xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯเรียกประชุมด่วน รับน้ำเข้ากรุง- 15 จุดเขตในกทม.เสี่ยงท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ว่ากทม.เรียกประชุมซักซ้อมแผนอพยพประชาชนจุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ 27 ชุมชุม โดยเฉพาะคลองบางกอกน้อย-คลองมหาสวัสดิ์ รวมทั้งพื้นที่ทิศตะวันออก ด้านผอ.สำนักระบายน้ำ ห่วง 8 หมื่นครัวเรือน นอกคันกั้นน้ำพระราชดำริ ใน 4 เขต คลองสามวา หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง เสี่ยงน้ำท่วม เผย 15 จุดอ่อนรอบกรุงจ่อท่วมซ้ำหาก "น้ำเหนือ-น้ำฝน-น้ำทะเลหนุน" สมทบ วอนคนกรุงรับสภาพน้ำหลากมาก

วันนี้(8 ต.ค.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจประตูระบายน้ำคลองเปรมประชากรใต้เป็นจุดเชื่อมต่อ ดอนเมือง-ปทุมธานี เพื่อตรวจดูสภาพน้ำ ว่า ปริมาณน้ำในคลองรังสิตมีปริมาณสูงกว่าพื้นที่ชั้นใน กทม. โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เสริมแนวคันกั้นน้ำให้เพิ่มความสูงจากเดิม 20 เซนติเมตรเพราะเป็นจุดที่น่าเป็นห่วง

"ในช่วงบ่ายจะเรียกประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซักซ้อมแผนอพยพประชาชนของ กทม.ที่มีจุดเสี่ยง 27 ชุมชน โดยเฉพาะคลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ และพื้นที่ทางทิศตะวันออกของ กทม.จะเป็นการซักซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อม" ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ระบุ

ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดน้ำท่วมขึ้นอย่างฉับพลัน การซ้อมอพยพคนแก่และเด็ก จะใช้โรงเรียนในสังกัด กทม.เป็นพื้นที่อพยพ ส่วนสถานการณ์ล่าสุดยังอยู่ระดับเฝ้าระวัง แต่ก็ไม่ได้ประมาทแต่อย่างใด

ด้านนายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพ มหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ระดับแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวานนี้ (7 ต.ค.) วัดได้ที่ 1.97 เมตร ยังถือว่าพอรับมือไหว แต่หากระดับน้ำสูงเกินจากแนวคันกั้นน้ำที่ กทม.สร้างไว้สูง 2.50 เมตร บวกกับปริมาณน้ำที่ไหลมาจากน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนสูง กทม.ก็จะเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมในเขตรอบนอกทั้งฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะทำเสริมเจ้าพระยาประมาณ 28 ตร.กม. ซึ่งมีบ้านพักอาศัย 80,000 หลังคาเรือน ส่วนฝั่งตะวันออกในพื้นที่ 300 ตร.กม.น่าห่วงสุด เพราะเป็นพื้นที่นอกคันกั้นน้ำพระราชดำริ มี 4 เขต คือคลองสามวา หนองจอก มีนบุรี และลาดกระบัง ซึ่งมีคนอาศัยอยู่หลายหมื่นครัวเรือนเช่นกัน

สำหรับพื้นที่ชั้นใน กทม.จากการสำรวจพบว่า มี 15 พื้นที่เป็นจุดอ่อนและเสี่ยงต่อน้ำท่วม ได้แก่ 1.เขตสาทร ย่านถนนจันทร์ เซนต์หลุยส์ สาธุประดิษฐ์ 2.เขตพญาไท ถนนพหลโยธิน ช่วงคลองสามเสน-คลองบางซื่อ 33เขตพระโขนง ถนนสุขุมวิท จากคลองพระโขนง-ซอยลาซาล 4.เขตวัฒนา ซอยสุขุมวิท 39 และสุขุมวิ 49 5.เขตวังทองหลาง ถนนลาดพร้าว จากคลองลาดพร้าว-ห้างเดอะมอลล์ 6.เขตบึงกุ่ม ถนนนวมินทร์ จากคลองดอนอีกา-แยกถนนประเสริฐมนูกิจทั้งสองฝั่ง

7.เขตดินแดง ถนนรัชดาภิเษก หน้าห้างโรบินสัน 8 .เขตจตุจักร ถนนรัชดาภิเษก แยกลาดพร้าว 9.เขตราชเทวี ถนนเพชรบุรี จากถนนบรรทัดทอง-แยกราชเทวี 10.เขตราชเทวี ถนนนิคมมักกะสัน 11.เขตราชเทวี ถนนพระรามที่ 6 หน้าตลาดประแจจีน 12.เขตบางแค ถนนเพชรเกษม ซอย 63 (ซอยวัดม่วง) 13.เขตยานนาวา ถนนเย็นอากาศ จากถนนนางลิ้นจี่- ซอยศรีบำเพ็ญ 14.เขตประเวศ ถนนศรีนครินทร์ ช่วงคลองตาสาด-คลองตาช้าง และ 15.เขตพระนคร ถนนสนามไชยและถนนมหาราช

"ทั้ง 15 จุดนี้ถ้า 3 น้ำมาพร้อมกัน ทั้งน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน ก็เสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมได้ เพราะกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ง่ายต่อน้ำท่วมขัง"ผอ.สำนักระบายน้ำ กล่าวและว่า ปัจจุบัน กทม.เตรียมรับมือเต็มที่ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ช.ม. ล่าสุดซื้อกระสอบทรายเพิ่มอีก 1.5 ล้านถุง เพราะทุกเขตขอเข้ามามาก นอกจากนี้ยังได้ขุดลอกคลองให้ระบายน้ำได้เร็วขึ้น ดูแลประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ สถานีสูบน้ำ รวมถึงประสานงานกับกรมชลประทานช่วยบริหารจัดการน้ำผ่านคลองและอุโมงค์ลงสู่ทะเล

"ถ้าน้ำมามากเกิน คนกรุงต้องยอมรับสภาพ ซึ่งปริมาณน้ำฝน กทม.รับมือได้เต็มที่ 1,500-1,600 ลบ.เมตรต่อวินาที ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยารับได้ 3,000-3,500 ลบ.เมตรต่อวินาที" นายสัญญากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น