1. “รบ.”เลือดเย็น-จัดฉาก “ไทยฆ่าไทย”เพื่อใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ !
หลังเกิดกรณีตำรวจใช้กำลังเพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลและสะพานมัฆวานรังสรรค์ จนมีผู้บาดเจ็บไปหลายสิบรายเมื่อช่วงสายวันที่ 29 ส.ค.จากนั้นช่วงค่ำวันเดียวกัน ตำรวจก็ได้ยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ อีกครั้งที่บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บอีกหลายสิบราย กระทั่งมีเสียงเรียกร้องจากหลายภาคส่วนในสังคมให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ รับผิดชอบด้วยการลาออกนั้น ปรากฏว่า นายสมัครได้ประกาศผ่านรายการ “สนทนาประสาสมัคร”เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ว่า จะไม่ลาออก โดยยึดคติว่า “ความกลัวทำให้เสื่อม” พร้อมอ้างว่า “ไม่อยากให้บ้านเมืองเสื่อมไปมากกว่านี้ ผมจึงไม่กลัว” ขณะที่ทางด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) จู่ๆ ก็ได้สั่งย้าย พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) ให้ไปช่วยรายการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเวลา 30 วัน แล้วให้ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร.ให้มารักษาการ ผบช.น.แทน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การบังคับบัญชาการสั่งการในการควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นไปโดยคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ส่วนการประชุมร่วม 2 สภาเพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมืองเมื่อวันที่ 31 ส.ค.นั้น ปรากฏว่า ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เนื่องจากนายสมัครมีท่าทีแข็งกร้าวและลุกขึ้นตอบโต้ทุกคนที่แนะทางออกไม่สบอารมณ์ตน เช่น เมื่อนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ พยายามชี้ว่า ต้นเหตุของปัญหาเกิดจากรัฐบาลเป็นผู้จุดชนวนการชุมนุม โดยมัวแต่แก้ปัญหาให้ตนเองและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยการจะแก้ รธน.มาตรา 237 และ 309 แถมยังใช้สื่อของรัฐโจมตีฝ่ายตรงข้าม ตั้งข้อหาผู้ชุมนุมว่าเป็นกบฏ ซึ่งรุนแรงเกินจริง และยังบังคับให้คนเลือกข้าง แล้วความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร นายจุรินทร์ จึงแนะว่า ทางออกคือนายกฯ ต้องถามตัวเองว่าสมควรดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่ ด้านนายสมัครฟังแล้วไม่พอใจ รีบลุกขึ้นตอบโต้ทันที โดยย้อนว่า “การคิดแก้ รธน.เป็นความผิดหรือ ไม่เช่นนั้น รธน.จะเขียนว่าให้แก้ได้ทำไม” ไม่เท่านั้นนายสมัครยังยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่มีการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ โดยเปรียบเทียบว่า “เมื่อปี 2543 เกิดเหตุคนพม่าบุกโรงพยาบาล รัฐบาลสมัยนั้นยิงตายหมด แต่ตอนนี้คนเป็นหมื่น รัฐบาลก็พยายามไม่ให้เกิดความรุนแรง ส่วนแก๊สน้ำตาก็แค่มีคนนำถังดับเพลิงมาพ่น แต่ข่าวกลับออกมาว่าเป็นแก๊สน้ำตา” ร้อนถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นเตือนสตินายสมัครในภายหลังว่า ไม่ควรเปรียบเทียบการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ กับกรณีก๊อดอาร์มี่บุกยึดโรงพยาบาลและจับตัวประกัน เพราะก๊อดอาร์มี่เป็นคนพม่า แต่กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นคนไทย ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้นายกฯ แก้ปัญหาด้วยการยุบสภา แม้ว่าวิธีนี้ฝ่ายค้านจะเสียเปรียบ แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยอมเจ็บเพื่อช่วยให้สถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลาย ด้านนายสมัครก็ลุกขึ้นตอบโต้อีกเช่นเคย พร้อมยืนกรานคำเดิมว่าจะไม่ยุบสภาหรือลาออก เพราะถ้าทำตามที่กลุ่มพันธมิตรฯ เรียกร้อง ตนก็แพ้ ดังนั้นตนต้องอยู่ต่อเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้แฉกลางที่ประชุมร่วม 2 สภาว่า จากการที่ตนและนายอภิสิทธิ์ได้ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่ถูกตำรวจสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ส.ค.