบ้าง อะไรทำนองนั้น ก็เลยเอามาทำเป็นรายการ

• ความดราม่าสำหรับอาจารย์คืออะไร
บางเรื่องก็เวอร์ บางเรื่องก็พยายามสะกิดต่อมอารมณ์เราให้เราโกรธ โมโห สงสาร เสียใจ เพราะถ้าเราไปดูพื้นฐานศัพท์ คำว่าดราม่าก็คือละครที่ปลุกเร้าอารมณ์เรา

• อาจารย์คิดว่าเดี๋ยวนี้ผู้คนดราม่ากันเยอะขึ้นหรือเปล่า
เยอะมากกกก...เราเจอเรื่องไอซ์บักเก็ตชาลเลนจ์ เราก็ยังดราม่าได้ เจอเรื่องอะไรก็พร้อมจะดราม่าได้ และหลายเรื่องราว มันก็เกินขอบเขตของความพอดี บางทีเรื่องราวมันไม่ได้รันทดขนาดนั้น ก็ทำให้มันรันทด หรือไม่ได้เป็นปัญหา ก็ทำให้เป็นปัญหาขึ้นมา บางทีคนเขาไม่ได้ทะเลาะกันขนาดนั้น ก็มาทำให้เขาทะเลาะกันมากขึ้น ทำให้คนทะเลาะกัน เกินขอบเขต บางเรื่องเราก็ฟูมฟายมาก ทั้งที่ต้นทางหรือต้นเรื่องมันไม่ได้ขนาดนั้นเลย แต่เอามาเขียนกันซะจนถึงขนาดที่ว่า คนที่เป็นเจ้าของเรื่อง “ฮะ กูเป็นขนาดนั้นเลยเหรอ” อะไรทำนองนั้น

• คิดว่าตรงนี้มันสะท้อนให้เห็นถึงอะไรในสังคมของเรา
ก็สะท้อนให้เห็นถึงเสรีภาพของสื่อดิจิตอลที่ไม่มีตัวตน คือถ้าเราพูดกันต่อหน้า อย่างพี่พูดกับน้อง พี่ก็ต้องระมัดระวังว่าจะพูดอะไร แต่ถ้าเกิดพี่ใช้ชื่อเฮงเฮง แล้วก็เอารูปเด็กน้อยมาใส่ ตรงนั้นพี่จะเขียนอะไรก็ได้ พูดอะไรก็ได้ จะโกหกอะไรยังไงก็ได้ จะด่าว่าใครยังไงก็ได้ จะเมาท์ยังไงก็ได้ ทั้งหมดนั้นมันก็สะท้อนให้เห็นเสรีภาพบนพื้นที่โซเชียลมีเดียที่มันเกินขอบเขต คือมันไม่ต้องระมัดระวังน่ะ อย่างเช่น มีดราม่าอันหนึ่งบอกว่า ต่อไปนี้ ทางรัฐบาลหรือ คสช.เขาจะเข้าเช็กไลน์ (โปรแกรมแชต) เราได้แล้วนะ ซึ่งมันไม่ใช่ไง แต่เขาก็ทำให้เป็นเรื่องซะจนคนบางคน “เหร้อ อู๊ย ชั้นพูดเรื่องไปเอากันด้วยนะ เขาจะเห็นมั้ย” มันก็ต้องไปคิดหนัก

• คือเราพร้อมจะตื่นเต้นกับทุกเรื่องได้ตลอดเวลา
เพราะกระชากอารมณ์เราไง กระตุกต่อมอารมณ์เราอยู่เรื่อยเลย หมาโดนแขวนคอ เราก็เอามาดราม่าแล้ว เด็กยากไร้ขายของช่วยแม่ เราก็เอามาดราม่าแล้ว ทีนี้บางอันมันก็พอดีๆ แต่บางอันมันก็มากไป

• ปรากฏการณ์ดราม่าลักษณะนี้ อาจารย์คิดว่ามันจะส่งผลอย่างไรต่อไปในทางสังคม
แน่นอน อีกหน่อยเราก็จะเริ่มสับสนว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ ดังนั้น เวลาเราเห็นข้อความในโซเชียลมีเดีย เราจะระมัดระวังมาก เราจะไม่กระโจนเข้าไปใส่มันทันที แต่บางคนที่อารมณ์อ่อนไหว คล้อยตาม ก็จะ...อย่างเช่น เรื่องไลน์ วันนี้ถามกันยกใหญ่เลยว่า จริงเหรอ เขาเข้าได้จริงเหรอ แล้วเขาจะเข้าของเก่าด้วยมั้ย เขาจะเจอมั้ย โอ้โห มันไปไหนกันก็ไม่รู้แล้ว

