xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้บริหาร-นักเตะ เรือใบสีฟ้า” เดือด! แฉ “นช.ทักษิณ” เกือบทำทีมฉิบหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ นักโทษหนีคำพิพากษา กับปราสาททรายชื่อแมนฯ ซิตี้ ที่เขาพยายามสร้างขึ้นในปี 2550-2551
ASTVผู้จัดการออนไลน์ – “ผู้บริหาร-ผู้จัดการ-นักเตะ” แมนฯ ซิตี ร่วมใจกันแฉอดีตอันขมขื่นภายใต้การบริหารของ “นช.แม้ว” ระบุ สโมสรเกือบเจ๊งคามือ “มาร์ค ฮิวจ์ส” ชี้ เรือใบยุคนั้นข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง “แกร์รี คุก” รับแทบร้องไห้ สารภาพตอนนั้นรู้จัก “ทักษิณ” น้อยไป นักเตะขมขื่น รับตกใจที่มีเจ้าของเป็นนักโทษหนีคดี

ก่อนหน้าที่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ จะเปิดฤดูกาลใหม่ ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี ภายใต้การคุมทีมของ มาร์ค ฮิวจ์ส และเจ้าของทีม คือ กลุ่มทุนอาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป เป็นที่จับตาของวงการฟุตบอลโลกเป็นอย่างมาก จากการทุ่มเงินจำนวนมากมหาศาลมากกว่าหนึ่งร้อยล้านปอนด์ กวาดนักเตะชั้นนำเข้าทีม ไม่ว่าจะเป็น เอมานูเอล อาเดบายอร์ และ โคโล ตูเร จากอาร์เซนอล, คาร์ลอส เตเบซ จากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, โจลีออน เลสคอตต์ จากเอฟเวอร์ตัน, โรเก ซานตา ครูซ จากแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส, แกเร็ธ แบร์รี จาก แอสตัน วิลลา เป็นต้น

นอกจากนี้ หลังจากเปิดฤดูกาลแมนฯ ซิตี ยังสามารถสร้างผลงานสมราคาคุย คือ สามารถกำชัยชนะได้ 4 นัดรวด โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็สามารถเปิดบ้านเอาชนะยอดทีมอย่างอาร์เซนอลไปได้สบายๆ 4-2 ประตู และรั้งอันดับ 3 ในตารางพรีเมียร์ลีก ตามหลังเพียงทีมเชลซีและแมนฯ ยูไนเต็ด

ด้วยผลงานที่โดดเด่นเช่นนี้ส่งผลให้มีการคาดการณ์กันว่า แมนฯ ซีตี อาจจะสามารถถีบตัวขึ้นมากลายเป็น 4 ทีมแถวหน้า (บิ๊กโฟร์) ของฟุตบอลอังกฤษได้ในฤดูกาลนี้ อย่างไรก็ตาม จากการขุดคุ้ยของสื่อมวลชนอังกฤษ กลับพบว่า จริงๆ แล้ว ก่อนหน้านี้ไม่นาน สโมสร แมนฯ ซีตี นั้นตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่อย่างยิ่ง ภายใต้การบริหารงานของอดีตเจ้าของสโมสรคนก่อน ... โดยบุคคลผู้นั้นก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และ นักโทษผู้หลบหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี ของศาลฎีกา

เดือนกรกฎาคม 2550 พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรแห่งนี้ ด้วยการซื้อหุ้นรวมร้อยละ 75 พร้อมกับการดึงอดีตผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ สเวน โกรัน อีริคส์สัน เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ใส่ชื่อ นายพานทองแท้ และ นางสาวพิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของตนเป็นกรรมการบริหารสโมสร 2 ใน 4 คนด้วย

แม้ในช่วง 2-3 ฤดูกาลที่ผ่านมา ภาพภายนอกของสโมสรจะดูประสบความสำเร็จ โดยในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของสโมสร ภายใต้การคุมทีมของอีริคส์สัน ทีมแมนฯ ซิตี จะมีผลงานที่ค่อนข้างน่าประทับใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานกับคู่ปรับร่วมเมืองอย่างทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่ลึกๆ แล้ว ทีมเรือใบสีฟ้าภายใต้การบริหารของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น กลับมีสภาพไม่ผิดไปจากสุภาษิตที่ว่า “ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง” เท่าใดนัก

วันนี้ (19 ก.ย.) หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน โดยผู้สื่อข่าว เดวิด คอนน์ ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับจุดเปลี่ยนของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี หลังกลุ่มทุนจากอาหรับเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสร โดยระบุถึงสภาพอันย่ำแย่ในทุกๆ ด้านของสโมสรแมนฯ ซิตี ก่อนที่บริษัท อาบูดาบี ยูไนเต็ด จะเข้ามาซื้อกิจการ

