xs
xsm
sm
md
lg

วิศวกรรมสถานฯ แนะ กทม.เปิดประตูรับน้ำด้านบนผันลงอุโมงค์ยักษ์ออกทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางนิตยา จันทร์เรือง มหาผล กรรมการและเลขาณุการสภาวิศวกร
กรรมการสภาวิศกรฯ ระบุ เหตุน้ำท่วมรอบกรุง เพราะมีคลังสินค้า-โรงงาน-สนามบินสุวรรณภูมิและที่อยู่อาศัยขวางแนวรับน้ำ แนะ กทม.เปิดประตูเฉลี่ยน้ำจากด้านบน เชื่อน้ำไม่เทเข้า กทม.ด้านใน ไม่ควรวิตก แต่ให้เตรียมตัวไว้ ด้านตัวแทนวิศวกรรมสถานฯ มั่นใจพนังกั้นน้ำเจ้าพระยาของ กทม.กั้นน้ำอยู่ น้ำไม่ทะลักเข้าท่วมพื้นที่ชั้นในแน่นอน ขณะเดียวกันมีถนนเป็นแนวกั้น 3 ชั้น จากลาดพร้าวลงมาไม่ท่วม 100 % แนะ กทม.รับเปิดประตูรับน้ำจากตอนเหนือผันลงอุโมงค์ยักษ์เร่งระบายลงทะเล คาดพื้นที่รอบนอกท่วมต่อเดือนครึ่ง





นางนิตยา จันทร์เรือง มหาผล กรรมการและเลขาณุการสภาวิศวกร กล่าวในรายการ “สภาท่าพระอาทิตย์” ทางเอเอสทีวี เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ถึงปัญหาน้ำท่วมบริเวณรอบๆ กรุงเทพมหานครว่า หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2538 มีการเตรียมแผนป้องกันกรุงเทพมหานคร โดยการทำผังเมืองตามแนวพระราชดำริเรื่องแก้มลิง คือให้มีพื้นที่สำหรับผันน้ำสองฟากฝั่งกรุงเทพฯ ทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก จะเห็นว่าในผังเมืองกรุงเทฯ ปี 2549 ที่เพิ่งประกาศเป็นกฎกระทรวง มีพื้นที่สีเทาเพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำอย่างชัดเจนทั้งสองด้าน ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ลุ่ม ถัดออกไปเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีการเตรียมร่องน้ำธรรมชาติเอาไว้ อย่างไรก็ตามตรงพื้นที่สีเทามีการอนุโลมให้สร้างบ้านเดี่ยวได้ และห้ามสร้างตึกแถวหรือตึกขนาดใหญ่ที่จะเปลี่ยนภูมิศาสตร์การระบายน้ำ ซึ่งทางฝั่งตะวันออกพื้นที่สีเทาจะอยู่บริเวณเขตคันนายาว ลาดกระบัง มีนบุรี หนองจอก ส่วนฝั่งตะวันตกจะอยู่ในเขตทวีวัฒนา ตลิ่งชัน และใต้ลงไป

อย่างไรก็ตาม พื้นที่สีเทาฝั่งตะวนออกนั้น มีพื้นที่สีชมภูคือคลังสินค้าและสีม่วงซึ่งเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมมาขวางอยู่ และที่สำคัญคือมีสนามบินสุวรรณภูมิที่อยู่ถัดลงมา ซึ่งก็น่าสงสัยว่าทำไมเอาสนามบินมาอยู่ที่ลุ่มต่ำสุด และจะทำอย่างไรกับน้ำที่เคยอยู่บริเวณนั้น ทำให้ต้องลงทุนแพงมากในการยกพื้นที่สนามบินให้สูง เหมือนทำสนามบินลอยน้ำให้มันทำงานได้ ทั้งนี้ หากคลองประปาที่รับน้ำซึ่งทะลักมาจากคลองรังสิตที่อยู่ด้างบนเอาไว้ไม่อยู่และระบายไปทางตะวันออกไม่ทันน้ำก็จะผ่าเมืองเข้ามาเลย ส่วนทางฟากตะวันตกพื้นที่สีเทาอยู่บริเวณเขตทวีวัฒนา ตลิ่งชัน แต่ด้านล่างเป็นพื้นที่สีเหลืองคือที่อยู่อาศัยขวางอยู่

