กองทัพอากาศนำอากาศยานกว่า 80 เครื่อง ร่วมแสดงการบินในโอกาสครบรอบ 100 ปี การบินบุพการีทหารอากาศ ในขณะที่อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์ ส่งอากาศยานร่วมแสดงการบินผาดแผลงเป็นครั้งแรกร่วมกับกองทัพอากาศไทยสุดยิ่งใหญ่อลังการ
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555 ผู้สื่อข่าวได้รายงาน หมู่บินผาดแผลงจูปีเตอร์ของกองทัพอากาศอินโดนีเซีย เดินทางมาแสดงการบินในประเทศไทยเป็นครั้งแรก บริเวณลานจอดอาคารคลังสินค้า 3 ท่าอากาศยานดอนเมือง ในโอกาสครบรอบ 100 ปีบุพการีทหารอากาศ ร่วมด้วยการบินผาดแผลงเดี่ยวของเครื่องบินเอฟ 16ซี สิงคโปร์ และการบินผาดแผลงหมู่บิน บลูฟินิกซ์ของไทย เพื่อแสดงขีดความสามารถ และความสัมพันธ์ที่ดี
ในปีนี้กองทัพอากาศ จัดกิจกรรมในวันครบรอบ 100 ปีการบินบุพการีทหารอากาศ โดยจัดแสดงการบินของอากาศยานแบบต่างๆ หมุนเวียนไปยังกองบินทั่วประเทศ และปิดการแสดงการบินที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ระหว่าง 29-30 มิถุนายน พร้อมทั้งการจัดนิทรรศการ และการตั้งแสดงอากาศยานกว่า 80 เครื่อง
ประวัติกิจการบินของไทย เริ่มต้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีชาวต่างประเทศ นำเครื่องบินมาแสดงให้ชาวไทย ได้ชมเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2454 ทำให้ผู้บังคับบัญชา ระดับสูงของกองทัพในสมัยนั้นพิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเครื่องบินไว้ เพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ในอนาคต ด้วยเหตุนี้กระทรวงกลาโหมจึงได้ตั้ง "แผนกการบิน" ขึ้นในกองทัพบก พร้อมทั้งได้คัดเลือกนายทหารบก 3 นายซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมไปศึกษาวิชาการที่ประเทศฝรั่งเศส คือ นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ นายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกร และนายร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต
โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2455 นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ได้ทำการฝึกบินตามหลักสูตรของสโมสรการบินพลเรือนฝรั่งเศสด้วยเครื่องบินเบรเกต์ ชนิดปีก2 ชั้น ณ โรงเรียนการบินเมืองวิลลา คูเบลย์ และนายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกร ได้เริ่มทำการบินกับเครื่องบินนิเออปอรต์ ปีกชั้นเดียว ที่โรงเรียนการบินมูร์เมอลอง เลอกรองด์ ส่วนนายร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต ได้เริ่มฝึกบินด้วยเครื่องบินนิเออปอรต์ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2455 ในขณะที่นายทหารทั้ง2 นายกำลังศึกษาวิชาการบินอยู่นั้นทางราชการ ได้สั่งซื้อเครื่องบิน รวมทั้ง มีผู้บริจาคเงินร่วมสมทบซื้อด้วยเป็นครั้งแรก จำนวน 8 เครื่อง คือเครื่องบินเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 4 เครื่อง และ เครื่องบินนิเออปอรต์ปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง
ภายหลังสำเร็จการศึกษาบุคคลทั้งสามท่านได้กลับมาก่อตั้งกิจการด้านการบินของสยาม จนพัฒนาก้าวหน้ามาเป็น กิจการการบินทั้งทหาร และพาณิชย์ของประเทศไทย โดย ได้รับพระราชทานยศ และบรรดาศักดิ์ ตามลำดับ คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต และกองทัพอากาศได้ยกย่องให้เป็น "บุพการีของกองทัพอากาศ" ประจักษ์มาร่วม 100 ปี กล่าวได้ว่ากำลังทางอากาศของไทย เริ่มต้นจากนักบินเพียง 3 คน และเครื่องบินอีก 8 เครื่องเท่านั้น