พบว่า มีการทำร้ายประชาชนจริง โดยส่วนใหญ่ถูกทำร้ายที่ศีรษะ ถือว่าเจ้าหน้าที่ทำรุนแรงเกินเหตุและมีความผิดฐานพยายามฆ่า และว่า การที่ ผบช.น.อ้างว่าตำรวจทำตามคำสั่งศาล แต่จากการพูดคุยกับตำรวจในเหตุการณ์ ได้รับคำตอบว่า ได้รับคำสั่งจากรองนายกฯ ที่อยู่ใน บช.น.ให้ดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ หลังการประชุมร่วม 2 สภาเพื่อหาทางออกให้บ้านเมืองล้มเหลว ปรากฏว่า กลางดึกคืนวันที่ 31 ส.ค.ได้เกิดเหตุระเบิดที่ป้อมตำรวจจราจรบริเวณเชิงสะพานวิศสุกรรมนฤมาณ ถ.ผดุงกรุงเกษม ไม่ห่างจากทำเนียบรัฐบาลเท่าใดนัก โดยหลังเกิดเหตุไม่กี่นาที พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก พร้อมด้วยนายพิชา วิจิตรศิลป 1 ในทีมทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ปรากฏตัว ณ จุดเกิดเหตุ โดยนายพิชา ยืนยันว่า เหตุระเบิดดังกล่าวไม่ใช่ฝีมือ นปช.(นปก.เดิม)แน่นอน เพราะพวกเราออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจจะมาปะทะ แต่คงมีการโยงให้มีความเกี่ยวข้องกัน ขณะที่ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร.และรักษาการ ผบช.น.เชื่อว่า เป็นมือที่ 3 ที่ต้องการสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย พล.ต.อ.จงรัก ยังบอกด้วยว่า “ต่อจากนี้จะให้ตำรวจที่รักษาการถือแต่โล่เพื่อป้องกันตัวอย่างเดียว กระบองไม่ต้อง ถือไปก็หนักเปล่าๆ เกิดอะไรขึ้นก็จะมาโจมตีตำรวจได้” ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ พูดถึงเหตุระเบิดดังกล่าวว่า น่าจะเป็นการขู่เพื่อไม่ให้คนมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ และไม่ทราบว่าเหตุระเบิดดังกล่าวจะเป็นการส่งสัญญาณว่าจากนี้ไปสถานการณ์จะรุนแรงขึ้นหรือไม่ เพราะได้ยินมาว่า รัฐบาลจะระดมคนจากต่างจังหวัดมาจังหวัดละ 5,000 คนจาก 75 จังหวัด เพื่อมาป่วนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ หลังจากที่รัฐบาลพยายามใช้ตำรวจสลายพันธมิตรฯ แต่ไม่สำเร็จ จึงจะใช้ประชาชนเข้ามาสลายแทน ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกรัฐบาลและอดีตแกนนำ นปก.ได้ออกมาปลุกประชาชน(เมื่อ 1 ก.ย.)ให้ออกมาปกป้องบ้านเมืองด้วยการทวงคืนทำเนียบฯ จากกลุ่มพันธมิตรฯ ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวที่สนามหลวงในช่วงเย็นวันเดียวกัน กลุ่ม นปช.ได้มีการปราศรัยสนับสนุนรัฐบาลนายสมัครและโจมตีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยผู้ที่ขึ้นเวทีปราศรัยนอกจากนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และนายชินวัฒน์ หาบุญพาด แล้ว ยังมี พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ ส.ส.อุดรธานี พรรคพลังประชาชน และนายอดิศร เพียงเกษ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีขึ้นปราศรัยด้วย โดยมีผู้ชุมนุมทยอยมาจากต่างจังหวัดมากขึ้นๆ จนมียอดเกือบ 1 หมื่นคน จากนั้นเวลาเที่ยงคืนเศษ กลุ่ม นปช.ได้เคลื่อนพลพร้อมอาวุธนานาชนิด ทั้งไม้ แท่งเหล็ก มีดสปาร์ตา ดาบ ก้อนอิฐ ฯลฯ ออกจากที่ตั้งมายังบริเวณสะพานมัฆวานฯ เพื่อยึดทำเนียบฯ คืนจากกลุ่มพันธมิตรฯ แม้จะมีตำรวจ(ที่มีเพียงโล่ไม่มีกระบอง)ประมาณ 600 นายตั้งด่านสกัดอยู่ 2 จุดบริเวณกรมแผนที่ทหารและแยก จปร.เพื่อไม่ให้กลุ่ม นปช.และกลุ่มพันธมิตรฯ เผชิญหน้ากัน แต่ผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช.ก็สามารถฝ่าด่านมาได้อย่างง่ายดาย ก่อนวิ่งเข้าใส่กลุ่มพันธมิตรฯ บริเวณสะพานมัฆวานฯ จึงเกิดการปะทะกันจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 43 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างเกิดการปะทะ มี ส.ส.พรรคพลังประชาชนหลายคนมาร่วมสังเกตการณ์บริเวณใกล้ๆ รถปราศรัยของ นปช.ด้วย เช่น นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยคมนาคม ,นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ ,นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา ,นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม ,นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.,นายอดิศร เพียงเกษ อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทย ,นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. รวมทั้ง พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมคินทร์ ส.