ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ช่อง 3 ใช้สื่อของตัวเองแจงเรื่องจอดำทีวีดาวเทียม - เคเบิล ขอ กสท. เคลียร์เรื่องกฎหมายก่อนถึงจะยอมออกคู่ขนาน หวั่นในอนาคตเปลี่ยนกรรมการตกวิบากกรรม ยันไม่ได้จับคนดูเป็นตัวประกัน แต่โครงข่ายไม่พร้อม คูปองไม่แจก “ประวิทย์” วอนอย่าทรมานตน อย่าทำคนดูบาดเจ็บ ด้าน “สุภิญญา” แจงสั้นๆ ให้ช่อง 3 ดิจิตอลทำเอ็มโอยูผ่านบริษัทแม่แล้วยื่นเรื่อง ถ้า กสท. ทำเองจะถูกฟ้อง อย่าบอกว่าทำไม่ได้ถ้าไม่เคยส่งเรื่องให้ลงมติ
วันนี้ (24 ก.ย.) เมื่อเวลา 17.55 น. น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว @supinya ระบุว่า กสท. ยืนยันตามคำสั่งทางปกครองที่ออกไปแล้ว นับถอยหลัง 15 วัน เป็นที่สิ้นสุด เสียงข้างมากไม่ทบทวน - ทบทวนไม่ได้ เว้นศาลสั่งเพิกถอน คดีล่าสุดที่เคเบิลทีวี 5 รายฟ้องมติ กสท. ที่ศาลปกครอง ฝ่ายกฎหมายแจ้งว่ายังไม่มีการติดต่ออะไรจากศาลเพื่อนัดไต่สวนฉุกเฉินแต่อย่างใด นั่นหมายความว่า มติ กสท. ยังมีผลเช่นเดิมทุกประการ ถ้าผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายใดฝ่าฝืน โดนปรับวันละ 20,000 บาท ถ้ายังฝ่าฝืนอาจพักใช้ใบอนุญาต
กรณีมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ฯ ทาง กสทช. เป็นผู้ใช้บังคับกฎหมายเอง ถ้าช่อง 3 ส่งจดหมายมา กสท. พร้อมมีคำตอบให้ แต่การให้ กสทช. ออกกฎบังคับก่อน จะโดนข้อหาละเมิด ซึ่งตนแนะนำให้บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด เจ้าของช่องทีวีดิจิตอลที่ได้รับการประมูล ทำข้อตกลงกับบริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด เจ้าของไทยทีวีสีช่อง 3 ผ่านบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) แล้วให้บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย ยื่นเรื่องมา กสท. จะพิจารณาเองว่าให้ออกคู่ขนานได้หรือไม่ ถ้ายังไม่เคยยื่นจดหมายขอออกคู่ขนานเข้ามาที่ กสท. กรุณาอย่าอ้างอีกว่า ออกคู่ขนานไม่ได้ ผิดกฏหมาย เพราะคุณยังไม่เคยส่งเรื่องให้ กสท. ลงมติ
“ออกคู่ขนานได้หรือไม่ได้ กสท. มีอำนาจวินิจฉัย มีมติอย่างไร กสท. ต้องรับผิดชอบเองอยู่แล้ว แต่ขอให้ทุกอย่างมีต้นเรื่องมาเป็นลายลักษณ์อักษร ในเมื่อต้องการความชัดเจนทางกฎหมาย อย่าทำเพียงการพูดลอยๆ อย่าผลักภาระให้เป็นของคนอื่น ในเมื่อปัญหาอยู่ที่ตัวผู้รับใบอนุญาตเอง ถ้า กสท. ออกคำสั่งไปบังคับให้เอกชนออกคู่ขนาน จะโดนฟ้องข้อหาละเมิดได้ เราไม่เดินเข้าสู่กับดักนี้ แต่ถ้าผู้รับใบอนุญาตยื่นขอมา เราจะพิจารณา สรุป ถ้าจะออกคู่ขนาน ขอให้ส่งเรื่องมา กสท.