มาร์ค ฮิวจ์ส อดีตกองหน้าของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ ผู้จัดการทีมคนปัจจุบันของทีมแมนฯ ซิตี ให้สัมภาษณ์กับเดอะ การ์เดียน เปิดเผยถึงสภาพของสโมสรแห่งนี้ หลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมต่อจาก สเวน โกรัน อีริคส์สัน ในเดือนมิถุนายน 2551 ว่า

“ผมย้ายจากแบล็กเบิร์น มาคุมที่นี่ ก็เพราะผมคิดว่าซิตี (ชื่อเล่นของแมนฯ ซิตี) เป็นสโมสรที่มีศักยภาพ มีสถานะทางการเงินที่ดี และจะมีเงินที่พอทำอะไรได้

“แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นอย่างที่ผมคิด และอย่างที่เขาเคยคุย-เคยโม้กับผมเอาไว้ ... พูดกันอย่างตรงไปตรงมา เราสามารถที่จะซื้อนักเตะในตลาดได้ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเราจำเป็นต้องขายนักเตะออกไปด้วย และนั่นก็ทำให้ผมรู้ทันทีว่า เราไม่ได้มีเงินมากอย่างที่ผมคิดเอาไว้” ฮิวจ์ส หวนรำลึกอดีตด้วยท่าทีสลด

ส่วนสภาพของ คาร์ริงตัน (สนามซ้อมของทีมแมนฯ ซิตี) ก็ย่ำแย่ถึงขนาดที่ว่าเกือบจะเรียกได้ว่าห่วยที่สุดในบรรดาสโมสรทั้งหมดของพรีเมียร์ลีก “สนามซ้อมไม่สามารถใช้งานได้ดี ผมรู้สึกช็อกมากเมื่อเห็นสภาพของมัน” ฮิวจ์ส กล่าวพร้อมกับเปรียบเทียบกับสนามซ้อมของแบล็กเบิร์นที่เขาเคยคุม และว่า “ปีที่แล้วเป็นความผิดพลาดของผมเอง ผมคิดและทึกทักเอาเองในหลายเรื่อง ผมคิดว่าทรัพยากรบุคคลและสาธารณูปโภคต่างๆ ในสโมสรแห่งนี้จะเยี่ยมยอด แต่มันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น”

สถานการณ์ของแมนฯ ซิตี ย่ำแย่ลงไปอีกในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2551 เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา หลบหนีการไปฟังคำพิพากษาของศาลในคดีคอร์รัปชัน โดย ฮิวจ์ส เปิดเผยว่า ตอนนั้นเขาพยายามมองโลกในแง่ดี และหวังว่าปัญหาส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่กระทบกับการดำเนินงานของสโมสร

“อาจด้วยความเดียงสา ผมคิดว่าเราสามารถแยกสองเรื่องออกจากกันได้” ฮิวจ์ส กล่าว “แต่เราไม่สามารถแยกมันออกจากกันได้ … ทำเอาผมเกือบถอดใจทีเดียว”

นอกจาก ฮิวจ์ส ที่ต้องตกระกำลำบากกับสโมสรแมนฯ ซิตี ภายใต้การบริหารงานของนักโทษผู้หนีคดีจากประเทศไทยแล้ว แกร์รี คุก ผู้บริหารสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี ซึ่งถูกดึงตัวมาจากไนกี้ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องเจ็บปวดไม่น้อยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยเขาระบุว่า ตอนแรกเขาดูว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนที่ใช้ได้ และเขาพยายามที่จะไม่สนใจกับสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำในประเทศไทย ไม่ว่าจะในเรื่องการคอร์รัปชัน หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เนื่องจากตอนนั้นเขาคิดว่าภารกิจของเขาคือการบริหารสโมสรฟุตบอลเท่านั้น

“ผมรู้สึกกลัวๆ เหมือนกันที่ต้องพูดมัน” คุก กล่าวพร้อมกับสบตานักข่าว เพื่อแสดงว่าสิ่งที่พูดนั้นมาจากใจ “ผมทำอะไรผิดมาบ้างในชีวิต แต่ผมรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการไม่ศึกษาคนชื่อทักษิณให้ลึกซึ้งเสียก่อน”

นอกจากนี้ อดีตผู้บริหารของไนกี้ ยังเปิดเผยด้วยว่า ตอนนั้นสถานการณ์ของสโมสรย่ำแย่อย่างมาก จนต้องกู้เงินจากธนาคาร ขณะที่ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดโทรทัศน์ก็ยังไม่ได้รับ และสโมสรต้องซื้อนักเตะโดยเงินเชื่อ

“เงินของทักษิณนั้น ถูกอายัดเอาไว้ รายรับทุกอย่างต้องเอามาหมุน ขณะที่ก็ต้องมีการจำนองนักเตะเพื่อเอาเงินมาใช้ เราตกอยู่ในสถานการณ์ถึงขั้นที่ว่าไม่มีเงินมาจ่ายให้กับนักเตะ และเราต้องยืมเงินจำนวน 2 ล้านปอนด์ จาก จอห์น วอร์เดิล (อดีตประธานสโมสร ที่ขายหุ้นสโมสรออกไป) ผมต้องทำงานอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง เพื่อที่จะแน่ใจว่า ไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด ตอนนั้นชีวิตของผมตกอยู่ในความหวาดระแวง”