• วิตกจริตกันเกินเหตุ?
ใช่ มันมากเกินไป ดังนั้น มันอยู่ที่เราต้องเลือกเสพ เราไปห้ามใครไม่ได้หรอก เพราะตรงนั้นมันเป็นเสรีภาพ พื้นที่โซเชียลมีเดียมันเป็นพื้นที่ของเสรีภาพ เราต้องเลือกเอาเอง เราไปห้ามใครไม่ได้หรอก

• ในขณะที่มันห้ามดราม่ากันไม่ได้ อาจารย์คิดว่าเราควรจะดราม่ากันอย่างไรให้มีประโยชน์
คือคนเรามีเสรีภาพอย่างไรก็ตาม ขอบเขตที่เกิดจากสำนึกมันต้องมี ไม่ใช่ใช้เสรีภาพจนไร้ขอบเขต ไม่ใช่ใช้ด้วยการไร้สำนึก เหมือนอย่างรายการที่เราทำ (เสรีดราม่า) เราจะไม่ปล่อยให้เรื่องดราม่าเหล่านั้นมันเกิดขึ้นแล้วเราก็เพียงแค่หยิบมาเล่าว่ามันเกิดขึ้น แต่เราจะวิเคราะห์ว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราควรต้องระมัดระวังยังไง เราต้องคิดอะไรยังไง

• อาจารย์มองว่าสังคมที่ดราม่ามากๆ แบบนี้ น่าเป็นห่วงไหม
อะไรก็ตามที่มันเวอร์ มันน่าเป็นห่วงหมดแหละ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องในโซเชียลมีเดีย แต่อะไรก็ได้ ถ้ามันเวอร์ มันไม่ดีทั้งนั้นล่ะ แต่ตอนนี้ ที่เราเอาเรื่องนี้มาทำ เพราะในโซเชียลมีเดียมันมีเรื่องเวอร์ๆ เยอะมาก

• คิดว่าเพราะอะไรมันถึงเวอร์
เขาสนุกในการเล่น คือตอนนี้ ทุกคนชอบนับจำนวนไลค์ จำนวนคอมเมนต์ จำนวนแชร์ คือโพสต์เสร็จแล้วมีคนมากดไลค์ให้ฉันกี่คน เธอแชร์เรื่องของฉันไปกี่คน ใครบ้างที่เข้ามาคอมเมนต์ต่อ เขาก็นั่งนับสิ่งเหล่านี้ แล้วพอได้เยอะๆ เขาก็ดีใจ แสดงว่ามีคนสนใจฉัน ถ้าไม่สนใจ จะมากดไลค์ทำไม

เพราะฉะนั้น การที่ทำอะไรเวอร์ๆ ก็คือการหวังว่าจะได้สิ่งนั้น ซึ่งตรงนี้ ถ้าไร้สำนึกมันก็แย่แล้ว เพราะหวังเพียงแค่จะได้สิ่งที่ว่ามา โดยไม่ดูว่าตัวเองพูดเรื่องจริงหรือเปล่า แล้วไม่ดูว่าเรื่องที่ตัวเองดราม่าไปนั้นมันจะส่งผลอย่างไรต่อสังคม อย่างเช่น มันอาจจะส่งผลให้นักศึกษากับอาจารย์ขัดแย้งกันหรือเปล่า มันต้องคิด มันไม่ใช่แค่ว่า อุ๊ย ฉันดีใจ ฉันได้ไลค์เยอะ มันไม่ใช่

เราได้ดูหนังเรื่องหนึ่งที่เก้า จิรายุ แสดง (รัก 7 ปี ดี 7 หน) ที่เก้าเอาคลิปแฟนเล่นกีตาร์อัปขึ้นยูทูป แล้วก็นั่งนับไลค์นับยอดคนดู แต่แฟนเขาก็บอกว่า คลิปนั้นฉันไม่ได้พร้อมให้คนอื่นดูนะ ฉันพร้อมให้เธอดูคนเดียว เพราะเธอเป็นแฟนฉัน ฉันไม่พร้อมให้ใครดู แล้วเธอเอาคลิปนั้นไปให้คนอื่นดูทำไม แต่เจ้าเก้ามันนั่งนับน่ะว่าโพสต์แล้วมีคนมากดไลค์เท่าไหร่ ซึ่งพี่ว่าหนังเรื่องนั้นสะท้อนความจริงของสังคมที่ปรารถนาไลค์ปรารถนาแชร์ ปรารถนาคอมเมนต์

