ย้อนรอยเงินจำนำข้าว ชาวนาลุกฮือทั่วประเทศฟางเส้นสุดท้ายรัฐบาลลักษณ์ บทพิสจน์ความล้มเหลวของการบริหารประเทศ ประชานิยมล่มสลาย
รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินมาถึงจุดอับทางการเมือง คือ นโยบายประชานิยม โครงการรับจำนำข้าวที่มาถึงวันนี้กำลังส่งผลร้ายต่อสถานะอำนาจของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นอย่างสูง เนื่องด้วยเกิดปรากฏการณ์ชาวนาทั่วประเทศยกระดับการเคลื่อนไหว เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินจำนำข้าว ที่นำเข้าโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/2557
กว่า 2 ปีที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้ การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้ามาบริหารประเทศได้ใช้งบประมาณและกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวไปแล้วเกือบ 7 แสนล้านบาท และ ขาดทุนไปแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าการขาดทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงาตามตัวตราบใดที่รัฐบาลยังดึงดันที่จะเดินหน้าโครงการต่อไป ก่อนหน้านี้ บุคคลสำคัญของประเทศ และ นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับจำนวนมาก หรือ แม้แต่องค์กรของโลกอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศเคยเตือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้เลิกโครงการรับจำนำข้าวซึ่งจะสร้างภาระทางการคลังอย่างหนักจนอยู่ในภาวะเสี่ยง
ชาวนาลุกฮือจุดตายรัฐบาลยิ่งลักษณ์
อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปนับรวมเหตุการณ์ชาวนาลุกฮือออกมาก็ต้องบอกว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นแบบครั้งนี้มาก่อน ไล่ตั้งแต่ จังหวัดสุรินทร์ 6 มกราคม 2557 กลุ่มเกษตรกรชาวนาชาวสุรินทร์ กว่า 2,000 คน เดินทางมาจาก 17 อำเภอของจังหวัดสุรินทร์ ร่วมชุมนุมที่บริเวณสนามด้านหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์
จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 16 มกราคม 2557 กลุ่มชาวนาประท้วงที่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินจำนำข้าว อีกทั้งยังได้ตั้งเครือข่ายชาวนาบุรีรัมย์ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรประสานงานในการต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อไป โดยกำหนดยื่นเงื่อนไขหากไม่จ่ายจะยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรี
ชาวนา 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (พิจิตร กำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์) วันที่ 17 มกราคม 2557 กว่า 1,000 คน รวมตัวปิดถนนทางหลวง 117 ทั้งขาขึ้นขาล่อง กม.48 หน้าสำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บึงนาราง บริเวณ กม.48 แยกโพทะเล หรือ แยกโพธิ์ไทรงาม อ.บึงนาราง จ.พิจิตร เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงิน โครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 2556/2557 โดยผู้ชุมนุมตั้งเวที ตั้งเต้นท์กลางถนน แจกน้ำแจกอาหาร
จังหวัดเชียงรายวันที่ 20 มกราคม 2557 กลุ่มเกษตรกร ในที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าว นำมวลชนประมาณ 1,000 คน บุกศาลากลาง จ.เชียงราย วันเดียวกันที่จังหวัดชัยนาท ชาวนากว่า 1,000 คน รวมตัวหน้าสนามหน้าศาลากลางจังหวัดชัยนาท ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล เรียกร้องให้มีการจ่ายเงินจำนำข้าว
ขณะที่ ชาวนา 5 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี กว่า 1,000 คน รวมตัวหน้าสนามหน้าศาลากลางจังหวัดชัยนาท ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล เรียกร้องให้มีการจ่ายเงินจำนำข้าว