ในส่วนของชีวิตส่วนตัว คุก เปิดเผยว่า เขาเคยใช้ชีวิต 13 ปี ที่สหรัฐอเมริกา โดยทำงานให้กับไนกี และเคยเป็นถึงประธานของยี่ห้อจอร์แดน โดยมีรายได้อย่างดี แต่ การย้ายมาอังกฤษเพื่อทำงานให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ กลายเป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต

“ภรรยาของผม เก็บของทุกอย่างในบ้านที่สหรัฐฯ เฟอร์นิเจอร์ก็มีการขนมาแล้ว ส่วนผมนั่งอยู่ในห้องที่โรงแรมในเชสเชียร์ และต้องร้องตะโกนกับโทรศัพท์ว่า ผมทรมานกับทุกอย่างที่นี่ ทำงานไม่สำเร็จสักอย่าง เพราะผมถูกหลอกให้มารับตำแหน่งนี้ (ผู้บริหาร แมนฯ ซิตี) ตอนนั้นผมรู้แล้วว่า ผมกำลังพาครอบครัวมาอยู่ในถ้ำสิงโต”

ในส่วนของนักเตะ แวงซ็องต์ กอมปานี กองหลังตัวกลางวัย 22 ปี ชาวเบลเยียม ซึ่งย้ายมาจากทีมฮัมบูร์กด้วยราคาค่าตัว 6 ล้านปอนด์ ก็เปิดเผยว่า ตอนที่ตนเองเซ็นสัญญา เขาได้รับแจ้งว่าเขาจะได้พบกับประธานสโมสร แต่ก็คลาดกันไป เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องไปหลบซ่อนตัวที่ไหนสักแห่ง ซึ่ง กอมปานี ระบุว่า นั่นเป็นสถานการณ์ที่น่าขบขันสำหรับนักฟุตบอลอย่างเขา

ขณะที่ สตีเฟน ไอร์แลนด์ นักเตะตำแหน่งกองกลางวัย 23 ปี ก็เปิดเผยเช่นกันว่า เขารู้สึกยินดีอย่างยิ่งเมื่อได้ย้ายมาร่วมทีมเรือใบสีฟ้า แต่ในยุคของอีริคส์สัน (โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นประธานสโมสร) การบริหารเป็นไปอย่างหละหลวม และกลายเป็นเรื่องประหลาดที่เจ้าของสโมสรเป็นนักโทษหนีคดี

“เมื่อทักษิณเทกโอเวอร์ ทุกคนคิดว่ามันจะกลายเป็นเรื่องดี แต่มันไม่ใช่” ไอร์แลนด์ หวนนึกถึงอดีต “ตอนนั้นเราปราศจากความมั่นคง ผู้คนก็ไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นเรื่องที่บ้ามาก ที่คนอย่างนั้น คนที่กำลังหลบหนีจากคดีคอร์รัปชั่น สามารถซื้อสโมรสรฟุตบอลของเราได้ ชีวิตนักเตะของพวกเราตกอยู่ในเงื้อมมือของเขา ทุกคนต่างรู้สึกพรั่นพรึงว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต ... ถือเป็นความโชคดีที่เราได้เจ้าของใหม่ในเวลาต่อมา”

เจ้าของใหม่และเจ้าของปัจจุบันของแมนฯ ซิตี ก็คือ บริษัท อาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป ที่มีผู้อยู่เบื้องหลัง คือ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน มหาเศรษฐีจากตะวันออกกลาง ผู้เข้ามาเทกโอเวอร์เรือใบสีฟ้าต่อจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2551 และทุ่มเงินปลุกปั้น แมนฯ ซิตี้ ให้กลายเป็นสโมสรเจ้าบุญทุ่มและกลายเป็นว่าที่ “บิ๊กโฟร์” ของพรีเมียร์ลีก

อ่านรายงานภาษาอังกฤษฉบับเต็ม :
- How the takeover of Manchester City came just in time to rescue a club in disarray จาก The Guardian

แก้ไขเมื่อ 20 ก.ย. 2552
รายงานจากเว็บไซต์ เดอะ การ์เดียน
ก่อนจะมีวันนี้ เรือใบสีฟ้า เกือบเจ๊งคามือ แม้ว มาแล้ว
มาร์ค ฮิวจ์ส ผู้จัดการทีมแมนฯ ซิตี้
แกร์รี คุก ผู้บริหารแมนฯ ซิตี้
แวงซ็องต์ กอมปานี กองหลังดาวรุ่ง
สตีเฟน ไอร์แลนด์ กองกลางดาวรุ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น