เดือนตุลาคม 2552 ดีน ทากาฮาชิ นักเขียนของเว็บไซต์ VentureBeat ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับภาวะรายได้ของบล็อกเกอร์ (Blogger) ที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยบล็อกเกอร์มืออาชีพที่เขียนบล็อกเป็นงานประจำนั้นมีรายได้เฉลี่ยปีละมากถึงราว 122,222 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 4.3 ล้านบาท) ขณะที่บล็อกเกอร์ที่เขียนบล็อกเป็นงานพาร์ทไทม์นั้นมีรายได้จากการทำงานเฉลี่ยปีละ 14,777 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 520,000 บาท)
แน่นอนว่าด้วยรายได้ต่อปีระดับพนักงานบริษัทยังอาย อาชีพบล็อกเกอร์ในเมืองนอก นั้นมิได้ทำกันได้ง่ายๆ และคงยากที่บล็อกเกอร์จะกลายเป็นอาชีพในสังคมไทยเพราะบล็อกเกอร์อิสระในต่างประเทศนั้นต่างเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถระดับผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ อีกทั้งแต่ละคนยังมีมาตรฐานในการทำงานที่สูงมาก โดยถือว่าทัดเทียมหรืออาจจะสูงกว่าผู้สื่อข่าวอาชีพของสื่อต่างๆ เลยทีเดียว ทั้งนี้ในยุคสมัยที่เศรษฐกิจโลกตกสะเก็ดอันเนื่องมาจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็มีข่าวเผยแพร่ออกมาว่า บล็อกเกอร์อิสระจำนวนไม่น้อยนั้นได้เปลี่ยนสถานะตัวเองจากการเป็นนายจ้างตัวเอง มาเป็นนักเขียน นักข่าว และคอลัมนิสต์ผลิตงานคุณภาพให้กับบริษัทและเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนไม่น้อย ทำให้บล็อกเกอร์อิสระนั้นมีจำนวนลดลง
ในประเทศไทย แม้บล็อกจะเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมสูงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 กลับมีสื่อมวลชนและบล็อกเกอร์บางส่วนได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความนิยมในการสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า บล็อก (Blog) นั้นเริ่มลดจำนวนลง บล็อกเกอร์หน้าเก่าก็ผลิตงานน้อยลง ขณะที่ปริมาณการเพิ่มขึ้นของบล็อกเกอร์หน้าใหม่ก็ไม่ร้อนแรงเหมือนก่อน
นพ.พีรพล ภัทรนุธาพร จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และผู้มีฉายานามในโลกออนไลน์ว่า “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” โดย บล็อกถือเป็นช่องทางการสื่อสารที่สร้างให้คุณหมอเป็นที่รู้จักของบรรดาคอหนังทั่วประเทศ เป็นเหมือนชั้นโชว์สินค้าที่ส่งให้คุณหมอกลายเป็นนักเขียนชื่อดังที่มีผลงานพ็อคเกตบุ๊คออกมาถึง 4 เล่ม ด้วยกัน ประกอบไปด้วย หนังสือรัก องศาที่ 361 เมื่อฉันลืมตาแล้วโลกเปลี่ยนไป และ LifeSan มากกว่าที่ตาเห็น ซึ่งแต่ละเรื่องนั้นล้วนเป็นมุมมองชีวิตแนวจิตวิทยาที่หยิบยกเนื้อหาบางตอนในภาพยนตร์หลายๆ เรื่องมาเป็นตัวอย่าง