• เหมือนมันหล่อเลี้ยงอีโก้ของคนที่โพสต์?
ใช่ มันให้ความรู้สึกว่า “ฉันเป็นที่นิยม” ก็อยากได้ตรงนี้กันนั่นแหละ “โพสต์ฉันทีเด็ด โพสต์ฉันทีเด็ดๆ” เพราะมีคนแชร์เยอะมาก

• มีสถานะเป็นคนดังไปเลย
ดราม่าแบบนี้มันให้โอกาสคน เหมือนกับที่เขาใช้คำว่า ฟรอม ซีโร่ ทู ฮีโร่ (From Zero to Hero) จากชีวิตที่เป็นศูนย์ กลายเป็นชีวิตที่ดัง มีชื่อเสียง มันก็จะมีคนอย่างน้องเนยรักษ์โลก มีคนอย่างมาดามมด แต่คนเหล่านี้เขาไม่ได้มีอะไรที่เป็นข้อเสียหายกับใคร แต่ว่ามันก็เข้าข่ายเดียวกัน อย่างน้องเนยพอบอกว่าไม่กินผัก ก็ทำให้น้องเนยดังขึ้นมาเลย มันก็เป็นการดราม่าแบบหนึ่ง คือดราม่าว่าด้วยการรักโลก ส่วนมาดามมดก็จะแบบว่า “น่าร้ากกกอ่ะ” หรืออะไรต่างๆ ก็เป็นวิธีการที่ทำให้มาดามมดดังขึ้นมา แต่สิ่งเหล่านี้เขาทำแล้วมันไม่เสียหาย

• เหมือนอาจารย์จะบอกว่ามันมีดราม่าที่เป็นพิษ กับดราม่าที่มันเป็นประโยชน์
ใช่ บางอย่างถ้ามันมีสำนึกดี ก็ไม่เป็นไร เรากลัวอย่างเดียว ดราม่าที่ไร้สำนึก ทุกเรื่องนั่นล่ะ ต้องใช้สำนึกกำกับ

• พูดเรื่องดราม่าของคนอื่นมาก็เยอะ โดยส่วนตัวอาจารย์เคยเจอเรื่องดราม่าๆ บ้างหรือเปล่า
อู๊ยยย...เจอมาเยอะแยะ แต่มันอยู่ที่ว่า เขากระแทกมา เรายอมให้กระทบมั้ย ถ้าเราไม่สนใจก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไปสนใจมัน เราก็จะเป็นทุกข์

• อาจารย์มีการวางท่าทีอย่างไรต่อเรื่องราวดราม่าเหล่านั้นที่เกิดขึ้น
อย่าต่อปากต่อคำ เราเถียงไป เขาก็เถียงเรากลับได้ สุดท้ายมันก็จะไม่จบ คือเรื่องบางเรื่อง ยิ่งเราไปให้ราคากับมัน มันก็จะยิ่งยาว อย่าไปให้ราคามัน บอกแล้วว่า กระแทกแต่อย่าให้กระทบ นี่คือวิธีจัดการกับดราม่า แต่บางอย่างบางเรื่อง เราต้องอธิบาย ขอใช้คำว่าอธิบาย เราไม่ได้โต้ อย่างบางเรื่อง เราก็ไม่ได้อ่านหรอกว่ามีใครว่าอะไรเราบ้าง แต่มีคนมาเล่าให้ฟัง และเราก็ไม่ได้สนใจที่จะรู้ด้วย ไม่แคร์

เราก็เหมือนจอหนังกลางแปลง ใครจะเอาลูกดอกปามายังไง มันก็ถูก เราต้องตระหนักถึงการเป็นจอหนังกลางแปลงของเรา เราไม่ได้เป็นจอโทรทัศน์ที่แคบๆ เพราะฉะนั้น ใครยิงธนูมา ปาเป้ามา มันก็โดนแน่ๆ แต่เราไม่ได้อยากไปรับมา ยกเว้นว่ามีคนมาเล่าให้ฟัง แต่เราก็จะแค่ “อ๋อ เหรอ” เพราะเราไม่ได้อ่าน เราไม่ได้ใส่ใจ ไม่จำเป็นต้องรู้ เราไม่อยากจะรู้ เพราะยังไง เราก็ไม่ตอบโต้อยู่แล้ว แล้วจะรู้ไปทำไม ถ้าคิดว่าเราจะต้องตอบโต้ เราถึงจำเป็นต้องรู้...
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

**หมายเหตุ : ติดตามชมรายการ "เสรีดราม่า" ได้ทุกวันอาทิตย์ เวลา 20.00-21.00 น.ทางช่องซูเปอร์บันเทิง true vision 71 และ 48, news1 ipm64
กำลังโหลดความคิดเห็น