ด้านนายธีรเดช ตังประพฤทธิ์กุล ตัวแทนจากวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในปีนี้ปริมาณน้ำฝนมีมาก เนื่องจากมีพายุเข้ามาต่อเนื่องหลายลูก ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ ขณะที่เกิน 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากปกติที่มี 3,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่เชื่อมั่นว่าน้ำจากน้ำเจ้าพระยาจะไม่ล้นเข้าท่วมกรุงเทพมหานคร เนื่องจาก กทม.ได้สร้างพนังกั้นน้ำทั้ง 2 ฝั่ง จากคลองบางเขนใหม่ติด จ.นนทบุรี ถึงคลองบางนา จ.สมุทรปราการ ระดับความสูง 2.5-3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง(รทก.) เป็นคอนกรีตวางเสาเข็มลึก 21 เมตร เพราะฉะนั้นการทะลักจากแม่น้ำไม่น่าจะเกิด นอกจากจะมีซึมเข้ามาบ้างเวลาน้ำขึ้นสูง และบริเวณที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ เช่น ท่าเตียน วัดสร้อยทอง บางซื่อ หรือในคลองบางกอกน้อยบางจุด

สำหรับคาดการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 29 ต.ค.นี้น้ำจะขึ้นสูงที่สุดจากการหนุนของน้ำทะเลและภาวะน้ำขึ้นจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์ ที่ระดับ 1.31 เมตร เมื่อรวมกับน้ำเหนือที่ไหลลงมาจะมีระดับสูงขึ้นไปอีกประมาณ 70 เซ็นติมตร รวมเป็น 2.01 เมตร ก็ถือว่ายังรับได้ ส่วนในเดือน พ.ย.นี้ คาดว่าน้ำจะขึ้นสูงที่สุด 1.35 เมตร แต่ในช่วงนั้นน้ำเหนือก็คงหมดไปแล้ว ทั้งนี้ในอดีตเมื่อปี 2485 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ วัดได้ที่ระดับ 2.27 เมตร ที่ปากคลองตลาด

ถ้าสมมุติอย่างเลวร้ายที่สุดว่าน้ำเหนือจะมาเพิ่มอีก 90 เซนติเมตร หรือสูงสุดไม่เกิน 1 เมตร ก็อาจจะล้นชั่วคราว เพราะช่วงเวลาที่น้ำขึ้นจะไม่เกิน 1 ชั่วโมง ถ้าล้นก็มีสถานีสูบน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมั่นใจพอสมควรในระดับ 90 เปอร์เซ็นต์ว่าน้ำจะไม่ทะลักท่วมแบบถล่มทลายเหมือนที่นนทบุรี ปทุมธานี อย่างมากก็ซึมออกมา ซึ่ง กทม.มีความสามารถสูบออกได้ทัน

นอกจากนี้ ยังมีคันกั้นน้ำทางอื่นอีก ได้แก่ ทางเหนือมีถนนสายไหม หทัยราษฏร์ นิมิตใหม่ ร่มเกล้า อ่อนนุช กิ่งแก้ว เป็นคันกั้นน้ำ ซึ่งในอดีตเป็นคันดิน ต่อมาทำเป็นถนนคอนกรีตกว้าง 20-30 เมตร มีความแข็งแรง และมีประตูระบายน้ำผ่านคลองต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการระบายลงไปบ้าง และตอนนี้ฝนก็หยุดตกหลายวันแล้ว มีร่องความกดอากาศสูงลงมา คาดว่าจะไม่มีฝนแล้ว เพราะฉะนั้นถ้า กทม.จะช่วยพื้นที่ข้างเคียงน่าจะเปิดประตูระบายน้ำให้กว้างขึ้นมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยที่ไม่ทำให้น้ำเอ่อล้นมาท่วมคนกรุงเทพฯ

ทางวิศกรรมสถานเราได้พิจารณาแล้วว่า น่าจะเปิดให้มากที่สุด เพราะ กทม.มีระบบระบายน้ำผ่านอุโมงค์ขนาดยักษณ์ 3 จุด คือที่บึงพระราม 9 ซึ่งจะรับน้ำที่ไหลจากจากคลองสองฝั่งใต้ มาบางบัว คลองลาดพร้าว ชนคลองแสนแสบ แถวรามคำแหง ที่นั่นมีปั๊มน้ำจากบึงพระราม 9 เข้าอุโมงค์ยักษ์ไปสู่สถานีสูบน้ำพระโขนง ซึ่งจะทำให้น้ำลงอ่าวไทยเร็วกว่าเดิม อีกจุดหนึ่งคือที่บึงมักกะสัน รับน้ำจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รัชดาภิเษก พระราม 9 สามารถสูบน้ำไปลงประตูน้ำเชื้อเพลิง วัดช่องลม ลงแม่น้ำเจ้าพระยา สองตัวนี้จะช่วยดูดน้ำจากพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ลงแม่น้ำเจ้าพระยาไป ส่วนอีกจุดอยู่ที่คลองเปรมประชากร บริเวณโรงปูนบางซื่อ สามารถสูบน้ำไปลงแม่น้ำพระยาบริเวณเกียกกายได้

