xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-29 ต.ค.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “กทม.” อ่วม น้ำเหนือเข้ากรุง บวกน้ำทะเลหนุน - “ในหลวง” ห่วงประชาชน รับสั่ง ไม่ต้องดูแลพิเศษเขตพระราชฐาน ด้าน รบ.ให้หยุดราชการ 27-31 ต.ค.!
สภาพน้ำท่วมบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ช่วงซอย 71/1-ซอย 84
สถานการณ์น้ำท่วมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่คนกรุงลุ้นกันมาหลายวันว่า กทม.จะจมหรือไม่จม ในที่สุด ก็ปรากฎให้เห็นแล้วว่า หลายเขตหลายพื้นที่ต่างประสบปัญหาน้ำท่วม บางพื้นที่ถึงขั้นต้องอพยพออกไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เช่น ย่านบางพลัด ,ทวีวัฒนา ,สายไหม ฯลฯ ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่น้ำจะท่วม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ต่างประสานเสียงกันว่า จะพยายามรักษา กทม.ไว้ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ชั้นใน ขณะที่นายเจริญ ภัสระ ผู้ว่าการการประปานครหลวง แนะให้ประชาชนสำรองน้ำไว้ให้มากที่สุด แม้การประปาจะยังสามารถผลิตน้ำประปาได้ แต่เพื่อเป็นการไม่ประมาท เพราะวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงมาก

ด้านรัฐบาลได้ตัดสินใจประกาศให้วันที่ 27-31 ต.ค.เป็นวันหยุดราชการใน 21 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมรับสถานการณ์กรณีที่น้ำทะเลจะหนุนสูงในช่วง 28-31 ต.ค. และเพื่อให้ประชาชนได้เดินทางออกต่างจังหวัดหรือกลับภูมิลำเนา ประกอบด้วย จ.สุโขทัย ,พิจิตร ,พิษณุโลก ,นครสวรรค์ ,อุทัยธานี ,ชัยนาท , สิงห์บุรี ,อ่างทอง ,พระนครศรีอยุธยา ,ปทุมธานี ,นนทบุรี ,สระบุรี ,ลพบุรี ,นครนายก ,ปราจีนบุรี ,ฉะเชิงเทรา ,สุพรรณบุรี ,นครปฐม ,กำแพงเพชร ,ตาก และ กทม. ส่วนเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ต้องดูแลประชาชน หรือดูแลการระบายน้ำขอให้ทำงานต่อไป เช่นเดียวกับข้าราชการระดับ 9 ขึ้นไป สำหรับธนาคารและบริษัทเอกชนให้พิจารณาตามความเหมาะสม ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการให้เอกชนที่ผลิตน้ำหรืออาหารทำงานต่อไป เพราะเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูง ให้หยุดไม่ได้ ส่วนน้ำประปาและไฟฟ้าก็ต้องอยู่ทำงานเช่นกัน

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเมื่อคืนวันที่ 25 ต.ค.ว่า มวลน้ำจากทางเหนือได้ไหลลงสู่ภาคกลางแล้ว และมวลน้ำก้อนใหญ่จากภาคกลางจะไหลผ่าน กทม.เพื่อลงสู่ทะเล จึงมีโอกาสสูงอย่างยิ่งที่น้ำอาจจะทะลักเข้าพื้นที่ กทม.ทั้งชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก โดยพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่สุด คือแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ตามแนวกั้นน้ำต่างๆ รวมถึงพื้นที่นอกแนวกั้นน้ำ ส่วนระดับน้ำที่ท่วมจะสูงแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความสูงของพื้นที่และความสามารถในการบริหารจัดการปัญหา “สำหรับแนวทางป้องกันไม่ให้น้ำท่วม กทม. ทุกฝ่ายจะร่วมกันป้องกัน… นอกจากนั้นรัฐบาลและ กทม.จะดูแลแนวพนังกั้นน้ำให้แข็งแรงทนทาน รับแรงอันมหาศาลของน้ำได้ อย่างไรก็ตามน้ำมีเกินกว่าศักยภาพของระบบที่จะรองรับได้ ดังนั้นอาจมีผลกระทบพื้นที่ธนบุรีและจังหวัดปริมณฑล ซึ่งระดับน้ำเฉลี่ยจะสูง 0.5 เมตร” ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกด้วยว่า หากรัฐบาลไม่สามารถป้องกันน้ำได้ กรณีที่เลวร้ายที่สุด เช่น แนวเขื่อนพัง หรือแนวพนังกั้นน้ำพัง หรือน้ำสูงกว่าที่คาดไว้ ระดับน้ำที่ท่วมอาจสูงตั้งแต่ 10 ซม.-1.5 เมตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประเมินด้วยว่า หากน้ำท่วม กทม.ไม่น่าจะท่วมนานเหมือนต่างจังหวัด โดยน่าจะท่วมนานประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน

สำหรับพื้นที่ใน กทม.ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน ได้แก่ ย่านบางพลัด ซึ่งท่วมหนัก น้ำสูง 1.50 เมตร ,เขตตลิ่งชันย่านสวนผัก ล่าสุดวันนี้(29 ต.ค.)น้ำสูงถึงคอ ,ย่านอรุณอมรินทร์น้ำสูงเกือบเมตร ,ท่าพระจันทร์ ,ท่าพระอาทิตย์ ,ท่าช้าง ,วัดพระแก้ว ,ถนนรอบสนามหลวง ,เขตสายไหม ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่ดอนเมือง ส่งผลให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ต้องย้ายสถานที่ทำงานจากสนามบินดอนเมือง ไปอยู่ที่กระทรวงพลังงาน ซึ่งอยู่ด้านหลังอาคารบริษัท ปตท .จำกัด(มหาชน) ถนนวิภาวดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าที่ ศปภ.จะตกลงย้ายไปอยู่กระทรวงพลังงาน ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้เสนอให้ ศปภ.ย้ายไปอยู่ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ตกลง โดยอ้างว่า ที่วิภาวดีก็คงไม่พ้นน้ำท่วมอยู่ดี

ส่วนที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น ช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นคันกั้นเข้าท่วมโรงพยาบาลเช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้เร่งสูบน้ำออก กระทั่งสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงประชาชน และมิได้ทรงต้องการให้เจ้าหน้าที่ดูแลเขตพระราชฐานเป็นพิเศษแต่อย่างใด ทรงต้องการให้ปล่อยไปตามธรรมชาติ “ในหลวงท่านทรงเป็นห่วงประชาชน อยากให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่อยากให้มีอะไรเป็นพิเศษ แต่ในฐานะที่กองทัพบกเป็นผู้รับผิดชอบ ก็จะทำเฉพาะที่ประสานได้ และต้องตอบคำถามของรัฐบาลด้วย”

หลังพื้นที่ กทม.จมน้ำหลายจุด แต่การระบายน้ำออกจาก กทม.เพื่อไปลงทะเลกลับทำได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก หลายฝ่ายจึงเสนอให้รัฐบาลตัดถนนเพื่อระบายน้ำ โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและทรัพยากรน้ำชาวไทย นำโดยนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานบริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อเสนอให้ตัดถนน 6 สายที่ขวางทางน้ำอยู่ เพื่อระบายน้ำออกฝั่งตะวันออก ได้แก่ ถนนนิมิตใหม่ ถนนประชาร่วมใจ ถนนราษฎร์อุทิศ ถนนสุวินทวงศ์ ถนนร่วมพัฒนา และถนนเชื่อมสัมพันธ์ โดยทางกลุ่มจะรวบรวมผู้รับเหมาก่อสร้างภาคเอกชนมาช่วยขุดถนน ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า พร้อมรับฟังข้อเสนอของทุกฝ่าย แต่การตัดสินใจเร็วไปอาจมีความเสี่ยง

