กว่ารัฐบาลจะตื่น มลพิษล้นแม่น้ำกก คนล้านชีวิตเดือดร้อน
ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเพิ่งตื่นตัวกับสถานการณ์วิกฤติแม่น้ำกกในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนสารเคมีปนเปื้อนในปริมาณมหาศาล จนส่งผลกระทบต่อการนำน้ำไปใช้ในการอุปโภคบริโภค และการทำประมงพื้นบ้าน เนื่องจากสัตว์น้ำในพื้นที่ติดเชื้อและป่วยเป็นโรคจำนวนมาก
นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน ตั้งแต่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย
ทั้งนี้ ปัญหาของแม่น้ำกกเริ่มมีเสียงสะท้อนของประชาชนในพื้นที่มาตั้งแต่เดือนเมษายนแล้ว แต่เวลานั้นเสียงของประชาชนยังไม่ดังพอที่จะทำให้รัฐบาลหันมาสนใจ โดยองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) เคยเผยแพร่ข้อมูลออกมาก่อนหน้านี้ ว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมลพิษ คือ การขุดเจาะทำแร่แรร์เอิร์ธต้นแม่น้ำกก ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ห่างจากชายแดนไทย ประมาณ 20 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากแม่น้ำกกเพียง 2-3 กิโลเมตร ซึ่งการทำเหมืองแร่ต้องใช้กรดฉีดเข้าไปในภูเขา และสกัดแร่ออกมา ซึ่งส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมรุนแรง
ขณะเดียวกัน เอาจริงๆแล้วเรื่องนี้หน่วยงานภาครัฐก็มีข้อมูลอยู่แล้ว อย่างเช่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ได้ลงพื้นที่ตรวจคุณภาพน้ำเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่า จุดที่เก็บตัวอย่างใน อำเภอแม่อาย แก่งตุ้มเจอสารหนูมีค่า 0.026 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมาตรฐานในน้ำทั่วไปจะต้องไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร หมายความว่า เกินกว่าค่ามาตรฐานกว่าหนึ่งเท่าตัว ถือว่ามีผลกระทบนำน้ำไปอุปโภคหรือบริโภค ส่วนที่บ้านท่าตอน พบ 0.012 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนที่บ้านผาใต้ตรวจพบ 0.013 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งพบสารหนูเกินมาตรฐานทุกจุด นอกจากนั้นบริเวณ
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของประชาชนในพื้นที่และกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้นยังคงถือเป็นคำถามใหญ่สำหรับรัฐบาล เพราะต้นเหตุเกิดมาจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศเพื่อนบ้าน
ปัญหาใหญ่อยู่ที่ศักยภาพของรัฐบาลไทยในการประสานงานกับรัฐบาลเมียนมาเพื่อเข้าไปควบคุมการทำเหมืองแร่ดังกล่าวให้อยู่ภายใต้หลักการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าเวลานี้เมียนมามีปัญหาภายในพอสมควร อันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ลำพังปัญหาภายในประเทศ รัฐบาลเมียนมายังเอาตัวแทบไม่รอด คงแทบไม่ต้องบอกว่าการให้ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยน่าจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ขณะเดียวกัน พอมามองถึงกระบวนการเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษภายในของประเทศไทย ก็จะพบว่ามีความซับซ้อนทั้งในเรื่องกระบวนการทำงานและข้อกฎหมายพอสมควร กล่าวคือ กฎหมายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหามลพิษของประเทศไทย ถูกออกแบบมาผิดที่ผิดทาง เนื่องจากมีการแบ่งแยกอำนาจให้กับหลายหน่วยงานมากเกินไป เช่น ถ้าเป็นมลพิษจากการประกอบอุตสาหกรรม จะเป็นหน้าที่เฉพาะของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเป็นผู้ให้ใบอนุญาต โดยกรมควบคุมมลพิษแทบจะไม่มีอำนาจเข้าไปดำเนินการได้เลย
และยิ่งปัญหาแม่น้ำกกเป็นมลพิษข้ามพรมแดนด้วยแล้ว แทบไม่อยากคิดเลยว่าชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อใด เนื่องจากรัฐบาลไทยใดมักจะพยายามหลีกเลี่ยงการแสดงท่าทีกดดันประเทศเพื่อนบ้านตามสไตล์ของกระทรวงการต่างประเทศ
ดังนั้น นอกจากคำถามที่ว่าเมื่อไหร่ประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือแล้ว ยังต้องถามว่า 'แพทองธาร' ยังไหวไหมกับการเป็นผู้นำประเทศของคนไทยทั้งชาติ