คุณหมอพีรพล เริ่มต้นเกริ่นถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมสังคมออนไลน์ที่เรียกว่า “บล็อก” ว่า บล็อกเริ่มเข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว โดยจุดเด่นของการใช้งานที่เปิดพื้นที่ให้เจ้าของบล็อกสามารถบันทึกเรื่องราว โพสต์ภาพถ่าย รวมทั้งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นๆได้นั้นทำให้บล็อกกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มของวัยรุ่น วัยทำงาน นอกจากนั้นบล็อกยังเป็นที่โชว์ผลงานของ หลายๆ คน ตั้งแต่คนที่ชอบคิดชอบเขียน ไปจนถึงผู้ที่ใฝ่ฝันว่าอยากเดินในเส้นทางนักเขียนด้วย
“ผมเริ่มเล่นบล็อกเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว เรียกว่าเข้ามาในยุคแรกๆ ของบล็อกเลย ซึ่งตอนนั้นส่วนใหญ่เขาก็จะทำเป็นไดอารี่ออนไลน์ หรือการบันทึกเรื่องราวส่วนตัวลงในไดอารี่ซึ่งอยู่บนหน้าเว็บไซต์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมาก ต่อมาเว็บไซต์พันทิป ซึ่งเดิมทีเปิดให้คนเข้ามาพูดคุยหรือแสดงความเห็นในเรื่องต่างๆบนเว็บไซต์ในลักษณะของกระทู้ ก็เริ่มเปิดพื้นที่หน้าเว็บฯ ให้มีการทำบล็อก ซึ่งลักษณะจะต่างจากไดอารี่ออนไลน์ตรงที่เรื่องราวที่บันทึกนั้นนอกจากจะเป็นการเขียนเรื่องส่วนตัวที่พบเห็นในชีวิตประจำวันเหมือนการบันทึกไดอารี่แล้ว ยังสามารถเขียนอะไรก็ได้ที่เจ้าของบล็อกสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ดนตรี ภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ การตกแต่งบ้าน กีฬาประเภทต่างๆ ฯลฯ คนที่เข้ามาอ่านก็สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ ผมเองเลือกโพสต์เรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์ เพราะผมชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็ชอบอ่านหนังสือหรือบทความเกี่ยวกับการวิจารณ์หนังมาตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ก็อ่านมาเรื่อยๆ
“โดยส่วนตัวผมว่าบล็อกมีประโยชน์มากนะ เป็นได้ทั้งไดอารี่ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคน เป็นชุมชนที่ทำให้คนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสาร เป็นโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นเพราะแต่ก่อนคนอยากจะเป็นนักเขียนนั้นยากมาก การเขียนลงบล็อกทำให้คนเป็นจำนวนมากมีโอกาสอ่านผลงานของเรา เป็นช่องทางที่ทำให้คนธรรมดาๆ สามารถเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว เป็นช่องทางที่ทำให้ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเอง เราอยากแชร์ความเห็น อยากโชว์ไอเดียก็ทำได้ ผมเองก็เป็นนักเขียนที่โตมาจากบล็อก” คุณหมอนักเขียนผู้แจ้งเกิดมาจากการเขียนบล็อกกล่าว
ส่วนสาเหตุที่มีผู้ออกมาตั้งข้อสังเกตและให้ความเห็นว่ากระแสของบล็อกซาลง เริ่มได้รับความนิยมน้อยลงนั้น บล็อกเกอร์ด้านภาพยนนตร์มือฉมังให้ความเห็นว่า “คือมันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ดูเหมือนกับว่าบล็อกมันฮิตมาก จะมีการนำเรื่องราวในบล็อกมาทำเป็นพ็อคเกตบุ๊คกันเยอะมาก แต่ก็ตอนนี้ก็ซาๆไป ที่มองว่ากระแสบล็อกมันลดลงอาจเกิดจากรูปแบบของสังคมออนไลน์มันเปลี่ยนไป คือนอกจากบล็อก มันก็มี มายสเปซ (Myspace) มี เฟซบุ๊ค (Facebook) หรือ มี ทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งหลายคนก็อาจจะค้นพบสไตล์ของตนเองมากขึ้นว่าชอบการสื่อสารสไตล์ไหน อย่างคนที่ชอบเฟซบุ๊กก็อาจจะชอบในแง่ของชุมชน สามารถโพสต์ความเห็นพูดคุยกับคนอื่นๆได้ทันที ส่วนคนที่อยากจะพูดคุยสั้นๆ ไม่มีเวลามากก็จะชอบทวิตเตอร์ แต่คนที่ชอบอ่านหรือชอบเขียนบทความก็ยังคงเล่นบล็อก คือพอมันมีทางเลือกใหม่ๆ มากขึ้นคนก็เลยกระจายไป เขาก็ไปเลือกรูปแบบการสื่อสารที่เขาชอบ อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ดูเหมือนว่ากระแสบล็อกมันไม่แรงเหมือนก่อนก็คือการที่มีคนเข้ามาเขียนบล็อกของตัวเองมากขึ้น มีเรื่องราวต่างๆ ที่น่าใจมากขึ้น คนที่เข้ามาอ่านบล็อกก็เลยกระจายไปยังบล็อกต่างๆ ไม่เฮเข้าไปอ่านบล็อกใดบล็อกหนึ่งอย่างถล่มทลายเหมือนเมื่อก่อน”
ผู้ประกอบการเผยยอดคนเล่นบล็อกไม่ลด
ในส่วนของผู้ประกอบการเว็บไซต์ยอดนิยมอย่างเว็บไซต์พันทิป ซึ่งให้บริการพื้นที่บล็อกภายใต้ชื่อ BlogGang ก็ยืนยันว่าจำนวนผู้ที่ใช้บริการบล็อกใน BlogGang นั้นไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด โดย น.ส.รัตนา ตั้งสินพูลเพิ่ม ผู้ดูแล BlogGang ของเว็บไซต์พันทิป ระบุว่า หากดูจากสถิติในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่าจำนวนผู้ใช้บล็อกของเว็บไซต์พันทิปนั้นไม่ได้ลดลงเลย ในทางกลับกันกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีเครือข่ายสังคมออนไลน์รูปแบบใหม่ๆ ซึ่งได้รับความนิยม อย่างไฮไฟว์ เฟซบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ เกิดขึ้นมาก็ตาม โดยผู้ดูแล Bloggang ให้ความเห็นว่า เพราะลักษณะการใช้งานของไฮไฟว์ เฟซบุ๊ค และ ทวิตเตอร์นั้นมีความแตกต่างจากบล็อก โดยไฮไฟว์จะเน้นการบันทึกเรื่องราวส่วนตัว และการพูดคุยกับเพื่อนๆ ในเว็บไซต์ ส่วนเฟซบุ๊คนั้เน้นการพูดคุยสั้นๆ การเล่นเกม และเล่น Quiz ส่วนทวิตเตอร์ที่กำลังมาแรงมากนั้นจะเป็นรูปแบบการสื่อสารที่เน้นการพูดคุยทักทาย และติดตามผู้เล่นที่มีความน่าสนใจ ขณะที่บล็อกนั้นเน้นการบันทึกเรื่องราวต่างๆ และเป็นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน
“แม้หลายคนที่เล่นบล็อกจะสนใจเล่นเฟซบุ๊ค หรือ ทวิตตอร์แต่เขาก็ไม่ได้เลิกเล่นบล็อก เพราะลักษณะการใช้งานมันต่างกัน คนเล่นบล็อกจะเป็นคนที่ชอบบันทึก ชอบเขียนหนังสือ และแลกเปลี่ยนความเห็นกันแบบเป็นเรื่องเป็นราว เพียงแต่ระยะเวลาที่เล่นบล็อกอาจจะลดลง เช่น จากวันละ 3-4 ชั่วโมง เหลือ 2-3 ชั่วโมง เพราะเขาแบ่งเวลาไปเล่นเฟซบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ ดังนั้นบล็อกของเว็บพันทิปจึงไม่ได้รับผลกระทบอะไร ส่วนการพัฒนาปรับปรุงบล็อกนั้นเราจะเน้นเรื่องการพัฒนาฟังก์ชั่น เพิ่มลูกเล่นในการใช้งาน เพื่อขยายเครือข่ายสมาชิกให้เพิ่มขึ้นกว่ามาก”
ดูเหมือน “ซบเซา” เพราะ “หลากหลาย”
ขณะที่ “ป็อกกี้” ชายหนุ่มมาดเซอร์ที่หลงใหลการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ ด้วยหน้าที่การงานที่ทำให้เขามีโอกาสเดินทางอยู่บ่อยๆ ประกอบกับเป็นคนชอบขีดเขียนทำให้เขาเลือกที่จะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆที่เขาได้พบเจอระหว่างเส้นทางลงในบล็อก มากกว่าจะเก็บไว้ในความทรงจำเพียงคนเดียว ชื่อที่ใช้ในบล็อกก็เป็นชื่อเดียวกับชื่อเล่นของเขา คือ “POGGHI”
“บล็อกที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยวซึ่งเขียนอยู่ในปัจจุบันนั้นผมได้แรงบันดาลใจมาจากการทำงานซึ่งเราเดินทางบ่อยๆ และมีโอกาสได้เจอะเจออะไรมากมาย แล้วพอดีได้เข้าไปอ่านในห้องท่องเที่ยวของเว็บไซต์พันทิป ชื่อห้อง BluePlanet ทำให้รู้สึกว่าการไปเที่ยวด้วยตัวเองมันช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เราได้มาก แล้วผมเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับการเขียนหนังสืออยู่แล้วเลยคิดว่าน่าจะเก็บเรื่องราวการท่องเที่ยวของเราไว้ในรูปแบบของงานเขียนและแบ่งปันให้คนอื่นได้อ่านด้วยก็เลยมาเขียนไว้ในบล็อกของพันทิป ก็เขียนมาได้ปีกว่าๆ แล้ว คือเวลาผมไปเที่ยวผมจะเน้นการสัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คน อย่างสถานที่ดังๆ ที่เขาไปกันผมก็ไปแต่ผมพยายามเก็บมุมเล็กมุมน้อยที่คนเขาไม่ค่อยได้เจอแล้วมาถ่ายทอดลงบล็อก
“เท่าที่สังเกตเนี่ยผมว่าลักษณะของบล็อกที่เปิดตามเว็บไซต์ต่างๆ เช่น MBlog (บล็อกของเครือ ASTV ผู้จัดการ), OKnation (บล็อกของเครือเนชั่นฯ), BlogGang (ของเว็บไซต์พันทิป) และเว็บไซต์ที่มีลักษณะการใช้งานเหมือนบล็อก เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไฮไฟว์ มัลติพลาย (Multiply; เว็บไซต์ของกลุ่มคนที่สนใจการถ่ายภาพ) นั้นจะแตกต่างกันในด้านของรสนิยมในสังคมเว็บบอร์ด ส่วนใหญ่คนที่ชอบเข้าเว็บไหนก็มักจะเขียนหรืออ่านบล็อก ในเว็บนั้น เช่น BlogGang คนที่เข้ามาเขียนก็คือคนที่เล่นเว็บไซต์พันทิป แต่บางคนก็อาจะเขียนลงในหลายๆบล็อก นอกจากนั้นในบางบล็อกก็อาจจะแบ่งหมวดหมู่ตามความสนใจ ใครสนใจเรื่องไหน ก็เข้าไปเขียนและพูดคุยกันหัวข้อนั้น
