xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าแผนตราดพิฆาตไพรี-1 ทัพเรือร่วมศึกไทย-กัมพูชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทัพเรือไทยเปิดปฏิบัติการ “ตราดพิฆาตไพรี-1” สกัดกัมพูชารุกล้ำชายแดน นาวิกโยธิน-เรือรบรุมยิง แม่นยำด้วยข้อมูลจิสด้า กัมพูชาถอยร่นไร้กำลังต้าน กองทัพเรือไทยเตรียมเรือใหญ่-กริพเพ่น พร้อมรบเต็มอัตราศึก หากสถานการณ์บานปลาย

หลังจากสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ทวีความตึงเครียดมาโดยลำดับ นับตั้งแต่เกิดกรณีคลิปเสียงสนทนาระหว่างนายกรัฐมนตรีแพรทองธาร ชินวัตร กับสมเด็จฮุนเซนประธานรัฐสภากัมพูชา บิดาของพลเอกฮุนมาเน็ต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในช่วงปลายเดือนมิถุนายน นำไปสู่การเผชิญหน้ายั่วยุจากมวลชนกัมพูชาที่ขึ้นมายังปราสามตาเมือนธมในเขตไทยอย่างต่อเนื่อง

ในที่สุดการปะทะสู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ก็อุบัติขึ้นในตอนเช้าของวันที่ 24 กรกฏาคม 2568 เป็นวันแรก

ทั้งนี้สถานการณ์เริ่มต้นในตอนเช้าของวันพฤหัสบดีสีเลือด โดยเมื่อเวลา 08:20 น.ทหารไทยได้ตรวจพบทหารกัมพูชาพร้อมอาวุธเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้แนวลวดหนามของฐานหมูป่าของฝ่ายไทยซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประสาทตาเมือนธม ทหารไทยจึงเข้าเจรจาเพื่อขอให้ถอยกลับไป แต่ทหารกัมพูชา กลับเปิดฉากยิงเข้าใส่ ทำให้การปะทะด้วยปืนเล็กของทั้งสองฝ่ายเริ่มต้นขึ้น ณ จุดนั้นเป็นแห่งแรก

หลังจากนั้นฝ่ายกัมพูชาได้ใช้อาวุธหนัก ทั้งปืนใหญ่และจรวด ยิงเข้ามาในเขตแดนไทย โดยไม่เลือกเป้าหมาย โดยเฉพาะจรวดแบบ BM 21 ซึ่งติดตั้งบนพาหนะเคลื่อนที่ระยะยิงมากกว่า 25 กิโลเมตร พุ่งเข้ามาตกในฝั่งไทย ทั้งบริเวณที่เป็นบ้านเรือนราษฎร์ และสถานีบริการน้ำมัน แต่ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ มีกระสุนปืนใหญ่ตกใกล้เขตโรงพยาบาล

จะเห็นได้ว่าฝ่ายกัมพูชาเปิดฉากแนวรบในสงครามที่ไม่มีการประกาศ พร้อมๆกันทั้ง 4 จังหวัดภาคอีสาน ซึ่งมีชายแดนติดกับกัมพูชา ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษและอุบลราชธานี โดยทำการโจมตีอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะถูกตอบโต้อย่างรุนแรงด้วยการโจมตีจากเอฟ-16 และกริพเพ่น ถึง 3 ครั้ง

และเมื่อการสู้รบย่างเข้าสู่วันที่สาม พื้นที่การโจมตีของกัมพูชาก็ขยายเขตลงมาสู่ชายแดนด้านใต้จากอีสานลงมาสู่ภาคตะวันออกบริเวณชายแดนจันทบุรี-ตราด

