xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตำนาน พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี คนที่19 เจ้าของวาทะ “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปิดตำนาน "บิ๊กสุ" พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกฯ คนที่ 19 เจ้าของวลี "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ สิริอายุ 91 ปี อดีต ผบ.ทบ. และแกนนำ รสช. ผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองไทย
เช้ามืดวันที่ 7 มิถุนายน 2568 พลเอกเจิดวุธ คราประยูร อดีตนักเรียน เตรียมทหารรุ่นที่ 19 ได้แจ้งข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของบิดาคือ พลเอก สุจินดา คราประยูร หรือ“บิ๊กสุ” อดีตนายทหารผู้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ที่เปิดปฏิบัติการรัฐประหารยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2534

โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อเวลา 01.57 น. ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ สิริรวมอายุ 91 ปี 10 เดือน 4 วัน

พลเอกสุจินดา เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2476 ที่ตำบลบ้านช่างหล่อ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรคนเล็กของนางจวงกับนายสมพงษ์ คราประยูร มีพี่สาวสองคน โดยครอบครัวเป็นข้าราชการกรมรถไฟ

ชีวิตครอบครัวสมรสกับคุณหญิงวรรณี คราประยูร (สกุลเดิม หนุนภักดี) มีบุตรด้วยกัน 2 คน ได้แก่พลเอก เจิดวุธ คราประยูร ที่ปรึกษาพิเศษ กองบัญชาการกองทัพไทย และนายเจนวิทย์ คราประยูร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด

ประวัติการศึกษาของพลเอกสุจินดาตั้งแต่วัยเด็ก เริ่มต้นที่โรงเรียนทวีธาภิเศก ซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วน ในย่านบางกอกน้อย ก่อนที่จะย้ายไปเรียนต่อที่จังหวัดหนองคาย ช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 และกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับการทิ้งระเบิดของเครื่องบินสัมพันธมิตร ทำให้ครอบครัวตัดสินใจส่งลูกๆ ไปอยู่กับญาติที่จังหวัดหนองคาย ก่อนที่พลเอกสุจินดาจะกลับมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนวัดราชบพิธและจบมัธยม 8 จากโรงเรียนอำนวยศิลป์

อาจกล่าวได้ว่า ดวงชะตาของพลเอกสุจินดาถูกกำหนดไว้แล้วว่า จะต้องเป็นทหาร แม้ว่าจะเคยสอบเข้าเรียนเตรียมแพทย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียนไปแล้ว 1 ปี แต่พลเอกสุจินดา ตัดสินใจลาออก เพื่อสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมนายร้อย จนเป็นหนึ่งใน จปร. รุ่น 5 ที่มีเพื่อนร่วมรุ่น เป็นนายทหารคนดังจำนวนมาก อาทิ พันเอกณรงค์กิตติขจร พลเอกศัลย์ ศรีเพ็ญ
รวมทั้งพลเอกอิสระพงษ์ หนุนภักดี ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนร่วมรุ่น จปร. 5 และเป็นญาติ ทางภรรยา โดยพลเอกสุจินดา สมรสกับคุณหญิงวรรณี หนุนภักดี น้องสาวพลเอก อิสระพงษ์

พลเอกสุจินดาเป็นนายทหารเหล่าปืนใหญ่ เริ่มรับราชการครั้งแรกในปี 2496 ก่อนจะได้ทุนไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อย West point แล้วกลับมาเป็นอาจารย์วิชาทหารปืนใหญ่ และอาจารย์ประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

ชีวิตราชการของพลเอกสุจินดา เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นพันเอกพิเศษพลเอกสุจินดา เดินทางไปรับตำแหน่ง ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นายอานันท์ ปัญญารชุน ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พลเอกสุจินดาจึงมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับนายอานันท์ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ในภายหลังพลเอกสุจินดา ตัดสินใจเชิญให้นายอานันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลาที่คณะนายทหารของพลเอกสุจินดาครองอำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

พลเอกสุจินดาได้รับการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2533 ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจจากนายกชาติชาย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปีรุ่นขึ้นโดยคณะ รสช. ที่มี “บิ๊กจ๊อด” พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้า รสช. และพลเอกสุจินดา เป็น รอง หน.รสช.

