ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ย้อนรอย “สหภาพการบินไทย” รวมพลังขับไล่ “อำพน กิตติอำพน” พ้นการบินไทย ล่าสุดประกาศนัดรวมพล 26 มี.ค.วันเดียวกับที่ ประธานบอร์ดคนใหม่ “ประจิน จั่นตอง” ผบ.ทอ.รับตำแหน่ง เผย ดร.กบ นั่ง ปธ.5 ปี ถูกไล่หลายครั้ง ตกต่ำ ทำการบินไทย ขาดทุน 8,000 ล้านบาท ปี 55-56 ปะทุ “นักบิน” ร่วมขับไล่ ก่อนตัดสินใจลาออกต้นปี 57
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 มี.ค.57) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้ออกแถลงการณ์เพื่อนัดรวมพลในวันที่ 26 มี.ค.นี้ ที่หน้าอาคาร 1 สำนักงานใหญ่ในเวลา 08.00 น.เพื่อร่วมต้อนรับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.ที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทยคนใหม่ ขณะเดียวกัน ยังจะมีกิจกรรมเพื่อขับไล่ นายอำพน กิตติอำพน ออกจากการบินไทย แม้นายอำพน จะประกาศลาออกจาก ตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท โดยมีผลเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมาก็ตาม
ในแถลงการณ์ ระบุว่า นายอำพน ในตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กรรมการในรัฐวิสาหกิจ กรรมการในหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาต่างๆ หลายแห่ง และประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งต้องทุ่มเทเวลาในการทำหน้าที่เพื่อชาติ จึงไม่สมควรที่จะรับตำแหน่งในบริษัทฯ ที่กำลังเผชิญกับมรสุมของการแข่งขันที่รุนแรง กรรมการบริษัทฯ ต้องมีเวลาและความสามารถในการกำกับนโยบายเพื่อฟื้นฟูให้สามารถดำรงอยู่ได้ในภาวะวิกฤตการแข่งขัน
ทั้งนี้ นายอำพน ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทฯ มาแล้ว 5 ปี นานที่สุดในประวัติศาสตร์การบินไทย มีพฤติการณ์ส่อให้เชื่อว่าครอบงำและแทรกแซงการบริหาร การแต่งตั้งโยกย้าย เอื้อประโยชน์พวกพ้องผู้ใกล้ชิดที่ขาดความรู้ความสามารถ ทำให้บริษัทไม่มีธรรมาภิบาล พนักงานแตกแยก ขาดขวัญและกำลังใจ ใช้เงินมหาศาลจัดจ้างพรรคพวกมาเป็นที่ปรึกษา ใช้มติคณะกรรมการบริษัทฯ แต่งตั้งตนเองเป็นประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการจัดตั้งสายการบิน Thaismile เป็นบริษัทย่อย แต่งตั้งตนเองเป็นประธานกรรมการบริษัท Thaismile airways
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความรับผิดชอบของนายอำพน ได้ปรากฏชัดแจ้งว่า การวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ผิดพลาดทุกด้าน ทั้งการตลาด การขนส่งสินค้า ครัวการบิน และจัดโครงสร้างองค์กร ทำให้บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และปี 2556 มีผลประกอบการขาดทุนอย่างหนักโดยไม่มีเหตุผล ชิงปรับโครงสร้างองค์กร ชิงแต่งตั้งโยกย้ายก่อนที่ประธานกรรมการบริษัทคนใหม่จะเข้ารับตำแหน่ง ดังนั้นในวันที่ 26 มีนาคม 2557 เวลา 08.00 น.จะร่วมแสดงพลังขับไล่นายอำพน ออกไปจากบริษัท บริเวณหน้าอาคาร 1 สำนักงานใหญ่ และต้อนรับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ประธานบอร์ดคนใหม่
ย้อนรอยทำไม คนบินไทยขับไล่ ดร.กบ
ผู้สื่อข่าวย้อนกลับไปตรวจสอบ การก่อตัวขับไล่นายอำพน ตลอด 5 ปีที่เข้ามาเป็นประธานบอร์ดการบินไทย โดยเริ่มจาก นายอำพนเข้ามานั่งเก้าอี้ตัวนี้เมื่อปี 2553 ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 27 เม.ย.2554 การบินไทยได้จัดประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2554 โดยมีวาระพิจารณาเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออก
ขณะที่ กรรมการยังได้พิจารณารคัดเลือกให้ นายอำพน ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการบินไทยต่อไปอีกวาระหนึ่ง ตามความเห็นชอบของกระทรวงคมนาคม ที่มี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็น รมว.คมนาคม ช่วงนั้น
การก่อตัวขับไล่นายอำพน เริ่มเกิดขึ้นตลอดระหว่างปี 2554 ต่อเนื่อง 2555 โดยพบว่า วันที่ 24 พ.ค.2555 นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เข้ายื่นหนังสือให้ นายอำพน ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ชี้แจงถึงสาเหตุที่แท้จริงในการปลด นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย
ขณะที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้สหภาพฯ การบินไทยรอฟังคำชี้แจงก่อนเคลื่อนไหวนแต่นายอำพน กลับชี้แจงถึงเหตุผลไม่ชัดเจน
“นายอำพน ควรอยู่ในสายตาสังคมด้วยว่ากำลังทำอะไรให้สังคมกังขาด้วยหรือไม่ ซึ่งยืนยันว่า การดำเนินการครั้งนี้ไม่ได้ปกป้องนายปิยสวัสดิ์ แต่มีวัตถุประสงค์ต้องการทราบถึงมาตรฐานในการประเมินผู้ที่มาดำรงตำแหน่งดีดี เพื่อต่อไปเมื่อมีดีดีเข้ามาบริหารการบินไทย แล้วก็นำพาองค์กรให้มีผลประกอบการที่ดี เดินไปข้างหน้าได้ จะได้มีเกณฑ์มาตรฐาน ที่ไม่ใช่ใครจะทำอะไรก็ได้” นางแจ่มศรี ระบุไว้ตอนนั้น
2556 ปะทุขับไล่ ก่อนตัดสินใจลาออก
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยได้ออกแถลงการณ์ด่วนคัดค้านการแต่งตั้ง นายโชคชัย ปัญญายงค์ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยระบุว่า เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง นายโชคชัย เป็นผู้ที่รับผิดชอบกำหนดนโยบายฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ
นอกจากนี้ สหภาพฯ ยังเรียกร้องให้ นายอำพน กิตติอำพน ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัท การบินไทยเช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมา นายอำพน ไม่เคยให้นายสรจักรได้มีส่วนพิจารณาวางแผนกลยุทธ์เลย ดังนั้น ทั้งนายโชคชัย และนายอำพน ต้องแสดงความรับผิดชอบที่ดำเนินงานผิดพลาดจนทำให้บริษัทขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะหากให้นายโชคชัยบริหารงานต่ออาจทำให้ขาดทุนหนักขึ้น
ทั้งนี้ สหภาพฯ ได้ระบุด้วยว่า จะขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้พิจารณาปรับเปลี่ยนประธานกรรมการบริษัทการบินไทย และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ต่อไป พร้อมกับเรียกร้องให้พนักงานตื่นตัว ร่วมมือกันปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท
แถลงการณ์ฉบับนี้ เกิดขึ้นหลังจากรณีที่ นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการบริษัทการบินไทย เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ ก่อนที่คณะกรรมการบริษัทจะได้แต่งตั้งให้ นายโชคชัย ปัญญายงค์ ทำหน้าที่รักษาการตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 มกราคมปี 57 เป็นต้นไปนั้น
ดร.กบอ้างไม่ได้เกิดจากแรงกดดันหรือแรงบีบ
