xs
xsm
sm
md
lg

พลิกประวัติศาสตร์น้ำท่วม 2485 : 20 กว่าจังหวัดอ่วมอรทัย (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำท่วมบริเวณหน้าอาคารกรมโฆษณาการ (หรือปัจจุบันกรมประชาสัมพันธ์) แห่งเดิม ณ หัวมุมถนนราชดำเนิน เดือนตุลาคม 2485 (แฟ้มภาพ)
หตุการณ์มหาอุทกภัย ณ พุทธศักราช 2554 ที่ประชาชนชาวไทยกำลังประสบกันอยู่ ณ ปัจจุบัน ว่ากันว่าเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบเกือบ 70 ปี นับตั้งแต่เหตุอุทกภัยใหญ่ในปี พ.ศ.2485 ถึงปัจจุบันอย่าว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราจะจดจำเรื่องราวดังกล่าวมิได้ อาจเพราะเกิดไม่ทันหรือยังอยู่ในวัยเยาว์ แม้กระทั่งคนรุ่นปู่ย่าตายายที่ประสบเหตุการณ์ในตอนนั้น เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงลืมเลือนเหตุการณ์ไปหมดแล้ว

ด้วยเหตุนี้ทีมข่าว ASTVผู้จัดการออนไลน์ จึงขออาสาขุดค้นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุอุทกภัยใหญ่ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเมื่อ 69 ปีที่แล้วมาให้พวกเราคนรุ่นหลังได้รับทราบ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และที่สำคัญคือ เตือนใจพวกเราว่าแผ่นดินที่พวกเราได้อยู่ได้อาศัยแห่งนี้เคยมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ตอนที่ 2

หลังจากที่ข้อเขียนเรื่อง ”ฉันเห็นอุทกภัยสองครั้ง” ของ “สามัคคีชัย” หรือ อีกนัยหนึ่งคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เผยแพร่สู่สาธารณะโดยถูกนำมาอ่านออกกระจายเสียงทางกรมโฆษณาการ เมื่อ วันที่ 27 กันยายน 2485 และถูกตีพิมพ์ในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ใน วันอังคารที่ 29 กันยายน 2485 ในวันเดียวกันในหน้าที่ 3 ของหนังสือพิมพ์นิกรก็มีการลงประกาศของบริษัท ข้าวไทย จำกัด ระบุข้อความว่า “อย่าตกใจ! ข้าวของบริสัทข้าวไทย จำกัด ไม่ขึ้นราคา ติดต่อได้ที่ แผนกขายข้าวภายในประเทศ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ธนบุรี”



จากนั้นในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์นิกรวันถัดมา คือ วันพุธที่ 30 กันยายน 2485 ก็ตีพิมพ์ข่าวย้ำอีกว่าภายในภาวะภัยพิบัติ บริษัทข้าวไทยยืนยันว่าจะไม่ขึ้นราคา และเตรียมตัวช่วยผู้ประสบอุทกภัยเต็มที่ (รายละเอียดดังภาพประกอบที่ 1)

“ด้วยมีหนังสือพิมพ์บางฉบับลงข่าวว่า ประชาชนส่วนมากเตรียมการสะสม เสบียงอาหารเกี่ยวกับอุทกภัย และอาจมีผู้ซื้อข้าวไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นได้ นอกจากหนังสือพิมพ์แล้ว ยังมีเสียงลือกันต่างๆ บริษัทข้าวไทยขอชี้แจงว่า บริษัทได้เตรียมตัวไว้พร้อม ที่จะสนองความต้องการของพี่น้องชาวไทยเพื่อช่วยเหลือจากอุทกภัยอย่างเต็มที่ และยังมิได้ขึ้นราคาข้าวเลย ฉะนั้นพี่น้องชาวไทยผู้ใดต้องการซื้อข้าวไว้รับประทาน ขอให้ไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท หรือสำนักงานกลาง และสาขาจำหน่ายข้าวทุกแห่งได้โดยปรกติและซื้อได้โดยไม่จำกัดจำนวน” รายงานของหนังสือพิมพ์นิกรระบุ