ส่วนปัญหาน้ำในคลองประปานั้น เนื่องจากทางตอนเหนือของคลองบริเวณสำแล มีเพียงคันดิน เมื่อน้ำทะลักจากนนทบุรีเข้ามาคันดินจึงพัง น้ำไหลลงคลองประปาและสูงขึ้นจนไหลมาตามคลองมาที่โรงกรองสามเสน แต่เมื่อมาเจอระบบไซฟอนน้ำที่กันไม่ให้น้ำคลองประปาปะปนกับน้ำข้างนอก ทำให้น้ำไหลช้า น้ำจึงซึมออกถนนแจ้งวัฒนะ แต่ก็ไม่น่าห่วง เพราะระดับน้ำจะสูงประมาณ 50 เซนฯ-1เมตร เพราะปริมาณน้ำไม่มาก เมื่อท่วมจะมีเครื่องสูบน้ำออก และน้ำจะไม่เข้าถึงด้านใน กทม.

สำหรับด้านตะวันออก มีคลองแสนแสบและคลองประเวศบุรีรัมย์เป็น 2 คลองหลักที่จะผันน้ำออกไป ซึ่งสามารถรองรับน้ำได้ประมาณมาก และมีสถานีสูบน้ำอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งสถานีพระโขนงสูบมา 2-3 เดือนแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเปิดประตูน้ำด้านบนรับน้ำเข้ามาก็ไม่น่าจะมีปัญหา โดยเฉพาะช่วงนี้น้ำกำลังลง ต้องเร่งระบายน้ำออกไป

“เราได้พิจารณาแล้วว่า กทม.น่าจะเปิดประตูรับน้ำให้คนที่อยู่นอกคันกั้นนน้ำลดระดับความเดือดร้อนลงมาบ้าง โดยที่ไม่ทำให้คนที่อยู่ภายในเดือดร้อน ซึ่งจะต้องคอยตรวจสอบว่าถ้าน้ำปริ่มแล้วก็หรี่การเปิดประตูรับน้ำลงไปได้”นายธีรเดชกล่าว

นางนิตยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เราได้คุยกันว่ามันมีหลายพื้นที่ที่สามารถเฉลี่ยน้ำได้ แต่ก็คงไม่ไปบังคับกะเกณฑ์ กทม.ให้ทำตาม แต่ต้องดูให้ดีๆ ว่าปริมาณน้ำมีเท่าไหร่จะเปิดรับได้เท่าไหร่ ผู้ว่าฯ กทม.บอกว่าเปิดประตูน้ำแล้วทางด้านล่าง แต่ด้านบนที่จะรับน้ำจากทางเหนือจะเฉลี่ยเปิดอย่างไร ไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้ามา ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็เป็นของกรมชลประทาน การใช้มาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ป้องกันสาธารณภัย ให้เกิดประโยชน์ต้องใช้ให้เป็น ว่าจะแบ่งน้ำกันอย่างไรดี

ทั้งนี้ โครงการแก้มลิงตามพระราชดำรินั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบอกว่า ควรคุมประตูน้ำตามระดับและจังหวะที่เหมาะสมตามน้ำขึ้นน้ำลง ต้องอาศัยความรอบรู้การจัดการน้ำอย่างละเอียดพอสมควร และการทำภาพแผนภูมิจำลอง ซึ่งมีวิศวกรหลายคนชำนาญการเรื่องนี้