ส.อุดรธานี ที่ร่วมเดินกับกลุ่ม นปช.มาบุกพันธมิตรฯ ซึ่งได้รับบาดเจ็บศีรษะแตก นอกจากนี้ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ก็มาร่วมสังเกตการณ์ด้วยเช่นกัน ซึ่ง เสธ.แดงให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมา โดยยอมรับว่าตนเดินมากับ นปช.จริง นอกจากนี้ยังยอมรับด้วยว่า ทางรัฐบาลมีการจ้างวานกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.มาจากต่างจังหวัด ทั้งนี้ หลังเหตุปะทะผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง ตำรวจได้ยืนเป็นกำแพงกั้นกลางไม่ให้ผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายปะทะกันรอบสอง ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ได้ประสาน ผบ.ตร.เพื่อส่งกำลังทหารกองร้อยปราบจลาจล 4 กองร้อยมาเสริมกำลังตำรวจ จากนั้นในช่วงเช้า 7.00น.วิทยุกรมประชาสัมพันธ์และสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีได้ถ่ายทอดการแถลงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน กทม.โดยห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ,ห้ามเผยแพร่ข้อความให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวจนกระทบความมั่นคงของรัฐและความสงบทั่วราชอาณาจักร ,ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ยานพาหนะตามที่กำหนด ,ห้ามใช้อาคาร และให้อพยพประชาชนออกจากอาคารหรือให้ไปอยู่ในอาคารตามที่กำหนด เป็นที่น่าสังเกตว่า ทันทีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางกลุ่ม นปช.ได้ประกาศชัยชนะและให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดกลับไปรวมตัวที่ท้องสนามหลวงเช่นเดิม ต่อมาเวลา 8.30น.นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ได้ชี้แจงเหตุผลที่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน กทม.(ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548)ว่า เพราะต้องการจะเลิกเร็ว ไม่อยากให้ชุมนุมกันนาน ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมไม่เลือกการลาออกเหมือนนายกฯ ญี่ปุ่น นายสมัคร สวนกลับว่า “แล้วเลือกทางนี้มันเป็นอย่างไร มันเป็นความเสียหายตามมาตราไหนของรัฐธรรมนูญ” ทั้งนี้ หลังนายสมัครประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลายฝ่ายได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการที่กลุ่ม นปช.เคลื่อนพลมาบุกพันธมิตรฯ จนเกิดการปะทะกันนั้น เป็นการจัดฉากของรัฐบาลที่ต้องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อจะให้ทหารเข้ามาจัดการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ สังเกตได้จากการที่มี ส.ส.พรรคพลังประชาชนหลายคนร่วมขึ้นเวทีปราศรัยกับกลุ่ม นปช.และอยู่ในเหตุการณ์ระหว่างที่มีการปะทะ ขณะที่นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ ได้ออกมาปฏิเสธว่า นายเนวิน ชิดชอบ บุตรชาย และอดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทยไม่ได้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมของกลุ่ม นปช. อย่างไรก็ตามทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นเรื่องให้นายชัยสอบว่ามีรัฐมนตรีในรัฐบาลคนหนึ่งชักใย นปช.อยู่ โดย ส.ส.ของพรรคได้ยินรัฐมนตรีคนที่ว่านี้คุยโทรศัพท์เมื่อคืนวันที่ 31 ส.ค.ที่ห้องรับรอง ส.ส.ชั้น 1 ของรัฐสภา โดยรัฐมนตรีดังกล่าวพูดกับปลายสายโดยแสดงความไม่พอใจที่มีการเกณฑ์คนมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 31 ส.ค.น้อยกว่าที่กำหนดไว้ โดยให้พาคนมา 2,000 คน กลับนำมาได้เพียง 1,200 คน จากนั้นรัฐมนตรีดังกล่าวได้สั่งให้ปลายสายรายงานจำนวนคนที่มาชุมนุมให้เลขาธิการนายกฯ ทราบ และให้มารับค่าตอบแทนในวันที่ 1 ก.ย. นอกจากนี้รัฐมนตรีดังกล่าวยังสั่งปลายสายด้วยว่า ให้ไปรวบรวมคนมาชุมนุมอีก 4 วัน และจะได้รับค่าตอบแทนวันละ 500 บาท โดยจะมีน้ำและอาหารไว้คอยบริการ
ทหารเคลื่อนทัพคุมสถานการณ์เดือด! นปก.ปะทะพันธมิตรฯ นองเลือด ตาย 1
“พัชรวาท” ไม่วางใจ “อัศวิน” ส่ง “จงรัก” บัญชาการทัพปราบม็อบ!
