ปธ.สหภาพฯรฟท. พร้อมสมาชิก สร.รฟท. รวมตัวชุมนุมด้านหน้ากระทรวงคมนาคม เรียกร้องให้ รมว.กระทรวงคมนาคม ทำการปลดผู้ว่าฯ การรถไฟ ออกจากตำแหน่งภายใน 7 วัน ระบุการบริหารงานที่ผ่านมาล้มเหลว โดยเฉพาะกรณีรถไฟตกราง อ.หัวหิน เป็นการโยนความผิดให้กับพนง. ทำให้พนักงานขับรถต้องตกเป็นจำเลยของสังคมฝ่ายเดียว
วันนี้ (12 ต.ค.) นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง แถลงสรุปการสอบสวนสาเหตุรถไฟตกรางที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากการสอบสวน พนักงานขับรถยอมรับว่า มีโรคประจำตัว คือโรคความดัน ในวันเกิดเหตุได้กินยาแก้แพ้ และยาลดไข้ แต่ไม่ได้ดื่มสุรา จึงมีอาการง่วงซึมและวูบ ขณะผ่านสถานีวังพง แต่ยอมรับว่าในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา หยุดงานเพียง 1 วัน
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสรุปว่า พนักงานขับรถไฟมีความผิด เพราะมีการนำขบวนรถฝ่าอาณัติสัญญาณที่ให้หยุดรอรับใบเปลี่ยนหลีกทางที่สถานีวังพง จนเกิดอุบัติเหตุ จึงลงโทษไล่ นายเริงศักดิ์ พันธ์เทพ พนักงานขับรถไฟขบวนดังกล่าวออกจากงาน สำหรับช่างเครื่อง มีความผิดไม่ช่วยพนักงานขับรถปฏิบัติตามกฎการเดินรถ มีโทษปรับลดเงินเดือน 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 10 เดือน ส่วนพนักงานรักษาขบวนรถ มีความผิดไม่ปฏิบัติตามระเบียบการหลีกขบวนรถ มีโทษปรับเงินเดือน 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 10 เดือนเช่นกัน
สำหรับการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ภายในขบวนรถพบว่า อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ เนื่องจากเป็นขบวนรถใหม่ วิ่งเส้นทางระหว่างประเทศมาแล้ว และผ่านการตรวจสภาพ มีการซ่อมใหญ่ไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ดังนั้นผู้บริหารการรถไฟฯ จึงไม่มีความผิดกรณีนี้
ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) พร้อมสมาชิก สร.รฟท. จำนวนหนึ่งรวมตัวชุมนุมที่ด้านหน้ากระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องให้นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาปลดนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ รฟท.ออกจากตำแหน่งภายใน 7 วัน จากการบริหารงานที่ล้มเหลว ทำให้หมดความชอบธรรมในการบริหารงาน โดยเฉพาะกรณีขบวนรถด่วน ที่เกิดอุบัติเหตุบริเวณสถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธุ์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งมีการระบุว่า สาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุดังกล่าวคือความล้มเหลวจากการบริหารงาน เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 28 กรกฎาคม 2541 ที่ควบคุมอัตรากำลังของพนักงานทำให้ขาดแคลนอัตรากำลัง เจ้าหน้าที่ต้องทำงาน 7 วันไม่มีวันพักผ่อน ทำให้เกิดเหตุอันตราย เพราะพนักงานรถจักรที่ต้องรับผิดชอบสูงด้านความปลอดภัยของขบวนรถติดต่อกัน และไม่มีเวลาพักผ่อน
พร้อมทั้งระบุว่า ผู้ว่าการ รฟท.ไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอยกเลิกมติดังกล่าว และไม่มีการพูดถึงรถจักรที่ขาดแคลนและสภาพไม่สมบูรณ์ อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลไม่ครบ ไม่พูดถึงความเสียสละจากการทำงานของพนักงาน ทำให้พนักงานขับรถต้องตกเป็นจำเลยสังคมฝ่ายเดียว สร.รฟท.จึงเห็นว่าผู้บริหาร รฟท. อยู่ในข่ายไม่เอาใจใส่ และประมาทจากการบริหารงาน และต้องแสดงความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ ประธาน สร.รฟท.ได้มีการติดตั้งเต็นท์และเครื่องขยายเสียงด้านหน้ากระทรวงคมนาคม พร้อมประกาศจะปักหลักชุมนุมขับไล่ผู้ว่าการ รฟท. ยืดเยื้อไม่มีกำหนด