นอกจากนี้ยังมีเสียงค้านจาก ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเชื่อว่าการขุดเจาะถนนดังกล่าวไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องและจะไม่สามารถระบายน้ำได้จริง เพราะปริมาณน้ำที่ไหลเข้าท่วมมาจากคลองเปรมประชากรและคลองรังสิตอย่างเดียว ไม่ได้มาจากที่อื่น “ผมได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาให้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการขณะนี้ คือ การรื้อคันดินที่กั้นน้ำตรงคลอง 9-13 เพื่อให้น้ำไหลเร็วขึ้น และติดตั้งเครื่องสูบน้ำประมาณ 10 เครื่องบริเวณคลองรังสิต และคลองหกวาสายล่าง แล้วสูบน้ำปล่อยลงไปที่คลอง 13 ซึ่งจะช่วยทำให้น้ำไหลระบายลงสู่อ่าวไทยได้เร็วขึ้น”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เหตุที่แผนการผลักดันน้ำทางฝั่งตะวันออกลงสู่ทะเล ไม่ประสบความสำเร็จ เกิดจากปัญหาทางการเมือง โดยมีความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทย ที่นักการเมืองในพรรคไม่ยอมให้ผันน้ำไปทางฝั่งตะวันออก เพราะจะทำให้น้ำท่วมจังหวัดภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ฉะเชิงเทรา ที่เป็นพื้นที่ฐานเสียง ซึ่งในพรรคเพื่อไทยได้พยายามเคลียร์ปัญหาดังกล่าวมานาน 2 สัปดาห์แล้ว แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ สุดท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องลงมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์แบล๊กฮอว์กตรวจสถานการณ์น้ำทุกจุด ก่อนแสดงสีหน้าหนักใจต่อมวลน้ำใน กทม.และปริมณฑลที่มีปริมาณมหาศาล จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางต่อด้วยรถยนต์ไปยังชุมชนคลองเก้าพัฒนา อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อขอให้ชาวบ้านยอมให้ขุดถนนเลียบคลองรังสิต-นครนายก บริเวณคลอง 9 เพื่อระบายน้ำจากคลองรังสิตให้ไหลไปยังคลองหกวา ซึ่งตอนแรกชาวบ้านไม่ยอม แต่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับปากว่าจะเร่งเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผบกระทบจากเส้นทางไหลผ่านของน้ำ ชาวบ้านจึงยอมให้ขุด

สำหรับ กทม.นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า จุดเปราะบางของ กทม. น่าจะเป็นถนนพหลโยธินและคลองหกวาที่เริ่มชำรุดต้องซ่อมแซม รวมถึงเขตสายไหมที่มีน้ำรั่วซึม ส่วนฝั่งธนบุรีและ กทม.ชั้นใน น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ถาม กทม.เพราะรัฐบาลไม่รู้จุดระบายน้ำ ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องมีการยืดวันหยุดราชการกรณีพิเศษออกไปจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า “คงต้องดูอีกครั้ง แต่การประกาศวันหยุดมีผลดี ทำให้ประชาชนไปต่างจังหวัด และแม้จะปล่อยให้ภาคเอกชนมีดุลพินิจว่าจะหยุดตามหรือไม่ แต่อยากขอความร่วมมือให้ผู้ประสบภัยได้ลา”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาวะน้ำท่วมเริ่มส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาแล้ว โดยล่าสุด(29 ต.ค.) การประปานครหลวง ได้ประกาศปิด-เปิดน้ำประปาในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ-นนทบุรี และฝั่งธนบุรีวันละ 2 รอบ โดยจะจ่ายน้ำรอบแรกตั้งแต่เวลา 06.00น.-09.00น. รอบสอง 17.00 น.-20.00 น. หากใครต้องการน้ำเพิ่ม สามารถนำถังไปรับน้ำได้ที่การประปาใกล้เคียงกับจุดที่พักอาศัย

2. คนร้าย ก่อเหตุบึ้มยะลา 35 จุด ตรงวันครบรอบ 7 ปี “ตากใบ” ตาย-เจ็บครึ่งร้อย ด้านผู้การยะลา เชื่อ คนร้ายจ้องเผาเมือง แต่ไม่สำเร็จ!

