xs
xsm
sm
md
lg

‘กิ่งฉัตร’ กิ่งก้านโลกวรรณกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากนักข่าวสาวสู่ทำเนียบนักเขียนมือทองที่มีผลงานนวนิยายหลากรสหลายอารมณ์ มีผู้อ่านทุกเพศทุกวัยคอยติตตามผลงานอยู่มากมายทั่วประเทศ อีกทั้งบทประพันธ์จำนวนไม่น้อยถูกนำมาสร้างเป็นละครทีวีซ้ำๆ หลายครั้งหลายเวอร์ชั่น ณ วันนี้ชื่อของ กิ่งฉัตร กลายเป็นไอดอลที่นักเขียนรุ่นน้องพยายามเดินตามรอย

กิ่งฉัตร เป็นนามปากกาของ “ปุ้ย” ปาริฉัตร ศาลิคุปต อดีตนักข่าวหน้าปริทรรศน์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ที่ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนนิยายตามความใฝ่ฝันที่มีมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนมัธยม นามปากกา “กิ่งฉัตร” มาจากคำสุดท้ายของชื่อจริง ผสมกับคำว่า ‘กิ่ง’ อันเป็นชื่อเรียกส่วนหนึ่งที่แตกแขนงมาจากลำต้นของต้นไม้น้อยใหญ่ เพื่อสื่อความหมายว่านวนิยายที่เธอเขียนนั้นมิใช่ตัวตนหรือเรื่องราวที่มาจากชีวิตของเธอ แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ


เมื่อ ASTV ผู้จัดการ ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักเขียนแถวหน้า นาม “กิ่งฉัตร” เราจึงไม่รีรอที่จะไถ่ถามถึงที่มาแห่งความสำเร็จบนเส้นทางน้ำหมึกของเธอ ตลอดช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา

จากนักข่าว สู่นักเขียน

กิ่งฉัตรเล่าว่า เธอเริ่มชีวิตการทำงานหลังเรียนจบวารสารศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สาขาหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยการเป็นนักข่าวหน้าปริทรรศน์ ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน อยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนที่จะลาออกมาเขียนนิยายอย่างจริงจังจนกระทั่งเป็นนักเขียนที่โด่งดังมาถึงทุกวันนี้ ด้วยนิสัยรักการอ่านและเกิดความประทับใจในหนังสือหลายเล่ม เธอจึงเริ่มเป็นนักเขียนสมัครเล่นตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมต้นโดยการเขียนเรื่องสั้นให้เพื่อนในชั้นเวียนกันอ่าน จากนั้นในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยปี 2 เธอก็ส่งบทความและเรื่องสั้นไปตามหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ จากเนื้อหาและลีลาการเขียนที่น่าสนใจทำให้ผลงานของเธอได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายเล่ม เช่น สตรีสาร ขวัญเรือน แพรวสุดสัปดาห์ โดยใช้นามปากกาว่า ‘ทองหลางลาย’ ก่อนที่จะมาใช้ ‘กิ่งฉัตร’ในการเขียนนวนินายเรื่องยาวในเวลาต่อมา

จริงๆแล้วเธอเริ่มเขียนนวนิยายตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 4 และนิยายเรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ‘พรพรหมอลเวง’ ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้อ่านตั้งแต่เริ่มตีพิมพ์ในนิตยสารโลกวลี เมื่อปี 2535 และในปีเดียวกันทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี ก็ได้ซื้อบทประพันธ์ดังกล่าวไปสร้างเป็นละครทีวี และจากเรตติ้งที่ท่วมท้นทำให้นิยายเรื่องนี้มีถูกนำไปทำเป็นละครออนแอร์อีกครั้งในปี 2546

สมัยนั้นพอเขียนเสร็จแล้วเราก็จะส่งเรื่องไปเสนอตามนิตยสารต่างๆ ถ้าเรื่องผ่านการพิจารณาแล้วเขาก็จะลงเป็นตอนๆ ไปจนจบ ปรากฏว่าเรื่องของปุ้ยคนอ่านชอบเลยเริ่มมีชื่อขึ้นมา พอเริ่มเป็นที่รู้จักการขายงานให้นิตยสารมันก็ง่ายขึ้น บางทีก็โทร.คุยกับทาง บก.ว่าเราเขียนนิยายอยู่เรื่องหนึ่ง พล็อตเรื่องประมาณนี้นะ เขาสนใจไหม ถ้า บก.โอเคเราก็เขียนส่งไปลงเป็นตอนๆ ไม่ได้เขียนรวดเดียวจบแล้วค่อยส่งนะ คือถ้าคนอ่านชอบโอกาสที่จะได้ลงเรื่องต่อๆไปก็ง่ายขึ้น ซึ่งนิตยสารจะให้อิสระกับนักเขียน เขาจะไม่มากำหนดว่านักเขียนแนวนั้นแนวนี้ ซึ่งนักเขียนเองก็จะเลือกนิตยสารที่เหมาะกับงานของตัวเองมากกว่า อย่างนิยายที่จะลงขวัญเรือนก็จะออกแนวรักๆ ใคร่ๆ แต่ถ้าเป็นนิยายบู๊ก็ละไปลงนิตยสารบางกอก

