xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมรำลึก 16 กุมภาพันธ์ “วันวิภาวดี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต
เช้าวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520 พระองค์เจ้าวิภาวดี รังสิต เสด็จเยี่ยมทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจภูธรและประชาชนที่ อ. เวียงสระ ทรงได้รับรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน 2 นาย ถูกกับระเบิดบาดเจ็บสาหัสเกรงว่าจะได้รับอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลได้ทันท่วงที จึงทรงให้นักบินนำ เฮลิคอปเตอร์ ร่อนลง เพื่อรับคนเจ็บนำส่งโรงพยาบาล แต่ในขณะที่นักบินนำเครื่องร่อนลงต่ำ ที่ บ้านเหนือคลอง ได้ถูกผู้ก่อการร้าย ระดมยิงกระสุนถูกเฮลิคอปเตอร์ และทะลุเข้ามาถูกพระองค์เจ้าวิภาวดีฯ …..

ทว่าแม้จะทรงได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็ยังรับสั่งทั้งที่ยังหลัพระเนตรว่า... "ตชด.เป็นอย่างไรบ้าง เอาออกมาได้หรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาล อย่าให้พวกมันรู้ว่าฉันถูกยิง มันจะเหิมเกริม หนาว ปวด เมื่อย" สักครู่ก็รับสั่งต่อไปว่า "ฉันไม่ได้เป็นไรแล้ว ตชด.มาหรือยัง ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลด่วน" ….นี่คือหนึ่งในประโยคสุดท้ายที่พระองค์หญิงได้รับสั่ง ก่อนสิ้นพระชนม์


พระประวัติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงมีพระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าวิภาวดี รัชนี ทรงเป็นพระบิดาในพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ( พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ต้นราชสกุลรัชนี ) และหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ (วรวรรณ) รัชนี ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ทรงมีอนุชาร่วมพระบิดามารดาเดียวกันหนึ่งองค์คือ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี

พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ แล้วจึงศึกษาหลักสูตรสมบูรณ์ศึกษาที่โรงเรียนนี้เพิ่มเติมอีก ๓ ปี ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ภายหลังที่ทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว พระองค์หญิงได้ทรงรับใช้พระบิดาอย่างใกล้ชิด กรมหมื่นพิทยาลงกรณ เป็นที่รู้จักกันดีในวงการประพันธ์ในนาม “น.ม.ส.” ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “กวีเอก”ผู้หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ คล้ายพระบิดาพระองค์หญิงทรงพระปรีชาสามารถหลายประการ โดยเฉพาะทางอักษรศาสตร์ ทรงเขียนเรื่องสำหรับเด็กเมื่อพระชันษาเพียง ๑๔ ปี และทรงใช้นามปากกาว่า “ว.ณประมวญมารค” ทรงนิพนธ์นวนิยายเรื่อง ปริศนา รัตนาวดี เจ้าสาวของอานนท์ ฯลฯ อีกทั้งสารคดีเรื่องตามเสด็จปากีสถาน ต่อมาทรงนิพนธ์นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง พระราชินีนาถวิกตอเรีย คลั่งเพรารัก ฯลฯ นอกจากนั้นยังได้ทรงนิพนธ์เรื่องสั้นรวมทั้งบทละครวิทยุด้วย


ทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2489 โดยเป็นคู่สมรสคู่เดียวที่ได้รับพรุราชทานน้ำมหาสังข์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อนันทมหิดล

พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยทรงเป็นคู่สมรสคู่เดียวที่ได้รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทหิดล ทรงมีธิดา ๒ คนคือ หม่อมราชวงศ์วิภานันท์และหม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา

พระองค์หญิงทรงเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคต่าง ๆ ในราชอาณาจักรตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๐ และต่อจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จในตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์

ในระยะ ๑๐ ปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระองค์หญิงปฏิบัติภารกิจแทนพระองค์ในด้านการพัฒนาพื้นที่ทุรกันดารภาคใต้ ทรงนำหน่วยพระราชทานไปช่วยเหลือประชาชนในท้องที่ที่ไกลและทุรกันดารที่สุดโดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความยากลำบากในการเดินทางหรือที่พักแรม เมื่อพระองค์หญิงเสด็จที่ใดก็ได้นำความไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและต่อมา ความเจริญก็ค่อย ๆ ไปถึงที่นั้น จนในที่สุดชาวบ้านจึงได้ขนานพระนามว่า “เจ้าแม่”
 

พระองค์หญิงทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยการเสด็จเยี่ยมเยียนพาแพทย์ไปรักษาพยาบาลคนที่เจ็บป่วย จัดสิ่งของหยูกยาไปช่วยชาวบ้านที่ยากไร้หรือประสบภัย แจกอุปกรณ์การศึกษาแก่เด็กนักเรียน แนะนำการงานอาชีพและส่งเสริมศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งยังคงนำสิ่งของพระราชทานไปเยี่ยยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร พลเรือน สมาชิกกองอาสาสมัครรักษาดินแดนเม้ในเขตที่มีผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอย่างรุนแรง ก็ยังทรงพระอุตสาหะเสด็จไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ถึงแนวหน้า


เสด็จเยือนภาคอีสาน พ.ศ.2502

จนกระทั่งวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ ระหว่างทางเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อนำสิ่งของพระราชทานไปเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทรงทราบจากวิทยุว่ามีตำรวจตระเวนชายแดนได้รับบาดเจ็บจากกับระเบิด ๒ นาย ด้วยความที่ทรงห่วงใยผู้บาดเจ็บเกรงว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลไม่ทันท่วงที จึงรับสั่งให้นักบินเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงเพื่อรับเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บ ๒ นายนั้นไปส่งโรงพยาบาล ขณะนักบินนำเครื่องร่อนลงต่ำใกล้บ้านเหนือคลอง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์กระสุนทะลุเข้ามาถูกพระองค์หญิง ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัสและสิ้นพระชนม์ก่อนเสด็จถึงโรงพยาบาล


ทรงแจกสิ่งของพระราชทานที่บ้านแม่สาน ธันวาคม 2518

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาหม่อมเจ้าวิภาวดีรังสิต เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2520 และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์

จากวันนั้น จวบจนถึงวันนี้ ... ถึงแม้ว่าพระองค์หญิงจะได้สิ้นพระชนม์ไปกว่า 30 ปีแล้ว แต่ทว่าคุณงามความดีของท่านยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวใต้ ชาวสุราษฎร์ฯ เสมอมา และในปีนีชาวสุราษฎร์ฯ ได้กำหนดวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของทุกปี คือวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เป็น“วันวิภาวดี” เพื่อทำพิธีสดุดีและบำเพ็ญกุศลถวาย ณ พระอนุสาวรีย์ 5 แห่งทั่วจังหวัดสุราษฎร์ธานี

คลิกเพื่ออ่านรายละเอียด กำหนดการจัดงาน “วันวิภาวดี” ประจำปี 2552
กำลังโหลดความคิดเห็น