ปรากฎการณ์พระร่วง กิเลสหนา-ไม่ทันโลก สีกากอล์ฟป่วนวงการสงฆ์ ตำรวจสอบเส้นทางเงิน 4 วัดดัง พบโอนกว่า 11 ล้านบาท ชี้ช่องโหว่ กม.เปิดทางพระรวยผิดปกติ แนะปฏิรูปการเรียนสงฆ์ เน้นปฏิบัติควบคู่ปริยัติ สกัดกิเลส-ทันโลกยุคใหม่
ชั่วโมงนี้คงไม่มีเรื่องไหนจะร้อนแรงไปมากกว่าปรากฎการณ์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ต้องลาออกจากความเป็นพระ สังเวยให้กับแผนนารีพิฆาตของสีกากอล์ฟไปแล้วกว่าสิบราย
ในเรื่องนี้เองพล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก.เตรียมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ บก.ปปป.ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบวัดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง ที่มีพระลูกวัด หรือพระชั้นผู้ใหญ่ของวัด เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับสีกากอล์ฟประกอบด้วย วัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา วัดใหญ่จอมปราสาท จ.สมุทรสาคร วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร และวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
โดยเป้าหมายของปฏิบัติการในครั้งนี้ คือ การรวบรวมข้อมูลเส้นทางการเงินต่างๆ ของวัดมาตรวจสอบ เพราะจากที่มีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของพระลูกวัด หรือพระชั้นผู้ใหญ่ บางรูปมีเส้นเงินเชื่อมโยงกับสีกากอล์ฟ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเงินที่โอนไปให้กับสีกากอล์ฟนั้นเป็นเงินของวัดหรือไม่
โดยเฉพาะในรายของพระวัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เบื้องต้นตรวจสอบพบว่าเคยมีการโอนเงินให้กับสีกากอล์ฟ รวมแล้วเป็นเงินกว่า 11 ล้านบาท
จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น บอกได้ว่า 'เงิน' คือ ตัวการของปัญหาทั้งหมด แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้วขึ้นอยู่กับตัวของพระเองด้วย เข้าทำนองว่า 'ปรบมือข้างเดียวย่อมไม่มีทางดัง'
ไม่แปลกเลยที่พระรูปหนึ่งจะมีเงินและทรัพย์สินไว้ในครอบครองเป็นจำนวนมาก เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายเองก็มีช่องโหว่ที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไม่เคยพยายามจะอุดรอยรั่วตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามองให้ลึกลงไปแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นล้วนมาจากฝีมือมนุษย์ทั้งคนนุ่งผ้าธรรมและคนที่นุ่งเหลืองห่มเหลือง
วันนี้จากการตรวจสอบของตำรวจเริ่มมีข้อมูลประจักษชัดว่าพระที่สึกจำนวนไม่น้อยส่วนใหญ่เริ่มตกเป็นเหยื่อโยมสาวแทบทั้งสิ้น ซึ่งถ้าจะให้หาสาเหตุที่ทำให้พระกลายเป็นเหยื่อยเช่นนั้น คงต้องมองย้อนกลับไปที่กระบวนการเรียนการสอนของเหล่าสมณเพศ
โดยพระจำนวนไม่น้อยเรียนพระธรรมวินัยในเชิงตำราท่องบาลี สอบนักธรรม-ธรรมศึกษาแต่ขาดการฝึกภาคปฏิบัติอย่างจริงจัง เช่น วิปัสสนา การเจริญสติ หรือการรู้เท่าทันจิตใจตนเอง ซึ่งการกล่าวว่า “ระบบการศึกษาในวงการสงฆ์เน้นปริยัติมากกว่าปฏิบัติ” นั้นไม่ใช่คำวิจารณ์แบบเหมารวมหรือปฏิเสธคุณค่าของการเรียนรู้ด้านตำรา แต่เป็นการชี้ให้เห็นถึง 'ความไม่สมดุล' ที่ฝังรากลึกในระบบการศึกษาของพระในประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นรากเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเบี่ยงเบนของพระสงฆ์บางรูป โดยเฉพาะในยุคที่ศีลธรรมถูกท้าทายอย่างรุนแรงจากกระแสโลกาภิวัตน์
คำว่า “ปริยัติ” หมายถึง การเรียนรู้พระธรรมวินัยในเชิงทฤษฎี เช่น การท่องพระบาลี การเรียนหลักธรรม ศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนวคัมภีร์ ซึ่งในวัดส่วนใหญ่จะมีระบบการศึกษาที่สอดคล้องกับหลักสูตรของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง โดยมุ่งหวังให้พระภิกษุสอบได้เป็นนักธรรมตรี โท เอก หรือเปรียญธรรม ซึ่งถือเป็นการไต่เต้าในเส้นทางวิชาการของพระสงฆ์
แม้ระบบนี้จะช่วยส่งเสริมให้พระสงฆ์มีความรู้และเข้าใจหลักธรรมคำสอนในเชิงลึก และเป็นรากฐานที่สำคัญในการถ่ายทอดศาสนาให้ญาติโยม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ คือ เป็นการเรียนรู้เพื่อสอบมากกว่าการเรียนรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจตนเองให้เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนา ส่งผลให้การปฏิบัติธรรมกลายเป็นเพียงกิจกรรมรอง หรือบางครั้งถูกลดทอนลงไปจนเหลือแค่พิธีกรรมตามฤดูกาล เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา หรือปฏิบัติธรรมประจำปี
เมื่อขาดการฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง พระสงฆ์จึงมักขาดเครื่องมือสำหรับการตรวจสอบตัวเอง ที่สำคัญพอมีตำแหน่งสูง มีผู้คนยกย่อง ก็อาจหลงในสิ่งยั่วยวนทางโลก เช่น ผู้หญิง ทรัพย์สิน หรือชื่อเสียงที่ตามมาจนขาดภูมิคุ้มกันทางจิตใจพอจะรับมือและระงับความต้องการภายใน
อาจเรียกได้ว่าการศึกษาที่เน้นแต่ปริยัติยังไม่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตจริงเท่าใดนัก
วงการสงฆ์กลายเป็นแดนสนธยาที่รอให้หน่วยงานรัฐเข้าไปจัดระเบียบให้เข้ารูปเข้ารอย เพราะการปล่อยให้พระคุมกันเองตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าศาสนาพุทธนั้นมีความเสื่อมถอยเพียงใด