จะพิจารณา เหลืออีก 2 - 3 วันเท่านั้น แต่โปรดอย่าบอกว่าทำไม่ได้ ถ้าคุณยังไม่ได้เทกแอ็กชันใดๆ” น.ส.สุภิญญา กล่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 17.00 น. สถานีโทรทัศนืไทยทีวีสีช่อง 3 อ.ส.ม.ท. ได้จัดรายการพิเศษ “ช่อง 3 จะจอดำ บนดาวเทียม - เคเบิล?” ดำเนินรายการโดย นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา โดยได้เชิญ นายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด และ นายฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน โดย นายฉัตรชัย อ้างว่า กสท. ไม่ได้ต้องการให้ทีวีระบบอนาล็อกเดิมออกคู่ขนานหลังการประมูล อีกทั้งช่อง 3 มีสัญญาสัมปทานเดิมกับ อ.ส.ม.ท. เลยตัดสินใจตั้งนิติบุคคลอีกบริษัท คือ บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด ไปประมูล ซึ่งมีแผนธุรกิจผลิตรายการอีก 3 ช่องต่างหาก ซึ่งไม่ปฏิเสธว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่เป็นปัญหาที่ กสท. ต้องชี้แนะว่าทำอย่างไรให้ถูกต้อง ซึ่งทางช่อง 3 ก็ยินดี
ด้าน นายประวิทย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ช่อง 3 อนาล็อกออกอากาศคู่ขนานไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่ากฎหมายอนุญาตหรือไม่ กรรมการคนหนึ่งอ้างมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปี 2551 ซึ่งระบุว่านิติบุคคลที่ประมูลต้องทำเอง แต่กรรมการอีกคนหนึ่งระบุว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของกรรมการคนนั้น การเจรจาเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา จึงยังไม่เป็นที่ยุติ ซึ่งต้องยืนยันว่าสามารถทำได้จึงจะทำ
นายฉัตรชัย กล่าวว่า แม้กฎหมายจะห้ามไม่ให้คนละบริษัทออกอากาศแบบคู่ขนาน แต่สามารถออกอากาศได้แบบบางรายการ ซึ่งมีข้อจำกัดเนื่องจากมีสัดส่วนรายการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง กสท. อยากจะให้เราคู่ขนาน แต่เราทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย ส่วนการให้ช่อง 3 ทำจดหมายเพื่อแก้ปัญหาให้นั้น ที่ผ่านมาคุยกันเห็นหน้าเห็นตา จะให้ทำหนังสือจากบริษัทไหน ถ้าเอาบางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ก็ไม่ใช่เจ้าของช่องดิจิตอล ถ้าเอาบีอีซีมัลติมีเดียก็ไม่ใช่เจ้าของช่อง 3 แล้วจะคุยกันอย่างไร ขนาดพูดคุยกันยังคุยไม่รู้เรื่องแล้วจะทำหนังสือทำไม กำลังคิดว่าจะทำหนังสือในนามบีอีซีเวิลด์ซึ่งเป็นบริษัทแม่เพื่อให้จบเรื่อง ถ้าทำได้ก็จะทำไป
