xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ...ประกวด “เทพธิดาแรงงาน”…คุณค่าที่มากกว่าความงาม?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชินโชติ เเสงสังข์ ประธานคณะกรรมการจัดงานวันเเรงงานเเห่งชาติประจำปี 2554
นริศ จิตรพงษ์ …รายงาน

เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง หลังคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ ริเริ่มจัดการประกวด “เทพธิดาแรงงานไทย ”ขึ้นมาเป็นปีแรก โดยมีเป้าหมาย เพื่อเฟ้นหาแรงงานสตรีที่จะมาทำหน้าที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ มาตรา40 พ.ร.บ.ประกันสังคม คำถามตามมาทันทีว่า เหมาะสมแล้วหรือกับการจัดประกวดดังกล่าวซึ่งเป็นกิจกรรมรื่นเริงในวันแรงงานแห่งชาติและสากล และนั่นเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติและสากลหรือไม่

วันที่ 1 พฤษภาคม หรือ “May Day” เป็นวันแรงงานแห่งชาติและสากล ประเทศไทยรวมถึงหลายประเทศทั่วโลก ต่างก็มีการจัดกิจกรรมหลากรูปแบบ แตกต่างกันไป แต่ทุกประเทศล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ เพื่อเฉลิมฉลองการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในระบบทุนนิยม สำหรับประเทศไทย มีคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติโดยการสนับสนุนของกระทรวงแรงงาน จัดกิจกรรมเนื่องในวัน“May Day”เป็นประจำทุกปี

ในปีนี้มติของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติได้ริเริ่มให้จัดประกวด“เทพธิดาแรงงานไทย”ขึ้นเป็นปีแรกเพื่อเฟ้นหาสุภาพสตรีแรงงานไทย อายุระหว่าง 18-35 ปี ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มาทำหน้าที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสำนักงานประกันสังคมในการประชาสัมพันธ์มาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งกรณีดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวางถึงความไม่เหมาะสม ทั้งจากนักวิชาการบางท่านและองค์กรแรงงานตลอดจนองค์กรสตรีอีกหลายแห่ง ซึ่งต่างก็แสดงความไม่เห็นด้วยและคัดค้านการจัดประกวด โดยให้เหตุผลไปในทิศทางเดียวกันว่า การจัดประกวด“เทพธิดาแรงงานไทย”ในวัน“May Day”นั้น เป็นการบิดเบือนสาระและเจตนารมณ์เดิมของการจัดวันแรงงานแห่งชาติโดยสิ้นเชิง และมากกว่านั้นยังเป็นการดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นลูกผู้หญิง เนื่องจากนำ “ผู้หญิง”มาเป็นเครื่องมือ มุ่งให้เกิดการกระทำบางสิ่งบางอย่าง โดยเสียงสะท้อนขององค์กรแรงงานและองค์กรสตรีรวม 19 องค์กร อาทิ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มูลนิธิเพื่อแรงงานหญิง ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านการจัดประกวดดังกล่าว โดยประกาศไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆทั้งสิ้น หากคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2554 ยังยืนยันที่จะจัดประกวด“เทพธิดาแรงงานไทย”ต่อไป

จนถึงนาทีนี้แล้ว คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2554 ยังยืนยันที่จะจัดประกวด “เทพธิดาแรงงานไทย”เพื่อเฟ้นหาพรีเซ็นเตอร์ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์มาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคมต่อไป นั่นแสดงว่า แถลงการณ์คัดค้านขององค์กรแรงงานและองค์กรสตรีทั้ง 19 องค์กร ตลอดจนเงื่อนไขที่จะไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆในวัน “May Day”ไม่สามารถเปลี่ยนความตั้งใจของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ ที่จะให้มีการจัดประกวด“เทพธิดาแรงงานไทย” ได้ เป็นเพราะอะไร?

นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2554 ยืนยันกับ Manager Radio Fm 97.75 MHz ว่า การจัดประกวด“เทพธิดาแรงงานไทย”ไม่ใช่การประกวดความงาม เป็นการประกวดความรู้มากกว่า และไม่ใช่การบิดเบือนเจตนารมณ์ของการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติและสากลแต่อย่างใด เป็นการส่งเสริมแรงงานสตรีด้วยซ้ำไป

“เจตนารมณ์ในการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติและสากลยังเหมือนเดิมทุกอย่าง หลักการไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นการเฉลิมฉลองวันแรงงาน แล้วก็จัดให้มีข้อเรียกร้องยื่นต่อผู้แทนรัฐบาล จัดริ้วขบวนแสดงออกถึงความยากลำบากของแรงงาน เป็นการสะท้อนปัญหาแรงงานทั้งหมด ส่วนการจัดประกวดเทพธิดาแรงงานไทยนั้นเป็นหนึ่งในกิจกรรมของงาน แต่ไม่ใช่ไฮไลท์ของงานทั้งหมด เป็นการประกวดเพื่อเฟ้นหาแรงงานหญิงที่จะมาเป็นพรีเซ็นเตอร์มาตรา 40 ของพ.ร.บ.ประกันสังคม ผมไม่เห็นจะเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์อะไร ผมว่าดีซะด้วยซ้ำ ปกติสินค้าทุกยี่ห้อต้องจ้างดารา เงินเป็นล้าน สองล้าน แต่เราใช้เงินไม่กี่บาทในการจัดประกวด ซึ่งถ้าไม่ใช้วิธีประกวด จะไปใช้วิธีไหนล่ะ จะไปจับเอาใครมาเป็นล่ะครับ แล้วไม่ใช่ประกวดความสวยความงาม เป็นการประกวดความรู้กันมากกว่า เพราะต้องมีการตั้งคำถามว่า คุณ(หมายถึงผู้เข้าประกวด)เข้าใจพ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 40 ขนาดไหน ถ้าไม่ใช้วิธีประกวดจะใช้วิธีไหนล่ะ แล้วมันเสียหายตรงไหนครับ การที่เราจะเอาใครสักคนมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อจะไปเผยแพร่ความรู้เรื่องมาตรา 40 มันผิดตรงไหนครับ จริงๆ เป็นการส่งเสริมด้วยซ้ำ เพราะเราไม่เอาดารา ไม่เอาคนดังมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ผมยังไม่เห็นว่ามันเป็นประเด็นที่เสียหายอะไรเลย ก็เป็นการประกวดกันว่าใครจะมีความรู้เรื่องแรงงาน เรื่องประกันสังคม แล้วก็เอามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ผมไม่เห็นว่าจะเป็นการใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือตรงไหนเลยครับ ถ้าอย่างนั้นผู้หญิงเลี้ยงลูก ผู้หญิงทำกับข้าว ก็เป็นเครื่องมือหมดสิครับ”

ด้าน นางสาวอรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีชุมชนไทยเกรียง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดประกวด “เทพธิดาแรงงานไทย”และออกมาคัดค้านไปแล้วก่อนหน้านี้ ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันนี้ว่า การจัดประกวด“เทพธิดาแรงงานไทย”ไม่เพียงบิดเบือนเจตนารมณ์ของวันแรงงาน แต่ยังเป็นการไม่ให้เกียรติลูกผู้หญิง หน้ำซ้ำยังเป็นการดูถูกดูแคลนศักดิ์ศรีของความเป็นลูกผู้หญิงอย่างชัดเจน