ด่วน!! “หมัก” อาศัยเหตุ นปก.ป่วน ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว
มือมืดป่วน! วางบึ้มป้อม ตร.ริมคลองผดุงฯ - “เสธ.แดง-ทนายแม้ว” โผล่ทันควัน
ฝ่ายค้าน ยื่น ปธ.สภา สอบไอ้โม่งอยู่เบื้องหลังม็อบชนม็อบ
อึ้ง! ‘หมัก หอกหัก’ เปรียบได้ไง ตร.ทุบ พธม. รุนแรงน้อยกว่า รบ.ปชป.ปราบ ‘กะเหรี่ยง ก็อดอาร์มี’
2. สังคม กระหึ่ม จี้ “สมัคร”ยุบสภา-ลาออก ขณะที่ “เจ้าตัว”ท่องคาถา ต้องอยู่เพื่อรักษา ปชต.!
หลังเกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่ม นปช.และกลุ่มพันธมิตรฯ จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แทนที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ จะรับผิดชอบด้วยการลาออก กลับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน กทม.โดยให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่านายสมัครต้องการยืมมือให้ทหารใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในทำเนียบฯ และสะพานมัฆวานฯ แต่ไม่เป็นดังคาด เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ยืนยันว่า จะไม่ใช้กำลังในการสลายผู้ชุมนุม แต่จะใช้การเจรจาและดูแลไม่ให้เกิดการปะทะระหว่าง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ ท่าทีของ พล.อ.อนุพงษ์ ทำให้มีข่าวสะพัดว่านายสมัครเริ่มไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ เกรงว่าจะมีการปฏิวัติ นายสมัครจึงได้ให้ ครม.ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามมาอีก 2 ฉบับเมื่อวันที่ 4 ก.ย. ฉบับหนึ่ง นายสมัครสั่งตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(กอฉ.)มี ผบ.ทบ.เป็นประธาน ส่วนอีกฉบับหนึ่ง ครม.มีมติให้โอนอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ มาเป็นของนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ หรือแก้ไขปราบปรามยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยรวบอำนาจตามกฎหมายของรัฐมนตรีประมาณ 20 ฉบับให้มาอยู่ในมือของนายกฯ เพียงผู้เดียว ซึ่งนักกฎหมายตั้งข้อสังเกตว่า การรวบอำนาจตามกฎหมาย 20 ฉบับให้มาอยู่ในมือนายสมัคร เช่น อำนาจตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม จะเท่ากับเป็นการดึงอำนาจการสั่งเคลื่อนย้ายทหารจากผู้บัญชาการแต่ละเหล่าทัพให้มาเป็นของนายกฯ จากเดิมที่หากนายสมัครในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมจะเคลื่อนย้ายกำลังทหาร ต้องเสนอสภากลาโหมอนุมัติก่อน หรือแม้แต่อำนาจตามกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวกับมูลนิธิและสมาคม ก็จะทำให้นายกฯ สามารถตรวจสอบและเพิกถอนมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมได้ เช่น มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน ทั้งนี้ หลังหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการออกประกาศรวบอำนาจให้อยู่ในมือนายกฯ เพียงคนเดียว ส่งผลให้นายสมัครและโฆษกรัฐบาล ออกมาอ้างว่า ไม่มีการรวบอำนาจแต่อย่างใด เพราะมีการโอนอำนาจให้ พล.อ.อนุพงษ์ต่อ แต่ทีมงานโฆษกรัฐบาลกลับไม่มีประกาศหรือสำเนาประกาศมายืนยันว่ามีการโอนอำนาจต่อให้ พล.อ.อนุพงษ์แต่อย่างใด ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม นปช.หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ปรากฏว่า แกนนำพันธมิตรฯ ยืนยันจะปักหลักชุมนุมในทำเนียบฯ ต่อไปจนกว่านายสมัครจะลาออก โดยมีประชาชนออกมาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ มากขึ้น ขณะที่กลุ่ม นปช.ได้สลายตัวจากสนามหลวง แล้วไปเปิดเวทีปราศรัยที่หน้าศาลากลาง จ.สมุทรปราการแทน แต่อยู่ได้ไม่กี่วันก็สลายตัว(เมื่อ 4 ก.ย.) โดยอ้างว่าที่สลายตัวเพื่อให้นายกฯ จัดการปัญหาต่อไป พร้อมเรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยุติการชุมนุมเช่นกัน อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า เหตุที่ นปช.ที่สมุทรปราการต้องสลายตัว เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ไม่พอใจที่มีการตั้งเวทีปราศรัยโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ของ นปช.ก็ไม่ใช่คนในพื้นที่สมุทรปราการ แต่มาจาก จ.อุดรธานี ทั้งนี้ หลายภาคส่วนในสังคมต่างรุมประณามการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของนายกฯ พร้อมเรียกร้องให้นายสมัครลาออกหรือยุบสภาเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมืองในขณะนี้ เช่น อธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พร้อมด้วยสมาชิกจาก 26 มหาวิทยาลัยของรัฐ ออกแถลงการณ์(2 ก.