xs
xsm
sm
md
lg

รักดอก จึงตั้ง (ฉายา) ให้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แอฟ-ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ แบ๊วตีนปลาย

กลายเป็นธรรมเนียมไปซะแล้วว่า เมื่อถึงเวลาสิ้นปีเมื่อไหร่ บรรดานักข่าวสายต่างๆ ก็มักจะตั้ง 'ฉายา' ให้แก่บุคคลในข่าวที่มีความโดดเด่น เป็นประเด็นที่กล่าวขานกันทั่วเมือง หรือเงียบหายอย่างไร้ร่องรอย (ทั้งๆ ที่ควรมีข่าวบ้าง) ในช่วงตลอด 1 ปีนี้

โดยคนในข่าวที่ดูจะโดดเด่นมากๆ คงต้องยกให้ 3 สายวงการนี้ 'การเมือง' 'บันเทิง' และ 'อาชญากรรม' เพราะถือเป็นวงการที่ผู้คนจับจ้องอยู่ตลอดเวลา และเปิดโทรทัศน์ทีไรก็ต้องเจอหน้าบุคคลในข่าวเหล่านี้เสมอ จนบางครั้งก็รู้สึกเบื่ออยากจะเมินหน้าหนีไปให้ไกลๆ จอทีวีเลยก็มี


1.

จุดเริ่มต้นของการตั้งฉายาของบรรดาผู้สื่อข่าวนั้น ก็คงต้องยกเครดิตให้แก่ผู้สื่อข่าวสายการเมืองประจำทำเนียบรัฐบาลที่เป็นผู้ริเริ่มการตั้งฉายาให้กับรัฐมนตรี
โดยระยะแรกนั้น การตั้งฉายานั้นยังทำกันอย่างไม่เป็นทางการเท่าใดนัก แต่จะอาศัยพฤติกรรมและลักษณะของคนในข่าวว่าเป็นอย่างไรบ้างอย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีมักถูกเรียกว่า 'เตมีย์ใบ้' ซึ่งมีที่มาจากรัฐบุรุษผู้นี้ให้สัมภาษณ์กับสื่อน้อยครั้งมาก หรือไม่ก็ตัดบทการสนทนาด้วยคำพูดที่ว่า “กลับบ้านเถอะลูก...”

หรือแม้แต่คนที่ชอบฝันกลางวันอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก่อนจะมาเป็นว่า 'พ่อเป็ด...เหลิม' เขาก็เคยถูกเรียกขานจากสื่อมวลชนว่า 'เหลิม ดาวเทียม' เพราะสมัยที่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เขามีพฤติกรรมชอบเข้าไปบงการสื่อในมือด้วยตัวเอง โดยครั้งหนึ่งเขาถึงกับสั่งให้องค์การสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยเอาดาวเทียมไปตั้งไว้ใกล้ๆ กับกองทัพบกเพื่อสืบดูความเคลื่อนไหวของเหล่าบิ๊กๆ ทหารว่ามีแผนอะไรเตรียมการไว้บ้าง

จนกระทั่งในช่วงปี 2537 ซึ่งเป็นสมัยของรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ครั้งที่ 1 บรรดานักข่าวหัวเห็ดทั้งหลายจึงเห็นสมควรว่า ควรจะมีการตั้งฉายาของรัฐบาลและรัฐมนตรีที่โดดเด่นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวสักที

สำหรับกระบวนการคัดเลือกและตั้งฉายานั้น สุภางค์ ศิริเดช นักข่าวสายการเมืองประจำทำเนียบ หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน เล่าว่า ขั้นตอนแรกคือการเรียกประชุมนักข่าวทุกคน เพื่อลงมติว่า ถึงเวลาสมควรแล้วหรือยังที่จะตั้งฉายาให้แก่รัฐมนตรี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว หากรัฐบาลทำงานมาครบปี ทุกคนก็มักจะเห็นด้วย เว้นแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยทธ์ จุลานนท์ ซึ่งทุกคนมองว่าอีกไม่นานรัฐบาลก็พ้นหน้าที่แล้วก็เลยไม่ตั้งดีกว่า

แต่ในกรณีที่รัฐบาลทำงานมาได้เพียง 2-3 เดือน ก็มักไม่มีการตั้งฉายา เพราะทุกคนรู้สึกว่าน่าจะให้โอกาสรัฐบาลได้ทำงานไประยะหนึ่งก่อน

หลังจากประชุมรอบแรกเสร็จ จะมีการปล่อยให้นักข่าวแต่ละคนได้เสนอชื่อรัฐมนตรีที่คิดว่ามีความโดดเด่น อยู่ในกระแสข่าว หรือไม่ก็คนที่โลกลืม ทำนองว่า 'คนนี้ก็เป็นรัฐมนตรีกับเขาด้วยนะ' มาถกเถียงว่าจะเอาใครดี โดยผู้เสนอแต่ละคนจะไล่เรียงคุณสมบัติของบรรดา ฯพณฯ เหล่านั้นว่า ทำไมต้องมีฉายากับเขาด้วย เมื่อได้ครบแล้วก็จะมีการปล่อยให้ทุกคนโหวตอย่างอิสระเสรีและเปิดเผย หลังจากนั้นก็จะนำ 9 รายชื่อรัฐมนตรีที่ได้รับคะแนนสูงสุด บวกกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งฉายากัน โดยกระบวนการนี้ก็จะเหมือนกับกระบวนการคัดเลือกชื่อรัฐมนตรีทุกประการ โดยให้โอกาสทุกคนได้เสนอฉายา จากนั้นก็จะให้คนเสนอออกมาพูดว่า ฉายาที่ตนเสนอนั้นดีอย่างไร

ตัวอย่างเช่น ฉายาในปี 2547 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีชื่อเข้ารอบมากถึง 8 ชื่อ นั่นคือ 'นายกฯ...สุดยอด' 'ยอดพหูสูต' 'ประธานาธิบดีประเทศไทย' 'เพชรกระดาษ' 'เทวดาขาลง' 'นายกฯ จานด่วน' 'ช่างซ่อมสมัครเล่น' ซึ่งสุดท้ายชื่อ 'นายกฯ จานด่วน' ก็ชนะใจกรรมการ แต่ด้วยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีบุคลิกชอบแสดงตัวเป็นผู้นำในทุกๆ เรื่อง จนบางครั้งก็ไม่ค่อยฟังใคร ก็เลยถูกเปลี่ยนจากคำว่า 'นายกฯ' เป็น 'ผู้นำ' แทน


2.

หลังจากที่นักข่าวสายทำเนียบฯ สามารถยึดหัวหาดของการตั้งฉายา บรรดาผู้สื่อข่าวสายอื่นๆ ก็เริ่มอยากทำตามบ้าง ที่เห็นจะตามมาติดๆ คงเป็นคู่แฝดของนักข่าวทำเนียบรัฐบาลอย่างนักข่าวสายรัฐสภา โดยในแต่ละปีก็มีสีสันไม่แพ้กัน เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่าบรรดาผู้ทรงเกียรติแต่ละคนนั้นใช่ย่อยกันซะที่ไหน ที่โดดเด่นก็อย่างเช่นฉายาของนายโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ 'นิติกู' ซึ่งได้รับหลังจากอดีตนักกฎหมายมือหนึ่งจากฝรั่งเศสผู้นี้ตีความกฎหมายเข้าข้างรัฐบาลทักษิณตลอด หรืออย่างฉายา “ประธานสุ (ชิน)” ของนายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา หลังใช้ตำแหน่งรับใช้ทักษิณราวกับเป็นวงศาคณาญาติของตระกูล 'ชินวัตร' ยังไงยังงั้น

นอกจากนักข่าวสายรัฐสภาแล้ว สายอาชญากรรมก็เป็นอีกสายหนึ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กัน อย่างปีล่าสุดก็มีการตั้งฉายาที่สร้างความฮือฮาอย่างมากให้แก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่า 'งึกๆ งักๆ' หลังจากที่ไม่สามารถตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้สำเร็จสักที

ไพโรจน์ เทศนิยม นายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย เล่าถึงเกณฑ์การตัดสินฉายาแต่ละคนว่า สมาคมฯ จะประชุมกับนักข่าวที่เป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ จำนวน 20 คนซึ่งมาจากสังกัดต่างๆ โดยแต่ละคนจะนำรายชื่อตำรวจมารวมกัน และคัดทีละคน จนเหลือ 10 นาย โดยตำรวจแต่ละนายนั้นก็มักจะเป็นบุคคลที่มีข่าวโดดเด่นในรอบปี และเป็นที่หน้าจับตามองของสื่อมวลชนและสังคม ทั้งในภารกิจการงานที่ดีและไม่ดี

และเมื่อโหวตได้รายชื่อครบแล้ว ก็จะตั้งฉายาให้แต่ละคนโดยเปรียบเทียบกับบุคลิกลักษณะและผลงานที่ผ่านมา อย่างเช่น พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้รับฉายาว่า 'น.1 เทพประทาน' เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่านายตำรวจปักษ์ใต้ผู้นี้ได้รับการสนับสนุนจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี

อีกสายข่าวหนึ่งที่ได้รับการจับตามองจากประชาชนมากที่สุด ก็เห็นจะไม่พ้น 'ข่าวบันเทิง' นั่นเอง

ทัศน์สรวง วรกุล นายกสมาคมนักข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย เล่าว่า สมาคมฯ เริ่มต้นให้ฉายามาได้ 3-4 ปีแล้ว โดยสาเหตุก็มาจากการที่สื่อมวลชนแต่ละสำนักอยากให้มีอะไรที่เป็นสีสันในช่วงปลายปีบ้าง

โดยเกณฑ์การคัดเลือกก็ไม่ได้แตกต่างจากบรรดานักข่าวสายอื่นๆ มากนัก เช่นการให้นักข่าวเสนอชื่อบรรดาดาราและนักแสดงที่มีความโดดเด่นแต่ละปีมา 10 คน หลังจากนั้นก็ค่อยมีการเสนอตั้งฉายาจากแต่ละสำนักข่าว โดยแต่ละฉายาที่ถูกนำเสนอนั้นจะต้องสามารถอธิบายความเป็นตัวตนของนักแสดงคนนั้นได้ และที่สำคัญต้องเป็นคำที่คนส่วนใหญ่รับได้

อย่างฉายาดาราที่เพิ่งคลอดออกมาหมาดๆ เช่น นาธาน โอมาน ที่ได้รับฉายาสมกับพฤติกรรมนินจาที่ยากจะหาใครมาเลียนแบบว่า 'ลับ ลวง แหล' หรือแม้แต่ผู้จัดการชื่อดังอย่าง เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร ก็ยังไม่เว้น เพราะปีนี้ถูกตั้งฉานาซะแรงว่า 'นักฉกไร้ยางอาย' หลังจากที่ผ่านมาถูกกล่าวหาจากนักปั้นรุ่นพี่ว่า แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นนักปั้นแต่เป็นนักฉก โดยเฉพาะกรณี มาริโอ้ เมาเร่อ ที่เธอชิงตัวมาจาก 'โกโก้-นิรุณ ลิ้มสมวงศ์' นักปั้นชื่อดังอีกคน

3.