“จนถึงขณะนี้ ยังมองเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะว่ามันบิดเบือนประวัติศาสตร์วันแรงงาน สาระสำคัญของวันแรงงานคือ เป็นวันที่แรงงานจะออกมาพบปะกัน เพื่อพูดคุยกันถึงความทุกข์ยาก สบายดีมั้ย การจ้างงานเป็นยังไง การเอารัดเอาเปรียบเป็นยังไง ไม่ใช่วันที่มาประกวดความสวยความงาม การประกวดลักษณะนี้ไม่สมควรจัดเพราะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์วันแรงงาน ถ้าประกวดนางนพมาศ นางสงกรานต์ อย่างนั้นไม่เป็นไร ประกวดไปเถอะ มันต้องจัดให้เหมาะกับเทศกาล ฟังดูเค้าพูดเหมือนกับว่าเจตนาดี เค้าบอกว่ารัฐบาลมีนโยบายโน้มน้าวให้แรงงานที่อยู่นอกระบบมาเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งจริงๆ แล้วก็ควรจะใช้การเชิญชวนในลักษณะจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ ความมั่นคงที่จะได้รับ ไม่ใช่ ไปเอาการประกวดมาดึงดูดให้คนมาเป็นผู้ประกันตน และการที่คุณไปพูดถึงพรีเซ็นเตอร์ คุณไปเอาเรื่องสรีระของผู้หญิงมาโชว์ เป็นการไม่ให้เกียรติ และยังดูถูกดูแคลนเพศหญิง ศักดิ์ศรีของความเป็นลูกผู้หญิง มันไม่ใช่มาพูดถึงเรื่องสวยๆงามๆ มันจะต้องไปยกย่องในเรื่องการต่อสู้ชีวิต การมีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศ มากกว่า”

ทรรศนะของนางสาวอรุณีที่มีต่อประเด็นการจัดประกวด“เทพธิดาแรงงานไทย”ของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ สอดคล้องกับทรรศนะของนักวิชาการที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ใช้แรงงานมาตลอด 3 ทศวรรษอย่าง รองศาสตราจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ว่า การจัดประกวด“เทพธิดาแรงงานไทย”เสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม เพราะเอาศักดิ์ศรีความเป็นลูกผู้หญิงไปเป็นเครื่องมือล่อให้คนมาสมัครมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคมมากขึ้น ที่จริงแล้ว การรณรงค์ทำได้หลายรูปแบบ ไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีการที่สุ่มเสี่ยงเช่นนี้

“ปรัชญาสากลของการจัดงานวันแรงงาน ก็เพื่อเฉลิมฉลองการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในระบบทุนนิยมทั่วโลก สิ่งที่ควรจะทำก็คือ การจัดงานเพื่อที่จะเตือนให้แรงงานรับรู้ถึงความทุกข์ยากร่วมกัน การใส่ความบันเทิงเข้าไปจนกระทั่งบดบังความหมายดั้งเดิม ผมคิดว่าเป็นการทำลายความหมายของวันแรงงาน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นการกระทำซึ่งมอมเมาผู้ใช้แรงงานให้หลงลืมจุดมุ่งหมายของการจัดเฉลิมฉลองวันแรงงานสากล ส่วนการจัดประกวด “เทพธิดาแรงงานไทย”ผมคิดว่าเสี่ยงต่อการที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความเป็นลูกผู้หญิงไปเป็นเครื่องมือทำอย่างอื่น รวมทั้งการนำไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ จริงๆ แล้ว การโฆษณาประชาสัมพันธ์มาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม ทำได้หลายอย่าง โดยไม่จำเป็นต้องเสี่ยงเอาศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิงไปเป็นทุนที่จะไปช่วยรณรงค์ในเรื่องเหล่านี้ แล้วทำไมต้องได้มาด้วยการประกวด การรณรงค์มีตั้งเยอะตั้งแยะที่สามารถทำได้ แต่มันไม่ควรจะลงทุนด้วยความเสี่ยงที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการกระทำที่มอมเมาผู้ใช้แรงงานให้หลงลืมความทุกข์ยากและเจตจำนงในการต่อสู้ของตัวเอง ที่สุดแล้วการจัดประกวด“เทพธิดาแรงงานไทย”คงไม่ใช่เป็นเพียงการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำในแง่ของการเงินอย่างเดียว สำคัญยิ่งกว่าการสูญเสียเงิน คือการลงทุนด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นลูกผู้หญิงไปเป็นเครื่องมือล่อให้คนหันมาสมัครมาตรา 40 มากขึ้น มันมีวิธีการเยอะมาก ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีนี้”