ย.)เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาเพื่อยุติความรุนแรง ,มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน-มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน-กลุ่มเครือข่ายพลังนักศึกษาเพื่อสังคม ออกแถลงการณ์(3 ก.ย.)เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ,สมาพันธ์องค์กรแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 60 คนออกแถลงการณ์(3 ก.ย.)เรียกร้องให้นายสมัครลาออก หากไม่ลาออก สมาชิกสมาพันธ์ฯ จะดำเนินมาตรการอารยขัดขืน โดยสลัดชุดกาวน์และสวมเสื้อเหลืองทุกวัน รวมทั้งจะหยุดบริโภคสื่อเอ็นบีที และหากมีการทำร้ายพันธมิตรฯ จะชะลอการเสียภาษีและถอนเงินออกจากธนาคารกรุงไทย ,สภาทนายความ-สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกฯ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลาออก ,แนวร่วมศิลปินประชาธิปไตย ซึ่งประกอบด้วย 16 ศิลปินแห่งชาติและนักเขียนรางวัลศรีบูรพาและรางวัลซีไรต์ ออกแถลงการณ์ต่อต้านรัฐบาลหุ่นเชิดที่นำโดยนายสมัคร ฯลฯ ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ นอกจากเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกแล้ว ยังได้ฟ้องศาลปกครองสูงสุด(3 ก.ย.)ว่า นายสมัครประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยไม่ถูกต้อง เพราะสถานการณ์ไม่เข้าองค์ประกอบที่จะประกาศได้ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้านศาลปกครองสูงสุดได้ส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยแล้ว ส่วนทางด้านนายสมัครนั้น ไม่ว่าใครจะเรียกร้องอย่างไร ก็ไม่ยอมลาออก-ไม่ยุบสภา ขนาดนายเตช บุนนาค รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ประกาศลาออกเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ก็ยังไม่สามารถทำให้นายสมัครลาออกตามได้ แถมนายสมัครยังโทษว่าเป็นความผิดของสังคมที่บีบคั้นให้นายเตชต้องลาออก ซึ่งนายสมัครได้รีบทูลเกล้าฯ รายชื่อรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศคนใหม่แทนนายเตชแล้ว ทั้งนี้ นอกจากนายสมัครและรัฐบาลจะไม่ยอมลาออกหรือยุบสภาแล้ว ครม.ยังได้มีมติที่จะทำประชามติเพื่อให้ประชาชนเลือกข้างว่าจะอยู่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายพันธมิตรฯ เพื่อยืนยันว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลทำงานต่อไปหรือไม่ ขณะที่หลายภาคส่วนในสังคมไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เช่น นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ชี้ว่า แนวคิดทำประชามติดังกล่าวสะท้อนถึงการหาเรื่องมาแก้ตัวไปเรื่อยๆ ของรัฐบาล โดยหวังว่าจะช่วยยืดเวลาการอยู่ในตำแหน่งต่อไปเท่านั้น ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่าง รธน.2550 ชี้ว่า การทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าจะให้รัฐบาลอยู่ต่อไป หรือพันธมิตรฯ ควรยุติการชุมนุมหรือไม่นั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อ รธน.มาตรา 165 ที่ห้ามทำประชามติเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล และการทำประชามติให้ประชาชนเลือกข้าง ยิ่งจะส่งผลให้ประชาชนในประเทศแตกแยกมากขึ้น ด้านมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย(พีเน็ต) ก็ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติเช่นกัน โดยบอกว่านอกจากจะขัด รธน.แล้ว การทำประชามติยังใช้งบประมาณมากพอๆ กับการเลือกตั้ง ดังนั้นควรยุบสภาเลือกตั้งใหม่จะดีกว่า แต่ไม่ว่าจะอย่างไรนายสมัครก็ยังยืนยันจะทำประชามติ โดยให้กฤษฎีกาไปร่างคำถามว่าควรถามประชาชนอย่างไรไม่ให้ขัด รธน. ขณะที่ทาง กกต.บอกว่า การจะทำประชามติได้ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 7 เดือน เพราะขณะนี้ร่างกฎหมายประชามติยังไม่ผ่านวุฒิสภา เมื่อผ่านแล้วก็ยังต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าขัดต่อ รธน.หรือไม่ และยังต้องมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชน และอื่นๆ ทั้งนี้ นอกจากจะทำประชามติเพื่อวัดใจประชาชนแล้ว นายสมัครยังจะยก ครม.ไปประชุมสัญจรที่ จ.อุดรธานีในวันที่ 8-9 ก.ย.