หากจะว่าไปแล้ว การตั้งฉายานั้นถือเป็นเรื่องปกติของวงการสื่อมวลชนมาที่มีมาอย่างยาวนานแล้ว เพราะถ้าสังเกตดูคนดังแต่ละวงการก็มักจะมีฉายากันทั้งนั้น เช่นวงการนักการเมือง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีก็มีฉายา 'ฤๅษีเลี้ยงลิง' ส่วนวงการตำรวจอย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ก็มีฉายาว่า 'วีรบุรุษนาแก' หรือแม้แต่อดีตนางเอกชื่อดัง เพชรา เชาวราษฎร์ ก็ยังถูกเรียกว่า 'นางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง'

สำหรับในมุมของนักวิชาการอย่าง อาจารย์มานพ แย้มอุทัย อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าสาเหตุหลักๆ ของการตั้งฉายาก็คงมาจากการที่สื่อมวลชนต้องการลดความตึงเครียดของการนำเสนอข่าวลง โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ซึ่งถือเป็นช่วงที่ผู้คนมีความสุข

ดังนั้นจึงมีการตั้งฉายาขึ้นมา เพื่อให้ผู้บริโภคข่าวสารรู้สึกสนุกสนานกับการอ่านข่าว และที่สำคัญการตั้งชื่อแบบนี้ยังเปรียบเสมือนกับการเขียนไดอารีเพื่อบันทึกและสรุปเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดในตลอด 1 ปีด้วย

“บุคคลที่ถูกตั้งฉายาก็ค่อนข้างมีความโดดเด่น หรือเป็นที่กล่าวขวัญในรอบปี ซึ่งฉายาที่ออกมาก็จะมีลักษณะเหน็บแหนม หรือวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ได้รุนแรงอะไรมาก คือตั้งขึ้นเพื่อความครื้นเครง อย่างสมัยก่อน มีการตั้งฉายาให้พรรคชาติไทยว่าพรรคปลาไหล เพราะสมัยมีหนังชื่อเรื่องพ่อปลาไหล ที่พระเอกของเรื่องเป็นพวกกะล่อน ไหลไปทั่ว ซึ่งมันก็เข้ากับลักษณะของพรรคพอดีที่ยอมพลิกขั้วไปมากับ พล.อ.เปรม ซึ่งต่อมาฉายานี้มักเกิดติดหูติดปากขึ้นมา จนกลายเป็นฉายาพรรคจนถึงวันทุกวันนี้”

อย่างไรก็ตาม การตั้งฉายาในปัจจุบันเริ่มใช้ถ้อยคำที่รุนแรงมากขึ้นทุกที จนบางครั้งก็สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่ได้รับฉายา หลายคนต้องออกมาตอบโต้อย่างรุนแรงก็มี

“แต่เดิมการตั้งฉายามักมาจากบรรดาผู้อาวุโสที่มีความสนิทชิดเชื้อกับผู้อาวุโสของสภาฯ หรือตำรวจ ซึ่งตั้งเพื่อหยอกล้อซะมากกว่า แต่หลังๆ พอมันเริ่มขยายวง เพราะฉะนั้นบางกรณีก็อาจจะกลายเป็นการคาดคั้นไป หลายคนที่ได้รับฉายาก็จะมองว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง เรื่องนี้มันก็ขึ้นอยู่กับคนที่วิพากษ์วิจารณ์นั่นแหละ ถ้าคนที่ไม่ยึดติดก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่ก็จะกลายเป็นเรื่องต่อล้อต่อเถียงขึ้นมา”

ในขณะที่นายกสมาคมนักข่าวบันเทิงฯ ยอมรับว่ามีการตั้งฉายาแรงๆ ก็จะมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ฉายาที่ได้นั้นก็มักจะมาจากพื้นฐานนิสัยของบรรดาคนในข่าวเหล่านั้น และที่สำคัญนักข่าวก็รู้ขอบเขตในการตั้งดีว่าควรเป็นอย่างไร