สำหรับสาขาจำหน่ายข้าวของบริษัทข้าวไทย จำกัด ในเขตกรุงเทพมหานคร ในเวลานั้นได้แก่ ร้านกมลพานิช เสาชิงช้า, ร้านไทยจำลองลักสน์ สี่พระยา, ร้านไทยบำรุง ยานนาวา, ร้านธัญญมิตต์ สะพานเหลือง, ร้านสีลมอาภรน์ บางรัก และร้านสำเนียง ตลาดลาดหญ้า ธนบุรี

ในวันเดียวกันบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์นิกรยังได้กล่าวสนับสนุน และชื่นชมถึงข้อเขียนของ “สามัคคีชัย” ในวันที่ 29 กันยายน 2495 ว่า เป็นคำแนะนำที่แสดงให้เห็นถึงความรักใคร่แก่เพื่อนร่วมชาติเป็นอย่างยิ่ง

“… ’สามัคคีชัย’ ยังได้แสดงความคิดเห็นในการป้องกันอุทกภัยคราวหน้าว่า อยากเสนอให้ทางรัฐบาลออกกฎหมายบังคับให้ราษฎรขุดดินทำที่ปลูกบ้านให้สูงพ้นน้ำท่วมในกาลข้างหน้า ความคิดเห็นนี้ เราขอสนับสนุนอย่างเต็มที่และเราเชื่อว่าทางรัฐบาลคงจะได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาต่อไป” บทบรรณาธิการ นสพ.นิกรระบุ ซึ่งในเวลานั้น นสพ.นิกร (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสยามนิกร) มีเจ้าของคือ บริษัทไทยพนิชยการ และมีนายพรต พุทธินันทน์ ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

น้ำท่วม 2485 มากกว่า 20 จว.อ่วม

ต่อมาใน วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2485 ข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็มีความเคลื่อนไหวมากขึ้น ทั้งในประเด็นการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย, การป้องกันโรคที่มากับน้ำ, การจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยการจัดหาเชื้อเพลิงมาสนับสนุนเครื่องยนต์ฉุดระหัดวิดน้ำมาถ่ายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วม, การตรวจราชการของรัฐมนตรีในพื้นที่น้ำท่วมเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน เป็นต้น

สำหรับข่าวพาดหัวรองของหนังสือพิมพ์นิกร ในวันที่ 1 ตุลาคม 2485 คือข่าวที่รัฐบาลสั่งให้ กรมการจังหวัดดำเนินการป้องกันโรคด่วนโดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกเยี่ยมเยียนช่วยเหลือประชาชนโดยทั่วถึงทุกแห่ง ซึ่งครอบคลุมจังหวัดต่างๆ ทั้งในภาคเหนือและภาคกลางกว่า 22 จังหวัด (รายละเอียดดังภาพประกอบที่ 2)

“วันที่ 29 กันยายนนี้ อธิบดีกรมสาธารณสุข ได้มีหนังสือด่วนถึงคณะกรรมการจังหวัดนครสวรรค์ นครปฐม พิษณุโลก ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี พิจิตร นนทบุรี อ่างทอง ปทุมธานี สิงห์บุรี สระบุรี ลพบุรี ราชบุรี สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร ลำปาง เชียงราย แพร่ เชียงใหม่ และอุตรดิตถ์ เรื่องแนะนำในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บดังความต่อไปนี้

“ตามที่กรมสาธารณสุขได้มีหนังสือและโทรเลขแจ้งมาให้คณะกรมการจังหวัดต่างๆ สั่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จัดการป้องกันโรคล่วงหน้าไว้คราวหนึ่งแล้วนั้น บัดนี้ปรากฏว่าน้ำเหนือไหลบ่าลงมาท่วมท้องที่อีกหลายแห่ง กะทำให้เกิดความลำบากแก่ประชาชนอันมาก สมควรและจำเป็นต้องรีบจัดการป้องกัน โรคภัยไข้เจ็บ อันอาจจะเกิดขึ้นได้ให้รัดกุม มีผลดียิ่งขึ้นอีก