นี้ ทั้งที่ทราบดีว่าเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาล เนื่องจากก่อนหน้านี้กลุ่มคนรักอุดรฯ เคยยกพวกบุกไปทำร้ายและพยายามฆ่ากลุ่มพันธมิตรฯ อุดรฯ จนบาดเจ็บไปหลายรายแล้ว และขณะนี้คดีก็ยังไปไม่ถึงไหน โดยล่าสุด วันนี้(7 ก.ย.)นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ได้พูดข่มขู่ผ่านวิทยุชมรมคนรักอุดร FM 97.50 ว่า หากพบกลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาก่อกวนต่อต้านการประชุม ครม.สัญจร จะสั่งให้สมาชิกชมรมคนรักอุดรทำร้ายร่างกายทันที สำหรับบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบฯ นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า เริ่มมีนักเรียนนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ เข้าร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายสมัครมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดเหตุนักศึกษา ม.รามคำแหงถูกมือมืดยิงได้รับบาดเจ็บ 2 คนขณะรวมกลุ่มเดินทางไปชุมนุมขับไล่นายสมัครที่บ้านพักเมื่อคืนวันที่ 4 ก.ย. ทั้งนี้ นักศึกษาจาก 80 สถาบันได้เตรียมเดินขบวนกดดันให้นายสมัครลาออกในวันที่ 9 ก.ย.นี้ พร้อมเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษาครูบาอาจารย์หยุดเรียนเป็นเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.เพื่อร่วมขับไล่นายสมัครและพรรคร่วมรัฐบาลออกไป ถ้าไม่ยอม นักศึกษาจะหยุดเรียนอีกเรื่อยๆ พร้อมประกาศให้วันที่ 9 ก.ย.นี้เป็น “วันเยาวชนกู้ชาติ”
กุ๊ยถ่อย “ขวัญชัย” กร่าง! ขู่ซ้ำทำร้ายพันธมิตรฯ ต้าน “หุ่นเชิด” - ส่งสมุน 2 พันเฝ้าสนามบิน
นร.-นศ.ประท้วงหน้า สตช.ตั้ง 10 คำถามแทงใจดำ!
ตร.เตรียมนำ 2 นศ.รามดูวงจรปิดหามือยิง!
นศ.ราม เดินขบวนไปไล่ “หมัก” โดนยิงกลางทางเจ็บ 2
ศาลยกคำสั่งไล่พันธมิตรฯพ้นทำเนียบ ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินค้ำอยู่
“นิติธร ล้ำเหลือ” ฟ้องศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
รัฐบาลทรราช! ไม่วางใจทหาร ระดม ตชด.เตรียมลุย
หุ่นเชิดระส่ำ-"หมัก"แถลงวันนี้"เตช"สละทิ้งเรือโจร
3. “กกต.”มีมติเอกฉันท์ยุบพรรค “พปช.” ด้าน “นักวิชาการ”ชี้ รบ.หมดความชอบธรรมแล้ว!
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แถลงว่า ที่ประชุม กกต.ได้มีมติเอกฉันท์ 5 เสียงสั่งยุบพรรคพลังประชาชน กรณีนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต ส.ส.สัดส่วนและรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) โดยมติของ กกต.ดังกล่าวเป็นการเห็นชอบตามที่อนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณียุบพรรคพลังประชาชนที่มีนายประทีป เปรื่องวงศ์ อัยการอาวุโสเป็นประธานได้ส่งสำนวนให้ กกต. นายสุทธิพล บอกด้วยว่า หลังจากนี้ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองจะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด พร้อมด้วยพยานหลักฐานเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนต่อไป แต่หากอัยการสูงสุดไม่เห็นควรให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องตั้งคณะทำงานร่วม ระหว่าง กกต.กับอัยการสูงสุด เพื่อหาข้อยุติใน 30 วัน ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ และนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชาชน บอกว่า ไม่ได้แปลกใจอะไรกับมติของ กกต.และว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคฯ ได้เตรียมต่อสู้คดีมานานกว่า 4-5 เดือนแล้ว ขณะที่นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) บอกว่า มติของ กกต.ที่ให้ยุบพรรคพลังประชาชน ยิ่งทำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมมากขึ้น เพราะพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำรัฐบาล เมื่อไม่มีความชอบธรรมตามกฎหมาย จึงเป็นเหตุผลที่จะถูกมองว่าไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศอีกต่อไปแล้ว ด้านนายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด เผยความคืบหน้าคดียุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยว่า ขณะนี้สำนวนการสอบสวนและเอกสารหลักฐานค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว รอเพียงเอกสารบางส่วนจาก กกต.คาดว่าน่าจะได้รับเอกสารในเร็วๆ นี้ เพื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
มติ กกต.เอกฉันท์ ชงศาล รธน.ชี้ขาดยุบ พปช.
4. “พ.ร.บ.งบฯ”ผ่านฉลุย “กกต.-ป.ป.ช.-สตง.”ถูกหั่นงบถ้วนหน้า แต่ “อสส.”ได้งบเพิ่ม!
