เป็นที่ทราบและสั่งสอนกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณว่า ชีวิตมนุษย์ดำรงอยู่ด้วยปัจจัย 4 อันประกอบไปด้วย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ทว่า สำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบันในกระแสโลกานุวัตร กลับมี “ปัจจัย” อื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นมาเป็น ปัจจัยที่ ห้า หก เจ็ด ...
สำหรับคนวัยทำงาน เมื่อกล่าวถึงปัจจัยที่ 5 ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตแล้ว เชื่อว่ากล่าวร้อยละ 70-80 ต้องนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า “ยานพาหนะ” (เด็กรุ่นใหม่บางคนสมัยนี้บอกว่า โทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยที่ 5 คอมพิวเตอร์เป็นปัจจัยที่ 6 และ อินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยที่ 7 ต่างหาก) และก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง นอกจากบ้าน-ที่อยู่อาศัยแล้วสิ่งที่เรียกว่า “ยานพาหนะ” นั้นถือเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาค่างวดสูงติดอันดับต้นๆ โดยคนส่วนใหญ่จำเป็นต้องเก็บหอมรอมริบ ใช้เวลาเป็นปีๆ เพื่อเก็บเงินหรือผ่อนส่งรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์คันหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อ “รถยนต์-รถจักรยานยนต์” กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง อีกทั้งยังเป็นสังหาริมทรัพย์ที่สามารถเคลื่อนที่ไปยังแห่งและหนต่างๆ ได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ “สังหาริมทรัพย์” ประเภทนี้จึงตกเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของเหล่ามิจฉาชีพทั้งหลาย
ทุกวันนี้ การโจรกรรมรถยนต์ดูจะเป็นปัญหาอาชญากรรมสำคัญอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ยี่ห้อรถที่มีสถิติสูญหายมากที่สุด ในหมวดของรถยนต์ ได้แก่ “ฮอนด้า แจ๊ซ” รองลงมาคือ “ฮอนด้า ซิตี้” ส่วนรถกระบะ ได้แก่ “โตโยต้า วีโก้” ขณะที่รถจักรยานยนต์ได้แก่ “ฮอนด้า เวฟ” รองลงมาคือ “ฮอนด้า คลิก” และพื้นที่ที่มีรถหายมากที่สุดก็คือกรุงเทพมหานคร โดยเขตที่มีสถิติรถหายมากที่สุด ได้แก่ เขตบางกะปิ รองลงมาคือ ดินแดง ตามด้วย จตุจักร วังทองหลาง และคลองเตย ตามลำดับ
แก๊งโจรกรรมรถเหล่านี้มีวิธีการอย่างไรบ้าง เครือข่ายขบวนการตั้งแต่เริ่มขโมยไปจนถึงการแปลงสภาพและส่งออกขายเป็นเช่นไร และผู้ใช้รถจะมีวิธีการป้องกันรถไม่ให้ถูกโจรกรรมอย่างไร หลายคนคงอยากรู้......
พ.ต.ท.อรรถพร สุริยเลิศ รองผู้กำกับศูนย์สืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลและหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ เปิดเผยกับ ASTVผู้จัดการ ว่า จากสถิติของศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ พบว่าปัจจุบันมีสถิติรถหายทั่วประเทศประมาณ 20,000 คันต่อปี โดยเป็นรถจักรยานยนต์ จำนวน 10,000 กว่าคัน รถยนต์และรถกระบะ จำนวน 2,000–3,000 คัน ซึ่งเขตกรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีสถิติรถจักรยานยนต์และรถยนต์หายมากที่สุด คือประมาณ 7,500 คันต่อปี โดยแบ่งเป็นจักรยานยนต์ประมาณ 6,000 คัน เป็นรถยนต์และรถกระบะประมาณ 1,000 กว่าคัน หรือเฉลี่ยมีรถหายเดือนละกว่า 100 คัน
นอกจากนั้น จากข้อมูลสถิติที่เจ้าของยานพาหนะได้แจ้งผ่านทางรายการ สวพ. FM 91 เพื่อให้ช่วยติดตามรถหายนั้น พบว่าสถานที่ซึ่งจอดรถแล้วถูกกลุ่มคนร้ายโจรกรรมไปนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่จอดรถประจำ โดยสถานที่จอดประจำที่มีอัตราเสี่ยงรถหาย
อันดับ 1 ได้แก่ ที่จอดรถริมถนนและหน้าบ้านพักอาศัย
อันดับ 2 ได้แก่ ลานจอดรถของอาคารที่พักอาศัย ประเภท หอพัก อพาร์ตเมนต์ คอนโด และแมนชั่น
อันดับ 3 ได้แก่ ลานจอดรถของการเคหะฯ
อย่างไรก็ดี พ.ต.ท.อรรถพร ระบุว่า แม้สถานที่จอดรถชั่วคราวจะมีอัตราการโจรกรรมรถน้อยกว่านั้นก็ไม่ควรประมาท โดยจากสถิติพบว่า สถานที่จอดรถชั่วคราวที่ว่าจัดเป็นพื้นที่เสี่ยง
อันดับ 1 ได้แก่ ลานจอดรถของตลาดสด
อันดับ 2 ได้แก่ ลานจอดรถห้างสรรพสินค้า
อันดับ 3 ได้แก่ ลานจอดรถของสถานบันเทิง และร้านอาหาร
อันดับ 4 ได้แก่ ลานจอดรถของศาสนสถาน เช่น วัด ศาลหลักเมือง
อันดับ 5 ได้แก่ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือปั้มน้ำมัน
อันดับ 6 ได้แก่ สถานที่พักผ่อน ท่องเที่ยว สวนหย่อม และสวนสาธารณะ
นอกจากนี้ยังพบว่า มีสถานที่เสี่ยงซึ่งคนส่วนใหญ่คิดไม่ถึงว่าคนร้ายจะกล้าลงมือโจรกรรมรถยนต์ไป ได้แก่ ศูนย์บริการ อู่ซ่อมรถยนต์ สถาบันการศึกษา สมาคม บริเวณริมถนนซึ่งผู้ขับขี่จอดรถนอนหลับพักสายตา หรือแม้กระทั่งลานจอดรถใต้ทางด่วนฯ สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ รวมถึงโรงแรม
“รถที่ถูกขโมยส่วนใหญ่จะเป็นรถที่ตลาดหรือผู้ซื้อต้องการ โดยปกติก่อนที่จะออกโจรกรรมรถนั้นแก๊งลักรถจะต้องทราบความต้องการของฝ่ายผู้สั่งซื้อหรือนายหน้าส่งออกก่อนว่าต้องการรถอะไร ยี่ห้อ รุ่น ขนาด สี หรือที่เรียกกันว่า ‘ใบสั่ง’ จากนั้นแก๊งพวกนี้ก็จะออกตระเวนไปในที่ต่างๆ เพื่อหารถตามใบสั่ง โดยส่วนมากจะหารถจากในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพราะมีรถตามที่ต้องการมาก วิธีการโจรกรรมก็มีอยู่หลายวิธี ทั้งวิธีการเก่าๆ และที่ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่ผสมผสานกัน ซึ่งคนร้ายจะทำการศึกษาวิธีการและกลไกการป้องกันการโจรกรรมรถของเจ้าของรถอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นแม้ว่าจะมีอุปกรณ์ป้องกันการขโมยรถใหม่ๆ ออกมาตลอด แก๊งลักรถก็หาทางขโมยไปจนได้ ” พ.ต.ท.อรรถพรได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถที่เป็นเป้าหมายของการโจรกรรม
15 วิธีโจรกรรมยอดฮิต
สำหรับวิธีการที่คนร้ายใช้ในการโจรกรรมรถนั้น หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ ระบุว่าจากการรวบรวมข้อมูลพบว่าปัจจุบันคนร้ายมีวิธีการที่หลากหลายถึงประมาณ 70 วิธีเลยทีเดียว โดย 15 วิธีการโจรกรรมยอดนิยม ได้แก่
1.งัดหูช้าง คนร้ายจะใช้เครื่องมืองัดหูช้างออก แล้วเอามือล้วงเข้าไปเปิดสลักหรือค้นล็อกประตู เปิดประตูรถเข้าไป แล้วใช้ไขควงงัดกระปุกกุญแจสตาร์ทออก ต่อไฟตรง เพื่อติดเครื่องยนต์แล้วขับหลบหนีไป
2.ใช้กุญแจปลอม คนร้ายจะทำกุญแจเลียนแบบกุญแจของรถชนิดที่ต้องการลักไว้หลายๆ ขนาด (รอยหยัก) แล้วเลือกลองใช้ทุกดอกที่ทำไว้ ถ้าเปิดประตูรถได้ คนร้ายก็จะเปิดประตูแล้วติดเครื่องยนต์ขับหลบหนีไป
3.ลอกแบบกุญแจ คนร้ายจะใช้วิธีสร้างความสนิทสนมกับเด็กบริการล้างอัดฉีดรถตามสถานบริการจำหน่ายน้ำมัน แล้วว่าจ้างให้เอาดินน้ำมันพิมพ์แบบกุญแจรถของจริงตามที่มีผู้สั่งซื้อไว้ โดยมีค่าจ้างในการจัดทำ คันละ 200-250 บาท โดยเด็กบริการล้างอัดฉีดจะเก็บแบบพิมพ์กุญแจดินน้ำมัน พร้อมจดหมายเลขทะเบียนรถคันนั้นไว้ให้ด้วย ต่อจากนั้นคนร้ายจะไปว่าจ้างร้านทำกุญแจทั่วไปทำกุญแจปลอมตามแบบพิมพ์ในราคาดอกละ 10-20 บาท เมื่อได้กุญแจแล้วก็จะออกตระเวนติดตามรถคันดังกล่าวเพื่อโจรกรรม
4.สร้างกุญแจ คนร้ายจะทำกุญแจในแบบและรูปทรงต่างๆ โดยไม่มีรอยหยัก ของรถตามชนิดที่ต้องการ (ระบุไว้ในใบสั่งซื้อ) แล้วเอาน้ำหมึกอินเดียอิงค์สีดำทาไว้ปล่อยให้แห้งสนิท เมื่อพบรถที่ต้องการคนร้ายจะเอากุญแจแบบรูปทรงที่ทำไว้สอดเข้าไปในรูกุญแจประตูรถแล้วบิดหมุน เพื่อให้เกิดร่องรอยที่น้ำหมึกอินเดียอิงค์ ดึงเอากุญแจออก นำไปเซาะร่องตามรอยที่ปรากฏอยู่ เมื่อวัดทำกุญแจเรียบร้อยแล้วคนร้ายก็จะออกติดตามรถคันนั้น เมื่อสบโอกาสก็จะทำการโจรกรรมทันที