นายประวิทย์ กล่าวว่า ตอนนี้ช่อง 3 ยินดีที่จะปรับแผนทางธุรกิจไปตามที่ กสท. อยากที่จะไป แต่ต้องเคลียร์เรื่องกฎหมายก่อน ถ้าตัดสินใจไปทำเอง วิบากกรรมจะเป็นของเรา จากนี้ไปอีก 3 ปี กรรมการ กสท. เปลี่ยนชุด ก็จะกลับมามีปัญหา เขาอาจจะบอกว่าที่ทำไปผิดกฎหมาย ถ้า กสท. เห็นว่าทำได้หรืออยากให้เราทำก็บอกมา ถ้าผ่านเงื่อนไขนี้ไปแล้วค่อยมาคุยเรื่องลงมา คือ การเยียวยา เราไม่อยากไปมีวิบากกรรมในอนาคต ยกตัวอย่าง กสท. เพิ่งรับรองสัมปทานช่อง 3 เมื่อต้นปีนี้ แต่ผ่านมาไม่กี่วันมีคนไปยื่นขอให้ตรวจสอบสัมปทานช่อง 3 แล้วใครจะรับรองว่าจะไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น
นายฉัตรชัย กล่าวว่า บีอีซีเวิลด์ เป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีผู้ถือหุ้นเป็นหมื่นราย แล้วผู้รับผิดชอบคือผู้บริหาร ซึ่งทำผิดกฎหมายไม่ได้ ถ้าอยากให้ดำเนินการ กสท. ต้องเป็นผู้ดำเนินการ ชี้แนะเราว่าจะดำเนินการอย่างไร
นายฉัตรชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่ กสท. มีมติยกเว้นค่าธรรมเนียม 4% แก่ผู้ประกอบการทีวีอนาล็อกที่นำสัญญาณภาพออกอากาศคู่ขนานก่อนวันที่ 10 ต.ค. เป็นระยะเวลา 5 ปี แต่ช่อง 3 ยังปฏิเสธ ว่า ตนรู้สึกผิดหวัง เรื่องการลดค่าธรรมเนียมไม่ใช่ประเด็น เพราะรายได้มาจากช่องอนาล็อก ส่วนช่องดิจิตอลไม่มีรายได้อยู่แล้ว ถ้าคู่ขนานรายการทุกอย่างรายได้ก็มาจากอนาล็อก ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่ออกคู่ขนานเนื่องจากผิดกฎหมาย และทีวีดิจิตอลไม่มีรายได้ จึงไปทำแผนธุรกิจ ก็ผิดแผนธุรกิจเรา ที่เรียกร้องให้เยียวยาคือความเสียหายเนื่องจากแผนธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องรอง
นายประวิทย์ กล่าวถึงข้อกล่าวหาที่ว่าช่อง 3 เป็นตัวถ่วงทีวีดิจิตอล ว่า คนบอกว่าเรากลัวการแข่งขัน แต่คนดู 70% รับชมจากกล่องดาวเทียมและเคเบิลทีวี ซึ่งทีวีดิจิตอลอยู่บนกล่องดาวเทียมและเคเบิลทีวีเช่นกัน เราอยู่ในสนาม อยู่ในการแข่งขันเดียวกันอยู่แล้ว ผู้ประกอบการทุกคนที่ไปประมูลทีวีดิจิตอล ไม่มีใครกลัวการแข่งขัน ทุกคนมีความมั่นใจเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ประเด็น แต่ความยุ่งยากที่มีกฎหมายเดตล็อกอยู่ตรงนั้น ถ้าเคลียร์ตรงนั้นตนไปทันที
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าช่อง 3 กอดงบโฆษณาไว้คนเดียวนั้น ทุกคนมาตอดเรา รวมทั้งเราที่ขยายช่องดิจิตอลอีก 3 ช่อง เรากินทั้งคนดูของตัวเอง และกินทั้งงบโฆษณาของตัวเอง คนอื่นอีก 20 กว่าช่องก็มากินเรา เราอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ เราไม่ได้ไปกินใคร ไม่ได้กินคนดูของคนอื่น ไม่ได้กินโฆษณาของคนอื่น ตอนนี้เราอยู่สนามเดียวกัน