จังหวัดขอนแก่น วันที่ 21 มกราคม 2557 นายสมศักดิ์ คุณเงิน ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาเกษตรกรภาคอีสาน นายสมยงค์ แก้วสุพรรณ แกนนำเครือข่ายชาวนา จ.ขอนแก่น นำเครือข่ายชาวนาภาคอีสาน 20 จังหวัด รวมกว่า 300 คน ร่วมทวงคืนข้าวเปลือกและทวงหนี้ค่าข้าวเปลือกในโครงการรับจำนำข้าว ของรัฐบาล ประจำปี 2555/2556 ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองขอนแก่น
จังหวัดสิงห์บุรี วันที่ 22 มกราคม 2557 กลุ่มชาวนา 5 จังหวัด ปิดถนนสายเอเชีย กม. 68-69 (หน้ารพ.พรหมบุรี) ต.พรหมบุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เรียกร้องให้จ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าว กลุ่มชาวนาใน จ.อ่างทอง รวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด โดยยื่นหนังสือผ่านไปยังรัฐบาล
จังหวัดอุตรดิตถ์ วันที่ 22 มกราคม 2557 กลุ่มชาวนาราว 3,000 คน ใช้รถอีแต๋น และกางเต็นท์ผ้าใบปักหลักปิดถนนสาย 11 อุตรดิตถ์-พิษณุโลก เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมาเจรจาจ่ายเงินค่าจำนำข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
จังหวัดราชบุรี วันที่ 24 มกราคม 2557 นายสมศักดิ์ ตำหนิงาม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี พร้อมด้วยชาวนาในพื้นที่ ต.ท่งหลวง ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี กว่า 300 คน ได้มารวมตัวที่บริเวณถนนพระราม 2 หมู่ 5 ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี พร้อมกับถือป้ายเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินค่าข้าว และเรียกร้องให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้ลงมาพูดคุยเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวนา และรวมตัวกันปิดถนนพระราม 2 ขาเข้ากทม.
เปิดตัวเลขจำนำข้าว อ่อนหัดถังแตกไม่มีเงินจ่ายชาวนา
ทั้งนี้ จุดตายที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญอยู่ก็คือ ปัญหาถังแตกไม่สามารถนำเงินไปจ่ายให้ชาวนาได้ เป็น “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์ที่ชาวนาทั่วประเทศขายข้าวแล้วไม่ได้เงิน นี้คือสิ่งที่รัฐบาลต้องย้อนไปยอมรับความจริงที่หลายฝ่ายเตือนว่า ความจริงนโยบายนี้ตั้งแต่เริ่มคิดก็ผิดแล้วนั่นคือใช้ชื่อว่า รับจำนำ ทั้ง ๆ ที่มันคือการรับซื้อ และด้วยราคาที่แพงกว่าตลาด โดยที่ไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน และข้าวที่รับมาจากชาวนาจะระบายออกไปอย่างไร เมื่อราคาต่างกับตลาดอย่างไร้เหตุผลรองรับ
เมื่อเริ่มต้นรู้ว่าจะต้องขาดทุนเป็นจำนวนมโหฬาร ก็พยายามจะบอกกับประชาชนว่ามีทางจะขายข้าวในราคาที่รัฐบาลต้องการ ไม่ขาดทุนอะไรมาก และเมื่อขายในตลาดปกติไม่ได้เพราะแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ ก็อ้างว่าจะขายแบบ “รัฐต่อรัฐ” หรือ “จีทูจี”แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้กำลังเป็นเรื่องลวงโลกและถูก ปปช.ตั้งข้อหาอยู่ในขณะนี้ และสุดท้ายแน่นอนย่อม ไม่มีใครที่จะซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยด้วยราคาที่แพงกว่าตลาด ผลก็คือเจ๊งบักโกรกไม่มีเงินไปจ่ายชาวนาอย่างที่เห็น จนต้องแบกหน้าจะไปล้วงเงินบรรดาหน่วยงานต่างๆอาทิ ธกส. ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จนเป็นข่าวใหญ่ที่อาจไปกระทบความเชื่อมั่นขององค์กรเหล่านี้อย่างย่อยยับ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นหลักฐานชิ้นโบว์แดง ที่บ่งชี้ถึงความอ่อนหัดและล้มเหลว ของนโยบายรับจำนำข้าวภายใต้การนำของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีความเชื่อว่าแบบผิดๆมาแต่แรกว่า เมื่อรัฐบาลรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าตลาดโลก และรับจำนำทุกเมล็ดเพื่อเอาเข้ามาไว้ในสต็อกของรัฐบาลเพียงผู้เดียว จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น และเมื่อระบายขายข้าวจะได้กำไร
ผลที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาล ขาดทุนย่อยยับ เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ แล้วว่าราคาข้าวในตลาดโลกไม่ได้ปรับสูงขึ้นอย่างที่รัฐบาลเชื่อมาตลอด และการระบายขายข้าวก็มีปัญหาการทุจริต ประกอบกับข้าวที่ระบายขายก็ได้ราคาไม่ดี ทำให้รัฐบาลประสบปัญหาขาดทุนเป็นแสนล้านบาท จึงไม่มีเงินหรือขาดสภาพคล่องสำหรับไปหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต2556/57 และที่ผ่านมาได้ใช้เงินจำนวนมากในการดำเนินโครงการรับจำนำ จนในที่สุดปัญหาก็ปะทุขึ้นมา
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สหภาพแรงงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (สร.ธ.ก.ส.) รายงานว่า รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่ฤดูการผลิต 2554/55 จนถึงฤดูการผลิต 2556/57 ณ วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นจำนวนเงินประมาณ 718,790.7 ล้านบาท
เงินโครงการจำนำข้าวแบ่งเป็นการใช้เงินของฤดูการผลิต 2554/55 กับ 2555/56 ประมาณ 688,673 ล้านบาท และเป็นการใช้เงินของฤดูการผลิต 2556/57 ณ วันที่ 1 มกราคม 2557 ประมาณ 30,177.7 ล้านบาท
ขณะที่ ณ วันที่ 4 มกราคม 2557 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) ได้รับเงินจากการระบายขายข้าวและมันสำปะหลัง จำนวน 178,793.3 ล้านบาท และจากงบประมาณปี 2557 จำนวน 62,200.7 ล้านบาท ดังนั้นรวมมีเงินสำหรับชำระคืนเงินกู้ในโครงการจำนำข้าวไปแล้วประมาณ 240,993.9 ล้านบาท และยังเหลือภาระหนี้คงค้างอีก 477,796.7 ล้านบาท
จากข้อมูลของ สร.ธ.ก.ส. จะเห็นว่า หากยึดกรอบวงเงินเดิมสำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกต้องไม่เกิน 500,000 ล้านบาท จะเห็นว่ามีช่องว่างให้ดำเนินการได้อีก 22,203.2 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น วงเงิน 500,000 ลบด้วย 477,796.7จึงไม่น่าจะเพียงพอในการจ่ายเงินให้กับชาวนาในฤดูการผลิต 2556/57
ขณะที่ข้อมูลของกรมการค้าภายใน ระบุว่า ณ วันที่ 8 มกราคม 2557 ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินจำนำข้าวเปลือกไปแล้ว 264,260 ราย จำนวน 289,563 สัญญา เป็นเงิน 32,905.9 ล้านบาท
เพราะฉะนั้น หากมีไม่เงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ส่งมาให้ ธ.ก.ส. และไม่มีเงินกู้เพิ่มเติม จะมีเงินเหลือสำหรับจ่ายชาวนาได้เพียง 22,050 ล้านบาท ซึ่งไม่น่าเพียงพอจะจ่ายเงินให้ชาวนาได้ทั่วถึง
เนื่องจากมีใบประทวนที่ต้องจ่ายเงินให้ในโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง 11 มกราคม 2557 มีจำนวน 1.7 ล้านสัญญา และปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกที่ส่งมอบจำนวน 10.8 ล้านตัน
แต่จากข้อมูล ณ วันที่ 8 มกราคม 2557 เพิ่งจ่ายเงินได้เพียง 289,563 สัญญา และเงินที่ ธ.ก.ส. มีอยู่ทั้งหมด 54,950 ล้านบาท ทั้งที่จ่ายไปแล้ว และที่คาดว่าจะจ่ายให้ชาวนาได้คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกแค่ 3.5 ล้านตัน
ใบประทวนที่เหลืออยู่อีกประมาณ 1.4 ล้านสัญญา และปริมาณข้าวเปลือกที่ส่งมอบยังเหลืออีกจำนวน 6.5 ล้านตัน จึงมีโอกาสจะได้ไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว นั่นหมายความว่า ชาวนาที่ถือใบประทวนอยู่ในมือตอนนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้เงินจำนำข้าว เพราะรัฐบาลมีเงินไม่พอจ่าย