5.ใช้ลวดเกี่ยวปุ่มล็อกประตูรถ รถบางชนิดที่ไม่มีหูช้าง คนร้ายจะใช้วิธีดึงกระจกที่บานประตูให้เผยอเพียงเล็กน้อย และถ้าเจ้าของปิดกระจกไม่สนิทก็ยิ่งเป็นโอกาสให้เกิดความสะดวกแก่คนร้ายมากขึ้น ต่อจากนั้นคนร้ายจะใช้ลวดทำเป็นห่วงที่ปลาย สอดเข้าไปดึงปุ่มล็อกประตูออก เปิดประตูเข้าไปในรถ ต่อไฟฟ้าสายตรง สตาร์ทเครื่องยนต์แล้วขับหลบหนีไป
6.ใช้ไขควงฉาก คนร้ายจะทำไขควงชนิดหน้าแบน ขนาดยาวประมาณ 1 ฟุต (รวมความยาวของด้าม) ที่ตอนปลายไขควง ตรงความยาวประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวไขควง ดัดงอเป็นมุมฉาก ใช้ปลายไขควงสอดเข้าไปในรูกุญแจประตูรถ งัดอย่างแรง กระปุกกุญแจประตูจะแตกและหลุดออกมา สามารถเปิดประตูรถ เข้าไปต่อไฟฟ้าสายตรง เพื่อติดเครื่องยนต์แล้วขับหลบหนีไป
7.งัดฝาถังน้ำมัน มีรถหลายชนิดฝาถังน้ำมันอยู่ภายนอกและกุญแจเปิดฝาถังน้ำมัน กุญแจเปิดประตูรถ และกุญแจติดเครื่องยนต์ ใช้ดอกเดียวกัน คนร้ายจะใช้กุญแจเลื่อนขนาดใหญ่งัดเอาฝาน้ำมันไปทำกุญแจ โดยอาศัยร่องรอยจากรูกุญแจของฝาถังน้ำมัน เมื่อทำเสร็จแล้วจะได้ทั้งกุญแจสำหรับไขประตูรถ และติดเครื่องยนต์
8.ใช้น้ำกรด คนร้ายจะใช้น้ำกรดใส่ขวด และมีลูกยางหรือเข็มฉีดยาพร้อมหลอด ดูดน้ำกรดจากขวดน้ำไปหยอดหรือฉีดเข้าไปในรูกุญแจประตูรถ น้ำกรดจะเข้าไปทำลายช่องกุญแจ ทำให้สามารถเปิดประตูเข้าไปในรถได้ แล้วใช้วิธีต่อไฟฟ้าสายตรงเพื่อติดเครื่องยนต์แล้วขับหลบหนีไป
9.เปิดกระจกหลังรถ คนร้ายจะใช้ไขควงงัดยางขอบกระจกหลังรถออก แล้วเปิดกระจกออกด้วยแรงดึงซึ่งกระทำด้วยความชำนาญ คนร้ายหรือลูกมือที่ใช้วิธีการนี้ส่วนใหญ่จะเคยเป็นช่างถอดหรือใส่กระจกมาก่อน เมื่อถอดกระจกออกได้แล้วจะมุดตัวเข้าไปในรถ แล้วใช้วิธีต่อไฟฟ้าสายตรง เพื่อติดเครื่องยนต์ แล้วขับรถหลบหนีไป
10.ใช้เหล็กเขี่ยสลักล็อกประตู คนร้ายจะทำเหล็กเป็นลักษณะแบนหรือกลม หรือใช้ไขควงตัวเล็กๆ แหย่เข้าไปในรูใต้หูจับเปิดรถ แล้วเขี่ยสลักล็อกประตูรถ เปิดประตูเข้าไปในรถ ใช้วิธีต่อไฟฟ้าสายตรง เพื่อติดเครื่องยนต์ ขับหลบหนีไป
11.ใช้กุญแจพิเศษ คนร้ายจะใช้เหล็กที่แข็งเป็นพิเศษทำเป็นหยักหรือร่องถี่ๆ มีขนาดความหนาเท่ากับกุญแจรถทั่วๆไป กุญแจพิเศษนี้มีความแข็งมากเป็นพิเศษ เมื่อใส่เข้าไปในรูกุญแจประตูรถแล้วบิดด้วยความแรง ความแข็งของกุญแจพิเศษจะงัดร่องในกุญแจประตูรถให้หักหรือไม่อยู่ในสภาพเดิม สามารถเปิดประตูเข้าไปในรถได้ ต่อไฟฟ้าสายตรงเพื่อติดเครื่องยนต์แล้วขับหลบหนีไป
12.ใช้คีมบิดยวงกุญแจ คนร้ายจะใช้คีมคีบยวงกุญแจประตู อาศัยแรงบีบที่แน่นและมั่นคง บิดด้วยความแรงดึงเอายวงกุญแจประตูรถออกไป แล้วนำไปจ้างช่างทำกุญแจปลอม เพื่อโจรกรรมรถคันนี้ต่อไป
13.ใช้กลอุบายรับจ้างขับรถ คนร้ายจะใช้วิธีการง่ายๆ โดยไปรับจ้างเป็นคนขับรถตามสำนักงานจัดหางาน เมื่อได้รถแล้วก็จะขับรถให้นายจ้างประมาณ 6-7 วัน ได้โอกาสก็จะขับรถหลบหนีไป
14.จี้หรือชิงรถซึ่งหน้า คนร้ายประเภทนี้จะใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ปฏิบัติการครั้งละ 2 คน (ขับขี่ 1 คน และซ้อนท้าย 1 คน) ติดตามสะกดรอยรถตามใบสั่ง เมื่อเจ้าของรถหรือเหยื่อขับรถคนเดียวไปจอดหรือผ่านไปในเส้นทางที่เปลี่ยวหรือลับตาคน คนร้ายก็จะใช้วิธีขับรถจักรยานยนต์ไปเฉี่ยวรถของเหยื่อ เมื่อเหยื่อซึ่งเป็นเจ้าของรถหยุดรถเพื่อตรวจสอบความเสียหาย คนร้ายจะใช้อาวุธปืนหรือมีดปลายแหลมจี้ให้ลงจากรถ และส่งกุญแจรถให้ คนร้ายก็จะขับขี่รถเอาไปซึ่งหน้า ทิ้งผู้เสียหายไว้ในที่ เกิดเหตุ
15.มอมยาคนขับรถยนต์รับจ้าง คนร้ายจะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นแรก คนร้ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง จำนวน 4 - 5 คน จะไปว่าจ้างรถยนต์ (ตามใบสั่งที่ต้องการ) เพื่อไปเที่ยวในต่างอำเภอหรือจังหวัด เสร็จงานก็จะจ่ายเงินให้คนขับตามปกติ ขั้นที่สอง เป็นห้วงระยะเวลา 4 - 5 วันจากขั้นแรก คนร้ายชุดเดิมจะว่าจ้างรถไปเที่ยวเหมือนเดิมแต่จะนัดหมายกับคนร้ายพวกเดียวกัน 1 - 2 คน ไปรอ ณ. จุดที่กำหนดเพื่อรอรับรถ ขณะที่คนร้ายซึ่งเป็นผู้หญิงจะพยายามหาโอกาสในช่วงที่คนขับรถรับประทานอาหารร่วมกันใส่ยานอนหลับหรือยาชนิดอื่นที่ทำให้มึนเมาหมดสติลงไปในเครื่องดื่มหรืออาหาร เพื่อมอมคนขับรถให้หมดสติ ต่อจากนั้นก็จะส่งคนขับรถไปนอนที่โรงแรมซึ่งได้จองไว้ล่วงหน้า แล้วนำกุญแจรถให้กับคนร้ายซึ่งรออยู่แล้วขับรถหลบหนีไป ซึ่งวิธีการนี้ค่อนข้างจะเป็นวิธีใหม่ในการโจรกรรมรถ
