ความง่อนแง่นของรัฐบาลในเวลานี้ทำให้หลายฝ่ายกำลังจับตาดูว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำงานไปได้ตลอดรอดฝั่งจนครบวาระของรัฐบาลหรือไม่ ภายหลังรัฐบาลปัจจุบันเผชิญกับสถานการณ์กดดันจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกรณีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ถูกสั่งพักงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีคลิปเสียงและมีแนวโน้มว่าอาจจะปลิวออกจากตำแหน่ง หรือ กรณีล่าสุดที่มาจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐสูงถึง 36%
เรียกได้ว่ารัฐบาลได้กลายเป็นไส้แซนวิชที่โดนประกบด้วยปัญหาจากทุกทิศทาง แม้ว่าแกนนำของรัฐบาลหลายคนยังปากกล้าขาสั่นด้วยการประกาศยืนยันว่าไม่มีการลาออก และไม่ยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่จากภาษากายที่เริ่มส่งออกมานั้นก็เริ่มทำให้มองเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันกำลังครุ่นคิดถึงการยุบสภาผู้แทนราษฎรอยู่ไม่มากก็น้อย
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้มีรัฐมนตรีบางคนสอบถามนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงอำนาจการยุบสภาผู้แทนราษฎรของผู้ทำหน้าที่รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี โดยมีรายงานว่านายปกรณ์ได้ให้ความคิดเห็นเบื้องต้นว่า ไม่มีอำนาจยุบสภาฯ
เรื่องนี้ได้รับการขยายความมากขึ้นไปอีก หลังจากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว “Alex Pakorn” ว่า อธิบายซ้ำ : ผมอธิบายว่าตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของบ้านเรา การเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีและการยุบสภา เป็นอำนาจเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศที่ปกครองในระบอบรัฐสภาแบบ Westminster เป็นไปตาม “หลักความไว้วางใจ”
"จะเห็นได้ชัดว่าเป็นความไว้วางใจมาเป็นทอดๆ และพระมหากษัตริย์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามที่สภาเสนอและประธานสภานำความกราบบังคมทูล หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ตามที่นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลว่าสมควรไว้วางใจ ....รนม. รักษาราชการแทน นรม. จะเสนอให้ยุบสภา ถ้ายังมีผู้ดำรงตำแหน่ง นรม. อยู่ ยิ่งไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้ได้รับความไว้วางใจจากสภาให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร หากเป็นเพียงผู้ซึ่ง นรม. ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ว่าเป็นผู้สมควรไว้วางใจให้แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเท่านั้น การยุบสภาจึงเป็นอำนาจเฉพาะของ นรม. เท่านั้น"
ประเด็นของเรื่องนี้ถ้ามองให้ลึกลงไปแล้วไม่ได้อยู่ที่การแสดงความคิดเห็นของเลขาฯกฤษฎีกา แต่กลับอยู่ที่ท่าทีของรัฐบาลต่างหากที่ว่าในเมื่อรัฐบาลประกาศมาตลอดว่าหัวเด็ดตีนขาดก็ไม่มีทางยุบสภาฯแล้ว จะถามความคิดเห็นจากเลขาฯกฤษฎีกากลางวงประชุมคณะรัฐมนตรีไปเพื่ออะไร
ตรงนี้เองด้านหนึ่งอาจเป็นการแสดงให้เห็นว่าแผนสำรองของรัฐบาลอย่างการให้ 'ชัยเกษม นิติสิริ' แคนดิเดทนายกฯของพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาทำหน้าที่ต่อจากแพทองธาร ชินวัตร ในกรณีที่ลูกนายใหญ่ต้องปลิวนั้น อาจจะไม่เวิร์คอย่างที่พรรคเพื่อไทยคิดไว้ก็เป็นไปได้
ทั้งนี้ อย่าลืมว่าแม้นายชัยเกษมจะมีความเชี่ยวชาญในงานด้านกฎหมายอย่างโชกโชนในฐานะอดีตอัยการสูงสุด แต่ด้วยปัจจุบันเทรนด์ของการเมืองไทยต้องการคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ การให้ชัยเกษมขึ้นมาเป็นนายกฯอาจตอบโจทย์ในเรื่องนิติสงคราม แต่สำหรับการบริหารประเทศในระยะยาว เพื่อกอบกู้พรรคเพื่อไทยนั้นอาจจะยังเป็นคำถามอยู่พอสมควร นี่ยังไม่นับว่าด้วยวัยและประสบการณ์ทางการเมืองของอดีตอัยการสูงสุดผู้นี้ จะฝ่าด่านขวากหนามความเขี้ยวลากดินของพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังขี่คอไปได้หรือไม่
ด้วยเหตุนี้เองจึงอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องเริ่มแสวงหาลู่ทางเพื่อเป็นทางออกให้กับตัวเองในยามที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่ค่อยเป็นใจเช่นนี้ บางทีต่อให้แพทองธารได้กลับมาหรือชัยเกษมได้ขึ้นไปเป็นนายกฯ การยุบสภาฯเพื่อล้างกระดานการเมืองใหม่ทั้งหมด อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดของพรรคเพื่อไทยในเวลานี้