นายทหารที่ร่วมเป็นแกนนำในคณะ รสช.อีก 3 คน ก็คือ พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ ซึ่งเป็นผู้คุมทีมการยึดเครื่องบิน C130 อันเป็นพาหนะที่พลเอกชาติชายใช้ในการเดินทาง ไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งขณะนั้นประทับที่จังหวัดเชียงใหม่

พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณะจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งแม่ทัพเรือ 5 ปี นานที่สุดในประวัติศาสตร์ และแกนนำคนสุดท้ายก็คือ พลเอกอิสระพงษ์ หนุนภักดี

แม้อำนาจทางการเมืองและการทหารของไทยจะอยู่ในกำมือของกลุ่ม รสช. อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ตาม แต่กลับมีเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดเกิดขึ้น นั่นคือ การประท้วงที่เรียกกันว่า ม็อบมือถือ โดยกลุ่มชนชั้นกลางที่ไม่ใช่ม็อบจัดตั้งออกมารวมตัวกันประท้วงเรียกร้องให้พลเอกสุจินดา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากที่บิ๊กสุเคยประกาศว่า จะไม่รับตำแหน่งผู้นำประเทศหลังการยึดอำนาจ

แต่พลเอกสุจินดากลับลาออกจากตำแหน่ง ผบ.สูงสุด และ ผบ.ทบ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2535 เพื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 โดยใช้ถ้อยคำที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นการ “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

จากนั้นพลเอกอิสระพงษ์ ได้เข้ารับตำแหน่งในกองทัพต่อจากพลเอกสุจินดา และเมื่อการประท้วงของม็อบมือถือขยายตัวมากขึ้น โดยมีพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำ และฝ่ายกองทัพ ได้ส่งทหารเข้าปราบปรามและจับกุมพลตรีจำลองจากที่ชุมนุมถนนราชดำเนิน ยังผลให้ผู้ที่แตกทัพจากการสลายการชุมนุมไปรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยไม่มีทีท่าว่าจะยอมยุติการชุมนุม แต่อย่างใด

แล้วภาพจำที่คนไทยได้เห็นก็คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรี ได้นำพลเอกสุจินดาและพลตรีจำลอง ซึ่งถือเป็นคู่ขัดแย้งในวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีพระราชดำรัสใจความสำคัญว่า

“ขอให้สองท่านหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากันเพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วใครจะชนะ ไม่มีทาง มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดคือประเทศชาติ ประชาชน แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่จะทนงตัวว่าชนะเวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง”

หลังจากการเข้าเฝ้าในคืนวันนั้น พลเอกสุจินดาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และได้รับการจารึกไว้ว่า พลเอกสุจินดา นายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ดำรงตำแหน่งเพียง 47 วัน

สิ่งหนึ่งที่เป็นการยืนยันถึงสัจธรรมที่ว่า ไม่มีอำนาจใดจะดำรงอยู่ได้ตลอดกาล และทุกชีวิตล้วนรอคอยที่จะพบกับวาระสุดท้าย เพื่ออำลาโลกไปทั้งสิ้น

ในส่วนของคณะนายทหารที่เกี่ยวข้องกับ รสช. ผู้ที่ล่วงลับไปเป็นคนแรกคือ พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540

คนต่อมาคือ “บิ๊กจ๊อด” พลเอกสุนทรคงสมพงษ์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2542 คนที่ 3 คือพลเอกอิสระพงษ์ หนุนภักดี หรือ “บิ๊กตุ๋ย” ซึ่งเป็นแม่ทัพคนสำคัญในการสู้รบกับทหารเวียดนามที่สมรภูมิช่องบก เมื่อครั้งเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 และแกนนำ รสช. ซึ่งถึงแก่อสัญกรรม ในลำดับที่ 4 คือ พลอากาศเอกเกษตร โรจนะนิล หรือ “บิ๊กเต้” อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567

ก่อนที่ “บิ๊กสุ” พลเอกสุจินดา คราประยูร แกนนำ รสช. คนสุดท้าย ที่เหลืออยู่ จะ ถึงแก่อสัญกรรมในเช้ามืดวันที่ 10 มิถุนายน 2568 ปิดตำนานคณะ รสช. ไปตลอดกาล


กำลังโหลดความคิดเห็น