เขาจะเอาเราลงมาอยู่กล่องดาวเทียมและเคเบิลซึ่งก็คือกล่องเดียวกัน ซึ่งก็คือสนามเดิม ได้ประโยชน์อะไรตราบใดที่กล่องทีวีดิจิตอลยังไม่แจกออกไป ทีวีดิจิตอลช่วยอะไรเขา คนที่มีกล่องดาวเทียมเดิมอยู่แล้วจะไปรับกล่องทีวีดิจิตอลเพื่ออะไร กลายเป็นว่ามีสองกล่อง เป็นการกลัดกระดุมผิดเม็ดแรก อุปสรรคใหญ่ที่สุดคือคูปองทีวีดิจิตอลยังไม่ได้แจกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
“โดยทั่วไปถ้าจะเปลี่ยนผ่าน มันควรจะเดินเรื่องโครงข่ายไปก่อน เอาโครงข่ายให้พร้อมก่อน แจกคูปองเพื่อไปแลกกล่องมาให้พร้อมซะก่อน ที่อื่นเขายกผู้ประกอบการรายเดิมขึ้นไปเพื่อดึงคนดูมาก่อน แล้วจากนั้นค่อยไปประมูล แต่เราทำกลับกัน เราไปเน้นที่ผู้ประกอบการทีวี ไปประมูลเขามาก่อน ทันทีที่เขามา เราก็นับหนึ่งเลย ให้เขาแข่งขันกันเลย โดยที่โครงข่ายยังตามมาไม่ถึง คูปองยังไม่แจก เริ่มมาห้าเดือน ผมเปรียบไปว่า พวกเราเป็นนักมวย เราลงไปชกกันเลยโดยที่ยังไม่มีสนาม คนดูยังไม่มา สนามยังไม่มีเลย ชกกันห้าเดือน ทุกคนบอกรุนแรงหมดแล้ว” นายประวิทย์ กล่าว
นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า ตนไม่โทษใคร ตนโทษว่ามันมีอุปสรรค เรามองประเด็นไม่ถูก ทุกอย่างที่ทำลงไปตั้งแต่ต้นผู้ประกอบการเสียเปล่า เราลงทุนซื้อรายที่ดีที่สุด ไม่มีคนดู ไม่มีรายได้ ตนเห็นใจผู้ประกอบการจริงๆ ย้อนกลับไปสมัยประมูลไอทีวี ให้ไปจัดหาเครื่องมือ ทดลองออกอากาศ 1 ปีโดยไม่ต้องจ่าย แต่ของเราพอประมูลได้ ให้ใบอนุญาตปุ๊บ นับสัญญาหนึ่งเลย ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม ทั้งนี้ ช่อง 3 ประมูลทีวีดิจิตอลมา 3 ช่อง อีกช่องหนึ่งอนาล็อก เรามี 4 ช่อง 4 รายการ เป็นทางเลือกที่ดีกว่าไหมหากเทียบกับการมี 4 ช่อง 3 รายการ
ส่วนช่องเอชดี เราจะทำรายการแบบพรีเมียม ประเภทกีฬา จำเป็นว่าต้องเป็นละครทุกช่องไหม ในเมื่อละครอยู่ช่องอนาล็อกอยู่แล้ว ช่องเอชดีเรามีรายการประเภทอื่นให้ ช่องเอชดีก็มีรายการหนึ่ง ช่องเด็กก็มีรายการหนึ่ง มีให้เลือก 4 ช่องในเวลาเดียวกันอย่างนั้นไม่ดีกว่าเหรอ ทำไมต้องเป็นละคร คนที่ไม่ดูละครก็มีเยอะ ทำไมไม่รอตนสักพัก ตนมีความพร้อมก็มีละครอยู่ช่องเอชดีก็ได้ ตอนนี้ตนยังไม่มีความพร้อม ตนยังผลิตไม่ทัน ทำเต็มที่แน่ ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าทำให้ผู้ประกอบการคนอื่นล้มตายแล้วจะได้ไม่มีคู่แข่งนั้น ตนไม่มีเจตนา ของดีในนิยามแต่ละคนไม่เหมือนกัน ละครที่เราทำมาตั้งแต่ต้น 40 กว่าปี มีละคร 2 เรื่องเท่านั้นเองที่มีเรตติ้งดีที่สุดถึง 20 โดยทั่วไปเรตติ้งเฉลี่ยระดับ 6 หมายถึง 6% ของคนที่มีทีวีดูละคร ในขณะที่ฟุตบอลถ้าอยู่ในเวลาเดียวกันเรตติ้งอาจจะเป็น 8 ถ้าเรียกร้องอยากให้มีละครอยู่ในช่องเอชดี วันหนึ่งตนจะทำให้