ถ้านักเขียนเก่าก็อาจจะได้เปรียบกว่าหน่อย แต่ถ้าเป็นนักเขียนหน้าใหม่เลยเนี่ยเริ่มแรกทางนิตยสารเขาก็จะกังวลว่าจะสามารถเขียนเรื่องส่งให้เขาจนจบได้จริงหรือเปล่า เพราะเขากลัวว่าถ้าเอาเรื่องลงไปครึ่งเรื่องแล้วนักเขียนเกิดบอกว่าเขียนต่อไม่ได้แล้ว คนที่ต้องรับผิดชอบคนแรกคือนิตยสารเพราะคนอ่านก็ต้องตำหนิทางนิตยสารก่อน ทางนิตยสารจึงมีข้อกำหนดว่าถ้าเป็นนักเขียนหน้าใหม่เรื่องที่นำมาเสนอต้องเป็นเรื่องที่เขียนเสร็จแล้ว ต่อไปถ้าร่วมงานกันระยะหนึ่งแล้ว เห็นผลงานและไว้วางใจกันจึงค่อยส่งเรื่องมาเป็นตอนๆ

คือปุ้ยเป็นนักเขียนรุ่น 10 ปีที่แล้ว ซึ่งลักษณะการทำงานจะเขียนลงนิตยสารเป็นตอนๆ ก่อน พอลงนิตยสารจนจบเรื่องแล้วก็จะเอาไปรวมเล่มขาย ซึ่งจะต่างจากนักเขียนในปัจจุบันซึ่งเขียนจนจบแล้วทำเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กเลย ไม่ได้ผ่านนิตยสารเหมือนนักเขียนสมัยก่อน หรืออาจเขียนลงอินเทอร์เน็ตจนจบ ถ้าได้รับความนิยมจากคนอ่านก็มีสำนักพิมพ์เอาไปรวมเล่มเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก คือปัจจุบันระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามามันเปลี่ยนอะไรไปเยอะมาก ขั้นตอนมันจะไม่เหมือนกัน ปัจจุบันตลาดมันกว้างขึ้น ปัจจุบันปุ้ยก็ยังเขียนลงตามนิตยสารอยู่ แต่เขียนลงทีละฉบับนะ หรืออย่างมากก็แค่ 2 ฉบับเท่านั้น แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ลงที่ไหน หยุดพักยาว แต่คิดว่าเดือนหน้า (ส.ค. 52) จะเริ่มลงขวัญเรือนค่ะ คือนิยายของปุ้ยส่วนใหญ่จะลงตามนิตยสารสำหรับผู้หญิงซึ่งเจาะกลุ่มแม่บ้านเป็นหลัก” กิ่งฉัตร บอกเล่าถึงเส้นทางการเป็นนักเขียนและขั้นตอนการผลิตงานเขียนของเธอ

หยิบข่าวรายวัน มาปั้นเป็นพล็อต

สำหรับการหาแรงบันดาลใจในการสร้างพล็อตเรื่องในนวนิยายภายใต้นามปากกากิ่งฉัตรนั้น นักเขียนสาวบอกว่าเธอนำมาจากเรื่องราวรอบๆตัว โดยเฉพาะข่าวสารที่อ่านเจอตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ โดยนำไอเดียเล็กๆที่จุดประกายขึ้นนั้นมาผสมผสานกับจินตนาการและจัดวางเป็นโครงเรื่อง จากนั้นจึงค่อยแต่งเติมรายละเอียดของเนื้อหาไปพร้อมๆกับการค้นคว้าหาข้อมูล เพื่อให้เกิดเป็นเรื่องราวที่สนุกสนาน สมจริง นำพาผู้อ่านไปยังโลกของตัวละครที่มีทั้งสุข เศร้า เหงา รัก ตื่นเต้น ระทึกใจ และบางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะยิ้มทั้งน้ำตา ซึ่งกิ่งฉัตรบอกว่านอกเหนือจากความบันเทิงแล้วสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในนิยายทุกเรื่องของเธอนั้นก็คือข้อคิดเตือนใจที่ฝากไว้ให้ผู้อ่านได้เก็บไปครุ่นคิดไตร่ตรอง

“การคิดพล็อตเรื่องของปุ้ย นั้นบางส่วนมาจากจินตนาการ บางส่วนมาจากเรื่องจริงที่เราได้รับรู้มาจากคนรอบข้าง บางส่วนก็จากข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าในช่วงหลังงานเขียนของปุ้ยจะเอามาจากข่าวที่เกิดขึ้นในบ้านเรา บางทีก็เอามาจากข่าวต่างประเทศบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะมาจากข่าวเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วไป คือเราอ่านปุ๊บจะรู้สึกว่า เอ๊ะ! ประเด็นนี้มันน่าสนใจ เช่น เรื่องแกะรอยรัก (ถูกนำมาสร้างเป็นละครทีวี ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 , นำแสดงโดย โฬม–พัชฏะ นามปาน และ ศรีริต้า เจนเซ่น) พล็อตเรื่องมาจากที่เราดูข่าวคดีหนึ่งซึ่งมีนักศึกษาเสียชีวิตเพราะตกจากที่สูง นักศึกษาคนนี้เพอร์เฟ็กต์ทุกอย่าง หน้าตาดี มีการศึกษา แต่ไม่แน่ใจว่าทำไมถึงเสียชีวิตในลักษณะนั้น ตามข่าวเนี่ยมีคนบอกว่าได้ยินเสียงคนทะเลาะกัน แต่เมื่อตำรวจเข้าไปตรวจสอบก็ไม่พบว่ามีใครอยู่กับผู้หญิงคนนี้ในช่วงเวลานั้น ซึ่งจากการสอบสวนพบว่าเธอมีปัญหากับทางบ้านจึงออกไปพักกับเพื่อน ก่อนเกิดเหตุเธอได้รับโทรศัพท์แล้วออกจากอพาร์ตเมนต์ของเพื่อนมา และมาเสียชีวิต ซึ่งเป็นปริศนาว่ามันเกิดอะไรขึ้น