“เพราะฉะนั้น ให้ท่านสั่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดนี้ให้ออกไปทำการเยี่ยมเยียนช่วยเหลือบำบัดและป้องกันโรคให้แก่ประชาชนโดยทั่วถึงกันทุกแห่ง อนึ่ง ปรากฏว่าในระหว่างนี้มีประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชอบลงไปเล่นน้ำถือเป็นของสนุก โดยมิได้ระมัดระวังตัว ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้เกิดการเจ็บไข้และถูกสัตว์ร้าย ที่มีพิษขบกัดเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายขึ้นได้ ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เอาใจใส่ แนะนำให้ประชาชนทั้งหลายพึงระมัดระวังตัวโดยกวดขัน อย่าบังควรลงไปเล่นน้ำโดยไม่จำเป็น สำหรับน้ำที่จะใช้สอยและบริโภคก็ขอได้แนะนำให้จัดการต้ม เพื่อทำลายเชื้อโรคเสียก่อนและข้อสำคัญต้องระวังอย่าให้น้ำโสโครกเข้าปากได้เป็นอันขาด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยแก่ประชาชน ตลอดจนครอบครัวด้วยกันทั้งหมด”


ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขในเวลานั้นก็ได้ลงประกาศ ขอรับบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องนุ่งห่ม และเงิน จากประชาชนทั่วไป ให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยด้วยเช่นกัน (รายละเอียดดังภาพประกอบที่ 3)

“ด้วยปรากฏว่าขณะนี้ได้เกิดอุทกภัยขึ้นในจังหวัด บางจังหวัดก่อให้เกิดความเสียหายแก่พี่น้องชาวไทยในจังหวัดเหล่านั้นเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า บรรดาพี่น้องของเราเหล่านี้จะได้ประสบกับความขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคที่จะบำรุงชีวิต เพราะอุทกภัยคราวนี้กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาแลเห็นว่าการที่จะจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ไปช่วยเหลือผู้ได้รับความทุกข์ยากได้โดยวิธีจัดส่งเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ไปช่วยเหลือผู้ได้รับความทุกข์ยากได้โดยวิธีจัดส่งเครื่องอุปโภคบริโภคบางอย่างที่จำเป็นบางประการไปช่วยบ้างตามสมควร แต่การที่จะจัดซื้อแต่ทางเดียวนั้นก็จะไม่เพียงพอ ฉะนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงขอถือโอกาสขอรับความร่วมมือร่วมใจจากท่านที่นับถือ ช่วยกันบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค ได้แก่ข้าว อาหารอย่างอื่น เครื่องนุ่งห่ม ตามแต่จะมีจิตศรัทธาหรือถ้าไม่เป็นการสะดวก ท่านจะบริจาคเงินเพื่อให้ทางการจัดซื้อให้ก็ย่อมจะทำได้

“สำหรับการมอบสิ่งของ ขอท่านโปรดส่งที่กรมประชาสงเคราะห์วังปารุสก์ ถนนราชดำเนินนอก (ปัจจุบันคือ ที่ตั้งของกองบัญชาการตำรวจนครบาล - ทีมข่าว) หรือถ้าไม่เป็นการสะดวก โปรดติดต่อยัง โทร.22436 เพื่อกรมประชาสงเคราะห์ จะได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปรับเป็นคราวๆ ไป ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขหวังว่าท่านผู้มีจิตศรัทธา คงจะให้ความร่วมมือ ร่วมใจ ช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยคราวนี้เป็นแน่”


นอกจากนี้ยังมีข่าวระบุว่า ในเวลานั้น กรมประชาสงเคราะห์ได้ส่งบุคลากร สิ่งของ เวชภัณฑ์ และเงินช่วยเหลือมูลค่าสองพันบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดนครสวรรค์เป็นพิเศษ แสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว ชาวจังหวัดนครสวรรค์น่าจะประสบกับภัยที่หนักหนาสาหัส เช่นเดียวกับเหตุอุทกภัยใน พ.ศ. นี้