อย่างไรก็ตามแม้คนร้ายจะมีวิธีการมากมายในการโจรกรรมรถ แต่ก็มีวิธีป้องกันการโจรกรรมที่จัดว่าค่อนข้างได้ผลค่อนข้างชะงัดเช่นกัน คือ วิธีการล็อกแบบ 3 ง่าม สำหรับรถยนต์ และ ล็อกดิสก์เบรกสำหรับจักรยานยนต์
“จากที่ถามแก๊งลักรถว่าถ้าเจออุปกรณ์ไหนจะไม่ลัก เขาก็บอกว่าสำหรับรถเก๋ง ถ้าเจอล็อกพวงมาลัยก็จะใช้วิธีตัด เจอล็อกเกียร์ก็ใช้เวลาเลื่อยแป๊บเดียวก็ออกแล้ว แต่ถ้าเจอล็อก 3 ง่ามข้างล่างเนี่ยมันไม่เอาเพราะขี้เกียจเสียเวลามุดลงไปตัดข้างล่าง แต่ถ้าเป็นรถจักรยานยนต์ให้ใช้วิธีล็อกดิสก์เบรคได้ผลมากที่สุด พวกแก๊งลักรถจะไม่เอาเลย นอกจากนั้นก็การติดจีพีเอส ติดระบบป้องกันขโมยที่ใช้แสงสีหรือเสียงส่งสัญญาณเพื่อถ่วงเวลาคนร้ายก็ช่วยได้เช่นกัน” พ.ต.ท.อรรถพร กล่าว
สวมซาก ปลอมทะเบียน
ทั้งนี้ วิธีการหนึ่งที่จะอำพลางรถที่ถูกขโมยมาเพื่อหลีกเลี่ยงการติดตามจับกุมก็คือนำรถที่โจรกรรมมาสวมซาก สวมทะเบียน ซึ่ง พ.ต.ท.อรรถพร ได้อธิบายถึงวิธีการอำพลางรถในลักษณะดังกล่าว ว่า
“จะมีแก๊งมิจฉาชีพไปประมูลรถยนต์ที่เสียหายจากอุบัติเหตุจากบริษัทประภัยรถยนต์ต่างๆ ซึ่งรถพวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นรถที่เสียหายอย่างหนัก พังยับ ซ่อมไม่ได้ เช่น รถที่ประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรง ตกสะพาน บริษัทประกันภัยก็เอามาเปิดประมูลขาย พอเขาเอารถพวกนี้ออกมาประมูลขายก็จะมีแก๊งมิจฉาชีพ 60-70 คนเข้ามาเสนอประมูล โดยมีการฮั้วราคากัน ก็จะได้รถยนต์ราคาถูกๆไป เฉลี่ยคันละ 100,000 กว่าบาท ประมูลเสร็จทางบริษัทก็จะทำการโอนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์จากบริษัทประกันภัยเป็นชื่อผู้ซื้อ ซึ่งจุดประสงค์ในการประมูลของพวกนี้ก็คือต้องการเอาเลขทะเบียนรถยนต์ เลขแชสซี (เลขตัวถังรถ) และเลขเครื่องยนต์
พอได้ทั้ง 3 ส่วนนี้มาแล้ว แก๊งโจรกรรมก็จะใช้กระดาษขูดลอกเลขเครื่องยนต์ออกมาแล้วก็เอามาแปะที่รถที่ขโมยมา แล้วก็ปาดเลขแชสซีออกมาอ็อกเชื่อมติดกับรถดังกล่าว พร้อมกับเอาป้ายทะเบียนจากรถที่ประมูลมาติด จากนั้นแก๊งพวกนี้ก็เอารถที่สวมทะเบียนมาขายตามเต็นท์รถ ชาวบ้านไม่รู้ก็ซื้อมาเพราะเห็นว่าเอกสารทุกอย่างเป็นตัวจริงหมด รถก็เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง ทั้งที่ตัวรถนั้นจริงๆ แล้วเป็นรถที่ถูกขโมยมา วันดีคืนดีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเห็นภาพรถคันที่เกิดอุบัติเหตุปรากฏว่าเลขทะเบียนไปตรงกับรถที่ขโมยเอามาสวมทะเบียน ก็ไปตามยึดรถมาตรวจพิสูจน์และพบว่าเป็นรถที่ขโมยมา ก็เรียกเจ้าของเดิมมารับ แล้วก็ขยายผลเพื่อติดตามตัวคนร้ายต่อไป
คือจริงๆ ทางศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์เราก็ขอร้องบริษัทประกันภัยว่าให้ทำลายรถที่พังเสียหายและยกเลิกทะเบียนเพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำรถพวกนี้มาสวมทะเบียน บริษัทประกันก็ไม่ยอม เขาบอกว่าเขาต้องรักษาผลประโยชน์ของเขา ขบวนการสวมซากสวมทะเบียนมันก็เลยปราบไม่หมดสักที” พ.ต.ท.อรรถพร กล่าวถึงวิธีการของกลุ่มมิจฉาชีพ และอุปสรรคในการทำงาน
วิธีสังเกต ป้ายภาษี-ทะเบียนปลอม
นอกจากนั้น ยังมีการสวมทะเบียนอีกลักษณะหนึ่ง คือการปลอมเอกสารและเลขทะเบียนหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายทะเบียน แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษี ซึ่ง พ.ต.ท.อรรถพร ขยายความให้ฟัง ว่า
