นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันล้นพ้นแก่กองทัพเรือ เมื่อ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปทรงแสดงพระอัจฉริยภาพทางดนตรี โดยทรงเครื่องดนตรีจีน “กู่เจิง” ร่วมกับวงดุริยางค์ราชนาวี ในงานการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน ครั้งที่ 4 ณ ประเทศไทย” ที่ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมฯ
โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เพิ่งทรงได้รับการถวายพระสมัญญาว่าเป็น “ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน” ที่ชาวจีนมีความรู้สึกผูกพันเสมอเหมือนมิตรที่ดีที่สุดจากประเทศจีนเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.52 เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการแสดงในครั้งนี้ด้วย
การแสดงครั้งนี้เป็นไปตามพระราชปณิธานของ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ที่มีพระราชประสงค์ในการหารายได้สมทบทุนโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง เพื่อบรรเทาและต่อต้านภัยจากโรคมะเร็ง
ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมาน-จักรพรรดิ สีงาช้าง ยกดิ้นทองส่องประกายสดใสเมื่อต้องแสงไฟ สายพระเนตรที่มั่นคงและนิ้วพระหัตถ์ที่บรรจงกรีดลงบนเครื่องดนตรีกู่เจิง อย่างพริ้วไหวและอ่อนช้อยนั้น เป็นภาพอันงดงามปรากฏให้เห็นโดยทั่วกัน
ทั้งนี้ พระองค์ทรงเครื่องดนตรีกู่เจิงจำนวน 5 เพลง พร้อมกับแบ่งการแสดงออกเป็น 2 ภาค โดยภาคแรกได้แก่ เพลงระบำเผ่าอี้ ซึ่งแต่เดิมเป็นเพลงบรรเลงดนตรีโดยพิณผีผา ซึ่งเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ นายหวัง ฮุ่ยหราน ต่อมาได้รับการดัดแปลงให้เป็นเพลงที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีกู่เจิง ตามด้วย เพลงเผ่าไทย อันเป็นบทเพลงสุดท้ายก่อนที่จะปิดการแสดงในช่วงแรก
เดิมทีเพลงนี้เป็นทำนองเพลงดั้งเดิมของไทยที่มีชื่อว่า “ขับไม้บันเฑาะว์” ซึ่งต่อมาภายหลัง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ประพันธ์เนื้อร้องใหม่และพระราชทานชื่อเพลงว่า “เผ่าไทย” โดยเนื้อหาของเพลงบ่งบอกถึงความรักความสามัคคีของคนไทย ที่คงไว้ด้วยความกล้าหาญและการเสียสละ เพื่อชาติได้อย่างลึกซึ้งในทุกถ้อยคำของบทประพันธ์ ต่อมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ทรงมีพระราชประสงค์ให้นายหลี่ ฮุย นักแต่งเพลงชาวจีนนำมาเรียบเรียงใหม่ เพื่อใช้เล่นกับเครื่องดนตรีกู่เจิงกับวงดุริยางค์เต็มคณะ
จากนั้นก็เข้าสู่การแสดงช่วงที่ 2 ซึ่ง ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ทรงฉลองพระองค์ชุดกี่เพ้าสีแดงที่ทรงกู่เจิงใน เพลงเมฆตามพระจันทร์ บทเพลงที่เรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยความงดงามอ่อนหวาน ผลงานประพันธ์ของ นายเหริน กวง ซึ่งหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ทรงสดับท่วงทำนองอันไพเราะนี้ ก็ทรงรู้สึกประทับพระทัยอย่างลึกซึ้ง และทรงมีรับสั่งว่า “ลักษณะของดนตรีเพลงเมฆตามพระจันทร์ สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างของข้าพเจ้าได้”, ต่อมาเป็นเพลง ซุนเต้าลาซา (ฤดูใบไม้ผลิที่ลาซา) ซึ่งเป็นเพลงของประเทศทิเบตที่เปี่ยมล้นไปด้วยเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยแสดงออกถึงความร่าเริงสนุกสนาน ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่มาถึงเมืองลาซา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของทิเบต
ไฮไลต์ของการแสดงในค่ำคืนนั้นคือ “เพลงสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” อันเป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นเป็นพิเศษสำหรับงานแสดงดนตรีและวัฒนธรรม “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ด้วยเนื้อทำนองที่แสดงถึงความใกล้ชิดอบอุ่น แต่เปี่ยมด้วยพลังของความสัมพันธ์อันแนบแน่นของ 2 ชนชาติ จึงทำให้บทเพลงนี้ดังกังวาลไปทั่วทั้งแผ่นดินไทย-จีน อันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีงามที่ทั้ง 2 ประเทศมีต่อกันมาอย่างยาวนาน
หลังทรงดนตรีจบ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานช่อดอกไม้จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่เสด็จมาชื่นชมในพระปรีชาสามารถของพระขนิษฐา