xs
xsm
sm
md
lg

“ฉายานักการเมือง-คนดัง” กระจกสะท้อนปรากฎการณ์สังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ได้ฉายาว่า ‘หล่อหลักลอย’
ช่วงก่อนสิ้นปี ถือเป็นประเพณีของสื่อมวลชนไทยไปแล้วในการตั้งฉายาให้แก่ บุคคลในแวดวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง ผู้มีชื่อเสียงหรือนักร้องดาราที่ประชาชนให้ความสนใจ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงนั้นๆ ในรอบปีที่ผ่านมา

นักข่าวกลุ่มแรกที่มีประเพณีการในการตั้งฉายาให้กับแหล่งข่าว ก็คือ “นักข่าวการเมืองประจำทำเนียบรัฐบาล” หรือที่แวดวงสื่อสารมวลชนเรียกผู้สื่อข่าวสายนี้สั้นๆ ว่า “นักข่าวทำเนียบฯ” โดยหากย้อนกลับไปในอดีต นักข่าวทำเนียบฯ นั้นมีประเพณีการตั้งฉายาให้แก่ ผู้นำประเทศคือนายกรัฐมนตรีไทยและสมาชิกในคณะรัฐมนตรีติดต่อกันมายาวนานถึงเกือบ 30 ปีแล้ว และนอกจากฉายานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแล้วนักข่าวทำเนียบฯ ยังมีการเลือก “วาทะแห่งปี” ซึ่งมาจากวลีเด็ดของนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้นๆ ด้วย

รัฐบาลแรกที่ถูกนักข่าวทำเนียบตั้งฉายาก็คือรัฐบาลของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงปี พ.ศ.2523-2531) ซึ่งครั้งนั้น พลเอกเปรมได้ฉายาว่า “เตมีย์ใบ้” เนื่องจากเป็นนายกฯ ที่มีบุคลิกสุขุม ทำงานหนัก แต่พูดน้อย อย่างไรก็ดีก็มีบางปีที่สื่อประจำทำเนียบฯ งดเว้นการตั้งฉายาให้แก่รัฐบาล เช่น ช่วงพฤษภาทมิฬฯ เมื่อปี 2535 ซึ่งเกิดวิกฤตการเมืองรุนแรง หรือในปีที่รัฐบาลในขณะนั้นดำรงตำแหน่งไม่ครบ 1 ปี เช่น สมัยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และ รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นต้น

อัมพา สันติเมทนีดล ผู้สื่อข่าวเอเอสทีวีและนักข่าวอาวุโส ซึ่งเคยประจำอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลมายาวนานนับสิบปี ได้เล่าถึงการตั้งฉายารัฐบาลในแต่ละยุคสมัย ว่า

“การตั้งฉายารัฐบาลของนักข่าวสายทำเนียบฯนั้นเริ่มมีในสมัยที่ พลเอกเปรมเป็นนายกฯ โดยท่านได้ฉายาว่า ‘เตมีย์ใบ้’ เพราะบุคลิกเด่นของท่านคือพูดน้อย ก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างเดียว ส่วนวาทะแห่งปีก็คือ ‘กลับบ้านเถอะลูก’ เพราะ ปกติทุกเย็นนักข่าวจะไปรอสัมภาษณ์ท่านที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พอท่านลงมาท่านก็มักจะไม่พูดอะไร บอกแต่ว่า ‘กลับบ้านเถอะลูก’ ต่อมายุคของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ได้รับฉายาว่า ‘รัฐบาลเพลย์บอย’ เพราะบุคลิกของพลเอกชาติชายจะคล้ายกับเพลย์บอย ส่วนฉายา ‘บุฟเฟต์คาบิเนต’ ซึ่งหลายคนคุ้นหูนั้นนักข่าวไม่ได้เป็นคนตั้ง แต่มาจากการให้สัมภาษณ์ของอาจารย์ประเวศ วะสี นักวิชาการอาวุโส ซึ่งท่านพูดถึงการทำงานของรัฐบาลพลเอกชาติชายว่ามีลักษณะเป็น ‘บุฟเฟต์คาบิเนต’

เมื่อมาถึงยุคของนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ท่านก็ได้รับฉายาว่า ‘ผู้ดีรัตนโกสินทร์’ เพราะนอกจากท่านจะเป็นนายกฯ ที่มีความรู้สูง มีบุคลิกและการพูดจาเป็นผู้ดีอย่างมากแล้ว ในสมัยท่านแทบจะไม่มีข่าวคราวเรื่องคอร์รัปชั่นเลย ต่อมาก็เป็นยุค รัฐบาลชวน 1 (ชวน หลีกภัย) ซึ่งคุณชวนได้ฉายาว่า ‘ช่างทาสี’ เนื่องจากท่านมักออกหน้ารับประกันแทนลูกพรรคที่ได้รับการวิจารณ์ว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริต เปรียบเสมือนกับการทาสีดำให้เป็นขาว และวาทะแห่งปีคือ ‘ยังไม่ได้รับรายงาน’ ซึ่งเป็นคำพูดที่คุณชวนมักตอบกับนักข่าวที่มาสัมภาษณ์ ตามด้วยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็นนายกฯที่ได้ฉายาว่า ‘หลงจู๊’ เพราะมีลักษณะการทำงานที่ชอบล้วงลูก ส่วนสมัยของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ท่านได้ฉายาว่า ‘จิ๋วหวานเจี๊ยบ’ เพราะท่านเป็นคนพูดเพราะ พูดหวานกับทุกคน ต่อมายุครัฐบาลชวน 2 คุณชวนได้ฉายาอีกว่า ‘นายประกันชั้น 1’ เพราะรัฐบาลชุดชวน 2 มักเอาคุณสมบัติเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตของคุณชวนมารับประกันพฤติกรรมของรัฐบาล

สำหรับรัฐบาลทักษิณ 1 (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) คุณทักษิณได้ฉายาว่า ‘เศรษฐีเหลิงลม’ เพราะเมื่อพ้นจากคดีซุกหุ้นในช่วงแรกที่เข้ามารับตำแหน่งแล้ว ท่านก็มีลักษณะก้าวร้าว หลงในอำนาจ ส่วนรัฐบาลทักษิณ 2 คุณทักษิณได้รับฉายาว่า ‘พ่อมดมนต์เสื่อม’ เพราะภาพเดิมที่คนมองว่าเป็นเทวดา เนรมิตได้ทุกเรื่อง กลับกลายเป็นพ่อมดที่ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ขณะที่รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ฉายาว่า ‘รัฐบาลขิงแก่’ เพราะคณะรัฐมนตรีมีแต่ผู้สูงอายุและอดีตข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว และล่าสุดรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ท่านก็ได้ฉายาว่า ‘หล่อหลักลอย’ เพราะเป็นนายกฯที่มีภาพลักษณ์ หน้าตา และการศึกษาดี แต่ไม่สามารถจัดการกับรัฐมนตรีที่ปัญหาความโปร่งใสเหมือนที่เคยประกาศไว้ได้”

อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 สมัยรัฐบาลนายสมัครและนายสมชาย แม้จะไม่มีการตั้งฉายารัฐบาลจากสื่อมวลชน แต่กลับมีนักวิชาการอย่าง นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลุกขึ้นมาตั้งฉายาให้รัฐบาลแทน โดยรัฐบาลนายสมัครได้รับฉายาจากนายธีรยุทธว่า “รัฐบาลลูกกรอก 1” เนื่องจาก มีลักษณะการทำงานเป็นเพียงนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งชักใยอยู่เบื้องหลังรัฐบาล ส่วนรัฐบาลของนายสมชายนั้นได้รับฉายาสุดเก๋ไก๋ว่า “รัฐบาลชายกระโปรง” เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่จ้องหาประโยชน์ พยายามผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญจนให้เกิดวิกฤติการเมืองอย่างรุนแรง และสั่งให้มีการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 อันส่งผลให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