“วิธีการนี้เมื่อคนร้ายได้รถที่โจรกรรมมาแล้วก็จะจ้างคนทำเอกสารปลอมขึ้นมาสวมแล้วนำรถไปขายต่อ ซึ่งเอกสารปลอมที่เขาขายกันก็ไม่แพง แผ่นป้ายทะเบียน 2,000 บาท แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษี กับ พ.ร.บ.รถยนต์ คู่ละ 2,000 บาท ถ้าชุดใหญ่เลยมีสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ด้วย ก็ราคา 20,000 บาท แต่เอกสารปลอมเหล่านี้ก็ทำไม่เหมือนนะ อย่างแผ่นป้ายทะเบียนที่ติดอยู่ท้ายรถ ถ้าเป็นของจริงด้านหน้าจะมีตัวเลข 10 หลัก ซึ่งกรมการขนส่งจะยิงด้วยเลเซอร์ อยู่ด้านล่างแผ่นป้าย สามารถมองเห็นได้ชัดเจน และมีพรายน้ำสัญลักษณ์ตราขนส่งทางบกระยิบระยับอยู่บนแผ่นป้าย ถ้าเอาไฟฉายส่องหรือมองกลางแดดจะเห็นได้ชัด รวมทั้งจะมีตัวอักษร ขส.ปั๊มอยู่ด้านหลังแผ่นป้ายด้วย แต่ของปลอมจะไม่มีตัวเลขหรือสัญลักษณ์เหล่านี้เพราะมิจฉาชีพไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีขนาดนี้
ส่วนแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษี จะมีวงกลมสีเงินเล็กๆ ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ของขนส่งทางบกอยู่ และถ้าเอียงดูก็จะเห็นประกายสีรุ้ง แต่ถ้าเป็นของปลอมจะไม่มีสัญลักษณ์ดังกล่าว เพราะเทคโนโลยีเขาไม่ถึง บางทีก็ไปตัดฟลอยด์จากซองบุหรี่มาแปะ ถ้าลองลูบดูของจริงจะลื่นมือ แต่ของปลอมจะด้านๆ ส่วนตัวอักษรถ้าเป็นของปลอมเส้นขอบจะไม่ชัดเจน ขูดลอกได้ง่าย เพราะส่วนใหญ่จะใช้วิธีเอาแผ่นตัวอักษรแบบขูดมาลอกติด หรือไม่ก็ตัดตัวอักษรจากแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของปีที่ผ่านๆมาแล้วเอากาวแปะติด ซึ่งถ้าใช้มือลูบตรงขอบตัวอักษรก็จะรู้เลย บางทีก็ใช้หมึกดำเขียนทับก็มี ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นความแตกต่างชัดเจน บางทีชุ่ยถึงขนาดเอาแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของปีก่อนมาขูดขีดดัดแปลงโดยที่ไม่แก้เลขปีด้วยซ้ำ
บางรายซื้อรถไปเป็นปีแล้วเพิ่งมารู้ว่าซื้อรถขโมยตอนไปต่อทะเบียนภาษีเพราะดันไปเจอรถยี่ห้อเดียวกัน สีเดียวกัน เลขทะเบียนอะไรเหมือนกันทุกอย่าง ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้ที่กรมการขนส่งทางบก ซึ่งกรณีนี้เรียกกันว่า ‘รถแฝด’ ดังนั้นเวลาซื้อรถ โดยเฉพาะรถมือสองนั้นผู้ซื้อควรตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางบกว่ารายละเอียดในคู่มือทะเบียนรถ เลขทะเบียนรถยนต์ เลขแชสซี เลขเครื่องยนต์ สีและยี่ห้อตรงกับรถที่ตนเองซื้อหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบเอกสารต่างๆ ที่ได้จากผู้ขายด้วยว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่”
แก๊งดาวน์รถ-แชร์รถ
จากข้อมูลพบว่าเครือข่ายการโจรกรรมรถยนต์นั้นมักทำกันเป็นขบวนการ โดยมีกลุ่มนายทุนให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งการขโมยรถโดยกลุ่มแก๊งต่างๆนั้น วิธีการหนึ่งที่กำลังแพร่ระบาดอย่างมาก็คือ “แก๊งดาวน์รถ” และ “แชร์รถยนต์” ซึ่ง พ.ต.ท.อรรถพร ได้เปิดเผยถึงวิธีการของขบวนการดังกล่าว ว่า
“จริงๆแล้วตัวเลขรถหายที่ทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งนั้น เราพบว่ามีรถที่ไม่ได้หายจริงถึง 30% แต่เป็นการทำรถให้หายไปจากระบบโดยฝีมือของแก๊งอาชญากรรมที่เรียกกันว่า ‘แก๊งดาวน์รถ’ โดยแก๊งพวกนี้จะจ้างชาวบ้านในชุมชนไปดาวน์รถ โดยจ้างคนดาวน์รถ 3,000 บาท คนค้ำประกัน 2,000 บาท ที่พบมากคือรถจักรยานยนต์เพราะดาวน์ง่าย ใช้เงินดาวน์น้อย บางร้านให้ดาวน์ 999 บาท หรือบางร้านไม่เรียกเงินดาวน์เลย แค่เอาสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ซื้อไว้ เมื่อได้รถมาแล้วแก๊งดาวน์รถก็เอารถส่งไปขายที่กัมพูชา ส่วนร้านขายรถจักรยานยนต์เขามีประกันภัย เขาก็ไปแจ้งหาย ประกันภัยก็ไปจ่ายไฟแนนซ์ ซึ่งแก๊งพวกนี้จะมีนายทุนที่เป็นหัวหน้าแก๊งตัวจริง นายทุนเอารถไปขายได้ 30,000 บาท แต่ลงทุนจ้างชาวบ้านแค่ 5,000 บาท ทำอย่างนี้สัก 10 คัน ก็ได้เงินตั้งหลายแสน มันก็เลยเกิดขบวนการอย่างนี้ขึ้นมา