1 ใน 35 จุดที่คนร้่ายก่อเหตุระเบิดที่ จ.ยะลา(25 ต.ค.)
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 7 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ปรากฏว่า คนร้ายได้ก่อเหตุระเบิดหลายสิบแห่งในเขตเทศบาลนครยะลา ตั้งแต่เวลา 18.40น.-23.35น. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เผยว่า เหตุระเบิดดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บ 54 ราย โดยผู้เสียชีวิต 2 รายแรก เชื่อว่าเป็นคนร้ายที่นำระเบิดเตรียมไปวาง ณ จุดใดจุดหนึ่ง แต่ขณะขี่รถจักรยานยนต์ถึงจุดเกิดเหตุในซอยศรีปุตรา ย่านตลาดเก่า ถนนเป็นลูกระนาด ทำให้ระเบิดกระแทกจนเกิดระเบิดขึ้น ส่งผลให้คนร้ายทั้ง 2 รายเสียชีวิต ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 3 ราย รายแรกเป็นเด็กอายุ 17 ปี ซึ่งกินข้าวต้มอยู่ แล้วเดินออกมาดูเหตุการณ์ ถูกระเบิดที่คนร้ายนำมาซุกรถจักรยานยนต์แล้วจอดไว้หน้าร้าน ส่วนอีก 2 รายเป็นผู้บาดเจ็บที่เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ด้าน พล.ต.ต.โชติ ชวาลวิวัฒน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ยะลา บอกว่า จากการตรวจสอบพบว่า มีเหตุระเบิดรวมทั้งสิ้น 35 จุด จุดที่สำคัญคือ ที่ซอยศรีปุตรา ย่านตลาดเก่า มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งหลักฐานในที่เกิดเหตุทำให้เชื่อได้ว่า ผู้เสียชีวิตทั้งสองเป็นคนร้ายที่นำระเบิดเพื่อไปก่อเหตุในพื้นที่ คือนายซาการียา ซานอยานยา และนายฮัมดี มอสู ชาว อ.ยะรัง จ.ปัตตานี โดยในที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบโทรศัพท์มือถือของคนร้ายตกอยู่ ขณะนี้ได้นำไปตรวจสอบว่าสื่อสารติดต่อกับผู้ใดบ้าง รวมทั้งตรวจสอบประวัติของคนร้ายด้วย

พล.ต.ต.โชติ เชื่อด้วยว่า คนร้ายมีแผนจะเผาเมือง “ปฏิบัติการของคนร้ายนั้น เชื่อว่ามีแผนต้องการระเบิดเสาไฟฟ้า เพื่อให้ไฟฟ้าในเขตเทศบาลนครยะลาดับ ซึ่งได้ดูแผนพฤติกรรมของคนร้ายในปี 2548 ที่ผ่านมา มีเหตุในลักษณะนี้ จึงเชื่อได้ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ คนร้ายต้องการดับกระแสไฟฟ้า แล้วชักชวนกลุ่มวัยรุ่นใช้น้ำมันทำเป็นระเบิดเพลิงขว้างปาสถานที่ร้านค้าต่างๆ เพื่อให้เกิดเพลิงไหม้ในเขตเมือง แต่ปฏิบัติการณ์ครั้งนี้ล้มเหลว ไม่สามารถดับไฟฟ้าได้ รวมทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่มีแผนเผชิญเหตุเอาไว้แล้ว ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้”

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเสริมความเข้มแข็งและแสดงศักยภาพของเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ยะลา จึงได้สั่งตั้งชุดปฏิบัติการไล่ล่าพิทักษ์เมืองขึ้นมา 1 ชุด มีกำลังเจ้าหน้าที่ 1 หมวด โดยจะใช้รถจักรยานยนต์ 10 คันออกลาดตระเวนดูแลเต็มพื้นที่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ ชุดปฏิบัติการจะสามารถยับยั้งการก่อเหตุของคนร้ายได้ทันที

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พูดถึงเหตุการณ์คนร้ายก่อเหตุระเบิด 35 จุดใน จ.ยะลาว่า การลอบวางระเบิดดังกล่าวเป็นการทำเชิงสัญลักษณ์ในวันครบรอบวันสำคัญ ซึ่งป้องกันได้ยาก เพราะเป็นพื้นที่ชุมชน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก ลงพื้นที่เพื่อกำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้มากขึ้น

3. ศาลอุดรธานี พิพากษาจำคุก 9 เสื้อแดงอุดรฯ 2-22 ปี คดีเผาศาลากลาง พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหาย 200 ล้าน ด้าน 13 เสื้อแดงมุกดาหาร ถูกศาลสั่งจำคุก 20 ปี!

ภาพเหตุการณ์สมาชิกเสื้อแดงเผาศาลากลาง จ.อุดรธานีเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ศาล จ.มุกดาหารได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองมุกดาหาร ยื่นฟ้องสมาชิกกลุ่มเสื้อแดง จ.มุกดาหาร ฐานความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ ร่วมกันทำลายทรัพย์สิน และวางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหารเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 โดยมีผู้ถูกส่งฟ้อง 29 คน

ทั้งนี้ ศาลได้พิพากษาให้จำคุกจำเลยในคดีนี้จำนวน 13 คน คนละ 20 ปี ในความผิดข้อหาตามฟ้อง ส่วนอีก 16 คนศาลยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าจำเลยได้ร่วมกระทำผิด สำหรับจำเลยที่ถูกพิพากษาจำคุก ประกอบด้วย 1.นายดวง คนยืน 2. นายทวีศักดิ์ แข็งแรง 3.นายณัฐวุฒิ พิกุลศรี 4. นายไมตรี พันธ์คูณ 5. นายนพชัย พิกุลศรี 6. นายพระนม กันนอก 7. นายวิชัย อุสุพันธ์ 8. นายสมัคร ลุนริลา 9. นายวินัย ปินศิลชัย 10. นายวิชิต อันตะ 11. นายประครอง ทองน้อยผล 12. นายแก่น หนองพุดสา 13. นายทินวัฒน์ เมืองโคตร

ขณะที่นายนิสิต สินธุไพร แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ซึ่งเดินทางมาให้กำลังใจสมาชิกเสื้อแดงทั้ง 29 คน บอกว่า จะยื่นขอประกันตัวทั้ง 13 คนที่ถูกพิพากษาจำคุก โดยใช้เอกสิทธิ์ ส.ส. 7 คน เงินประกันคนละ 6 แสนบาท

ด้านศาล จ.อุดรธานี ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่สมาชิกเสื้อแดง 22 คนและบางคนที่ยังหลบหนี กระทำผิด พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โฆษณาชักชวนให้กระทำผิดกฎหมาย บุกรุกสถานที่ราชการโดยมีอาวุธ ต่อสู้ และขัดขวางเจ้าพนักงาน รวมทั้งวางเพลิงเผาสถานที่ราชการหลายแห่ง ทั้งศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ,เทศบาลนครอุดรธานี ,ที่ว่าการอำเภออุดรธานี และจวนผู้ว่าราชการจังหวัด เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553

ทั้งนี้ นางขนิษฐา รัฐกาญจน์ ทนายความ นปช.ได้นำตัวจำเลยทั้ง 22 คนที่ได้รับการประกันตัวก่อนหน้านี้ มาฟังคำพิพากษา โดยมี พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เดินทางมาให้กำลังใจพร้อมกับญาติพี่น้องของจำเลยประมาณ 100 คน

ด้านศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษารวม 3 ชั่วโมง โดยระบุว่า คดีวางเพลิงสถานที่ราชการ สร้างความเสียหาย 203 ล้านบาท พิพากษาว่าคนที่กระทำผิดมี 5 คน แต่ไม่ใช่ตัวการสำคัญ ประกอบด้วย นายอาทิตย์ ทองสาย ทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ วางเพลิงเทศบาลนครอุดรธานี และบุกรุกศาลากลางจังหวัดอุดรธานี พิพากษาจำคุก 22 ปี 6 เดือน ,นายวันชัย รักสงวนศิลป์ ทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และวางเพลิงศาลากลางจังหวัด จำคุก 20 ปี 6 เดือน ,นายกิตติพงษ์ ชัยกัง ทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วางเพลิงศาลากลางจังหวัด และวางเพลิงเทศบาลนครอุดรธานี จำคุก 11 ปี 3 เดือน ,นายเดชา คมขำ และนางบัวเรียน แพงสา ทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และวางเพลิงเทศบาลนครอุดรธานี จำคุก 20 ปี 6 เดือน

ส่วนจำเลยอีก 4 คนที่ทำผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ประกอบด้วย นายประชา โพนหลวง ,นายสมใจ เหล็กแสน ,นายนิมิต ด้านซอม และนายอาทิตย์ ทรงเดช ศาลพิพากษาจำคุกลดหลั่นกันไป ตั้งแต่ 2 ปี 6 เดือน-4 ปี 6 เดือน

เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากโทษจำคุกแล้ว ศาลยังได้สั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่สถานที่ราชการที่ได้รับความเสียหายด้วย โดยให้นายอาทิตย์ ทองสาย ,นายเดชา คมขำ และนางบัวเรียน แพงสา ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 142 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ,ให้นายวันชัย รักสงวนศิลป์ ร่วมกับนายกิตติพงษ์ ชัยกัง ชดใช้ค่าเสียหาย 57.7 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ,ให้นายประชา โพนหลวง ร่วมกับนายสมใจ เหล็กแสน นายนิมิต ด้านซอม และนายอาทิตย์ ทรงเดช ชดใช้ค่าเสียหายคนละ 2 หมื่นบาท

ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 13 คน ศาลพิพากษาว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำคุก 1 ปี แต่จำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้เหลือจำคุก 6 เดือน ส่วนความผิดอื่น เช่น โฆษณาชักชวนให้กระทำผิดกฎหมาย บุกรุกสถานที่ราชการโดยมีอาวุธ วางเพลิงสถานที่ราชการ ฯลฯ นั้น ศาลยกฟ้อง ทั้งนี้ ศาลได้พิจารณาปล่อยตัวจำเลยทั้ง 13 คน เนื่องจากเห็นว่าจำเลยถูกขังมาพอแก่โทษแล้ว

หลังฟังคำพิพากษา พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย บอกว่า ตนเป็นตัวแทนของ 10 ส.ส.อุดรธานีที่ใช้ตำแหน่งประกันตัวจำเลยทั้ง 22 คนออกมาก่อนหน้านี้ เมื่อคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ จะรีบแจ้งให้เพื่อน ส.ส.เดินทางมาใช้ตำแหน่ง ส.ส.ขอประกันตัวทั้ง 9 คนออกมาระหว่างการอุทธรณ์คดี

4. 9 ทหารกองกำลังผาเมือง เข้ามอบตัวหลังถูกออกหมายจับคดีปล้นฆ่าลูกเรือจีน 13 ศพ แต่ยังให้การปฏิเสธ!