แต่ดูเหมือนว่ากองทัพเรือซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าวจะเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามมาอย่างต่อเนื่องกองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรีตราดที่มี พล.ร.ท.อภิชาติ ทรัพย์ประเสริฐ ผู้บัญชาการหน่วยนาวิกโยธิน ทำหน้าที่ ผบ.กองกำลัง จึงเตรียมรับสถานการณ์ด้วยการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่จันทบุรี ตราด เพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2568 ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่พากันอพยพไปยังศูนย์พักพิงเพื่อความปลอดภัย

จากนั้นฐานนาวิกโยธิน ซึ่งวางกำลังอยู่บริเวณชายแดนจันทบุรีตราด ตั้งแต่บ้านชำราก มาจนถึงคลองใหญ่ ก็ได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อม 100% เนื่องจากข่าวกรองยืนยันว่า ทหารกัมพูชาจะขยายแนวโจมตีลงมาจนถึงภาคตะวันออก โดยเฉพาะเมื่อมีการเผยแพร่ภาพขนาดขุดสนามเพลาะในพื้นที่เกาะกง เพื่อติดตั้งปืนกลหนัก ซึ่งเป็นอาวุธรุ่นเก่าจากรัสเซียที่มีระยะยิงไกลถึงที่มั่นทหารนาวิกโยธินในเขตไทย

เมื่อเป็นดังนี้ พลเรือเอกจีระพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ จึงอนุมัติให้เปิดปฏิบัติการตราดพิฆาตไพรี 1 โดยสั่งการให้กองเรือยุทธการส่งเรือเข้าสมทบเพิ่มเติมกับหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน ซึ่งประกอบด้วยเรือตรวจการณ์ปืน และเรือเร็วโจมตีปืน จำนวน 4 ลำ ที่รับผิดชอบพื้นที่ชายแดน ฝั่งตะวันออกมาตั้งแต่ยังไม่เกิดการปะทะระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยหมวดเรือลาดตระเวนชายแดนซึ่งมีวงรอบปฏิบัติการครั้งละ 6 เดือน จะจอดรอรับสถานการณ์อยู่ที่ท่าเรือแหลมงอบ จังหวัดตราด

แล้วสถานการณ์ก็เป็นไปตามที่คาดไว้ โดยในตอนค่ำของวันที่ 25 กรกฎาคม ฝ่ายกัมพูชาได้ส่งมอเตอร์ไซค์เข้ามาแล่นวนเวียนอยู่บริเวณด้านหน้าหน้าฐานปฏิบัติการนาวิกโยธิน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา ในลักษณะยั่วยุ ก่อนที่ในคืนวันเดียวกัน ฝ่ายกัมพูชาจะส่งโดรนตรวจการณ์บินเข้ามาในเขตไทยใกล้กับที่มั่นของนาวิกโยธิน

จากนั้นในตอนเช้ามืดของวันที่ 26 กรกฎาคม ทหารกัมพูชาก็เปิดฉากโจมตีภาคพื้นดิน ต่อเป้าหมาย ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองร้อยนาวิกโยธิน โดยไม่รู้ว่าในขณะนั้นหมวดเรือลาดตระเวนชายแดนของไทยได้จัดรูปขบวนเข้ามาวางกำลังในทะเลระหว่างเกาะช้างกับเกาะกง พร้อมที่จะทำการยิงสนับสนุนทหารนาวิกโยธินบนฝั่งในทันทีที่ได้รับการร้องขอ

ทันทีที่เสียงอาวุธจากทหารกัมพูชาบังเกิดขึ้น ฝ่ายเราได้ทำการตอบโต้ด้วยอาวุธหนักในทันที โดยใช้ทั้งปืนใหญ่สนามและเครื่องยิงลูกระเบิดต่อเป้าหมายที่ได้มาร์คตำแหน่งไว้แล้ว ภายใต้การสนับสนุนข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมที่จิสด้าหรือสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและสารสนเทศ องค์การมหาชน ให้การสนับสนุน ซึ่งถือเป็นบทบาทหนึ่งของหน่วยงานนี้ในการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ

โดยจิสด้าถือเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงาน “ปิดทองหลังพระ” ซึ่งถือเป็น key success ของกองทัพอากาศและกองทัพเรือ ในการกำหนดเป้าหมายทางทหารเพื่อทำการโจมตีอย่างแม่นยำ เช่นเดียวกับการป้อนข้อมูลพิกัดเป้าหมายอันเป็นที่ตั้งของฝ่ายกัมพูชาให้กับอาวุธหนักของกองทัพบกใช้ในการยิงตอบโต้

หลังกองทัพเรือเปิดปฏิบัติการตราดพิฆาตไพรี 1 ซึ่งเป็นภารกิจร่วมระหว่างนาวิกโยธินบนฝั่งซึ่งเข้าเคลียร์ทุ่นระเบิดบกโดยมีหมวดเรือในทะเลสนับสนุนด้วยการแสดงกำลังทหารกัมพูชาก็ถอนตัวออกจากพื้นที่รุกล้ำเขตแดนไทย เพราะไม่อาจต้านทานอาวุธหนักอันแม่นยำของทหารเรือไทยซึ่งทำการโจมตีตอบโต้ข้าศึก 3 จุด โดยฝ่ายเราไม่มีการสูญเสียแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม แม้ข้าศึกจะถอนตัว แต่กองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรีตราด ยังคงเฝ้าระวังและเกาะติด ความเคลื่อนไหวของทหารกัมพูชาที่อาจรวมกำลังและเปิดฉากโจมตีใหม่ เพื่อเข้ายึดพื้นที่เดิมให้ได้ เหมือนเช่นการโจมตีที่ภูมะเขือ ซึ่งกองทัพบกยึดไว้แล้วพร้อมกับชักธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสา ประกาศอธิปไตยเหนือพื้นที่เป้าหมาย แต่ทหารกัมพูชาได้รวมกำลังการเข้าตี หมายจะยึดคืน แต่ก็ไม่สำเร็จ และถูกตอบโต้ผลักดันจนต้องถอยร่นกลับไปเช่นเดิม

เมื่อถึงนาทีนี้สถานการณ์ชายแดนด้านจันทบุรีตราด ต้องถือว่า ฝ่ายไทยสามารถควบคุมพื้นที่ ทั้งบนฝั่งและในทะเลได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

โดยเฉพาะในทะเล มีการเตรียมเรือใหญ่ระดับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ที่ติดอาวุธ อานุภาพเหนือกว่าเรือเร็วโจมตีปืน และเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งพร้อมที่จะออกเดินทางจากฐานทัพเรือสัตหีบเข้าสมทบกับหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน หากฝ่ายกัมพูชามีความเคลื่อนไหวกำลังทางเรือหรือใช้อาวุธหนักระดมยิงจากเขาโอบยาม เข้าใส่ฐานนาวิกโยธิน หรือพื้นที่พลเรือน

กำลังทางเรือของไทยก็พร้อมที่จะยิงตอบโต้ทำลายข้าศึกเหมือนเช่นที่เคยกระทำมาในอดีตตั้งแต่สมัยที่นาวิกโยธิน ซึ่งตั้งฐานอยู่บริเวณแหลมงอบจังหวัดตราด เคยสู้รบกับทหารกัมพูชาในยุคเขมรแดงครองเมือง

ถ้าสถานการณ์ด้านจันทบุรี ตราด บานปลาย โดยเฉพาะในท้องทะเล หากมีการปะทะด้วยกำลังทางเรือเมื่อใด เราอาจจะได้เห็นเครื่องบินกริพเพนจากฐานบินสุราษฎร์ธานีเข้าทำการรบร่วมตามที่เคยฝึกกับกองทัพเรือมาแล้วหลายครั้ง โดยนักบินกริพเพ่นมีความคุ้นเคยกับการบินเหนือทะเลและปฏิบัติการร่วมกับเรือรบเป็นอย่างดี


กำลังโหลดความคิดเห็น