แม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะอยู่ในภาวะวิกฤตจากกรณีที่รัฐบาลและนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ถูกกลุ่มพันธมิตรฯ และหลายภาคส่วนในสังคมทั่วประเทศเรียกร้องให้ลาออกหรือยุบสภา แต่สภาผู้แทนราษฎรที่มีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธาน ก็ยังเดินหน้าประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 วงเงิน 1.835 ล้านล้านบาท โดยก่อนหน้านี้มีข่าวว่า หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ผ่านสภาเมื่อไหร่ อาจมีการประกาศยุบสภาก็ได้ สำหรับบรรยากาศการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ซึ่งใช้เวลา 3 วัน(3-5 ก.ย.) มีประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ มีการเพิ่มงบฯ หน่วยงานรัฐสภาขึ้นอีก 4 พันกว่าล้าน จากเดิมที่ตั้งไว้กว่า 3,800 ล้าน โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้งบฯ เพิ่มถึง 4 พันล้านเศษ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ค่าชดเชยที่ดิน 266 ล้าน ค่ารื้อถอนและก่อสร้างให้ กทม.100 ล้าน ให้กระทรวงกลาโหม 785 ล้าน ให้โรงเรียนโยธินบูรณะ 200 ล้าน และก่อสร้างบ้านพักให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 150 ล้าน ที่เหลืออีก 2,500 ล้าน เป็นการตั้งงบฯ ค่าก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยตั้งงบผูกพันข้ามปีไว้ตั้งแต่ปี 2552-2555 เป็นเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท สำหรับงบประมาณของสำนักนายกฯ และหน่วยงานในกำกับ พรรคฝ่ายค้านเห็นว่ามีการปรับลดงบของกรมประชาสัมพันธ์น้อยเกินไป(ปรับจาก 1,515 ล้าน เหลือ 1,486 ล้าน) ทั้งที่กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกรณีสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งถูกมองว่าไม่มีความโปร่งใส ทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงกรณีที่รัฐบาลใช้สื่อของรัฐเป็นกระบอกเสียงให้ตัวเอง ส่วนงบฯ ของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬานั้น พรรคประชาธิปัตย์มีการตั้งข้อสังเกตถึงการปรับเพิ่มงบเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ วงเงิน 2.2 พันล้าน ซึ่งเป็นงบผูกพันมาจากปี 2551 และจะผูกพันไปถึงปี 2554 โดยมองว่ามีการเล่นแร่แปรธาตุ เพราะอยู่ๆ ก็มาโผล่ในชั้นแปรญัตติของกรรมาธิการ ทั้งที่ไม่ได้บรรจุอยู่ในวาระปกติแต่อย่างใด พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้ผลักดันมาตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ แต่สร้างไม่ได้ เนื่องจากติดเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่โครงการนี้ก็ยังโผล่เข้ามาอีก หรือว่ามีการผลักดันจากรัฐมนตรีบางคน ส่วนการพิจารณางบฯ ขององค์กรตาม รธน.วงเงินกว่า 1 พันล้านบาทนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าแทบทุกองค์กรถูกปรับลดงบฯ ลง เช่น กกต.ถูกปรับลดงบลงกว่า 22 ล้าน ,สตง.ถูกปรับลด 9 ล้าน ,ป.ป.ช.ถูกปรับลดกว่า 63 ล้าน ,คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถูกปรับลดกว่า 4 ล้าน ,สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ถูกปรับลด 53 ล้าน มีเพียงสำนักงานอัยการสูงสุดเท่านั้นที่ได้งบเพิ่มขึ้น 397 ล้าน โดยได้งบทั้งสิ้นเกือบ 6 พันล้าน ทั้งนี้ หลังการพิจารณาเสร็จสิ้น ที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 วงเงิน 1.8 ล้านล้าน ในวาระ 3 เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ด้วยมติ 275 ต่อ 122 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ขั้นตอนหลังจากนี้ ประธานสภาฯ จะส่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไปยังวุฒิสภา คาดว่าจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมวุฒิสภาได้ในวันที่ 12 ก.ย.นี้
5. ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.เริ่มแล้ว “ปชป.”ส่ง “อภิรักษ์”- “พปช.”ส่ง “ประภัสร์”!
