xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ กทม.เตือนเจ้าพระยาน้ำมาก ปชช.ต้องช่วยดูแลรั้วเขื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าฯ กทม.วอนชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาช่วยดูแลซ่อมบำรุงรั้วเขื่อน เตรียมรับมือระดับน้ำที่อาจเพิ่มอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือน ต.ค. พร้อมสั่ง 13 เขตช่วย ปชช.ทันทีหากน้ำล้นคันกั้น เผยมวลน้ำในแต่ละจังหวัดลดลง

วันนี้ (26 ต.ค.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อเวลา 10.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในเขตพื้นที่ กทม.ว่า ขณะนี้น้ำเหนือได้ไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง มีปริมาณจำนวนมาก ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนมากกว่าปกติ ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้นมากกว่าปกติ 20-30 ซม. ไปถึงช่วงวันที่ 28-29 ต.ค. และอาจจะเอ่อท่วมพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลหนุนสูง 1.11 เมตร ส่งผลให้ระดับน้ำเจ้าพระยาสูง 2.40 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องจนถึงช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดปลายเดือน ต.ค.นี้ อาจส่งผลให้ระดับน้ำเจ้าพระยาสูง 2.60 เมตร ซึ่งสูงกว่าคันกั้นน้ำ 10 ซม. ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวอีกว่า วันนี้ตั้งแต่ช่วงเวลา 14.00-16.00 น. ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงสุด กทม.จึงสั่งการให้ 13 เขตประจำในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ กทม.ยังได้ออกประกาศขอความร่วมมือให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยกันดูแล ซ่อมบำรุง หรือเสริมความแข็งแรงของรั้วเขื่อน และกำแพงตามแนวเขื่อนที่ใช้งานมานานปี อาจมีสภาพทรุดโทรม หรือมีจุดรั่วซึมและมีการไหลย้อนกลับของน้ำตามท่อระบายน้ำไหลเข้าบ้านเรือน และได้ประสานกระทรวงการต่างประเทศดูแลและชี้แจงสถานการณ์แก่คณะทูตานุทูต รวมถึงสั่งการให้สำนักงานเขตบางรัก ดูแลสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส และโปรตุเกส ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาเป็นพิเศษด้วย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวอีกว่า จากภาพถ่ายทางอากาศล่าสุด พบว่า มวลน้ำใน กทม.ลดลง และ ที่ จ.นครสวรรค์ ลดลงจาก 1,922 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 1,899 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งมีแนวโน้มลดลง ขณะที่พระนครศรีอยุธยา 4,175 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงเหลือ 4,163 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท 424 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงเหลือ 401 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที

สำหรับประชาชนที่เข้าไปพักยังศูนย์พักพิงของ กทม.6,013 คน โดยศูนย์ของ กทม.189 แห่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์กล่าวว่า ได้สั่งปิดไปแล้ว 5 แห่ง เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ประสบภัย ได้แก่ ศูนย์พักพิง ร.ร.เวฬุราชิณ, ร.ร.พหลโยธิน, ร.ร.เปรมประชา, ร.ร.ประชาอุทิศ และ ร.ร.บำรุงระวิวรรณ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตดอนเมือง และให้เคลื่อนย้ายผู้พักพิงไปอยู่ ร.ร.ไทยนิยมสงเคราะห์

นอกจากนี้ กทม.ยังได้การสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งเพื่อเปิดเป็นศูนย์พักพิงเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง รับคนได้ 12,000 คน ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

นอกจากนี้ กทม.ได้รับคำสั่ง ศปภ. 22/2554 ลงวันที่ 24 ต.ค.มอบหมายภารกิจหลายเรื่องให้ กทม.ดำเนินการ ซึ่งเรื่องสำคัญ คือ ให้ผู้ว่าฯ กทม.รับผิดชอบหลักในพื้นที่เศรษฐกิจและสถานที่สำคัญภาคเอกชน ดังนั้น ในวันพรุ่งนี้ (27 ต.ค.) เวลา 13.30 น. กทม.จึงได้เชิญหอการค้าไทยทั้งในและต่างประเทศ สภาอุตสาหกรรม สมาคมโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ศูนย์การค้า สมาคมธุรกิจขนาดใหญ่ ร้านขายเครื่องอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงปัญหา สถานการณ์ล่าสุด รวมถึงความต้องการ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้องค์กรและกลุ่มบริษัท เพื่อหาวิธีดูแลภาคเอกชนให้ปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
กำลังโหลดความคิดเห็น