อย่างไรก็ตาม “ป๊อกกี้” กลับให้ความเห็นแย้งต่อคำถามของเราว่า เขาไม่ได้รู้สึกว่าบล็อกเกอร์ในเมืองไทยนั้นลดจำนวนลง ในทางกลับกันกลับเพิ่มจำนวนขึ้นเสียอีก และด้วยจำนวนบล็อกเกอร์ชาวไทยที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการกระจายตัวของความสนใจเนื้อหาไปตามเว็บต่างๆ ทำให้ดูเหมือนว่าบล็อกที่เคยโด่งดังนั้นไม่ดังเหมือนแต่ก่อน
“ผมว่าตอนนี้คนเล่นบล็อกไม่ได้ลดลงนะ แต่เป็นเพราะว่ามีคนเขียนบล็อกเพิ่มขึ้นเยอะมากจนทำให้ดูเหมือนว่าความสนใจลดลง เพราะจากเมื่อก่อนคนที่เขียนบล็อกยังมีน้อยอยู่ ใครเขียนดี ก็จะมีคนตามเข้ามาอ่านเยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้มีบล็อกเกอร์เยอะมาก ทุกคนเป็นบล็อกเกอร์เป็นนักเขียนในบล็อกได้หมด ใครมีเรื่องอะไรก็เขียนมาลง ถ่ายรูปมาลงในบล็อกได้ ขณะที่เว็บไซต์ที่เปิดให้มีบล็อกก็มีเยอะขึ้น ทำให้มีเรื่องราวหลากหลายในบล็อกในเลือกอ่าน คนอ่านก็จะกระจายไปในหลายๆ เว็บ อ่านเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง ยอดคนอ่านแต่ละเรื่องที่ถูกเขียนในบล็อกก็เลยลดลง ก็เลยทำให้คนรู้สึกว่า เอ๊ะ! มันซาลงไปหรือเปล่า
“นอกจากนั้นมันยังมีเว็บไซต์ที่ทำขึ้นมาเพื่อสร้างสังคมในการติดต่อสื่อสารกัน ทั้งในลักษณะของการโพสข้อความ เรื่องราว หรือภาพถ่ายต่างๆ ทั้งที่เป็นข้อมูลส่วนตัว และเรื่องราวที่แต่ละคนสนใจ รวมทั้งมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เกิดขึ้นเยอะมากทั้งเฟซบุ๊ค ไฮไฟว์ ทวิตเตอร์ ซึ่งเว็บเหล่านี้มีคนนิยมเข้ามาเล่นเยอะมาก และมีลักษณะการใช้งานเหมือนกับบล็อกแต่ไม่ได้ถูกเรียกว่าบล็อก หรือหากกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือมีช่องทางการสื่อสารเพิ่มขึ้น หลากหลายขึ้น คนที่เข้ามาใช้บริการก็เยอะขึ้นด้วย” ป๊อกกี้ให้ความเห็น
“บล็อก” ยังพัฒนาได้อีก
แทนไท ประเสริฐกุล นักเขียนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาจากบล็อกเช่นกัน โดยมีชื่อที่รู้จักกันในโลกออนไลน์ว่า “yeebud” เขาเริ่มเล่นบล็อกเมื่อเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงที่ยังเป็นอาจารย์โรงเรียนมัธยม ด้วยความน่าสนใจของบทความ “โลกนี้มันช่างยีสต์” ที่แทนไทโพสต์ลงในบล็อกทำให้มีสำนักพิมพ์เข้ามาติดต่อขอนำบทความดังกล่าวไปรวมเล่มเป็นพ็อคเกตบุ๊ค ซึ่งผลงานของเขาก็ไม่ได้ทำให้ทางสำนักพิมพ์ผิดหวังเพราะ “โลกนี้มันช่างยีสต์” กลายเป็นหนังสือขายดิบขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง และส่งให้ชื่อของแทนไทกลายเป็นที่รู้จักบนถนนสายนักเขียน เป็นไอดอลของนักอ่านเด็กแนวที่แสวงหาความแปลกใหม่ในสไตล์ที่เป็นตัวของตัวเอง