นายนิตยากล่าวว่า การแก้ปัญหาระบยะยาวต้องมีการทำ flood way ตั้งแต่ชัยนาทลงมาทางแม่น้ำป่าสัก ลงแม่น้ำบางปะกง และทำแผนการจัดการลุ่มน้ำในระยะยาว ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขณะนี้ผู้คนกำลังต้องการข้อมูลเพื่อเตรียมตัวกันมา อยากรู้ว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ เมื่อไหร่ และเกิดความตื่นตระหนก เพราะไม่มั่นใจว่า การบริหารน้ำด้านเหนือกรุงเทพฯ จะกระจายน้ำกันได้หรือเปล่า การเตรียมตัวไว้จึงเป็นสิ่งที่ดี แม้ว่าขณะนี้น้ำคงจะไม่ทะลัก เพราะคลองประปาเอาอยู่แล้ว พื้นที่อื่นของ กทม.น้ำก็คงจะไม่เทเข้ามาทันที น่าจะค่อยๆ ซึมมา ถ้าดูแผนภูมิจำลองแบบเลวร้ายที่สุด ก็จะท่วมบริเวณรามคำแหง 1 เมตร ซึ่งในความเป็นจริงอาจท่วมแค่ครึ่งเมตร – 70 เซนติเมตร จึงไม่ควรวิตก เพียงแต่ต้องเตรียมตัวไว้

สำหรับคนที่ทำคันกั้นน้ำ ควรจะรู้เรื่องแรงดันของน้ำ เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นแรงดันจะยิ่งสูงขึ้น เช่นน้ำลึก 1 เมตร แรงดันน้ำที่ฐานจะเท่ากับประมาณ 10 คนผลัก ถ้าลึก 2 เมตรแรงดันจะเพิ่ม 4 เท่า เพราะฉะนั้นต้องขยายฐานของคันกั้นน้ำให้กว้างออกไป การวางกระสอบทรายต้องระวังไม่ให้น้ำซึมหรือไม่ให้กระสอบทรายเปื่อยยุ่ย ท่อระบายน้ำต้องอุดไม่ให้น้ำซึมผ่านออกมา ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้มีใน เว็บไซต์ของวิศวกรรมสถาน

ส่วนพื้นที่ที่น้ำท่วมแล้วจะท่วมนานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารการกระจายน้ำ ซึ่งมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง และไม่รู้ว่า กทม.หรือแต่ละหน่วยงานจะตอบสนองแค่ไหน คาดว่าคงใช้เวลาเป็นเดือน ส่วนผู้ประสบภัยต้องทำตัวอย่างไร ก็ขึ้นกับระดับน้ำที่บ้านว่าจะอยู่ไหวหรือไม่ ถ้าไม่ไหวต้องอพยพออกมา เพราะน้ำคงไม่ลดภายใน 1-2 อาทิตย์แน่นอน

นายธีรเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่แคบสุดอยู่ที่สะพานพระราม 8 ความกว้างประมาณ 300 เมตร เป็นจุดที่น้ำจะยกสูงขึ้นที่สุด จากสถิติยังไม่เกิน 2.20 เมตร ถ้าน้ำเหนือมาน้ำจะยกสูงขึ้น ซึ่งทางเหนือขึ้นไปไม่มีที่กั้นมันถึงล้น แต่ของเรามี ถ้าน้ำทะเลหนุนสูงก็ไม่เกิน 2.30 เมตร สามารถรับได้อยู่ กรณีน้ำจะท่วมที่รามคำแหง หรือยานนาวานั้น เพราะเป็นที่ต่ำ สมมุติว่าพนังกั้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาพังจึงจะเกิดเหตุการณ์นั้น แต่ถ้าไม่พัง และคันกั้นน้ำข้างบนก็ไม่พัง น้ำก็ไม่ท่วมเข้าไปเหมือนที่บางบัวทอง

ทั้งนี้ พื้นที่ตอนในของพระนครมีแนวกั้นถึง 3 ชั้น ชั้นแรกถนนสายไหม ชั้นที่ 2 รามอินทรา ชั้นที่ 3 คือลาดพร้าว เพราะฉะนั้นตั้งแต่ลาดพร้าวลงมา มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าปลอดภัย เว้นแต่จะเกิดฝนถล่มลงมาครั้งใหญ่เท่านั้น และขณะนี้ น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มลดลง ถ้าระบายน้ำจากด้านบนลงเจ้าพระยาก็จะระบายได้เร็วที่สุด และเชื่อว่าบริเวณที่ท่วมแล้วจะไม่เหมือนที่รามคำแหงเมื่อปี 2526 ที่มีสภาพเป็นแอ่ง ต้องสูบน้ำออกอย่างเดียวโดยใช้เวลา 2 เดือน แต่รอบนอกของกรุงเทพฯ ที่ท่วมขณะนี้น่าจะใช้เวลา 1 เดือนครึ่ง เพราะยังระบายน้ำได้อยู่


ธีรเดช ตังประพฤทธิ์กุล ตัวแทนจากวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
กำลังโหลดความคิดเห็น