นายฉัตรชัย กล่าวว่า เรายินดีที่จะออกอากาศคู่ขนาน คนทำฟรีทีวีใครอยากจะเสียเปรียบคู่แข่ง เพียงแต่เราอยากจะทำให้ถูกกฎหมาย เช่นเดียวกับ นายประวิทย์ กล่าวว่า เคลียร์เรื่องกฎหมายมาให้ก่อน ตนเชื่อว่าการต่อรองเรื่องเยียวยาน้อยมาก ตอนนี้มีคนคุยกันเรื่องคุณภาพรายการของช่อง 3 เวลานี้การผลิตระบบดิจิตอลอยู่แล้ว ผู้ชมทางกล่องดาวเทียมและเคเบิลอยู่แล้ว คุณภาพทีวีดิจิตอลเป็นอย่างไร คุณภาพของช่อง 3 เท่านั้น ไม่ใช่ว่าคุณภาพด้อยกว่า คุณภาพจะแย่ตรงที่หนวดกุ้ง ก้างปลา
เมื่อถามว่า ช่อง 3 จะจอดำบนดาวเทียมและเคเบิลทีวี มีการเตรียมการอย่างไร นายฉัตรชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้า เราไม่ได้จับคนดูเป็นตัวประกัน เราไม่มีอำนาจ และไม่ได้มีข้อเรียกร้องอะไรเลย คนที่มีอำนาจ คนที่ออกฎเกณฑ์จะต้องเป็นคนแก้ เราไม่รู้จะทำอย่างไร คนที่เขาลงทุน 15 - 16 ล้านครัวเรือน 50 ล้านคน เขาเสียเงินไปคนละ 2 - 3 พันบาทอย่างน้อยๆ เพื่อซื้อกล่องดาวเทียมเพื่อที่จะดูโทรทัศน์ให้ชัดๆ ในวันนี้กลับไม่เขาดู เราทำอะไรไม่ได้จริงๆ
นายประวิทย์ กล่าวว่า ความเสียหายของช่อง 3 ชัดเจนในกรณีที่จอดำ คือ คนดู 70% ของเราที่ทนุถนอมกันมา 40 กว่าปีหายไปในพริบตา ส่วนการเงินเราบอกลูกค้าว่าถ้าจอดำเมื่อไหร่เราจะคืนเงินให้ 70% สถานะทางการเงินของเราจะเปลี่ยนไปทันที จากดีๆ อยู่ทุกวันนี้เป็นขาดทุนทันที ส่วนข้อกล่าวหาว่าเราจับคนดูเป็นตัวประกันนั้น คนร้ายที่จับคนดูเป็นตัวประกันเขาทำร้ายตัวเองไหม คือ รายได้ของเราและคนดู อีกอย่างหนึ่ง คนร้ายที่จับคนเป็นตัวประกันต้องมีอำนาจ ต้องมีข้อเรียกร้อง และต้องควบคุมได้ว่าเราจะปล่อยตัวประกันหรือไม่ เราไม่มีอำนาจที่จะควบคุมตรงนี้ และเราไม่เคยมีข้อเรียกร้อง
“ข้อเรียกร้องของเรา มีอยู่ 2 เรื่องก็คือว่า ปล่อยตัวผมก่อนได้ไหม ปล่อยผมก่อน อย่าทรมานผมเลย และอย่าให้คนดูของผมบาดเจ็บได้ไหม จากนี้ไปคนที่จะเหยียบเบรกไม่ให้จอดำได้คือคณะกรรมการ กสท. หรือว่าใกล้ๆ วันที่จะจอดับเราไปยื่นขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว อยู่ที่ความเมตตาของศาล แต่ถ้าไปถึงขั้นจอดับแล้ว ถามว่ามีใครแก้ปัญหาได้หรือเปล่า ไม่มี ช่อง 3 ก็แก้ไม่ได้ ไปขออนุญาตเป็นเพย์ทีวีก็ไม่ได้ เพราะเราไม่มีลิขสิทธิ์รายการที่จะไปขึ้นเพย์ทีวี และไปออกอากาศคู่ขนานก็ไม่ได้เพราะติดกฎหมาย ถ้าดับคือดับจริงๆ ก็มีคนที่มาช่วยสถานการณ์ได้ก็คือศาล” นายประวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย