xs
xsm
sm
md
lg

พบ “ทรูมูฟ” ระงับเปิดเบอร์ใหม่หลังสิ้นสุดคลื่น 1800-“สุภิญญา” โวยย้ายค่ายอัตโนมัติผู้บริโภคไร้ทางเลือก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซิมการ์ดและเครื่องโทรศัพท์ที่ผู้สื่อข่าวนำมาทดสอบ
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - “ทรูมูฟ” เตรียมแจกมือถือลูกค้าเดิมปีหน้า พร้อมย้ายค่ายเป็น “ทรูมูฟ เอช” อัตโนมัติ หลังสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ อีกด้านทดสอบพบลูกค้าเก่าโทร.ออก-รับสายปกติตามมาตรการเยียวยา แต่เปิดเบอร์ใหม่ไม่ได้ “สุภิญญา” โวยค่ายมือถือทำผิด ย้ายค่ายอัตโนมัติไปบริษัทในเครือ ผู้บริโภคไร้ทางเลือก “หมอลี่” แนะหากเสียสิทธิ์โทร.แจ้ง 1200

เมื่อวานนี้ (15 ก.ย.) หลังจากสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบ ดิจิตอล พีซีเอ็น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบการอีก 2 ราย ได้แก่ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด เจ้าของเครือข่ายทรูมูฟ กับบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด เจ้าของเครือข่ายจีเอสเอ็ม 1800 ได้สิ้นสุดลงนั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกแผนการคุ้มครอง โดยลูกค้าจะสามารถใช้บริการบนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ต่อไปได้ถึงวันที่ 15 ก.ย. 2557 หรืออีก 1 ปีข้างหน้า

โดยความเคลื่อนไหวของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด แจ้งต่อลูกค้าผ่านเว็บไซต์ว่า ทางบริษัทยินดีดำเนินการอัปเกรดเลขหมายทรูมูฟไปเป็นทรูมูฟ เอช โดยอัตโนมัติก่อนวันสิ้นสุดบริการ และเพื่อเป็นการดูแลลูกค้า ลูกค้าจะได้รับมือถือซัมซุงฮีโร่ 3จี หรือ โนเกีย 208 3จี หรือรุ่นที่คุณสมบัติเทียบเท่าฟรี เมื่อลูกค้ามีการใช้บริการทรูมูฟเอชต่อเนื่องถึงสิ้นปี 2556 โดยลูกค้าจะเริ่มรับมือถือได้หลังวันที่ 31 ธ.ค. 2556 หรือตามที่บริษัทจะแจ้งให้ทราบผ่านทางเอสเอ็มเอสอีกครั้ง สำหรับกรณีที่ไม่ต้องการอัปเกรดเพื่อรับสิทธิ์ กรุณาโทร.แจ้ง 0-2647-9999 ทั้งนี้ยังสามารถเลือกรับบริการจากผู้ประกอบการรายอื่นได้ตามระเบียบของ กสทช.และหากไม่อัปเกรดเครือข่าย จะสามารถใช้บริการต่อไปได้ถึงวันที่ 15 ก.ย. 2557

ขณะที่เครือข่ายจีเอสเอ็ม 1800 ได้ประกาศแจ้งการสิ้นสุดสัญญา ระบุว่า เนื่องจากสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุโทรคมนาคมระบบเซลลูลาร์ ดิจิตอล พีซีเอ็น 1800 ระหว่างบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย. 2556 นี้ บริษัทจึงจำเป็นต้องยุติการให้บริการนับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดสัญญาดังกล่าวเป็นต้นไป ทั้งนี้ อาจจะยังคงสามารถใช้บริการโทรศัพท์ภายใต้แบรนด์ จีเอสเอ็ม 1800 ต่อไปได้อีกไม่เกิน 1 ปี ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข หากต้องการเปลี่ยนเครือข่ายผู้ให้บริการ โดยยังคงใช้เบอร์เดิมก็สามารถติดต่อเพื่อขอเปลี่ยนแปลงเครือข่ายได้ที่ศูนย์บริการของผู้ให้บริการที่ประสงค์จะใช้งาน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทรูมูฟใช้วิธีย้ายผู้ให้บริการจากบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ซึ่งให้บริการบนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และหมดสัญญาสัมปทานไปแล้ว ไปยังบริษัท เรียลมูฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนขายส่งต่อบริการของ กสท โทรคมนาคม ให้บริการบนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ โดยบริษัทได้ดำเนินการแก่ลูกค้าทรูมูฟเดิมทุกรายโดยไม่ต้องแจ้งความประสงค์ หากลูกค้าไม่ต้องการอัปเกรดจะต้องโทร.แจ้งแก่ทางทรูมูฟให้ทราบ ซึ่งแตกต่างจากเครือข่ายอื่นที่มักจะเชิญลูกค้าเดิมให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ย้ายเครือข่ายไปยังคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ อาทิ เอไอเอส 3 จี หรือดีแทค ไตรเน็ต โดยใช้เลขที่บัตรประชาชนในการสมัคร

