xs
xsm
sm
md
lg

พระองค์โสมฯ ทรงชื่นชมความงดงาม “กล้วยไม้ช้าง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทอดพระเนตร กล้วยไม้สกุลช้าง
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงเป็นองค์ประธานเปิดงาน “Emporium Blossom 2010 :Scent of Orchid Splenddor” เมืองไทยรวมพลคนรักช้าง อลังการปรากฏการณ์ความงดงามแห่งกล้วยไม้ช้างหลากสายพันธุ์ ทั่วบริเวณศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรี่ยม ที่พร้อมใจกันบานสะพรั่ง อวดโฉมใจกลางกรุง จนถึง 31 ม.ค. 53

ในการนี้ได้ประทานพระวโรกาสให้คณะกรรมการจัดงาน อาทิ ผู้แทนจากสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) สมาคมกล้วยไม้สุโขทัย และผู้ให้การสนับสนุนจากภาคเอกชนชั้นนำ เฝ้ารับเสด็จถวายเงินเพื่อทรงใช้สอยตามพระอัธยาศัย และถวายของที่ระลึก พร้อมประทานพระวโรกาสให้ผู้ชนะเลิศการประกวดกล้วยไม้สกุลช้างประเภทต่างๆ เข้ารับประทานถ้วยรางวัล และผู้สนับสนุนการจัดงานเข้ารับประทานโล่ห์เชิดชูเกียรติ

สำหรับรางวัลยอดเยี่ยมประเภทกล้วยไม้ช้างต้นเดี่ยว(เล็ก) เป็นของ สมพร พิสมัย,รางวัลยอดเยี่ยมกล้วยไม้ช้างประเภทกอ เป็นของ บุญเสริม พุ่มเพลินพิศ ส่วนรางวัลยอดเยี่ยมกล้วยไม้ช้าง ประเภทต้นเดี่ยว(กลาง) ต้นเดี่ยว(ใหญ่) และรางวัลยอดเยี่ยมกล้วยไม้ช้าง ประเภทหมู่ ทั้ง 3 รางวัล นี้ วิชัย รัตนจินดา คว้าไปครอง จากนั้นเสด็จทอดพระเนตรความงดงามของกล้วยไม้ช้างสายพันธุ์ต่างๆ ที่นำมาจัดแสดง อย่างสนพระทัย

ในประเทศไทยพบว่า กล้วยไม้สกุลช้างมีกระจายพันธุ์อยู่ทุกภาคของประเทศ ซึ่งสายพันธุ์สกุลช้างถือเป็นกล้วยไม้เล็ก ๆ ในประเภทไม่แตกกอ มีลำต้นทรงเตี้ยแข็งแรง ใบแข็งหนาอวบน้ำ บางชนิดใบเล็กยาว ปลายใบหยักมนหรือเป็นฟันแหลมไม่เท่ากัน ใบอาจมีหรือไม่มีลายเป็นเส้นตามความยาวของใบ ช่อดอกตั้งโค้งหรือห้อย ออกดอกแน่นช่อ ลักษณะเป็นพวงคล้ายหางกระรอก ในกอหนึ่งๆ จะมีหลายช่อดอก ให้กลิ่นหอมไกล กลีบดอกอาจมีหรือไม่มีจุดสีม่วงหรือสีน้ำเงิน ปากดอกไม่มีข้อพับและเชื่อมติดกับฐานเส้าเกสร มีเดือยดอกชี้ไปข้างหลัง แต่ปลายปากดอกชี้ไปข้างหน้า ไม่มีหูหรือถ้ามีก็ขนาดเล็ก และเส้าเกสรสั้น

กล้วยไม้สกุลช้างทั่วโลกมีทั้งหมด 4 ชนิด คือ ช้าง (Rhynchostylis gigantea) ไอยเรศ หรือพวงมาลัย (Rhynchostylis retusa) เขาแกะ (Rhynchostylis coelestis) และ ช้างฟิลิปปินส์ (Rhynchostylis violacea) ซึ่งชนิดหลังนี้ไม่พบในประเทศไทย
 
ส่วนชนิดที่นำมาจัดแสดงในงานนี้ มีทั้ง ไอยเรศ ที่มีลำต้นใหญ่คล้ายกล้วยไม้ช้าง แต่ใบยาวและแคบกว่า ช้างพลาย (Rhynchostylis gigantean blotch) เป็นลูกผสมระหว่างช้างเผือกและช้างแดง ดอกมีสีขาวแต้มสีแดงเป็นปื้น ช้างเผือก (Rhynchostylis gigantean var.alba) กลีบดอกเป็นสีขาว ปากขาว จมูกมีสีเหลืองอ่อน,ช้างกระ (Rhynchostylis gigantean speckle) กลีบดอกเป็นสีขาวมีจุดเป็นสีชมพูอมม่วง ปากสีชมพูอมม่วงเช่นกัน ช้างแดง (Rhynchostylis gigantean var.rubrum Sagarik) กลีบดอกเป็นสีแดงจัดหรือสีเลือดนก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ถือเป็นสกุลช้างที่ราคาแพงที่สุด และ ช้างส้ม (Rhynchostylis gigantean Kultana Strain) สายพันธุ์ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างช้างพลายและช้างเผือก ดอกมีสีส้มอ่อน

ไม่เพียงแต่ความเพลิดเพลินจากเหล่ากล้วยไม้สกุลช้าง ภายในงานยังเปิดโอกาสให้ชาวกรุงได้สัมผัสกับเอกลักษณ์แห่งอารยธรรมสมัยสุโขทัย อาทิ การสาธิตการปรุงเครื่องหอม แป้งร่ำ น้ำอบไทย จากสาขาวิชาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ,สาธิตการปั้นเครื่องถ้วยชามสังคโลก,สาธิตการทำ “ผ้าซิ่นตีนจก” ผ้าทอโบราณแบบดั้งเดิมจากศรีสัชนาลัย และอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด! คือ “ประติมากรรมช้างทองคำ” ผลงานอันทรงคุณค่าที่รังสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิดพิเศษ ผลงานดีไซน์ของ สกุล อินทกุล นักจัดดอกไม้และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชื่อดังระดับนานาชาติ

สนพระทัยการสาธิตทำเครื่องหอม
ทูลเกล้าถวายกล้วยไม้ช้าง
พร้อมหน้าพันธมิตรการจัดงาน
วิชัย รัตนจินดา คว้า 3 รางวัลรวด
กล้วยไม้สกุลช้างสายพันธุ์ต่างๆ ที่ได้รับรางวัล




เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ตกแต่งด้วยกล้วยไม้ช้าง
สกุล อินทกุล กับ “ประติมากรรมช้างทองคำ”
มุมสาธิตทำเครื่องหอมไทยโบราณ

สาธิตการตีทองสุโขทัย

สาธิตการทำ “ผ้าซิ่นตีนจก” ผ้าทอโบราณแบบดั้งเดิมจากศรีสัชนาลัย

ทั่วทั้งบริเวณงานประดับประดาด้วยกล้วยไม้ช้างนานาพันธุ์
กำลังโหลดความคิดเห็น