เราก็รู้สึกว่าเอ๊ะ...น่าสนใจนะ แล้วพอดีตอนนั้นญาติของปุ้ยไปเรียนเกี่ยวกับศาสตร์การดูหมอ แล้วเขาก็เอากฎของหมอดูมาให้ดู ก็จะมีกฎ 1,2,3,4 ว่าต้องไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็แปลกใจว่าการดูหมอเขาก็มีกฎเหมือนกัน ก็เลยหยิบหลายๆอย่างมารวมกันแล้วก็เขียนเรื่องแกะรอยรักขึ้นมา แต่ปุ้ยจะไม่วางพล็อตตามเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นทุกอย่างนะ แต่จะเอาจินตนาการของเราเข้าไปใส่แทน คือต้องยอมรับว่าประเทศไทยเนี่ยบางทีการเขียนตามความเป็นจริงเป็นเรื่องล่อแหลมว่าอาจจะมีปัญหาตามมาได้ เพราะโครงเรื่องมันมาจากเรื่องจริง ตัวละครมีตัวตนจริงๆ บุคคลที่เกี่ยวข้องเขาก็อาจจะไม่พอใจ ดังนั้นเราจึงต้องใส่จินตนาการของเราลงไป และให้เรื่องราวของข่าวเป็นเพียงแค่แรงบันดาลใจที่เราเอามาจินตนาการต่อเท่านั้น ตัวฆาตกรในนิยายอาจจะไม่ใช่ฆาตกรที่ปรากฏในข่าว” กิ่งฉัตรพูดถึงที่มาของพล็อตเรื่องในนวนิยายของเธอ

อุปสรรคปราบเซียน คือเขียนให้จบ

กิ่งฉัตรกล่าวต่อว่า นอกจากพล็อตเรื่องที่มีความน่าสนใจแล้ว รายละเอียดต่างๆที่เกิดขึ้นในทุกบททุกตอนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะมิใช่ว่าผู้เขียนจะใช้จินตนาการนำพาผู้อ่านให้เพลิดเพลินไปกับความสนุกสนานเท่านั้น หากรายละเอียดและเนื้อหาที่ดำเนินไปดูขัดกับหลักความเป็นจริงก็ถือเป็นจุดผิดพลาดที่อาจทำให้นิยายเรื่องนั้นขาดน้ำหนักและความน่าเชื่อถือ จนไม่สามารถดึงให้ผู้อ่านเชื่อหรือคล้อยตามได้ ดังนั้นการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักเขียนทุกคน

“การเขียนนิยายนั้นข้อมูลต่างๆถือเป็นเรื่องสำคัญมาก บางอย่างเราจะคิดจะเขียนตามความเข้าใจของเราเองไม่ได้ เช่น พ่อของนางเอกเป็นโรคร้ายโรคหนึ่ง เราก็ต้องไปศึกษาว่าโรคนั้นมีอาการอย่างไร หรือตระกูลนี้มีการฟ้องแบ่งสมบัติ ก็ต้องไปดูรายละเอียดเรื่องกฎหมายมรดกว่าเขียนไว้ว่าอย่างไร แต่การเขียนหนังสือในปัจจุบันนั้นง่ายกว่าแต่ก่อนมาก เมื่อก่อนเนี่ยนอกจากจะพูดคุยและขอข้อมูลจากผู้ที่รู้เรื่องนั้นๆโดยตรงแล้ว เราต้องค้นคว้าเอาจากหนังสือ แต่ปัจจุบันสามารถเสิร์ชหาข้อมูลทุกอย่างได้จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะมีข้อมูลหลากหลายและละเอียดมาก แม้แต่การเขียนเรื่องการฆาตกรรม สืบสวนสอบสวน เราก็สามารถเสิร์ชอินเทอร์เนตหาข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีต่างๆ เพื่อนำมาประกอบในนิยายของเราได้

ก็มีบ้างเหมือนกันนะที่ตอนแรกวางแนวทางไว้อย่างหนึ่ง แต่เขียนๆไปแล้วพบว่าข้อมูลที่เราเชื่อแต่แรกมันไม่ใช่ เราก็ต้องพยายามปรับให้มันดูสมเหตุสมผลมากขึ้น บางครั้งวางโครงไว้อย่างนี้ แต่พอไปค้นแล้วตามหลักกฎหมายมันว่าอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ เราก็ต้องเปลี่ยนไปตามหลักความเป็นจริงและพัฒนาการที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบัน คือการเขียนนิยายเนี่ยมันใช้เวลานานเป็นปี วันนี้ข้อมูลเป็นอย่างนี้ แต่อีก 1-2 ปี ข้อมูลมันอาจจะเปลี่ยนไป ก็ต้องปรับให้มันสอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ส่วนใหญ่จุดเริ่มต้นกับจุดลงท้ายที่ตั้งไว้มักจะไม่เปลี่ยนนะ”

สำหรับจุดที่ยากที่สุดในการเขียนนิยายแต่ละเรื่องนั้นนักเขียนมือทองอย่าง กิ่งฉัตรมองว่า

“ความยากข้อแรกก็คือต้องเขียนให้จบ (หัวเราะ) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ยากมาก... ปุ้ยนับถือนักเขียนทุกคนที่เขียนนิยายจบนะ เพราะมันต้องใช้ความพยายามและความอดทนมาก ในการเขียนหนังสือขึ้นมาสักเล่มหนึ่งเนี่ย ความยากข้อที่ 2 คือ ทำอย่างไรจะให้ผู้อ่าน อ่านแล้วรู้สึกเชื่อตามว่าเรื่องราวมันสมจริง หรือเราสามารถทำจุดมุ่งหมายในการเขียนให้เป็นไปตามที่หวังไว้ เช่นเราต้องการให้อะไรกับคนอ่าน ต้องการให้ความบันเทิง ให้แง่คิด ให้สาระความรู้ ซึ่งความยากก็คือเราต้องทำตรงจุดนั้นให้สำเร็จให้ได้”