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้ทำการทดสอบการให้บริการเครือข่ายทรูมูฟ พบว่าหากเป็นลูกค้าทรูมูฟเดิมที่ยังมีสถานะเปิดใช้บริการอยู่ สามารถโทร.ออก และรับสายได้ตามปกติ ส่วนลูกค้าใหม่ที่ทำการเปิดเบอร์ โดยใช้ซิมการ์ดระบบเติมเงินนั้น จากการทดสอบเมื่อเวลาประมาณ 22.30 น.พบว่าแม้ระบบตอบรับอัตโนมัติจะแจ้งเลขหมายโทรศัพท์ และโปรโมชัน พร้อมแจ้งว่าให้รอรับเอสเอ็มเอสยืนยันการลงทะเบียน แต่ก็ไม่มีเอสเอ็มเอสจากทางเครือข่ายยืนยันการลงทะเบียน แม้เวลาผ่านไปกว่า 1 ชั่วโมงก็ตาม นอกจากนี้การโทร.ออกไปยังเลขหมายปลายทางไม่สามารถทำได้อีกด้วย โดยระบบจะแจ้งว่า เลขหมายอยู่ในระหว่างการดำเนินการเปิดให้บริการ จะสามารถโทรออกได้หลังจากได้รับเอสเอ็มเอสยืนยัน

ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.เปิดเผยผ่านทางทวิตเตอร์ @supinya ระบุว่า ตนไม่เห็นชอบกับแนวทางในประกาศ กสทช.ว่าด้วยเรื่องคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่สัมปทานสิ้นสุดลงคืนนี้ (15 ก.ย.) เนื่องจากมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.คุ้มครองสัญญาร่วมการงานระหว่างรัฐและเอกชนจนวันสิ้นสัมปทานเท่านั้น และไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่องค์กรกำกับดูแล จับเอาผู้บริโภคเป็นตัวประกัน ทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในภาวะไร้ทางเลือก ซึ่งที่ผ่านมามีหลายฝ่ายรวมทั้ง กสทช.สายผู้บริโภค ได้เสนอทางออกอื่นที่เป็นไปได้โดยที่ซิมการ์ดไม่ดับตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ถูกเพิกเฉย

“การแก้ปัญหาเพื่อป้องกันซิมดับ ให้ทางเลือกกับผู้บริโภค สามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เพิ่งมีการให้ข้อมูลผู้บริโภคในระยะจวนตัว การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดคืองานที่เป็นพันธกิจหลักและเร่งด่วนของ กสทช.ตามเจตนารมณ์กฏหมายและรัฐธรรมนูญ ในทรรศนะของข้าพเจ้า เวลากว่า 2 ปี เพียงพอต่อการเตรียมการเพื่อแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับกฎหมายโดยไม่ปล่อยให้ผู้บริโภคต้องตกเป็นตัวประกัน” นางสาวสุภิญญา กล่าว

กรรมการ กสทช.กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปีที่แล้ว นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงษา กรรมการ กสทช.และตนได้จัดประชุม NBTC Public Forum ระดมความเห็นเสนอทางออกให้กับองค์กรในเรื่องนี้แล้ว ปีนี้ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคยังได้จัดประชุมเพิ่มเติมกับนักกฎหมายและองค์กรผู้บริโภคเพื่อหาทางออกที่ไม่ขัดกฎหมายอีก แต่กลับโดนโจมตีจากคนในองค์กร ซึ่ง กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ได้อภิปรายในที่ประชุมอย่างเต็มที่เพื่อให้พิจารณาทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ แต่ไม่เป็นผล เราจึงต้องลงมติไม่เห็นชอบ

ทั้งนี้ การจัดเวทีรับฟัง การอภิปราย การลงมติไม่เห็นชอบ การสงวนความเห็น คือหน้าที่ของเราตามที่กฎหมายให้มา แต่เรากลับโดนโจมตีหนักว่าไม่เคารพมติองค์กร ล่าสุด กรรมาธิการวุฒิสภาจะเรียกเราไปชี้แจงเรื่องจริยธรม เพียงเพราะเราทำหน้าที่ในฐานะกรรมการองค์กรอิสระ ที่ต้องมีความคิดเห็นเป็นอิสระและเปิดเผย ไม่เพียงเท่านั้น นักวิชาการที่คิดเห็นสอดคล้องกับเราและสื่อมวลชนสาธารณะที่นำเสนอเรื่องนี้ ถูกฟ้องคดีอาญาและถูกขู่ว่าจะฟ้องทั่วราชอาณาจักร

“ก่อนสัมปทานสิ้นสุด เอกชนรายหนึ่งย้ายค่ายอัตโนมัติไปสู่บริษัทในเครือ ซึ่งผิด เราได้ยินแต่เสียง กทค.ด้านผู้บริโภคออกมาเตือนผู้บริโภค เรื่องคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จะไม่ซับซ้อนเลย ถ้าเราเดินตามกรอบที่กฏหมายวางไว้ตั้งแต่วันที่เราเริ่มทำงาน ถ้าเราพยายามเต็มที่แล้วเกิดเหตุสุดวิสัย สังคมจะให้อภัย มากกว่าเราไม่ยอมรับว่าเป็นความบกพร่องของเรา แล้วโทษคนอื่น จับผู้บริโภคเป็นตัวประกัน เหตุผลทั้งหมดได้ส่งให้ท่านประธานเพื่อบันทึกและเปิดเผยในรายงานการประชุมแล้ว” นางสาวสุภิญญา กล่าว

นางสาวสุภิญญา กล่าวอีกว่า กรณีนี้ตนได้ทำหน้าที่ในฐานะกรรมการองค์กรอิสระ ที่รับฟังความเห็นสาธารณะ อภิปราย ใช้ดุลยพินิจและเปิดเผยความเห็นต่อสังคมแล้ว แม้ว่าเป็นการทำหน้าที่ตามที่กฏหมายให้มา ในฐานะกรรมการที่เป็นอิสระ กระนั้นก็ยังถูกโจมตีและดิสเครดิตอย่างหนักจากคนในองค์กร เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.กสทช.บอกว่า กรรมการองค์กรอิสระ ต้องทำหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจอย่างเป็นอิสระ และต้องเปิดเผยความเห็นตนต่อสาธารณะ ตนได้เปิดเผยความคิดตลอดมา ทั้งในห้องประชุมและพื้นที่สาธารณะ เพราะเป็นหน้าที่ตามกฏหมายและหลักธรรมาภิบาลเรื่องโปร่งใส ตรวจสอบได้

“จึงขอประกาศความคิดเห็นและจุดยืนอีกครั้งในวินาทีที่สัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ได้สิ้นสุดลงไปแล้วตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย จากนี้อำนาจการกำกับดูแลกิจการหลังสัมปทานสิ้นสุด เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของบอร์ด กทค.เต็มๆ จากตัวประกาศดังกล่าว ขอให้ กทค.โชคดีในการกำกับดูแลหลังยุคสัมปทานสิ้นสุด และรอรับมือกับกระแสตีกลับมาแรงเรื่องการไปฟ้องคดีอาญาสื่อและนักวิชาการ จากวันนี้ไป ท่านใดมีปัญหาเรื่องกรณีคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ยุคหลังสัมปทานสิ้นสุด โปรดถามและร้องเรียนไปได้โดยตรงที่บอร์ด กทค.” นางสาวสุภิญญา กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. และกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค.ระบุว่า ในวันนี้ (16 ก.ย.) จะเป็นวันแรกที่ กสทช.ใช้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการชั่วคราว กรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ตามประกาศเยียวยาเพื่อป้องกันปัญหาซิมดับ เพื่อให้ผู้บริโภคทั้ง 17 ล้านราย ได้ตัดสินใจว่า ในช่วง 1 ปี ต่อจากนี้จะโอนย้ายค่ายผู้ให้บริการไปยังค่ายมือถือใด เนื่องจากทรูมูฟ และดีพีซี ได้สิ้นสุดสัมปทานแล้ว ยกเว้นทรูมูฟเอช โดยหากช่วงเวลาดังกล่าวค่ายมือถือเดิม ได้โอนย้ายผู้บริการไปยังค่ายของตนเองโดยอัตโนมัติ หรือทำให้ผู้บริโภคเสียสิทธิ์ในเรื่องโปรโมชั่น หรือราคา ที่ต้องมีการจ่ายแพงขึ้นถือว่า มีความผิด ซึ่งสามารถร้องเรียนมาได้ที่คอลล์เซ็นเตอร์ ของ กสทช.หมายเลข 1200 ซึ่งหากภายใน 1 ปี ผู้ใช้บริการไม่ได้มีโอนย้ายผู้ให้บริการ จะทำให้ไม่สามารถใช้บริการหมายเลขดังกล่าวได้ หลังวันที่ 16 ก.ย. 2557
ทรูมูฟแจ้งข้อกำหนดตามสัญญาให้ดำเนินการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านเว็บไซต์
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. (ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น