ระหว่างวันที่ 1-5 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการเปิดรับสมัครผู้สนใจชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.แทนตำแหน่งที่ว่างลง เนื่องจากนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง โดยบรรยากาศการรับสมัครนั้น วันแรกมีผู้มาสมัคร 9 คน หลังจากจับสลากหมายเลขผู้สมัครแล้ว ปรากฏว่า ผู้ที่ได้หมายเลข 1 คือ นายกิตติศักดิ์ ถิรวิศิษฏ์ ,หมายเลข 2 นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ,หมายเลข 3 ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ ,หมายเลข 4 นายวราวุธ ฐานังกรณ์ หรือนายสุชาติ นาคบางไทร แกนนำกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ,หมายเลข 5 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่งสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ,หมายเลข 6 นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล ,หมายเลข 7 นางลีนา จังจรรจา ,หมายเลข 8 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ,หมายเลข 9 นายวิทยา จังกอบพัฒนา วันต่อมา(2 ก.ย.) มีผู้สมัครเพิ่มอีก 2 คน คือ นายประภัสร์ จงสงวน ซึ่งสมัครในนามพรรคพลังประชาชน ได้หมายเลข 10 ส่วนนายภพศักดิ์ ปานสีทอง ได้หมายเลข 11 หลังจากนั้นมีผู้มาสมัครเพิ่มในวันสุดท้าย(5 ก.ย.)อีก 5 คน คือ นางธรณี ฤทธีธรรมรงค์ ได้หมายเลข 12 ,นายอุดม วิบูลเทพาชาติ ได้หมายเลข 13 ,น.ส.วชิราภรณ์ อายุยืน ได้หมายเลข 14 ,นายสมชาย ไพบูลย์ ได้หมายเลข 15 และว่าที่พันตรีนิพนธ์ ซิ้มประยูร ได้หมายเลข 16 ทั้งนี้ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ให้สัมภาษณ์ว่า ได้หมายเลข 5 ซึ่งเป็นเลขที่ตรงกับนโยบาย 5 ด้านที่จะนำไปแก้ไขปัญหาคน กทม.โดยสโลแกนในการหาเสียงคือ “ให้ประชาชนร่วมสร้างอนาคตกรุงเทพฯ” ขณะที่นายประภัสร์ จงสงวน ซึ่งได้หมายเลข 10 บอกว่า เลข 10 ไม่ได้มีผลอะไร เลขไหนก็เหมือนกัน พร้อมเผยว่า ตอนแรกจะลงในนามผู้สมัครอิสระ แต่ดูแล้วค่อนข้างยาก เพราะตนไม่มีฐานเสียง จึงตัดสินใจลงสมัครในนามพรรคพลังประชาชนเพื่อจะได้มีฐานรองรับ
เผยโฉมหน้า 16 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ยอมรับคนสมัครน้อย
6. “ทักษิณ”ขายสโมสร “แมนฯ ซิตี้”แล้ว แต่ยังได้นั่ง “ปธ.กิตติมศักดิ์”!
เมื่อวันที่ 1 ก.ย.เว็บไซต์ข่าวธุรกิจ อารเบียน บิซิเนส รายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประธานสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ขายสโมสรให้แก่กลุ่มธุรกิจอาบู ดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป ฟอร์ เดเวล๊อปเมนต์ แอนด์ อิสเวสต์เมนต์ หรือเอดียูจี จากสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์(ยูเออี)แล้ว โดยการเจรจาระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับ ดร.สุไลมาน อัล ฟาฮิม กรรมการบริหารของเอดียูจีบรรลุผลสำเร็จเมื่อคืนวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ดร.ฟาฮิม บอกว่า จะเปิดเผยรายละเอียดการซื้อหุ้นแมนฯ ซิตี้ในภายหลัง ส่วนเป้าหมายในการเข้ามาดำเนินกิจการครั้งนี้ คือ ทำให้แมนฯ ซิตี้เป็นสโมสรที่ใหญ่ที่สุดในพรีเมียร์ลีกให้ได้ โดยเป้าหมายแรกคือการพาทีมให้ติดอันดับ 1-4 ของตารางในฤดูกาลนี้ให้ได้ก่อน และว่า เอดียูจีพร้อมจะให้การช่วยเหลือคลี่คลายปัญหาต่างๆ ที่แมนฯ ซิตี้กำลังประสบ ซึ่งรวมถึงการพยุงสถานะการเงินของสโมสรโดยการชำระหนี้ต่างๆ ให้ และมอบทุนในการซื้อนักเตะฝีเท้าเยี่ยมเข้ามาเสริมทีมด้วย เว็บไซต์อารเบียนฯ ยังรายงานด้วยว่า ดร.ฟาฮิมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในส่วนของกรรมการบริหารสโมสร ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ ซึ่งจะไม่มีอำนาจบริหารจัดการใดใดในสโมสร ด้านหนังสือพิมพ์แมนเชสเตอร์ อีฟนิ่ง นิวส์ รายงานว่า เอดียูจีเข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ในสโมสรแมนฯ ซิตี้ คิดเป็นมูลค่า 150 ล้านปอนด์หรือประมาณ 9,450 ล้านบาท.
“แม้ว” เชื่อกลุ่มนักธุรกิจอาหรับนำเรือใบแล่นฉิว
ปิดตำนาน “แม้ว” ขายเรือใบทิ้งแลกเงิน 150 ล้านปอนด์
“แม้ว” โอเคขายเรือใบแล้ว กลุ่มยูเออีรับกิจการต่อ