เสน่ห์ร้ายสไตล์กิ่งฉัตร

เสน่ห์อย่างหนึ่งของนวนิยายภายใต้ชื่อกิ่งฉัตรก็คือการผูกโยงตัวละครของนิยายหลายๆเรื่องเข้าด้วยกัน โดยพระรองของนิยายเรื่องหนึ่งอาจจะไปโลดเล่นเป็นพระเอกในนิยายอีกเรื่องหนึ่ง หรือเพื่อนนางเอกในนิยายเรื่องนี้อาจจะกลายเป็นนางเอกในนิยายเรื่องถัดไป ซึ่งการวางตัวละครสไตล์นี้ทำให้ผู้อ่านรู้สึกสนุกที่จะติดตามงานชิ้นต่อๆไปของเธอเพื่อลุ้นว่าตัวละครที่เขาชื่นชอบในนิยายเรื่องก่อนนั้นจะไปปรากฏโฉมในนิยายเรื่องต่อไปหรือไม่ อีกทั้งเมื่อเห็นตัวละครเดิมในนิยายเรื่องใหม่ก็ทำให้รู้สึกเหมือนได้เจอเพื่อนเก่าที่คุ้นเคยกันมานานอีกครั้งหนึ่ง

“ความจริงสไตล์การเขียนแบบนี้มีมานานแล้ว อย่างเรื่องปริศนา ของ ว.ณ.ประมวลมารค ก็จะเริ่มจากปริศนา แล้วก็มาเจ้าสาวของอานนท์ แล้วก็มารัตนาวดี ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ ตัวละครจะเกี่ยวพันกันหมด ในฐานะคนอ่านเนี่ยปุ้ยอ่านงานลักษณะนี้แล้วรู้สึกว่าประทับใจมาก เวลาอ่านปริศนาแล้วไปอ่านเจ้าสาวของอานนท์หรือรัตนาวดี เราก็จะพยายามเปิดหาในช่วงที่มีการพาดพิงถึงปริศนากับท่านชายพจน์ คือคนอ่านจะรู้สึกเหมือนกับว่าได้ข่าวคราวของตัวละครเก่า หรือเปิดประตูมาแล้วเจอเพื่อนเก่าอยู่ตรงหน้า มันเป็นความประทับใจที่ทำให้เราอยากเขียนงานในลักษณะนี้บ้าง แบบว่าตัวละครอาจจะมีความเกี่ยวพันต่อเนื่องกันมา ชื่อตัวพระรองจากเรื่องนี้อาจจะไปเป็นพระเอกในเรื่องถัดไป แต่เรื่องถัดไปอาจจะไม่จำเป็นที่ต้องนำพระเอกในเรื่องที่แล้วมากล่าวถึงก็ได้ คือปุ้ยมีความเชื่อว่าตัวละครทุกตัวอาจจะไปเจอใครสักคนในชีวิต เขาอาจจะเป็นตัวประกอบของเรื่องที่แล้ว แต่ในเรื่องนี้เขาเป็นพระเอกนางเอกก็ได้

อย่างนิยายชุดนักข่าว ตัวละครก็มาเป็นซีรีย์เลย นิยาย 3 เรื่อง คือ มนต์จันทรา มายาตะวัน และฟ้ากระจ่างดาว นางเอกเป็นเพื่อนกันหมด เซ็ตนี้เป็นนิยายที่เขียนในช่วงแรกๆเลย และถ้าอ่านดูจะรู้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดมันเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เป็นนักข่าวสาว 3 คน ซึ่งอยู่คนละสายงาน เรื่องราวเกิดขึ้นพร้อมกันหมด งานเขียนสไตล์นี้ก็อาจจะมีส่วนที่ทำให้คนอ่านอยากติดตาม เขาก็จะคอยตามว่า เอ...ตัวละครตัวนี้จะไปอยู่ในนิยายเรื่องถัดไปหรือเปล่า แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ก็แล้วแต่ว่างานของเราจะถูกใจใคร ผู้อ่านบางท่านก็ไม่ชอบ แต่บางท่านก็ชอบ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ปุ้ยก็เขียนสลับกันไปมา ถ้าเขียนๆไปแล้วมีพล็อตที่จะดึงตัวละครจากเรื่องเดิมมาใช้ได้ก็จะดึงมาใช้” กิ่งฉัตร กล่าวด้วยใบหน้ายิ้มละไม

