เที่ยวไทยคนละครึ่ง เจอวิกฤติแอปฯรวน! รัฐบาลถูกวิจารณ์ซ้ำเติมปัญหาเดิมจาก "เราเที่ยวด้วยกัน" สร้างแอปฯใหม่แทนเป๋าตัง ทำลงทะเบียนวุ่น-จองห้องพักไม่ได้ ผู้ประกอบการโอดไม่ได้รับการแก้ไข ททท.เร่งขอโทษ-แก้ปัญหาใน 7 วัน
โครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นนโยบายใหม่ป้ายแดงที่เพิ่งเกิดขึ้นมาในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะมีรากฐานมาจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันในสมัยรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในเวลานั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศที่กำลังซบเซามาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด19
การท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ปัจจุบันเป็นเส้นเลือดใหญ๋ของเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับวิกฤติอย่างรุนแรง ภายหลังปริมาณจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศลดลง ทำให้จำเป็นต้องมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง จนเป็นที่มาของโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง โดยกำหนดจำนวนสิทธิประโยชน์ทั้งหมด 500,000 สิทธิ์ ผู้ลงทะเบียนมีโอกาสได้สิทธิ์ค่าที่พักสูงสุด 5 สิทธิ์ต่อ 1 คน แบ่งเป็นเที่ยวเมืองหลัก 3 สิทธิ์ เที่ยวเมืองลอง 2 สิทธิ์ โดยรัฐช่วยออกให้สูงสุด 50 % วงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องหรือคืน การนับสิทธิ์จะเกิดขึ้นเมื่อโอนเงินชำระค่าจองที่พักเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีสิทธิ์ประโยชน์ E-Coupon คูปองอาหาร/ท่องเที่ยว ส่วนลดอาหารและบริการอื่น ๆ สูงสุด 50% รวมมูลค่า 500 บาท ซึ่งเงื่อนไขของโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งกำหนดให้ผู้รับสิทธิ์จะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน มีบัตรประจำตัวประชาชน
โดยทันที โครงการนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าเหตุใดถึงกำหนดขั้นตอนการลงทะเบียนที่ซ้ำซ้อนอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีการกำหนดให้ประชาชนต้องโหลดแอปพลิชั่นถึง 2 ตัว ได้แก่ แอปพลิเคชั่น ThaID และ Amazing Thailand ก่อนที่ต่อมาจะมีการยกเลิกการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น ThaID แต่กระนั้นความวุ่นวายก็ยังคงมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการไม่ได้รับความสะดวกในการเข้าใช้แอปพลิเคชั่น Amazing Thailand
แอปพลิเคชั่นดังกล่าว ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับโครงการดังกล่าว ท่ามกลางข้อสงสัยว่าในเมื่อปัจจุบันภาครัฐมีข้อมูลของประชาชนในโครงการทำนองเดียวกันแล้วอย่างแอปพลิเคชั่น 'เป๋าตัง' อยู่แล้ว เหตุใดต้องใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนเพื่อสร้างเครื่องมือใหม่อีก
ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งเริ่มเปิดให้ลงทะเบียน ปรากฎว่ามีปัญหาซ้อนปัญหามากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะหน้าตาของแอปพลิเคชั่น Amazing Thailand ก็ดูจะไม่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเท่าใดนัก เช่น การประมวลผลที่ล่าช้า หรือ การไม่ได้รับรหัส OTP เพื่อให้กระบวนการยืนยันตัวตนและการรับสิทธิ์เสร็จสมบูรณ์ตามเงื่อนไขของรัฐบาล เป็นต้น
ปัญหาของโครงการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประชาชนทั่วไป แต่ในส่วนของผู้ประกอบการก็มีปัญหาเช่นกัน โดยผู้ประกอบการที่พักและโรงแรมหลายราย เช่น โรงแรม อมารี หัวหิน แจ้งลูกค้าผ่านเพจเฟซบุ๊ก Amari Hua Hin ระบุว่า ขอขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่ให้ความสนใจในการจองห้องพัก ผ่านโครงการ "เที่ยวไทยคนละครึ่ง" ในขณะนี้ทาง #อมารีหัวหิน ไม่สามารถรับจองได้ชั่วคราว เนื่องจากเกิดปัญหาความไม่สอดคล้องของราคาระหว่างข้อมูลที่ทางโรงแรมได้แจ้งไปยังระบบโครงการกับราคาที่แสดงในระบบจริง โรงแรมได้ดำเนินการส่งเรื่องแจ้งปัญหานี้ไปยังผู้รับผิดชอบโครงการแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับหรือการแก้ไขปัญหา จึงไม่สามารถแจ้งราคาที่แน่นอนหรือรับการจองผ่านโครงการได้ในตอนนี้ เป็นต้น
จากปัญหาที่เป็นไฟลามทุ่ง ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต้องออกมาขอโทษประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยน.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า “การพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ อาจมีปัญหาในระบบเกิดขึ้น ซึ่ง ททท.ต้องขอโทษมากๆ แต่พยายามเร่งแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ผ่านการประเมินระบบหลังบ้าน แม้ตอนนี้ยังไม่คล่องตัว 100% แต่จะเร่งแก้ไขให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดใน 7 วัน”
ดังนั้น อาจเรียกได้ว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าอะไรที่ดีอยู่แล้วก็ไม่ควรไปยกเลิกแต่ควรพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้น ซึ่งกรณีนี้ถ้ารัฐบาลเลือกที่จะไม่ใช้ภาษีของประชาชนไปละลายกับการสร้างแอปพลิเคชั่นใหม่แต่เลือกที่จะใช้ฐานข้อมูลและโครงสร้างที่มีอยู่เดิมใน 'เป๋าตัง' อาจจะไม่เกิดปัญหารวนกันทั้งประเทศอย่างเป็นอยู่ก็ได้ หรือถ้ามีก็อาจมีน้อยกว่าในปัจจุบัน