ขณะที่ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.57 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/57 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. มีมติอนุมัติการลาออกของนายอำพน กิตติอำพน จากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท โดยยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท และกรรมการอิสระต่อไป และได้แต่งตั้ง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองประธานกรรมการ ลำดับ 1 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค57
ขณะที่ นายอำพน กล่าวถึงการยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทดังกล่าว โดยยืนยันไม่ได้เกิดจากแรงกดดันหรือแรงบีบใดๆ ทั้งสิ้น แต่ด้วยการยึดหลักธรรมาภิบาลเมื่ออยู่ครบ 2 วาระแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่รอลุ้นว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้น จะเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อหรือไม่ แต่ด้วยบริษัทต้องการความต่อเนื่องในการบริหารงานที่จะต้องสรรหาผู้บริหารใหม่มาทำงานตามกำหนดเวลาซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้
“เห็นว่า พล.อ.อ.ประจิน ซึ่งเข้ามาดำเนินงานในระยะหนึ่งได้รับทราบแผนงานที่ดีอยู่แล้ว จึงเห็นควรให้ขึ้นมาเป็นประธาน เพื่อดำเนินงานให้เกิดความต่อเนื่องทันที อย่างไรก็ตาม สถานะของบริษัท การบินไทย ขณะนี้ ไม่ได้อยู่ในสถานะที่ย่ำแย่ หรือตกต่ำมาก เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ แต่ไม่สามารถบอกตัวเลขได้”
ต้นปี 57 คนบินไทยเริ่มปฏิบัติการ“Go Slow”
ขณะที่ เมื่อวันที่ 8 มกราคม สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้ออกแถลงการณ์ด่วนที่สุดโดยเรียกร้องให้พนักงานการบินไทยแต่งชุดดำ ในวันที่ 9 มกราคมนี้ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้ นายอำพน กิตติอำพน ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร (บอร์ด) การบินไทย และเปลี่ยน นายโชคชัย ปัญญายงค์ ออกจาก รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อแสดงออกทางสัญลักษณ์ ให้เห็นว่าพนักงานการบินไทยทุกฝ่าย ต้องการให้นายอำพนลาออกและเปลี่ยนรักษาการดีดี คนใหม่
การกดดันให้นายอำพนลาออกจากการบินไทย เกิดขึ้นชัดเจน เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2557 เมื่อมีกระปสข่าวว่า นักบินได้หารือกันถึงมาตรการกดดันให้ นายอำพน ลาออก รวมถึงการหยุดบิน
ขณะเดียวกัน เกิดความปั่นป่วนขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 4มกราคมที่ผ่านมาว่า พนักงานของการบินไทยทุกแผนกเริ่มปฏิบัติการ“Go Slow” เริ่มจาก Catering ค่อยๆpack ถาดอาหารกว่าจะขึ้นเครื่องครบก็ดีเลย์ 1 ชั่วโมงทุกไฟล์ทบิน
ส่วนฝ่ายช่างเริ่ม Go Slow ในวันที่ 5มกราคม สรุปที่สนามบินสุวรรณภุมิมีไฟล์ทบินดีเลย์ทุกเที่ยวบิน ก่อนหน้านี้ นายสรจักร เกษมสุวรรณ ที่ได้รับการสรรหาในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดีใหญ่) การบินไทย ก็ได้ลาออกไปแล้ว เพราะบริหารงานทำให้การบินไทยขาดทุน 6,300ล้านบาท ขณะที่นายอำพน อยู่ในตำแหน่งประธานบอร์ด ทำให้การบินไทย ขาดทุน 8,000 ล้านบาท และมีความไม่โปร่งใสในการทำงานหลายอย่าง อาทิ การเล่นพวกในการแต่งตั้งบุคคล การจัดซื้อจัดจ้าง ขาดธรรมาภิบาลในการบริหาร ทำให้นักบินลาออกแล้ว100คนฝ่ายช่าง 200 คน และ มีนักบินที่กำลังจะลาออก อีกจำนวนหนึ่ง