จากนิยายเป็นตอน...สู่ละครหลังข่าว

กล่าวได้ว่ากิ่งฉัตรเป็นนักเขียนนิยายมือทองที่มีคนจับจองขอซื้อลิขสิทธิ์บทประพันธ์ของเธอไปสร้างเป็นละครทีวีมากที่สุดคนหนึ่งเลยทีเดียว ละครหลังข่าวที่โด่งดังเปรี้ยงปร้างอย่าง พรพรหมอลเอง เสลาดารัล ด้วยแรงอธิษฐาน พรายปรารถนา นางบาป สืบรักรหัสลับ แกะรอยรัก สูตรเสน่หา หรือแม้แต่บ่วงหงส์ที่เพิ่งลาโรงไปเมื่อไม่นานนี้ก็ล้วนแต่เป็นผลงานของกิ่งฉัตร ซึ่งเรื่องนี้เจ้าของบทประพันธ์แสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่านิยายในสไตล์ที่ปุ้ยเขียนนั้นเป็นสไตล์ที่คนส่วนใหญ่ชอบ ผู้จัดเลยมองว่ามันน่าสนใจที่จะนำไปทำเป็นละครทีวี แต่นิยายของปุ้ยก็ไม่ได้ถูกนำไปทำเป็นละครทุกเรื่องนะ ถ้าเรื่องหนักๆหน่อยก็จะไม่มีคนสนใจ แต่ถ้าเป็นเรื่องรักกุ๊กกิ๊กเนี่ยคนทำละครก็ชอบ คนอ่านนิยายกับคนดูละครก็ชอบ คือเรื่องหนักๆ คนทำละครก็ไม่เอา คนอ่านคนดูก็ไม่ชอบ (หัวเราะ) เพราะเขารู้สึกว่าชีวิตฉันก็เครียดพออยู่แล้ว เราต้องยอมรับว่าสิ่งที่คนไทยต้องการจากนิยายและละครก็คือความบันเทิง คือข้อดีของการที่เราทำงานด้านนี้มานานผู้จัดเขาก็จะไว้วางใจ นิยายบางเรื่องเขาอ่านแล้วถูกใจเขาก็เอาไปทำละคร แต่นักเขียนหน้าใหม่เนี่ยช่วงแรกๆ อาจมีปัญหาว่าเรื่องราวในแต่ละตอนมันไม่ต่อเนื่องกัน การนำนิยายเรื่องนั้นไปเขียนเป็นบทละครโทรทัศน์มันก็จะลำบากมากขึ้น นอกจากนั้นนิยายส่วนใหญ่เนื้อหามันจะไม่ต่างกันมากดังนั้นพอผู้จัดเขาเลือกนิยายเรื่องหนึ่งขึ้นมาเรื่องอื่นๆ มันก็จะตกไป คนเลยรู้สึกว่ามีนักเขียนหน้าใหม่เข้าสู่วงการละครน้อย

ก็มีเหมือนกันนะที่นิยายบางเรื่องลงในนิตยสารปุ๊บก็มีผู้จัด โทร.มาว่าสนใจจะเอาไปทำเป็นละครนะ ขอจองไว้ก่อนได้ไหม แต่เราก็ต้องดูด้วยว่าสไตล์การทำงานของผู้จัดรายนั้นๆเหมาะกับนิยายของเราไหม เพราะผู้จัดละครแต่ละรายก็มีความถนัดแตกต่างกันไป บางคนถนัดแนวดราม่า บางคนถนัดแนวบู๊ บางครั้งมีผู้จัดมาขอซื้อนิยายบางเรื่องไปทำละครแต่เราเห็นว่าทีมงานเขาไม่ถนัดที่จะทำละครแนวนี้ เราก็ปฏิเสธไป ถ้าเป็นผู้จัดที่สนิทกันเราก็จะพูดกับเขาตรงๆ ว่าเรื่องนี้ไม่เหมาะกับคณะของพี่นะ ส่วนการเข่งขันกันเพื่อซื้อนิยายของนักเขียนดังๆ นี่เท่าที่เห็นก็ไม่มากเท่าไรนะ เพราะนักเขียนที่คลุกคลีอยู่กับวงการละครส่วนใหญ่ก็จะมีผู้จัดที่ติดต่อกันอยู่ไม่กี่เจ้า ก็จะสนิทสนมคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ซึ่งความสนิทสนมก็เป็นส่วนหนี่งในการตัดสินใจ ผู้จัดคนนี้เคยร่วมงานกันมาก่อนแล้วก็แฮปปี้ดี พอมาติดต่อซื้อนิยายไปทำละครเราก็ให้ไป

ถามว่าถึงขนาดที่ผู้จัดต้องแย่งชิงกันไหม ก็ไม่หรอก เพราะเดี๋ยวนี้นิยายมันออกมาเยอะมากแล้ว แล้วปัจจุบันคนที่ติดต่อซื้อนิยายไปทำละครส่วนใหญ่จะเป็นทางช่องนะคะ ไม่ใช่ผู้จัดละคร ซึ่งทางช่องจะมีอิทธิพลกับการตัดสินใจมาก อย่างบางทีผู้จัดเจ้านี้ได้นิยายเรื่องนี้ไป แต่ทางช่องเห็นว่าผู้จัดอีกเจ้าหนึ่งเหมาะกับนิยายเรื่องนี้มากกว่า ก็อาจจะบอกกับผู้จัดรายแรกว่าขอละครเรื่องนี้ให้ผู้จัดอีกรายหนึ่งทำก็ได้ คือผู้จัดอาจจะมาเจรจาแต่ขั้นตอนสุดท้ายอยู่ที่ทางช่อง”

สำหรับค่าตอบแทนในการขายบทประพันธ์เพื่อนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าอยู่ในอัตราที่สูงมากนั้น กิ่งฉัตรบอกว่า แม้ค่าตอบแทนจะเป็นเลข 6 หลักแต่ก็ไม่ได้มากมายอย่าที่หลายคนคิด

“ก็อยู่ที่หลักแสนค่ะ แต่ไม่ได้มากอย่างที่คนทั่วไปชอบพูดกันว่ามันต้องมากมายมหาศาล แล้วค่าเรื่องของปุ้ยก็ไม่ได้ขยับขึ้นมาหลายปีมาก ซึ่งค่าเรื่องของนักเขียนแต่ละคนมันก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้จัดกับนักเขียนด้วย แต่ไม่ได้เยอะอย่างที่คนคิด ปุ้ยว่าเป็นดาราดีกว่า อย่ามาเป็นนักเขียนเลย (หัวเราะ) แต่การขายลิขสิทธิ์นิยายเพื่อไปทำละครทีวีก็ไม่ได้ขายขาดนะคะ จะมีช่วงเวลาว่ากี่ปี แล้วแต่จะตกลงกัน เช่นอาจจะประมาณ 4-5 ปี คือสาเหตุที่สัญญาต้องกำหนดช่วงเวลาค่อนข้างนานเพราะละครในสต็อกของผู้จัดแต่ละคนเนี่ยเยอะมาก มีนักเขียนที่ดีลกันเยอะ ช่วงเวลา 2-3 ปีอาจจะไม่พอ เพราะซื้อแล้วอาจจะไม่ได้ทำเป็นละครทันที อยู่ที่ความพร้อมหลายๆอย่าง บางทีมีเรื่องที่น่าสนใจกว่าเข้ามาเขาก็อาจทำเรื่องนั้นก่อนก็ได้ ”