“รัฐสภา” ฉายาสุดเจ็บ

ด้านนักการเมืองฝั่งนิติบัญญัติซึ่งประกอบไปด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ทำงานในรัฐสภาก็ถูกนักข่าวการเมืองสายสภาฯ ตั้งฉายาอย่างดุเด็ดเผ็ดมันไม่แพ้ฝั่งรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร โดยว่ากันว่านักข่าวประจำรัฐสภาเริ่มมีการตั้งฉายาให้แก่นักการเมืองในสายนิติบัญญัติในสมัยรัฐบาลชวน 2 หรือเมื่อประมาณ 15-16 ปีที่ผ่านมา

อดิศร วงศ์ศรศักดิ์ ผู้สื่อข่าว นสพ.แนวหน้า และนักข่าวอาวุโสประจำรัฐสภา เล่าถึงการตั้งฉายานักการเมืองในซีกนิติบัญญัติ ให้ฟังว่า

“ปกติทุกๆปีเราก็จะเห็นว่า พอถึงปีใหม่นักข่าวสายทำเนียบเขาจะตั้งฉายารัฐบาลกัน พอช่วงปี 2536-2537 คือในช่วงรัฐบาลชวน 2 (ชวน หลีกภัย) นักข่าวสภาเราก็เลยคุยกันว่าการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาเนี่ยก็มีความสำคัญนะ เพราะมีหน้าที่พิจารณากฎหมายสำคัญๆ และเป็นฝ่ายที่คานอำนาจกับรัฐบาล ดังนั้นก็ควรมีการตั้งฉายาให้แก่นักการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติด้วย ซึ่งฉายาก็จะมี 10 คน 10 ตำแหน่งด้วยกัน คือ ฉายาสภาผู้แทนราษฎร ฉายาวุฒิสภา ฉายาประธานรัฐสภา ฉายาประธานวุฒิสภา ฉายาผู้นำฝ่ายค้าน ดาวเด่น-ดาวดับ คู่กัดแห่งปี คนดีศรีสภา เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสภา และวาทะแห่งปี โดยฉายาเหล่านี้จะเป็นกระจกสะท้อนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงปรากฎการณ์ทางการเมืองบางอย่างด้วย

อย่างเช่นมีอยู่ปีหนึ่งวาทะแห่งปีคือ ‘ระวังไม่มีแผ่นดินจะอยู่’ ซึ่งมาจากการตอบโต้ระหว่างคุณชวน (ชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์) กับคุณทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร) คือ คุณทักษิณเขาบอกคุณชวนผ่านสื่อว่า ‘เล่นการเมืองมาก ระวังจะไม่มีการเมืองให้เล่น’ คุณชวนก็สวนกลับไปว่า ‘ผมไม่มีเวทีเล่นการเมืองไม่เป็นไร แต่คนที่มีอำนาจแล้วใช้อำนาจอย่างบ้าคลั่งระวังจะไม่มีแผ่นดินจะอยู่’ และวันนี้คุณทักษิณก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ถ้าถามว่าฉายาปีไหนโดนใจผมที่สุด ก็คงเป็นฉายาเมื่อปี 2548 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ฉายาว่า ‘ปลอกคอพันธุ์ชิน’ ส่วนวุฒิสภาได้ฉายาว่า ‘สภาทาส’ เพราะมันตรงมาก ตอนนั้น ส.ส. ในสภาส่วนใหญ่ตกอยู่ในอาณัติของคุณทักษิณคนเดียว วุฒิสภาก็เหมือนกัน” ผู้สื่อข่าวเจนสนามการเมืองจาก นสพ.แนวหน้า กล่าว

52 ปีแรกของฉายาตำรวจ

ล่าสุดในปี 2552 นี้ แวดวงสีกากีก็มีการตั้งฉายาเช่นกัน โดยปีนี้เป็นปีแรกที่สมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมได้มีการตั้งฉายาให้แก่บรรดานายตำรวจระดับสูงเพื่อเป็นกระจกสะท้อนการทำงานของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ อย่างไรก็ดีในช่วงที่ยังไม่ตั้งเป็นสมาคม ยังมีสถานะเป็นชมรมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมอยู่ ทางคณะกรรมการชมรมก็ได้จัดให้มีการประกวดผลงานและมอบรางวัลข้าราชการ “ตำรวจยอดเยี่ยม” แห่งปี เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ

นายไพโรจน์ เทศนิยม นายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรม เปิดเผยว่า ในปีนี้ผู้สื่อข่าวซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมฯเห็นตรงกันว่าน่าจะตั้งฉายาตำรวจบ้าง เพราะผู้สื่อข่าวสายงานอาชญากรรมซึ่งทำงานใกล้ชิดกับแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมานำเสนอต่อสายตาประชาชนจนเป็นที่ยอมรับของสังคม และเฝ้าดูการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดทั้งปีที่ผ่านมา โดยเกณฑ์การตั้งฉายาให้นายตำรวจนั้นทางสมาคมได้ประชุมกับผู้สื่อข่าวที่เป็นคณะกรรมการบริหารสมาคม เป็นตัวแทนจากสื่อสังกัดต่างๆ โดยแต่ละคนจะนำรายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงหรือระดับนายพลที่มีความสำคัญต่อองค์กรมารวมกัน และคัดทีละชื่อ จนเหลือเพียง 10 คน ซึ่งตำรวจแต่ละนายจะมีข่าวที่โดดเด่นในรอบปี และเป็นที่หน้าจับตามองของสื่อมวลชน และสังคมในงานที่ดีและไม่ดี

“เมื่อเราโหวตได้รายชื่อมาแล้ว ก็จะต้องทำการให้ฉายา โดยเอามาเปรียบเทียบกับบุคลิกลักษณะและผลงาน ซึ่งการที่ผู้สื่อข่าวให้ฉายาตำรวจแต่ละนายนั้นก็เพื่อเป็นกระจกเงาที่สะท้อนกลับไปให้เจ้าตัวได้เห็นว่าไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตามสื่อมวลชนเฝ้าจับตามองคุณอยู่ คุณจะทำอะไรที่ดีหรือไม่ดีเราสื่อมวลจะนำเสนอให้สังคมได้รับทราบแน่นอน ฉายาที่สื่อมวลชนให้ บางท่านก็ชอบ บางท่านก็ไม่ชอบ แต่ขอให้ทราบไว้ว่าฉายาเล่านั้นมันเกิดขึ้นเพราะการกระทำของคุณเอง” ไพโรจน์กล่าว

ทั้งนี้ ฉายานายตำรวจที่น่าสนใจในปีนี้คือ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ฉายาว่า “ผบ.สแตนด์บาย” เนื่องจาก พล.ต.อ.ปทีป ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ โดยได้รับการสนับสนุนจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แต่ว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. กลับล่มหลายครั้ง นายอภิสิทธิ์จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป เป็นรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ 29 กันยายน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีกำหนดว่า พล.ต.อ.ปทีป จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. อย่างเป็นทางการเมื่อไร

ขณะที่ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ได้รับฉายา “จุ๋ม ชิงดำ” เนื่องจากขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะ ประธาน ก.ต.ช. เสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีปให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.เพียงชื่อเดียว ที่ประชุมก็มีมติ 5 ต่อ 4 คัดค้านและได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.จุมพล ให้เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ นายอภิสิทธิ์ ในฐานะประธานที่ประชุมก็จึงสั่งปิดประชุมทันที ส่งผลให้ พล.ต.อ.จุมพล มีสิทธิ์เพียงเข้าลุ้นตำแหน่ง ผบ.ตร. จนถึงทุกวันนี้

ฉายาดารา ยิ่งฉาวยิ่งดัง

สำหรับแวดวงบันเทิง ก็เป็นวงการหนึ่งที่ประชาชนให้ความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาจนต้องมีการตั้งฉายาให้แก่บุคคลในแวดวง โดยสมาคมภาพยนตร์แห่งชาติได้เริ่มมีการตั้งฉายาให้แก่นักร้องดาราทั้งหลายในปี 2548 ทว่า ดำเนินการได้เพียงปีเดียวก็หยุดไป ขณะเดียวกันในปีต่อมาสมาคมนักข่าวบันเทิงก็ได้ตั้งฉายาให้กับบุคคลในแวดวงบันเทิงเช่นกัน และดำเนินการติดต่อกันมาเป็นปีที่ 4 แล้ว

“น้อย” ทัศน์สรวง วรกุล นายกสมาคมนักข่าวข่าวบันเทิง ให้ข้อมูลกับ ASTVผู้จัดการว่า สมาคมนักข่าวบันเทิงเริ่มมีการตั้งฉายาดาราและคนในแวดวงบันเทิงตั้งแต่เมื่อปี 2549 ซึ่งถือเป็นการสร้างสีสันส่งท้ายปี

“อย่างฮอลลีวูด หรือวงการการเมืองเขาก็มีการตั้งฉายากันเป็นประจำทุกปี ดาราก็เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงซึ่งประชาชนให้ความสนใจเช่นกัน ทางสมาคมฯ จึงคิดว่าเราน่าจะการตั้งฉายาให้ดาราบ้าง ซึ่งวิธีการตั้งฉายานั้นเราก็จะให้นักข่าวสายบันเทิงแต่ละสำนักเสนอชื่อพร้อมกับฉายา และเหตุผลในการตั้งฉายาของดาราเข้ามา แล้วเราก็มาคัดชื่อที่ได้รับการเสนอมากที่สุด 10 ชื่อ จากนั้นก็มาคุยกันว่าฉายาที่เสนอมานั้นเหมาะสมไหม แรงไปหรือเปล่า ถ้าแรงไปก็อาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

ส่วนใหญ่ฉายาที่ออกมาก็จะออกแนวจิกกัดและมักเป็นไปในทางลบ เพราะเราก็เลือกมาจากดาราที่มีเรื่องราวที่คนสนใจในปีนั้นๆ บางครั้งอาจจะดูแรงนิดหนึ่ง แต่ถ้ามองในแง่บวกดาราที่ถูกตั้งฉายานั้นถือว่าดีนะเพราะแปลว่านักข่าวให้ความสนใจ เป็นปีที่ดาราคนนี้ฮอตจริงๆ นอกจากนั้นหลังจากที่มีการตั้งฉายาชื่อของดาราคนนั้นๆ ก็กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกกล่าวถึงไปอีกนาน ซึ่งดาราบางคนก็อาจมีงอนๆ บ้าง แต่ก็งอนไม่นาน” นายกสมาคมนักข่าวบันเทิงกล่าว

สำหรับดารานักร้องที่ได้รับความนิยม จนถูกตั้งฉายามากกว่าหนึ่งครั้งนั้นมีหลายคนด้วยกัน เช่น “เบิร์ด” ธงไชย แมคอินไตย ซึ่งครั้งแรกได้ฉายาจากสมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เมื่อปี 2548 ว่า “ดาวค้างกรุ” และครั้งที่ 2 ได้รับฉายาจากสมาคมนักข่าวบันเทิง เมื่อปี 2550 ว่า “ป๋าพันปี” โดยมาจากเหตุผลเดียวกันคือเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดังมานาน “แหม่ม” แคทลียา แมคอินทอช ได้ฉายาจากสมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เมื่อปี 2548 ว่า “เจ้าหญิงกำมะลอ” จากข่าวช็อกวงการที่ตอนแรกเธอปฏิเสธว่าไม่ได้ตั้งท้องแต่สุดท้ายก็ต้องออกมายอมรับทำให้ภาพที่คนทั่วไปมองว่าเธอเป็นเจ้าหญิงนั้นเป็นแค่ภาพลวงตา และ ได้รับฉายาจากสมาคมนักข่าวบันเทิงอีกครั้ง เมื่อปี 2550 ว่า “กู่ไม่กลับ” เพราะหลังจากถูกสังคมแอนตี้กรณีโกหกว่าไม่ได้ท้องจนต้องหอบลูกไปอยู่ต่างประเทศพักหนึ่ง หลังกลับเข้าสู่วงการเธอก็ไม่สามารถเรียกเรตติ้งคืนมาได้อีก

ขณะที่ “ฟลุ๊ค” เกริกพล มัสยวาณิช ก็ถูกตั้งฉายาจากจากสมาคมนักข่าวบันเทิง 2 ปีซ้อน โดยในปี 2550 ได้ฉายาว่า “คาสโนวาฆ่าไม่ตาย” เพราะภาพของหนุ่มนักรักที่เปลี่ยนคู่ควงบ่อย และในปี 2551 ได้ฉายา “คาสโนวาบ้าของแพง” ซึ่งนอกจากเจ้าตัวจะคงความเป็นคาสโนวาไว้ไม่เสื่อมคลายแล้วเขายังโชว์ความเป็นไฮโซกระเป๋าหนักระหว่างที่คบกับ “แพง” ขวัญข้าว เศวตวิมล นอกจากนั้นยังมี “อั้ม” พัชราภา ไชยเชื้อ ซึ่งได้ฉายา “เต้าเงินล้าน” จากสมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เมื่อปี 2548 หลังจากสร้างความฮือฮาด้วยการโชว์อึ๋มออกงาน ทำให้มีงานโฆษณาเข้ามามากมายจนกลายเป็นเจ้าแม่พรีเซ็นเตอร์และเป็นนางเอกระดับแม่เหล็กของช่อง 7 สี ขณะที่ในปี 2550 อั้มก็ยังได้ฉายาจากสมาคมนักข่าวอีกว่า “เพื่อนรักช่วยหักเหลี่ยม” จากกรณีมนต์รักมินิคูเปอร์ที่เธอเข้าไปช่วยเพื่อนรัก “เมย์” เฟื่องอารมย์ เคลียร์ปัญหากับ “เข็ม” กฤตธีรา อินพรวิจิตร ซึ่งมีข่าวพัวพันกับ “หนุ่ม” กรรชัย กำเนิดพลอย หวานใจของเมย์

จากการที่ผู้สื่อข่าวในสายต่างๆ มีโอกาสได้สัมผัสกับตัวจริง ตัวเป็นๆ ของ นักการเมือง ดารา คนดัง ในแวดวงต่างๆ อย่างใกล้ชิดมาตลอดทั้งปี การตั้งฉายาเหล่านี้ก็อาจถือได้ว่าเป็นกระจกชั้นดีที่สะท้อนถึงปรากฎการณ์และพฤติกรรมของบุคคลในแวดวงนั้นๆ ในห้วงเวลานั้นๆ และทำให้ผู้ที่ได้รับฉายาในเชิงบวกน่าจะมีกำลังใจในการเดินหน้าทำความดีต่อไป ขณะเดียวกันผู้ที่ได้ฉายาในเชิงลบก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน หากนำฉายาเหล่านี้ไปขบคิด แก้ไข และปรับปรุงตนเอง เพื่อให้สมกับการที่ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลสาธารณะและแบบอย่างของคนในสังคม

* * * * * * * * * * * *

เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน

อัมพา สันติเมทะนีดล ผู้สื่อข่าวเอเอสทีวีและนักข่าวอาวุโส ซึ่งเคยประจำอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลมายาวนานนับสิบปี
อดิศร วงศ์ศรศักดิ์ ผู้สื่อข่าว นสพ.แนวหน้า และนักข่าวอาวุโสประจำรัฐสภา
นายไพโรจน์ เทศนิยม  นายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรม
 ทัศน์สรวง วรกุล นายกสมาคมนักข่าวข่าวบันเทิง
นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทักษิณ ชินวัตร และ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์  2 อดีตนายกฯ  ซึ่งคนหนึ่งกลายเป็นนักโทษชาย  ขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นรัฐบุรุษ
นายชวน หลีกภัย  อดีตนายกรัฐมนตรี  เจ้าของฉายา  ‘ช่างทาสี’ และ ‘’นายประกันชั้น 1’
เหล่าดาราที่ได้ฉายาจากสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง ในปี 2552
พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้ฉายาว่า “ผบ.สแตนด์บาย”
พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เจ้าของฉายา “จุ๋ม ชิงดำ”
กำลังโหลดความคิดเห็น