xs
xsm
sm
md
lg

‘แพทองธาร’ ควบ 2 เก้าอี้ หาช่องไม่โดนแช่แข็ง ย้อนเกล็ดศาล รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"แพทองธาร" ควบ รมว.วัฒนธรรม หวังเร่งซอฟต์พาวเวอร์ คาดกันว่าเป็นแผนรับมือหากศาล รธน. สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ย้อนรอยบรรทัดฐานคดี "บิ๊กตู่-ทวี สอดส่อง" แต่คดีนี้ต่างกัน อาจพลิกโผ!

ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็ได้จัดโผคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการแล้ว เหลือขอแค่การประกาศออกมาเป็นทางการเท่านั้น ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ กรณีที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ตัดสินใจควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมอีกหนึ่งตำแหน่ง โดยโยกนางสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ไปดำรงตำแหน่ง รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นเก้าอี้เดิมของพรรคภูมิใจไทยที่ปัจจุบันปลิวไปเป็นฝ่ายค้านแล้ว

โดยจะว่าไปแล้วเกิดขึ้นไม่บ่อยนักกับการที่นายกรัฐมนตรีมาทำหน้าที่ควบเก้าอี้เจ้ากระทรวงในสายสังคม เพราะที่ผ่านมาถ้านายกฯจะขอนั่งอีกตำแหน่งนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกระทรวงสายเศรษฐกิจหรือสายความมั่นคงไปเลย เช่น นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ช่วงหนึ่งก็ควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่บันทึกตัวเองในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหญิงคนแรก เป็นต้น

มองในแง่มิติของการทำงานการควบเก้าอี้นายกฯพร้อมกับเจ้ากระทรวงอื่นอีกตำแหน่งนั้นมีข้อดีและข้อเสียพอสมควร อย่างในกรณีของนายเศรษฐาที่เลือกจะนั่งเก้าอี้ขุนคลัง เนื่องจากต้องการเร่งผลักดันนโยบายเงินดิจิทัล แต่พอภารกิจในฐานะนายกฯมากขึ้นตามลำดับทำให้แบกกระทรวงการคลังไว้ไม่ไหว จนต้องยอมปล่อยในที่สุด ขณะที่ กรณีของยิ่งลักษณ์ ก็มาจากเหตุผลเรื่องความมั่นคง เพื่อให้กองทัพลดความแคลงใจพร้อมกับให้สามารถการสื่อสารระหว่างผู้นำเหล่าทัพและผู้นำประเทศเกิดความราบรื่น การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุด

เช่นเดียวกับกรณีของแพทองธารที่การมาเป็นเจ้ากระทรวงวัฒนธรรก็เพื่อต้องการเร่งสปีดนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ด้วยตัวเอง จากเดิมที่ผ่านมาเกิดการหัวเทียนบอดจนทำให้การเดินหน้าติดๆขัดๆพอมควร การลงมาสั่งการด้วยตัวนายกฯเองน่าจะให้งานเดินหน้าไปได้มากขึ้น และถูกยกระดับอย่างที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองอีกมุมหนึ่งในเรื่องของกฎหมายแล้วก็มีประเด็นที่พอให้วิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นกัน กล่าวคือ ปัจจุบันนายกฯกำลังโดนร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีพฤติกรรมขัดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งกำลังลุ้นในลำดับแรกว่าจะโดนสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยหลายฝ่ายกำลังมองว่าสามารถออกได้หลายทิศทาง

โดยในมุมของพรรคเพื่อไทยเองก็ยังคิดว่าแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคดีไว้พิจารณา แต่นายกฯอาจไม่โดนสั่งพักงาน เหมือนกับกรณีของนายเศรษฐา ทว่าเพื่อความอุ่นใจการให้แพทองธารนั่งในเก้าอี้เจ้ากระทรวงวัฒนธรรมอย่างน้อยหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดทำหน้าที่ก็อาจจำกัดเฉพาะในฐานะนายกฯเท่านั้น ไม่รวมไปถึงตำแหน่งรัฐมนตรีวัฒนธรรมที่ควบอีกตำแหน่งด้วย

โดยเคยมีบรรทัดฐานมาแล้วจากกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกร้องว่าดำรงตำแหน่งนายกฯเกิน 8 ปีหรือไม่ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ซึ่งจำกัดเฉพาะตำแหน่งนายกฯเท่านั้น ไม่ได้รวมไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย หรือแม้แต่กรณีของพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ก็โดนสั่งพักงานเฉพาะหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดีเอสไอเท่านั้น โดยคำสั่งให้หยุดการทำหน้าที่นั้นไม่ได้ครอบไปถึงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ด้วยเหตุนี้เอง การควบสองเก้าอี้ของนายกฯแพทองธาร จึงแฝงไปด้วยเหตุผลทางการเมืองเป็นสำคัญ เพื่อให้แสงยังมาจับที่ตัวนายกฯอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบรรทัดฐานดังกล่าวออกมาก็จริง แต่อีกแง่หนึ่งก็ต้องไม่ลืมว่าแต่ละคดีนั้นมีองค์ประกอบและข้อเท็จจริงแวดล้อมแตกต่าง อย่างกรณีพล.อ.ประยุทธ์ โดนร้องว่าเป็นการดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีหรือไม่ มิใช่เรื่องจริยธรรม หรือกรณีของพันตำรวจเอกทวี ที่เป็นเรื่องจริยธรรมก็จริง แต่โดนตรวจสอบในเรื่องการทำงานโดยแท้ ผิดกับคำร้องที่นายกฯเผชิญอยู่ ซึ่งพัวพันเรื่องผลประโยชน์ของชาติจากกรณีคลิปเสียง โดยอาจเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญที่อาจต้องพิจารณาไตร่ตรองโดยละเอียด

ดังนั้น บางทีพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลอาจต้องเผื่อใจเอาไว้บ้างสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน
กำลังโหลดความคิดเห็น