ทำไมนางร้ายต้องกรี๊ด

ละครหลายๆเรื่องแม้จะฮอตฮิตเรตติ้งดีขนาดไหนแต่บรรดาแฟนละครก็อดสงสัยในพฤติกรรมบางอย่างของตัวละคนไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการที่ทุกคนเชื่อว่านางเอกเป็นผู้ชายโดยที่เธอแทบจะไม่ต้องปลอมตัวอะไรเลยนอกจากใส่เสื้อเชิ้ต ไว้ผมสั้น และพูดลงท้ายว่า “ฮะ” ขณะที่พระเอกมักเชื่อคำพูดของทุกคนไม่ว่าจะมีเหตุผลหรือไม่ ยกเว้นแต่พูดของนางเอก ส่วนนางร้ายนั้นก็จะร้องกรี๊ดๆทุกครั้งที่ไม่พอใจ และวันๆไม่ต้องทำงานทำการอะไร นอกจากตามหึงหวงไล่ล่าพระเอก

ในประเด็นนี้เจ้าของบทประพันธ์อย่างกิ่งฉัตร มองว่าแม้หลายสิ่งหลายอย่างซึ่งปรากฏในละครที่ออนแอร์ทางทีวีจะไม่ตรงกับสิ่งที่นักเขียนประพันธ์ไว้ในนิยาย แต่คนเขียนบทและผู้กำกับละครก็คงมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องสร้างตัวละครให้มีบุคลิกบางอย่างซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ในชีวิตจริง ซึ่งเหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือความสนุกสนานที่ต้องการมอบให้แก่ผู้ชมนั่นเอง

“การเขียนนิยายกับการทำละครมันมีความแตกต่างกัน คือนิยายมันสามารถบรรยายรายละเอียดต่างๆและความรู้สึกนึกคิดของตัวละครได้ สามารถบอกได้ว่าในใจของตัวละครรู้สึกอย่างไร แต่ในละครทีวีเขาอาจจะทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องแสดงออกทางกิริยาอาการให้มันเว่อร์ๆ เข้าไว้คนดูจะได้รู้ว่านี่คือตัวร้ายนะ ซึ่งคนดูอาจจะรู้สึกว่าในชีวิตจริงของคนเราไม่มีใครลุกขึ้นมากรี๊ดขนาดนั้น แรกๆ ที่เราเห็นบทละครออกมาแบบนี้บางทีเราก็รับไม่ได้ บางทีเห็นนางอิจฉาในนิยายของเราไปกรี๊ดๆ บนหน้าจอทีวีเราก็งงเหมือนกัน แต่สักพักหนึ่งก็รู้สึกว่าเราทำงานเราดีที่สุดแล้ว ผู้จัดละครขาก็คงพยายามทำงานของเขา

ส่วนที่บางคนสงสัยว่า ทำไมนางร้ายไม่เห็นทำงานทำการอะไร เท่าที่ดูส่วนใหญ่ก็ทำนะ คือมีอาชีพไล่จับพระเอก (หัวเราะ) ถ้าอ่านนิยายจะเห็นว่าตัวละครน่าจะมีงานทำทั้งหมดนะคะ แต่ละครอาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือการทำละครของไทยค่อนข้างยากนิดหนึ่ง เพราะถ้าไปอ้างอิงว่าตัวร้ายทำอาชีพนั้นอาชีพนี้ คนที่ทำอาชีพนั้นๆ ก็อาจจะไม่พอใจ ทำไมงานละครของบ้านเราจึงไม่เหมือนกับต่างประเทศ เพราะเราไม่ยอมรับ ตำรวจเลวไม่ได้ พยาบาลร้ายไม่ได้ ถ้ามีข้อขัดแย้งก็จะมีการประท้วงกัน นิดหนึ่งก็เอาแล้ว ขณะที่ต่างประเทศเนี่ยตัวละครเขาคือมนุษย์จริงๆ ทุกอาชีพมีสิทธิ์ที่จะมีคนดีคนเลวปะปนกัน แต่ของไทยไม่ได้ แม้แต่เขียนหนังสือบางทียังต้องระวังเลย จำได้ว่ามีละครทีวีอยู่เรื่องหนึ่งแค่ตัวร้ายใส่ชุดนิสิต นิสิตก็ออกมาประท้วง อีกเรื่องหนึ่งนางเอกเป็นชาวเขา แล้วมีตัวประกอบที่เป็นชาวเขาเหมือนกันเป็นคนติงต๊องๆหน่อย ชาวเขาก็ออกมาประท้วง แม้แต่เรื่องบ่วงหงส์ที่เพิ่งออนแอร์ไปเนี่ยเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงแรม นางเอกและเพื่อนๆ เป็นพนักงานโรงแรม ยังมีคนที่ทำงานด้านโรงแรมออกมาแสดงความไม่พอใจเลย” กิ่งฉัตรกล่าวอธิบายอย่างอารมณ์ดี

อย่าทิ้งโอกาส

แม้จะมีผลงานต่างๆออกมามากมายหลากหลายแนว ทั้งนิยายรักหวานซึ้ง รักกุ๊กกิ๊กแนวพ่อแง่แม่งอน บู๊ผจญภัย นิยายสืบสวนสอบสวน หรือแม้แต่เรื่องวิญญาณลี้ลับ แต่ก็ยังมีงานเขียนแนวหนึ่งซึ่งกิ่งฉัตรยอมรับว่าเธอยังไม่เคยก้าวเข้าไปสัมผัสหรือจรดปลายปากกาเขียนนิยายแนวนี้ออกมาเลยสักครั้ง

“ถ้าถามว่ายังมีเรื่องแนวไหนอีกไหมที่อยากเขียนแต่ยังไม่เคยเขียน ก็คงจะเป็นแนวโศกนาฏกรรม แต่กลัวว่าเขียนเรื่องเศร้าแล้วมันจะไม่เศร้า กลัวจะกลายเป็นตลกไป (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเลยต้องเอาไว้ก่อน คือปกติปุ้ยจะไม่ค่อยชอบนิยายเศร้าๆ จะไม่อ่านเลย ถ้ารู้ว่าเรื่องนั้นจบลงแบบโศกนาฏกรรมต่อให้ประทับใจแค่ไหนแต่ถ้าเลี่ยงได้ก็จะเลี่ยงเพราะเคยมีปัญหาว่าอ่านเรื่องแนวนี้แล้วมันติดอยู่ในใจนานมาก...แล้วทำให้เราหดหู่ ไม่สบายใจ แต่ถ้าถามว่าเขียนเรื่องแนวนี้ได้ไหม อาจจะเขียนได้นะ แต่ถ้าจะให้เลือกอ่านขอเลี่ยงไว้ก่อนดีกว่า” นักเขียนสาว กล่าว พร้อมกันนั้นยังฝากข้อคิดไปถึงนักเขียนรุ่นใหม่ๆที่มีความฝันว่าสักวันจะก้าวขึ้นมามีชื่อในทำเนียบนักเขียนว่า

“ปัจจุบันโอกาสของนักเขียนรุ่นใหม่มีเยอะกว่านักเขียนรุ่นเก่ามาก ไม่มีการผูกขาดเหมือนสมัยก่อน ปัจจุบันนักเขียนสามารถเขียนนิยายแล้วเสนอไปยังสำนักพิมพ์หรือเขียนลงตามเว็บไซต์เพื่อขายงานของตัวเองได้ เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยโอกาสไป เพียงแต่ดูสำนักพิมพ์ให้เหมาะกับงานเขียนของเรา และก่อนจะส่งงานไปที่ไหนให้เช็คนิดหนึ่งว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ นอกจากนั้นก็ให้ระวังเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ อย่าไปขโมยงานของใครมาเด็ดขาดเพราะประวัติที่เสียหายเหล่านี้มันจะติดตัวเราไปนานมาก ถ้ารักในงานเขียนจริงๆก็ขอให้ยืนด้วยตัวเองจะดีที่สุด”

* * * * * * * * * * * *

นวนิยายที่นำไปสร้างเป็นละคร

ตลอด 18 ปีที่กิ่งฉัตรทุ่มเทเวลาให้กับการเขียนนวนิยายนั้น เธอมีผลงานออกมาทั้งสิ้น 32 เรื่อง โดยผลงานดังกล่าวถูกนำไปสร้างเป็นละครทีวีถึง 21 เรื่องด้วยกัน

1.พรพรหมอลเวง ถูกนำมาสร้างเป็นละครทีวีซึ่งออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สีมาแล้วถึง 2 ครั้ง คือในปี 2535 นำแสดงโดย ‘โดโด้’ ยุทธพิชัย ชาญเลขา และ ‘แอน’ สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ และในปี 2546 นำแสดงโดย ‘บรู๊ค’ดนุพร ปุณณกันต์ และ ‘น้ำฝน’กุลณัฐ ปรียะวัฒน์

2. มายาตะวัน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี เมื่อปี 2538 นำแสดงโดย ‘แซม’ยุรนันท์ ภมรมนตรี และ ชฎาพร รัตนากร

3. เสราดารัล ออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี เมื่อปี 2538 นำแสดงโดย ลิขิต เอกมงคล และ นุสบา ปุณณกันต์ (วานิชอังกูร)

4. ด้วยแรงอธิษฐาน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี เมื่อปี 2539 เมื่อปี 2539 นำแสดงโดย ‘ตั้ว’ ศรันยู วงศ์กระจ่าง และ ‘กบ’ สุวนันท์ คงยิ่ง

5. ละครเล่ห์เสน่หา ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี 2539 นำแสดงโดย ‘อู๋’ ธนากร โปษยานนท์ และ ‘นุ่น’ สินิทรา บุญยศักดิ์

6. ดวงใจพิสุทธิ์ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี เมื่อปี 2540 นำแสดงโดย ‘แซม’ยุรนันท์ ภมรมนตรี และ ‘แอน’ สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์

7. บ่วงหงส์ ถูกนำมาสร้างเป็นละครทีวีออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี ถึง 2 ครั้ง คือในปี 2541 นำแสดงโดย จอห์น รัตนเวโรจน์ และ ‘หน่อย’ บุษกร วงศ์พัวพันธ์ (พรวรรณะศิริเวช) และล่าสุดปี 2552 นำแสดงโดย วีรภาพ สุภาพไพบูลย์ และ‘แพนเค้ก’เขมนิจ จามิกรณ์

8. ตามรักคืนใจ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี 2541 นำแสดงโดย ‘อู๋’ ธนากร โปษยานนท์ และ ‘ปูเป้’ รามาวดี สิริสุขะ

9. ดั่งไฟใต้น้ำ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี เมื่อปี 2542 นำแสดงโดย‘แซม’ยุรนันท์ ภมรมนตรี และ‘ติ๊ก’กัญญารัตน์ จิรรวัชกิจ