“เนื่องในคราวอุทกภัยซึ่งเกิดขึ้นในท้องที่บางจังหวัดคราวนี้ กรมประชาสงเคราะห์ได้ส่งทุนช่วยเหลือผู้ต้องภัยจำนวน 2,000 บาท ไปให้คณะกรมการจังหวัดนครสวรรค์เพื่อใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเป็นการด่วน ในโอกาสเดียวกันนี้ กระทรวงการสาธารณสุขได้จัดส่งหน่วยสงเคราะห์ผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ 2 ราย ผู้ช่วยแพทย์กระทรวงสาธารณสุข 1 นาย ออกเดินทางจากจังหวัดพระนครในวันที่ 28 กันยายน พร้อมกับนำเครื่องอุปโภคบริโภค และเวชภัณฑ์ไปสมทบกับผู้ช่วยแพทย์ 2 นายซึ่งได้ส่งล่วงหน้าไปแล้วแต่วันที่ 23 เพื่อไปการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบอุทกภัยต่อไป”

5 มาตรการสนองปัจจัยสี่

ในปี พ.ศ.2485รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทย ได้ออกมาตรการเร่งด่วน 5 ข้อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมาตรการดังกล่าวครอบคลุม “ปัจจัย 4” อันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ค่อนข้างครบถ้วน คือ ที่อยู่อาศัย, อาหาร, เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม, การแพทย์-รักษาโรค และการเงิน

“เมื่อวันที่ 29 เดือนนี้ กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือด่วนมากถึงคณะกรรมการจังหวัดที่น้ำท่วมทุกจังหวัด ความว่า ในการปฏิบัติช่วยเหลือราษฎรที่ถูกน้ำท่วมนั้น ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ที่อยู่อาศัย ให้จัดหาที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์ พาหนะให้พ้นภัย และความยากลำบาก ถ้าไม่มีสถานที่ หรือ โรงเรือนจะอาศัยได้ ก็ให้ซื้อไม้ไผ่ปลูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว ทั้งคนและสัตว์
2.อาหาร ถ้าปรากฏว่าผู้ต้องประสบภัยขาดแคลน อดอยากให้จัดหาเสบียงอาหารในท้องที่มาเลี้ยงดู ถ้าข้าวในท้องที่ไม่มีก็ให้สั่งซื้อตรงจากบริษัทข้าวไทยไปแจกจ่าย
3.เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ให้จัดหาให้โดยขอความช่วยเหลือบอกบุญในท้องที่ใกล้เคียง ถ้าหาไม่ได้ก็ให้ซื้อแจกจ่าย
4.การป่วยไข้ ให้จัดแพทย์ออกตรวจ ชี้แจง แนะนำ เพื่อป้องกันไว้ก่อน เมื่อปรากฏว่ามีการป่วยไข้ขึ้นก็ให้รีบจัดการ รักษา จ่ายยาให้ อนึ่ง การเล่นน้ำและอาบน้ำในขณะนี้ อาจเป็นทางที่จะทำให้เกิดโรคขึ้นได้ ฉะนั้นให้ตักเตือนและห้ามปรามราษฎรโดยกวดขัน
5.การเงิน ให้จ่ายเงินการสำคัญไปก่อน แล้วขอเบิกไปยังกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ ให้รีบตรวจตราปฏิบัติการโดยทั่วถึง และเมื่อจังหวัดใดมีการขัดข้องอย่างใดให้รายงานแจ้งกระทรวงมหาดไทยโดยด่วน”


หมายเหตุ : ทีมข่าวได้ถอดความข้อเขียนข้างต้นโดยปรับภาษาไทยที่ใช้ในอดีต ให้ถูกต้องตามหลักการสะกดของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ฉบับ พ.ศ.2542
ภาพประกอบที่ 1: หน้าปกหนังสือพิมพ์นิกรรายวัน ฉบับวันที่ 30 กันยายน 2485 ลงข่าวโต้ข่าวลือในสมัยนั้นว่าราคาข้าวจะไม่ขึ้นแม้จะเกิดเหตุอุทกภัยใหญ่ก็ตาม
ภาพประกอบที่ 2 : หน้า 1 หนังสือพิมพ์นิกรรายวัน ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม 2485 วันแรกๆ ที่หนังสือพิมพ์ในยุคนั้นเริ่มลงข่าวเกี่ยวกับเหตุอุทกภัยใหญ่หลายชิ้น
ข่าวการขอรับบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องนุ่งห่ม และเงิน จากประชาชนทั่วไป ให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย โดยกระทรวงสาธารณสุข หนังสือพิมพ์นิกร ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม 2485 หน้าที่ 3
กำลังโหลดความคิดเห็น