จะเห็นได้ว่า ทั้งทรรศนะของนางสาวอรุณีและรองศาสตราจารย์แล สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมในการจัดประกวด “เทพธิดาแรงงานไทย”ของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ โดยมองว่า เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์เดิมของการจัดวันแรงงาน อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม เพราะใช้ “ผู้หญิง”ไปเป็นเครื่องมือในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ทีนี้เราลองมาฟังทรรศนะของนางศรีเวียง ตันฉาย หรือป้าศรีเวียง พี่เลี้ยงนางงามวัย 74 ปี ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงการประกวดความงามมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ กันบ้างว่า มีมุมมองต่อการจัดประกวด “เทพธิดาแรงงานไทย”ในครั้งนี้อย่างไรบ้าง

“คิดว่าการจัดประกวดเทพธิดาแรงงานไทยในครั้งนี้ ได้มากกว่าเสียนะคะ เพราะเป็นการเชิดชูแรงงานสตรีให้คนทั่วไปได้รู้ว่า ยังมีแรงงานสตรีที่มีคุณค่า มีความรู้ ความสามารถ อยู่อีกเยอะในสังคม ถือเป็นการยกย่องเชิดชูสตรีในอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าคิดว่าการประกวดธิดาแรงงานเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของสตรี ทุกเวทีต้องละเมิดหมด เพราะใช้ผู้หญิงทั้งหมด มันไม่ผิดอะไรตรงไหนเลยที่จะเอาแรงงานที่มีคุณค่ามาปัดฝุ่นให้ดูมีสีสันขึ้น คนที่มาบ่นหน่ะ ไปรู้ใจคนงานเค้าหรือยัง แล้วการจัดประกวด ก็เป็นการหยิบยื่นโอกาสให้แรงงานที่ยังฝังตัวอยู่ ได้แสดงความสามารถที่มีอยู่ในตัว ความสวยงามก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่เวทีนี้จะหนักไปในเรื่องความสามารถมากกว่า ความสวยแค่ 20% ด้วยซ้ำมั้ง”

นอกจากนี้ป้าศรีเวียง ยังย้ำว่า ทุกวันนี้ยังมีคนในสังคมอีกมากมายที่เข้าใจผิด คิดว่านางงามต้องมีเสี่ยเลี้ยง หรือประกวดนางงามเพื่ออัพค่าตัว จริงๆ ก็มี แต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก คนเข้าใจผิดไม่ได้มาถามที่ต้นเหตุว่า เค้าเป็นอย่างนั้นจริงหรือ

เหล่านี้คือมุมมองที่แตกต่างของหลายฝ่าย ต่อกรณีการจัดประกวด“เทพธิดาแรงงานไทย”ของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ ท้ายที่สุดคงไม่สามารถหาข้อสรุปที่แน่ชัดในเรื่องนี้ได้ว่า ใครถูก-ใครผิด เพราะ

แต่ละฝ่ายทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ต่างก็มี“ไม้บรรทัด”ที่จะชี้วัดถึงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าอีกไม่นาน คงสามารถพิสูจน์ได้ว่า การประกวด “เทพธิดาแรงงานไทย”ใช่คุณค่าที่มากกว่าความงามหรือไม่?
อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ช่วยเหลือเด็กเเละสตรีชุมชนไทยเกรียง
รศ.เเล ดิลกวิทยรัตน์ ผอ.ศูนย์พัฒนาเเรงงานเเละการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
ป้าศรีเวียง ตันฉาย พี่เลี้ยงนางงามมืออาชีพที่คร่ำหวอดในเเวดวงประกวดความงามมานานกว่า3ทศวรรษ
กำลังโหลดความคิดเห็น