“น้องๆ คนไหนที่ได้รับการตั้งฉายาก็อย่าคิดมาก อย่าไปโกรธ เพราะจริงๆ แล้วคนที่ได้รับฉายาก็มีงานเยอะทุกทีนะ (หัวเราะ) จริงๆ มันเป็นการหยิกแกมหยอกของพี่ๆ นักข่าวมากกว่า และแต่ละฉายาก็มีที่มานะ บางฉายาที่บางสื่อเสนอมาแรงกว่านี้เยอะ แต่เราก็ไม่คัดเลือกเอา เพราะเราเน้นเหมาะสม บนพื้นฐานความไม่หยาบคาย”

ส่วนไพโรจน์ จากสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมฯ กล่าวว่าการประเคนฉายาให้นายตำรวจของนักข่าว ก็เป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนให้เจ้าตัวหรือผู้ที่อยู่เบื้องหลังได้เห็นว่า ไม่ว่าพวกท่านจะทำอะไรก็ตาม สื่อมวลชนจะเฝ้าจับตามองอยู่ไม่คลาดสายตา แน่นอนบางฉายาผู้รับอาจจะชอบหรือไม่ชอบ แต่อย่างน้อยฉายาเหล่านี้ก็เกิดมาจากการกระทำของพวกเขาเองทั้งนั้น

4.

เล่าถึงที่มาและกระบวนการแล้ว คราวนี้จะลองหันมาดูที่ผู้รับฉายากันบ้างว่า เขารู้สึกกันอย่างไรบ้าง

แน่นอนว่า หากเป็นฉายาที่ดูดี ผู้รับส่วนใหญ่ก็มักจะยิ้มแก้มปริ น้อมรับด้วยความยินดี อย่าง พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับฉายาว่า 'ดาราสีกากี' ก็ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อด้วยอาการดีใจสุดๆ ว่าที่ได้รับฉายานี้ ก็คงมาจากการทำงานด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุกที่สัมฤทธิผล ทำให้ประชาชนรับรู้ว่าตำรวจทำอะไรบ้าง รวมถึงใส่ใจกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงสีกากี

แต่หากเป็นฉายาที่ออกมาในแง่ลบ ผู้รับส่วนใหญ่ก็คงไม่พอใจเท่าใดนัก โดยเฉพาะวงการบันเทิง ซึ่งที่ออกมาโวยบ้างแล้ว ก็อย่างแม่ของนางเอกสาว 'พลอย' เฌอมาลย์ บุณยศักดิ์ ที่ถูกตั้งฉายาว่า 'นางเอกร้อยเล่มเกวียน' ซึ่งให้สัมภาษณ์กับนักข่าวทันทีที่รู้ข่าวว่า ขอปฏิเสธไม่รับฉายานี้อย่างเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นคำที่มีความหมายที่ไม่ดีงาม หรือเป็นคนมารยาเยอะ

“เราไม่ใช่คนโกหก เราเป็นคนตรงๆ ขอร้องเถอะค่ะอย่าทำอะไรให้มันเสื่อมกว่านี้ น้องพลอยไม่มีฉายาค่ะ เค้าเป็นแค่นักแสดงเท่านั้น คือถ้าตั้งให้ในฐานะนักแสดงเป็นนักแสดงที่เล่นได้หลายร้อยเล่มเกวียนอันนั้น เราโค้งคำนับ แต่นี่เป็นเพราะเรื่องผู้ชายเราไม่เอา”

……….

หากจะว่าไปแล้ว การตั้งฉายาประจำปีนั้นก็ถือเป็นสีสันอย่างหนึ่งของวงการสื่อสารมวลชน หลายๆ ฉายาอาจจะดูเจ็บแสบ หรือเล่นแรงไปซะหน่อย แต่อย่างน้อยๆ ฉายาเหล่านี้ก็ถือเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญว่าเคยเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยบ้าง

..........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ งึกๆ งักๆ
ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ประธานหลักเลื่อน
ชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์
นาธาน โอมาน ลับ ลวง แหล
พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผช. ผบ.ตร. ดาราสีกากี
พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ รอง ผบช.ก. นักสืบพฤติกรรมศาสตร์
พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น.  น.1 เทพประทาน
กำลังโหลดความคิดเห็น