10. เพรงเงา ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี 2542 นำแสดงโดย ‘อู๋’ ธนากร โปษยานนท์ และ ‘พิม’ ซอนย่า คูลลิ่ง

11. มนต์จันทรา ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี 2543 นำแสดงโดย ฉัตรชัย เปล่งพาณิช และ ‘ติ๊ก’กัญญารัตน์ จิรรัชชกิจ

12. แสงดาวฝั่งทะเล ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี เมื่อปี 2544 นำแสดงโดย ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง และ ‘นิ้ง’ กุลสตรี ศิริพงศ์ปรีดา

13. มีเพียงรัก ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี 2543 นำแสดงโดย ‘ก้อง’สหรัถ สังคปรีชา และ ‘ป๊อก’ ปิยธิดา วรมุสิก

14. ลางลิขิต ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี 2544 นำแสดงโดย ‘อู๋’ธนากร โปษยานนท์ , ‘ปูเป้’ รามาวดี นาคฉัตรีย์ (สิริสุขะ) , ‘เอส’ วรฤทธิ์ ไวรเจียรนัย และ ‘เชอรี่’ เข็มอัปสร สิริสุขะ

15. พรายปรารถนา ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี 2547 นำแสดงโดย ‘อู๋’ ธนากร โปษยานนท์ , ‘บี’ น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์ และ ธัญญาเรศ รามณรงค์

16. ฟ้ากระจ่างดาว ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี เมื่อปี 2548 นำแสดงโดย ‘ป๋อ’ ณัฐวุฒิ สะกิดใจ และ‘นุ่น’วรนุช วงษ์สวรรค์

17. รหัสหัวใจ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี เมื่อปี 2549 นำแสดงโดย ‘ออย’ธนา สุทธิกมล และ ‘ชมพู่’อารยา เอ ฮาร์เก็ต

18. ในเรือนใจ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี นำแสดงโดย แซม โชติบัณฑ์ , ‘ป๊อก’ ปิยธิดา วรมุสิก และ ‘ป้อง’ ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์

19. นางบาป ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี 2549 นำแสดงโดย ‘อั้ม’อธิชาติ ชุมนานนท์ , ‘เข็ม’ รุจิรา ช่วยเกื้อ และ ‘เบนซ์’ พรชิตา ณ สงขลา

20. สืบลับรหัสรัก ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในปี 2550 นำแสดงโดย ‘เคน’ ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ และ ‘วิกกี้’ สุนิสา เจทท์

21. แกะรอยรัก ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในปี 2551 นำแสดงโดย ‘โฬม’-พัชฏะ นามปาน และ ศรีริต้า เจนเซ่น

หมายเหตุ : อ่านเรื่องราวของกิ่งฉัตรเพิ่มเติมได้ที่ http://asia.geocities.com/kingchathouse/
 
* * * * * * * * * * * *

เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ปาริฉัตร ศาลิคุปต เจ้าของนามปากกา กิ่งฉัตร
พรพรหมอลเวง เวอร์ชั่น ‘สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์’ ที่ได้รับเสียงชื่นชมว่านางเอกแต่งตัวเป็นเด็ก
‘พรพรหมอลเวง’ เวอร์ชั่น ‘น้ำฝน- กุลณัฐ ปรียะวัฒน์’
‘เสลาดารัล’ เป็นละครที่โด่งดังมากเมื่อครั้งออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี เมื่อ 10 กว่าปี
‘ด้วยแรงอธิษฐาน’ ละครทีวีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
‘บ่วงหงส์’ ถูกนำมาสร้างเป็นละครทีวีถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก นำแสดงโดย จอห์น รัตนเวโรจน์ และ ‘หน่อย’ บุษกร วงศ์พัวพันธ์ (พรวรรณะศิริเวช)
‘บ่วงหงส์’ เวอร์ชั่นล่าสุด นำแสดงโดย วีรภาพ สุภาพไพบูลย์ และ‘แพนเค้ก’เขมนิจ จามิกรณ์
การท่องเที่ยวเป็นสิ่งหนึ่งที่นักเขียนมือทองอย่าง ‘กิ่งฉัตร’ ชื่นชอบ
‘มนต์จันทรา’ หนึ่งในเรื่องสั้นชุดนักข่าวของ ‘กิ่งฉัตร’ ซึ่งบรรดาแฟนนักอ่านเรียกกันว่าชุด 3 ทหารเสือ
‘มายาตะวัน’ หนึ่งในเรื่องสั้นชุดนักข่าวของ ‘กิ่งฉัตร’ ซึ่งบรรดาแฟนนักอ่านเรียกกันว่าชุด 3 ทหารเสือ
‘ฟ้ากระจ่างดาว’ หนึ่งในเรื่องสั้นชุดนักข่าวของ ‘กิ่งฉัตร’ ซึ่งบรรดาแฟนนักอ่านเรียกกันว่าชุด 3 ทหารเสือ
‘ตามรักคืนใจ’ เป็นละครที่ ‘กิ่งฉัตร’ ชื่นชมว่าผู้จัดสามารถเลือกตัวแสดงได้ตรงกับบุคลิกของตัวละครในบทประพันธ์มากที่สุด
ละครยอดฮิตจากบทประพันธ์ของ ‘กิ่งฉัตร’
ละครยอดฮิตจากบทประพันธ์ของ ‘กิ่งฉัตร’
ละครยอดฮิตจากบทประพันธ์ของ ‘กิ่งฉัตร’
ละครยอดฮิตจากบทประพันธ์ของ ‘กิ่งฉัตร’
ละครยอดฮิตจากบทประพันธ์ของ ‘กิ่งฉัตร’


กำลังโหลดความคิดเห็น