รัฐมนตรีและทูตจีนเข้าขอบคุณ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.กรณีตำรวจไทยช่วยคลี่คลายคดีปล้นฆ่าลูกเรือจีน 13 ศพ(28 ต.ค.)
ความคืบหน้าคดีปล้นเรือสินค้าจีน 2 ลำ คือเรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง 1 ลำ ชื่อหัวผิง และเรือขนกระเทียมและ แอปเปิลชื่อยูชิง 8 พร้อมสังหารโหดกัปตันและลูกเรือรวม 13 ศพ ที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ชายแดนไทย-พม่า-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บ้านสบรวก หมู่ 1 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 ต.ค. โดยตอนแรก ทหารกองกำลังผาเมืองและหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำโขง เขตเชียงราย เปิดแถลงว่า ได้เข้าตรวจยึดเรือดังกล่าวไว้ โดยอ้างว่า เรือถูกกองกำลังโจรสลัดน้ำจืดของนายหน่อคำ เข้าปล้นสะดม พบผู้เสียชีวิต 1 ศพ อาวุธปืนอาก้า 1 กระบอก พร้อมยึดยาบ้าได้ 920,000 เม็ด ต่อมามีผู้พบศพลอยเกลื่อนอยู่ในแม่น้ำโขงด้าน อ.เชียงแสนอีก 12 ศพ ซึ่งแต่ละศพถูกล็อกด้วยกุญแจมือและปิดตาด้วยผ้านั้น ปรากฎว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เป็นประธานสอบสวนคดีดังกล่าว

ทั้งนี้ รายงานแจ้งว่า ระหว่างประชุม ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังผาเมืองจำนวน 9 นาย เข้ามอบตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาปล้นและฆ่าลูกเรือจีน ประกอบด้วย พ.ต.เชิดพงศ์ ช่วยบำรุง เจ้าหน้าที่ฝ่ายการข่าว ,ร.ท.อนุสรณ์ สอนถม หัวหน้าชุดปฏิบัติการลาดตระเวนไกล ,จ.ส.อ.เฉลิมพล อินทร ,ส.อ.อิทธิศักดิ์ น้อมถิ่น ,ส.อ.คณิศร ศุขจักร ,ส.อ.ชัชวาล สรรพช่าง ,ส.อ.ปัจจะ คำผัด ,ส.อ.เพิด จันทะ และ ส.อ.พันธ์ศักดิ์ เผ่าบ้านฟาง

ด้าน พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ ได้เปิดแถลงในเวลาต่อมาว่า หลังเกิดเหตุยิงเรือจีน ทางการจีนข้องใจจึงได้ร้องเรียนให้ฝ่ายไทยตรวจสอบ กระทั่งสามารถรวบรวมหลักฐานและออกหมายจับเจ้าหน้าที่ทั้ง 9 คน เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและยักย้ายทำลายศพ แต่ทุกคนได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตามถือว่าทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาเพื่อดำเนินคดี “ทั้ง 9 คนที่ถูกออกหมายจับ เป็นชุดปฏิบัติการที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ ซึ่งจะมีการสอบสวนอย่างละเอียดเพื่อขยายผลว่าเกี่ยวข้องกับการสังหารคนจีนทั้งหมดหรือไม่ แต่เบื้องต้นพบว่าเป็นการปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกองทัพ ที่ผ่านมากองทัพได้ประสานงานมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอย่างดี หากพยานหลักฐานถึงใครให้ดำเนินคดีได้เลย หลังจากนี้จะส่งตัวทั้งหมดให้ทางทหารรับตัวไป เนื่องจากทั้งหมดมารายงานตัวด้วยตัวเอง ไม่ได้มีการจับกุม”

วันเดียวกัน(28 ต.ค.) นายจาง ชินเฟิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงรักษาความสงบภายในแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เข้าขอบคุณ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยคลี่คลายคดีดังกล่าวให้ ซึ่ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ บอกว่า แม้ผู้ต้องหาทั้ง 9 คนจะเป็นทหาร แต่ยังไม่พบความเกี่ยวข้องกับกองทัพ กลุ่มนี้เป็นทหารไม่ดี กระทำการอุกอาจ ที่ผ่านมายังไม่พบว่ากลุ่มนี้เคยก่อเหตุอื่นมา และว่า จากการสืบสวนเบื้องต้นพบว่า มีพลเรือนร่วมก่อเหตุด้วย เป็นกลุ่มของนายหน่อคำ นักค้ายาเสพติดรายใหญ่ แต่จะเกี่ยวข้องกันอย่างไร และสาเหตุการสังหารคืออะไร ไม่สามารถบอกตอนนี้ได้ ต้องรอสืบสวนสอบสวนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น