ล้วงเท่านั้นที่ครองโลก ปั่นป่วนกันถ้วนหน้า
ขณะเดียวกัน เมื่อไม่มีเงินพอจ่ายชาวนา เนื่องด้วยการบริการอันอ่อนด้อยประกอบกับความไม่โปร่งใสของคนในรัฐบาล ทางเดียวที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พอจะมีคิดออกก็คือการเข้าไปล้วงลูกนำเงินของแหล่งอื่นมาโป๊ะเงินจำนำข้าวเพิ่ม แจ๊คพ็อตจึงไปตกสู่ธนาคารของรัฐต่างๆ อาทิ รัฐบาลมีปัญหากับ กกต. เรื่องขอใช้เงิน 5.5 หมื่นล้านบาทของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่จะจ่ายชาวนา แต่ส่งกระดาษไปเพียงใบเดียว ไม่มีรายละเอียดอะไรที่จะอธิบายที่มาที่ไปได้
จนถูกสหภาพแรงงานของ ธ.ก.ส.ออกมาต้านหากมีการใช้เงินฝากประชาชนไปจ่ายโครงการจำนำข้าว เพราะจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของธนาคาร และอีกข้อหนึ่งด้วยการที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการกู้เงินเพิ่ม 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งจะให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้กู้ และให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน ก็อาจเข้าข่ายผิดมาตรา 181 (3) ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ
องค์กรต่อมาที่กำลังถูกรัฐบาลล้วงเงินก็คือธนาคารออมสิน ที่ต้องการหาเงินมาจ่ายหนี้ชาวนากันจ้าละหวั่น เพราะความหวังเดิมอยู่ที่จะใช้เงินจาก ธ.ก.ส. โดยสั่งผ่านบอร์ดของธนาคารบีบให้ผู้บริหาร "ล้วงเอาเงินสำรองเงินฝาก" จำนวนกว่า 5 หมื่นล้านบาท และจะใช้วิธีเดียวกันล้วงเอาจากธนาคารออมสินมาเติมอีกให้ครบ 1.3 แสนล้านบาท
ความพยายามของรัฐบาลที่จะนำเงินจาก ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินมาโปะค่าจำนำข้าว ถือว่าเลวร้ายมาก ไม่เช่นนั้นสหภาพพนักงานของธนาคารทั้ง 2 แห่งคงไม่ต้องออกมาแต่งชุดดำคัดค้านอย่างที่เห็น. เพราะทั้ง ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินเองมีหน้าที่ต้องดำรงสภาพคล่องของตัวเองตามกฎเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนดและที่น่าจับตายิ่งกว่า คือ หากรัฐบาลดึงเงินของทั้ง 2 ธนาคารออกมาแล้วและถ้าบรรดาเจ้าของเงินไม่พอใจมาแห่ถอนเงินออกไป ภาระหนักก็จะตกอยู่กับธนาคารทั้ง 2 แห่งเอง ที่ไม่ใช่เพียงว่าแค่สภาพคล่องลดลงเท่านั้นแต่อาจส่งผลไปถึงอันดับความน่าเชื่อถือ ที่อาจถูกปรับลดลง
นอกจากนั้น ข่าวบักโกรกของรัฐบาลยังแพร่สะพัดในโซเชียลมีเดียว่าธนาคารกรุงไทยได้อนุมัติเงินกู้จำนวน 160,000 ล้านบาทให้กับรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าว จนร้อนึงนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ต้องออกมาชี้แจง ว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ธนาคารไม่ได้ปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลในโครงการดังกล่าว และการประชุมคณะกรรมการธนาคาร ไม่มีวาระการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) นำเงินไปจ่ายในโครงการรับจำนำข้าว
เมื่อหมดสิ้นหนทาง นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงต้องไปร้องต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยบอกว่า หลังจากรัฐบาลส่งหนังสือไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อสอบถามความเห็นเรื่องการขอกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท นำมาจ่ายให้กับชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าว ล่าสุดรัฐบาลเพิ่งได้รับหนังสือตอบรับจาก กกต. อย่างเป็นทางการเมื่อช่วงเช้า โดยขณะนี้รัฐบาลส่งหนังสือความเห็นของกกต. เกี่ยวกับการกู้เงินในโครงการรับจำนำข้าวไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณากู้เงินในโครงการนี้แล้ว