“ความจริงก่อนที่จะมาเล่นบล็อกเนี่ยผมยังไม่รู้จักเลยว่าบล็อกคืออะไร ตอนนั้นผมเรียนปริญญาโทอยู่และได้มาทำงานพิเศษเป็นอาจารย์สอนหนังสือเด็กมัธยม แล้วผมชอบทำอะไรตลกๆ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผมมองว่ามันตลกก็คือเขียนไดอารี่เล่าเรื่องตลกๆ แล้วให้นักเรียนมาอ่านกัน คือมันเริ่มจากผมชอบทำอะไรเสียดสีล้อเลียน เริ่มจากเล่น MSN แล้วพอดีมีเด็กนักเรียนส่งข้อความมาว่าพี่แทนช่วยไป ‘เมนต์ได (คอมเมนต์ไดอารี่)’ ให้หน่อย คือสมัยนั้นเขายังไม่เรียกบล็อกนะ เขาเรียกย่อๆ ว่า ไดฯ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะไดอารี่ออนไลน์ เป็นการบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ผมก็เลยรู้ว่า อ๋อ! ... เด็กมาเขียนเล่าเรื่องว่าวันนี้เขาทำอะไร ผมก็เลยคิดว่าน่าจะลองมาเขียนบ้าง แต่แทนที่จะเล่าเรื่องที่มันน่ารักน่าชังก็เขียนแต่เรื่องที่มันตลกๆ มีความซวยอะไรเกิดขึ้นในวันนั้น เช่น วันนี้มีนกขี้ใส่หัว ตอนนั้นผมเขียนลงในเว็บไซต์ www.storythai.com ซึ่งเป็นไดอารี่ออนไลน์ ตอนนี้ก็ยังมีอยู่นะ แต่ปัจจุบันจะมีบล็อกหลายเจ้ามากขึ้น
“ผมว่าบล็อกมันเป็นชุมชนที่แลกเปลี่ยนความเห็น และเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ในเรื่องต่างๆ อย่างผมเคยทำตู้ปลาและเข้าไปในบล็อกของคนชอบตู้ปลาก็จะมีบรรดาเกจิด้านการจัดตู้ปลาประสบการณ์ 10-20 ปี เข้ามาให้ข้อมูล เขาก็แนะนำเช่นว่า วิธีกรองน้ำตู้ปลาต้องทำยังไง บางบล็อกมันอาจจะไม่ได้เขียนโดยคนๆ เดียว อาจเป็นทีมงานหนึ่งที่ช่วยกันเขียน ทำให้เรามีทางเลือกในการบริโภคสื่อเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องที่เป็นสาระและความบันเทิง ที่สำคัญคุณจะคลิกเข้าไปดูเมื่อไรก็ได้หรือจะดาวน์โหลดมาเก็บไว้ก็ได้ ไม่เหมือนทีวีที่ออกอากาศ ณ เวลานั้นแล้วก็หายไป ไม่เหมือนสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถ้าไม่ตัดเก็บไว้ก็หายไปเหมือนกัน บางคนที่พูดคุยกันในบล็อกแล้วถูกคอก็มานัดเจอและเป็นเพื่อนกันไปเลยก็มี มีการจัด Blog Meeting เกิดเป็นสังคมใหม่ๆ ขึ้น
“ส่วนที่บางคนรู้สึกว่ากระแสบล็อกมันซาลงเนี่ยถ้าให้วิเคราะห์ผมว่าเป็นเพราะตอนนี้มีคนเข้ามาเขียนบล็อกเยอะ ความสนใจของคนอ่านมันก็กระจายออกไป จำนวนที่จะเข้าไปดูในแต่ละบล็อกก็เลยไม่มาก ต่างจากช่วงแรกที่มีคนเขียนบล็อกเด่นๆ อยู่ไม่กี่คน ถ้าใครเขียนอะไรที่น่าสนใจขึ้นมาสักชิ้น คนที่จะเข้ามาอ่านในช่วงสัปดาห์หนึ่งอาจจะเป็นร้อยเป็นพันเลยรู้สึกว่ามันได้รับความนิยม แต่ปัจจุบันมีคนเขียนเป็นหมื่นคน ความสนใจมันก็ถูกเฉลี่ยออกไป ทำให้ดูเหมือนว่ากระแสความนิยมมันลดลง ทั้งๆ ที่จริงๆ คนที่เล่นบล็อกมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะ”
สำหรับอนาคตบล็อกในเมืองไทยนั้น แทนไทระบุว่า ส่วนตัวก็ยังมองไม่ออก แต่ตนเองอยากให้บล็อกเติบโตขึ้นอีก และมีวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย
“ผมอยากให้มันหยั่งรากลึกเพราะผมว่ามันเป็นช่องทางการสื่อสารที่ดีมาก อย่างงานเขียนที่อยู่ในบล็อกเนี่ยมันเป็นเหมือนสินค้าโอท็อปที่ทำจากมือผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่ต้องผ่านกองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ ซึ่งเขาอาจจะรีไรต์หรือขอปรับเปลี่ยนตรงนั้นตรงนี้ นอกจากนั้นคุณยังต้องถูกเซ็นเซอร์อีกร้อยแปดประการ เช่น พิมพ์เป็นพ็อคเกตบุ๊คออกมาแล้วจะขายได้ไหม เนื้อหาเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายไหม คือมันมีอีกหลายคนเข้ามามีส่วนกำหนดความเป็นไปของงานมากกว่าเจ้าของงานเขียนเอง ทำให้งานเป็นไปตามกลไกของตลาดหรือค่านิยมของสังคม แต่ถ้าเขียนลงในบล็อกเจ้าของผลงานมีอิสระเต็มที่
“จริงๆ แล้วคำว่า ‘บล็อก’ ในปัจจุบันมันไม่ได้จำกัดแค่การเขียนแล้ว บางคนจัดรายการเพลง รายการทีวีของตัวเองผ่านบล็อก ซึ่งเผยแพร่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต มีทั้งรายการที่มีแต่เสียงและรายการที่มีทั้งภาพทั้งเสียง ปัจจุบันในเมืองนอกจะมีแบบนี้เยอะมาก และโดยส่วนตัวก็ถือเป็นสื่อหลักที่ผมบริโภคเลย คืออย่างผมสนใจเรื่องหนังมันก็จะมีบล็อกรีวิวหนังฮิตของเมืองนอกเยอะแยะไปหมด มีการจัดรายการประจำทุกสัปดาห์เลย บางทีผมก็ดาวน์โหลดมาฟังเวลารถติด ซึ่งรายการนี้จะมีแฟนๆ เข้ามาฟังเยอะมาก พอเขาฟังรีวิวเกี่ยวกับหนังใหม่ในรายการปุ๊บ ก็จะมาอ่านรายละเอียดในบล็อก แล้วก็เข้าไปโพสต์ในเว็บบอร์ด เจ้าของรายการก็จะเอาคำถามต่างๆ บนเว็บบอร์ดมาตอบในรายการในตอนต่อๆ ไป บางคนจัดรายการที่เหมือนรายการที่ออกอากาศตามทีวีเลย ในประเทศไทยก็น่าจะเริ่มมีรายการในลักษณะนี้แล้วนะ ซึ่งการจัดรายการผ่านเว็บไซต์นี่มันง่ายมาก ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ถ้าเป็นรายการวิทยุก็แค่มีเครื่องอัดเสียง ถ้าเป็นรายการทีวีก็มีกล้องวิดีโอตัวเดียว อยากรวมพลคนคิดเหมือนกันก็ทำได้ง่ายดายมาก” แทนไทพูดถึงสถานการณ์บล็อกในต่างประเทศ และแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ รูปแบบการสื่อสารในสังคมออนไลน์ที่เรียกว่า ‘บล็อก’ ยังคงอยู่คู่กับโลกใบนี้ และคงเป็นเรื่องยากที่จะเลือนหายไปในระยะเวลาอันใกล้ ก็เพราะบล็อกสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนที่แม้จะชื่นชอบรูปแบบการสื่อสารใหม่ๆ ที่มีความทันสมัย สะดวก รวดเร็ว ทันใจ แต่อีกด้านหนึ่งผู้คนก็ยังคงโหยหาความละเมียดละไมของภาษาที่ถูกเรียงร้อยเป็นถ้อยคำ อยากค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องต่างๆ ในเชิงลึก เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัวในด้านต่างๆ รวมถึงการเก็บบันทึกข้อมูล ความทรงจำ และความรู้เอาไว้ให้กับตัวเองและคนรุ่นต่อๆ ไปด้วย
//////////////
เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ – วารี น้อยใหญ่