อย่างคดีที่ดังๆ แถวย่านบางปู แก๊งดาวน์รถมันเอาใบปลิวไปติดในสลัมว่าถ้าร้อนเงินให้ติดต่อที่เบอร์นี้ พอชาวบ้านมาติดต่อมันก็บอกว่าจะให้กู้เงิน 12,000 บาท โดยให้ชาวบ้านไปดาวน์รถจักรยานยนต์มาเพื่อเอามาค้ำประกันเงินกู้ แก๊งพวกนี้ก็ส่งรถไปขายชายแดน แต่ยังให้ชาวบ้านผ่อนชำระเงินกู้อยู่เพื่อหลอกว่าผ่อนชำระครบจะได้รถคืน ก็หลอกไปเรื่อยๆ”
พ.ต.ท.อรรถพร กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังมีกรณีที่คล้ายๆ กันคือ “แชร์รถยนต์” ซึ่งแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
“เมื่อปีที่แล้ว (2551) คดีที่ดังมากคือแชร์รถยนต์ ซึ่งแก๊งนี้สามารถขโมยหรือฉ้อโกงรถไปถึง 1,2000 คัน โดยใช้เวลาแค่ 2 เดือนเท่านั้น เขาใช้วิธีตั้งบริษัทหลอกระดมรถเช่าจากชาวบ้าน คือให้ชาวบ้านเอารถยนต์มาให้เช่าโดยให้ค่าเช่าราคาสูงถึงเดือนละ 30,000 บาท ชาวบ้านที่ไม่มีรถก็จะไปดาวน์รถมาให้เช่า สมมุติดาวน์ 100,000 บาท ผ่อนค่างวดเดือนละ 13,000 บาท แต่ได้ค่าเช่าถึงเดือนละ 30,000 บาท ชาวบ้านก็มองว่าคุ้มเพราะให้เช่าแค่ 3 เดือนก็ได้เงินดาวน์คืนแล้ว หักค่างวดแล้วก็ยังเหลืออีกเดือนละ 17,000 บาท ชาวบ้านบางคนก็ลงทุนดาวน์รถออกมา 2 คัน ไปกู้เงินมาดาวน์รถก็มี เพื่อเอารถมาให้บริษัทดังกล่าวเช่า พวกนี้ก็เอารถไปขายตามแนวชายแดนหรือเอาไปจำนำ มีทั้งจำนำกับเต็นท์รถ จำนำตามบ่อนในกรุงเทพฯ จำนำกับพวกนายทุนใต้ดินซึ่งเป็นพวกที่มีเงินเหลือ ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรก็เอาเงินมาปล่อยกู้ ”
แก๊งจำนำรถ
ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันนี้เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯมีนายทุนใต้ดินที่รับจำนำรถในลักษณะดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 500 ราย ซึ่งในวงการจะรู้กันว่าใครรับจำนำรถบ้าง โดยนายทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกหน้าทำธุรกิจเอง แต่ให้ลูกน้องออกหน้าแทน แต่บางรายก็เปิดเป็นบริษัทรับจำนำรถบังหน้า แต่ธุรกิจจริงๆ คือรับซื้อรถที่ได้จากการโจรกรรม
“พวกนายทุนใต้ดินมีเยอะมาก เพราะเขามองว่ามันหาเงินง่าย คือสมมุติว่ารับจำนำรถโดยคิดดอกร้อย 10 และยึดรถไว้เป็นหลักประกัน ถ้าให้กู้รวมแล้วสัก 1 ล้านบาท แต่ละเดือนก็จะมีรายได้ 1 แสน ถ้าไม่ส่งเงินต้นก็เอารถไปขายได้ แต่ถ้าปล่อยกู้แบบทั่วๆ ไปก็ได้แค่สัญญาเงินกู้เป็นกระดาษแผ่นเดียว ซึ่งคนที่เอารถมาจำนำกับนายทุนใต้ดินพวกนี้มีไม่น้อยที่เป็นรถที่ขโมยมา เช่น ไปเช่ารถที่ภูเก็ตแล้วก็ขับมาจำนำที่กรุงเทพฯ โดยอาจจะไม่มีเอกสารคู่มือทะเบียนรถ ทิ้งแค่รถและกุญแจไว้ให้ หรืออาจจะใช้เอกสารปลอมในการจำนำ ซึ่งนายทุนที่รับจำนำก็ไม่สนใจเพราะคิดว่ารับจำนำไว้กินดอก ถ้าไม่มาไถ่รถคืนก็เอาไปขาย
แต่ส่วนมากคนรับจำนำก็จะตรวจสอบทะเบียนประวัติของรถก่อน ว่ารถมี อ.ย. คือเป็นรถที่ “ถูกอายัด” ไว้หรือเปล่า ถ้าเป็นรถที่มี อ.ย. ซึ่งแปลว่า เป็นรถที่ขโมยมาก็อาจจะไม่เอา หรือให้ราคาที่ต่ำมาก สมมุติฟอร์จูนเนอร์ราคา 250,000 เขาให้แค่ 100,000 พวกที่ขโมยรถมาก็เอาเพราะเขาไม่ต้องลงทุนอะไร แล้วตามกฎของพวกนี้จำนำไว้แล้วขาดส่งดอกเกิน 2 เดือน เขาก็เอารถไปขาย รถคันนี้ก็จะเข้าสู่ขบวนการสวมซากต่อไป โดยคนรับจำนำจะขายรถต่อให้แก๊งสวมซากทะเบียนรถ แก๊งนี้ก็จะเอาซากรถที่ซื้อมาจากแก๊งประมูลรถ ซึ่งเขาไปประมูลซากรถที่เกิดอุบัติเหตุ ซ่อมไม่ได้แล้วจากบริษัทประกันมา เสร็จแล้วก็ทำการสวมซากดังที่กล่าวมาข้างต้น แล้วก็นำออกมาขายเป็นรถมือสอง ส่วนคนที่เอารถมาจำนำพอได้เงินเสร็จก็ไปแจ้งความว่ารถหาย แต่ก็มีอีกพวกหนึ่งคือคนที่เข้าไปเล่นพนันในบ่อนแล้วไม่มีเงินจ่ายก็เอารถจำนำไว้ แต่ไม่มีเงินไปไถ่ ก็ไปแจ้งความว่ารถหาย สุดท้ายรถก็เข้าสู่กระบวนการสวมซากเหมือนกัน” พ.ต.ท.อรรถพร เล่าถึงธุรกิจซื้อขายรถผิดกฎหมาย
นอกจากนั้น การขโมยรถไปผ่าแยกก็เป็นวิธีหนึ่งที่คนร้ายนิยมมาก เพราะเมืองไทยมีปัญหาเรื่องอะไหล่แพง โดยเฉพาะอะไหล่จากศูนย์ของรถยนต์ยี่ห้อนั้นๆ ดังนั้นจึงมีแก๊งลักรถบางแก๊งที่ตระเวนลักรถเพื่อนำอะไหล่ไปขายให้พ่อค้าตามตลาดเชียงกง (ตลาดขายอะไหล่มือสอง) โดยอู่รถต่างๆ ก็จะมาซื้ออะไหล่ที่เชียงกงโดยไม่รู้ว่าเป็นของที่ขโมยมา ซึ่งสาเหตุที่แก๊งพวกนี้เลือกที่จะแยกอะไหล่ขายแทนที่จะขายรถทั้งคันก็เพราะรถที่ขโมยมานั้นผู้ซื้อจะให้ราคาต่ำมาก อีกทั้งการถอดอะไหล่ขายยังเป็นวิธีที่สามารถหลบเลี่ยงการจับกุมได้ง่ายกว่า
ชน “ตอ” นายทุนใหญ่
อย่างไรก็ดี การขจัดขบวนการโจรกรรมรถยนต์ให้หมดไปนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะตราบใดที่ยังมีนายทุนใหญ่คอยรับซื้อรถที่ได้จากการโจรกรรม ก็ยังมีกลุ่มแก๊งต่างๆ ที่พร้อมจะขโมยรถไปขาย อีกทั้งการจะเอาผิดกับกลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังแก๊งโจรกรรมรถนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เนื่องจากการทำงานของเครือข่ายแก๊งโจรกรรมรถในแต่ละขั้นแต่ละตอนนั้นจะทำงานแบบแยกกลุ่มและตัดตอนกันหมด เช่น คนที่ขโมยรถจะรู้จักแค่คนรับซื้อ แต่ไม่รู้จักนายทุน หรือคนที่ขับรถไปส่งขายตามแนวชายแดนก็รู้จักแค่คนที่มาติดต่อ แต่ไม่รู้จักตัวคนขาย
“แก๊งพวกนี้ส่วนใหญ่จะทำธุรกิจในลักษณะตัดตอนกันหมด คือแก๊งประมูลก็แก๊งหนึ่ง แก๊งโจรกรรมรถก็แก๊งหนึ่ง แก๊งรับจำนำก็เป็นอีกแก๊ง แก๊งสวมซากก็อีกแก๊ง หรือคนที่เอารถไปส่งชายแดนก็แค่รับจ้างขับรถไปส่งอย่างเดียว ติดต่อผ่านคนกลางโดยไม่รู้จักกับแก๊งสวมซากเลย เวลาไปจับรถที่สวมซากได้เราก็ตามไปสอบสวนคนที่ประมูลซากรถ พวกนี้ก็บอกว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายเพราะเขาประมูลรถจากบริษัทประกันอย่างถูกต้องทุกอย่าง ส่วนคนที่ซื้อซากรถจะรถไปทำอะไรเขาไม่รู้ เขาก็บอกอย่างเดียวว่าเขาเป็นคนดี ผมล่ะงงประเทศชาติ (หัวเราะ)
บางรายเราก็มีประวัติอาชญากรรมอยู่ บางคนรับจำนำไว้ เจ้าของรถขาดส่ง 2 เดือน พวกนี้ก็เอารถไปขายทิ้ง โดยปลอมเอกสารไปหลอกขายชาวบ้าน มาประกาศขายทางเว็บไซต์ก็มี “ฮอนด้า แจ๊ส” ขายถูกแสนเดียว คนก็ซื้อกัน วันดีคืนดีคนซื้อก็ถูกจับเพราะติดป้ายทะเบียนปลอม คนซื้อก็ซัดทอดไปที่คนขาย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าไปสอบสวนและออกหมายจับ แต่ที่ยากคือเราสาวไม่ถึงตัวขายทุนเพราะส่วนใหญ่พวกนี้ไม่ออกหน้าเองแต่สร้างลิ่วล้อขึ้นมาเป็นนายหน้าทำธุรกิจแทน นายหน้าก็ไปป่าวประกาศในวงการว่าใครมีรถอะไรบ้างเขารับซื้อ ส่วนตัวนายทุนก็ออกเงินอย่างเดียว ผลประโยชน์แบ่งคนละครึ่ง อย่างลงทุนปล่อยกู้ 1,000,000 บาท เก็บดอกร้อยละ 10 ก็ได้มา 100,000 นายทุนก็เอาแค่ 50,000 อีก 50,000 ก็ให้นายหน้าเอาไปบริหารกันในกลุ่ม เวลานายหน้าถูกออกหมายจับก็หนีไป ถ้ายังจับไม่ได้ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นนายทุน หรือบางทีนายหน้าก็อาจจะไม่ซัดทอด พอลิ่วล้อคนนี้ถูกจับ นายทุนก็หาคนอื่นมาเป็นนายหน้าแทน หรือแก๊งขโมยรถแก๊งนี้ถูกจับ มันก็มีแก๊งใหม่ขึ้นมา เพราะมันมีคนซื้อ มันก็มีคนที่พร้อมจะขโมย มันก็ปราบไม่หมดเสียที ” พ.ต.ท.อรรถพร กล่าวถึงอุปสรรคในการปราบปรามขบวนการโจรกรรมรถ
พฤติการณ์แก๊งขโมยรถ
ว่ากันว่า แก๊งโจรกรรมรถแต่ละแก๊งนั้นจะมีความถนัดที่แตกต่างกันไป และแต่ละรายมักจะเลือกโจรกรรมรถตามออเดอร์และโจรกรรมเฉพาะยี่ห้อที่ตนเชี่ยวชาญ โดยวิธีการโจรกรรมของแต่ละแก๊งก็จะมีวิธีการและมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน
“แต่ละแก๊งจะใช้วิธีการไม่เหมือนกัน ยี่ห้อรถที่ขโมยก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเจอวิธีโจรกรรมแบบนี้ รถยี่ห้อนี้ เราก็สันนิษฐานได้เลยว่าฝีมือแก๊งไหน อย่าง “แก๊งหรั่งเป๋” หรือ นายสรกิจ บุญประดิษฐ์ ซึ่งถูกจับกุมเมื่อต้นปีนี้ เรายึดรถฮอนด้า แจ๊ส ได้ 50 คัน ช่วงนั้นฮอนด้า แจ๊ส หายบ่อยมาก คือตอนแรกเรายึดรถฮอนด้า แจ๊ส ที่ติดป้ายทะเบียนปลอมได้ 4 คัน เราก็ขยายผลออกไปจนรู้ว่าเป็นรถที่แก๊งหรั่งเป๋โจรกรรมมา ทีมตำรวจก็ออกตามล่า ไปค้นบ้านก็พบคอมพิวเตอร์ที่ใช้พิมพ์เอกสารปลอม ซึ่งชื่อในเอกสารตรงกับชื่อเจ้าของรถที่แจ้งหายไว้ทั้งนั้นเลย วิธีการของแก๊งนี้คือถ้าไปเจอรถฮอนด้า แจ๊ส จอดอยู่ก็จะทุบกระจก แล้วล้วงมือเข้าไปเปิดประตูรถ พอเข้าไปในตัวรถได้ก็จะต่อสายตรงเพื่อสตาร์ทเครื่อง
อีกแก๊งหนึ่งที่เพิ่งผมเพิ่งจับไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้วคือ “แก๊งไอ้เหม็น” ที่บางละมุง จ.ชลบุรี ไอ้เหม็นนี่เข้าไปงัดบ้านฝรั่งย่านบางละมุง ขโมยเฉพาะรถฟอร์ด ฟอร์จูนเนอร์ ได้ไปทั้งหมด 17 คัน วิธีการคือปืนรั้วบ้านแล้วงัดเข้าไปเอากุญแจรถ จากนั้นก็ใช้กุญแจสตาร์ทรถที่จอดอยู่หน้าบ้านออกมา เพราะรถรุ่นนี้ใช้กุญแจชิป กุญแจดอกอื่นหรือพวกกุญแจปั๊มเนี่ยไขไม่ได้ ต้องใช้กุญแจของมันเลย จากการสอบปากคำไอ้เหม็นจะไม่สนใจว่าเจ้าของจะอยู่บ้านหรือเปล่า ปีนเข้าไปกลางดึกแล้วก็ใช้ไฟฉายส่องหากุญแจ ซึ่งส่วนมากเจ้าของบ้านมักจะวางกุญแจไว้บนโต๊ะทำงานบ้าง หลังตู้เย็นบ้าง ผมก็ถามว่าถ้าเข้าไปเจอเจ้าของบ้านนอนหลับอยู่จะทำยังไง มันก็บอกมันก็เดินข้ามหัวไปหยิบกุญแจ (หัวเราะ)
เคสที่อึ้งมากคือที่ จ.ชัยนาท มีอยู่หมู่บ้านหนึ่งมีอาชีพโจรกรรมรถกันทั้งหมู่บ้าน มีเครือข่ายทั้งหมดประมาณ 100 คน จนมีเรื่องเล่าว่าลูกบ้านไหนยังไม่ไปเข้าแก๊งโจรกรรมรถ แม่ก็จะด่าว่ามึงยังไม่ไปลักรถกับเขาเหรอ ... เขาไปกันทั้งหมู่บ้านแล้ว (หัวเราะ) แก๊งนี้จะเลือกขโมยแต่รถกระบะดีแม็กซ์ วีโก้ หัวหน้าเครือข่ายที่เป็นอาจารย์ในการลักรถของแก๊งนี้คือ “ไอ้เจิด ตาเดียว” ซึ่งฝีมือร้ายกาจมาก เพราะรถกระบะ วีโก้ ไม่ได้โจรกรรมกันง่ายๆ นะ แต่สุดท้ายไอ้เจิดก็เพิ่งถูกวิสามัญฆาตกรรมไปเมื่อปีที่แล้ว เพราะยิงต่อสู้ตำรวจขณะเข้าจับกุม คดีนี้ ท่าน พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงไปดูแลคดีเองเลย คือก่อนหน้านี้ไอ้เจิดมันไปยิงตำรวจทางหลวงกับตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ตายที่น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ มันขับรถที่โจรกรรมมาเจอด่านตำรวจ ตำรวจจะขอตรวจค้น มันไม่ยอมแล้วก็ชักปืนออกมายิงตำรวจตาย แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด” พ.ต.ท.อรรถพร เล่าถึงพฤติการณ์ของบรรดาแก๊งขโมยระดับแนวหน้า
ทั้งนี้ พ.ต.ท.อรรถพร ยังได้ฝากถึงบรรดาเจ้าของรถว่าหากประสบปัญหารถหายหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ก็สามารถคลิกเข้าไปแจ้งรถหาย หรือเข้าไปดูข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันการโจรกรรมรถได้ที่ www.rodhai.com ที่จัดทำโดยศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ ซึ่งจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้รถมากมาย
“อยากฝากว่าช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝนซึ่งตามสถิติจะมีเหตุรถหายเยอะมาก เนื่องจากเจ้าของรถส่วนใหญ่คิดว่าคงไม่มีใครมาขโมยรถตอนฝนตกหรอก แต่ความจริงแก๊งลักรถมักจะออกอาละวาดตอนฝนตก โดยขี่มอเตอร์ไซค์ออกตระเวนหา รถที่ถูกขโมยกันเยอะในช่วงฝนตกคือรถที่จอดอยู่หน้าบ้าน เพระเวลาก่อเหตุเสียงฝนจะกลบหมด เจ้าของบ้านก็ไม่ได้ยิน นอกจากนั้นตำรวจสายตรวจก็มักจะไม่ออกตรวจในช่วงฝนตกด้วย จึงเป็นช่วงจังหวะเหมาะที่พวกนี้จะออกก่อเหตุ ” หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ กล่าวทิ้งท้าย
* * * * * * * * * *
เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ – วารี น้อยใหญ่