ฉะนั้นแล้ว นี่คือหลักฐานใบเสร็จมัดตัวชิ้นสำคัญที่บ่งบอกแบบปฏิเสะไม่ได้เลยว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ล้มเหลวอันใหญ่หลวงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยก็ว่าได้
ป.ป.ช.จุดตายรัฐบาลตัวจริงเสียงจริง
ขณะเดียวกัน เมื่อความล้มเหลวโครงการรับจำนำข้าวถูกประจานโดยความอ่อนด้อยของรัฐบาลจนคนทั้งประเทศรับทราบหมดแล้วนั้น ทางโซเชียล มีเดีย ได้มีการแชร์สติ๊กเกอร์พร้อมข้อความที่จัดทำโดยชาวเฟซบุ๊ค และโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่ให้กำลังใจในการพิจารณาผู้กระทำความผิดกรณีทุกจริตโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โดยข้อความในสติ๊กเกอร์ดังกล่าวระบุว่า "ขอเป็นกำลังใจให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิบัติหนาที่ด้วยความเที่ยงตรง ยุติธรรมและทันท่วงที ในเรื่อง ทุจริตโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ผิดว่าไปตามผิด"
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช มีเสียงเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่ากรณีนี้เป็น “ความผิดที่อนุกรรมการไต่สวนตรวจพบว่าไม่ใช่การซื้อขายจีทูจีอย่างแท้จริง และไม่มีการส่งออกข้าวไปนอกราชอาณาจักรตามที่ได้มีการกล่าวอ้าง”
ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช บอกว่าที่มีการใช้ชื่อบริษัทจีน และใช้ชื่อพ่อค้าหลายคนนั้น เป็นการค้าในประเทศที่มีการจ่ายเช็คเงินสดให้กับกรมการค้าต่างประเทศกล่าวคือรัฐบาลจีนไม่ได้รับรู้หรือเกี่ยวข้องกับการซื้อขายข้าว ที่กระทรวงพาณิชย์ไทยได้กล่าวอ้างแต่อย่างใด
เบื้องต้น ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อความไม่โปร่งใสสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1.นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2554-มิ.ย. 2556 มีปริมาณส่งมอบข้าวไปยังจีนทุกรายเพียง 3.75 แสนตันเศษจากปริมาณที่ส่งมอบตามสัญญาจำนวน 4.8 ล้านตัน ซึ่งกรมศุลกากรได้ยืนยันว่าในห้วงเวลาดังกล่าวไม่มีข้าวส่งออกโดยผ่านพิธีการศุลกากรแต่อย่างใด และ 2.การเข้าทำสัญญาซื้อขายข้าวยังไม่มีข้อเท็จจริงที่สนับสนุนว่าบริษัทที่อ้างว่าตัวเองเป็นตัวแทนของจีนนั้นมีสถานะเป็นตัวแทนตามที่กล่าวอ้างจริง แนวทางการทำงานของ ป.ป.ช.ในกรณีของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เรียกได้ว่าจะไล่ตรวจสอบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
หากเป็นเช่นนั้นจริง เท่ากับว่าประชาชนคนไทยทั้งประเทศถูกตบตา ผู้เสียภาษีทั้งประเทศถูกต้ม และแน่นอนว่านี่เป็นปฏิบัติการที่จะต้องสาวไปถึงผู้รับผิดชอบอื่น ๆ ป.ป.ช.จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อไต่สวนนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เพราะได้มีการเตือนก่อนหน้านี้แล้วแต่นายกฯ ได้ละเลย ในการตรวจสอบจนกลายเชือกที่มัดคอรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ในขณะนี้
คำถามที่ตามมาคือ การไต่สวนของป.ป.ช.จะขยายผลเพิ่มเติมไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทั้งคณะหรือไม่ ในฐานะเป็นผู้ร่วมออกนโยบายผ่านมติ ครม. ถ้าเป็นเช่นนั้นยิ่งมีผลให้รัฐบาลสะเทือนเข้าไปอีก เพราะหาก ป.ป.ช.เกิดแจ้งข้อกล่าวหาและชี้มูลความผิดกับ ครม.ทั้งคณะขึ้นมา เท่ากับว่ารัฐมนตรีทุกคนในรัฐบาลรวมทั้งนายกฯ จะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันทีและภาวะสุญญากาศจะเกิดขึ้นทันที และผลการไต่สวนของ ป.ป.ช.จะเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายความเป็นไปของรัฐบาลรักษาการณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างมีนัยยะสำคัญที่สุดนั้นเอง