ปมร้อนข่าวลึก : 'สมศักดิ์ เทพสุทิน' นักการเมืองผู้อยู่เป็น กล้าล้มมติแพทยสภา?
แม้ว่าคณะกรรมการแพทยสภามีมติลงโทษแพทย์ 3 คน ที่เกี่ยวข้องกับการพักรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ แบ่งเป็น การว่ากล่าวตักเตือน 1 คน ในกรณีประกอบวิชาชีพและเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน เกี่ยวกับการออกใบส่งตัว และพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2 คน ในกรณีให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ดูเหมือนว่าขั้นตอนต่อจากนี้ยังมีความอีนุงตุงนังพอสมควร เพราะจะต้องมีฝ่ายการเมืองเข้ามาร่วมตัดสินใจเรื่องนี้
กล่าวคือ ตามขั้นตอนของพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 มาตรา 25จะต้องส่งมติดังกล่าวให้สภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ภายในกรอบเวลา 15 วัน
โดยผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊ก Smith Fa Srisont อธิบายว่า เมื่อนายกแพทยสภาส่งมติให้ รมว.สธ.แล้ว จะต้องดูตามมาตรา 25 วรรคสาม คือ รมว.สธ.อาจมีคำสั่งยับยั้งมติได้ หรือถ้าไม่มีคำสั่งใดๆ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ รมว.สธ. ได้รับมติ ให้ถือว่า รมว.สธ.ให้ความเห็นชอบมตินั้น ดังนั้นขั้นถัดไปจึงมี 2 กรณี กรณีเห็นชอบ แพทยสภาเอามติมาทำเป็นคำสั่งแพทยสภาได้เลย กรณีไม่เห็นชอบ จะมีขั้นถัดไป
"กรณีไม่เห็นชอบ หรือมีการยังยั้งมติจาก รมว.สธ. ขั้นถัดไปคือ คณะกรรมการแพทยสภาต้องพิจารณามติเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งในที่ประชุม โดยหากต้องการยืนยันว่าจะดำเนินการตามมติเดิม จะต้องมีเสียงเห็นชอบจากกรรมการเป็นจำนวน 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งคณะ หรือคือปัจจุบันต้องมี 47 เสียง ถ้าได้ 47 เสียงเห็นชอบนี้แล้ว ก็จะทำเป็นคำสั่งแพทยสภาได้"
"คำสั่งแพทยสภาให้ลงโทษใดๆ หรือยกข้อกล่าวโทษ ถือว่าเป็นที่สุด แต่ปัจจุบันเนื่องจากมีระบบศาลปกครอง คำสั่งแพทยสภาถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง ผู้เสียหายสามารถยื่นขอเพิกถอนคำสั่งได้ ต้องให้ศาลปกครองพิจารณาต่อไป (มี 2 ขั้นคือ ศาลปกครอง กับศาลปกครองสูงสุด)" ส่วนหนึ่งจากข้อความที่โพสต์ของผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา
มองดูจากขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ทำให้หลายฝ่ายจับตาไปทันทีว่า 'สมศักดิ์ เทพสุทิน' จะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ล้วนแต่มีผลในทางการเมืองที่แตกต่างกันพอสมควร
กล่าวคือ สมศักดิ์ ยังมีหมวกอีกใบหนึ่งการเป็นคนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่าพรรคนี้ใครเป็นเจ้าของ การยืนยันตามมติของคณะกรรมการแพทยสภา แทบไม่ต่างอะไรกับการทำให้นายใหญ่ที่ยังมีคดีไต่สวนในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตกที่นั่งลำบากมากขึ้น เนื่องจากอาจเป็นการตอกย้ำในข้อเท็จจริงที่ว่าด้วยการป่วยทิพย์ ในทางกลับกัน หากใช้อำนาจยับยั้งมติดังกล่าว แม้ว่าที่สุดแล้วอำนาจเด็ดขาดยังเป็นของคณะกรรมการแพทยสภาก็จริง แต่ก็อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็เป็นไปได้ มิพักต้องบอกว่าทัวร์จะลงหนักแค่ไหน และจะเกิดอะไรขึ้นตามมาบ้าง
เท่ากับว่าสถานการณ์เช่นนี้กลายเป็นปัญหาตรงกลางระหว่างเขาควายกันเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เวลาที่สมศักดิ์ถูกผู้สื่อข่าวถามจี้จุดเพื่อขอความชัดเจน จะพยายามตอบเป็นกลางๆหลีกเลี่ยงความขัดแย้งมาตลอด ซึ่งมองได้อย่างหนึ่งว่าเป็นภาวะที่ตัดสินใจไม่ได้นั่นเอง
เข้าใจดีว่า เรื่องผลสอบแพทยสภา จะถูกนำไปเชื่อมโยงทางการเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า นักการเมืองหลายคน ก็พยายามเชื่อมโยงจนสังคมสับสน โดยผมเข้าใจบทบาทนักการเมืองที่ทำมาแบบดั้งเดิม แต่ก็ขอว่า อย่าให้ข้อมูลแบบซ้ายที ขวาที เพราะจะทำให้สังคมเข้าใจผิด ทั้งที่ผม ยังไม่ได้เริ่มพิจารณาแม้แต่น้อย" ท่าทีของสมศักดิ์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม 'สมศักดิ์ เทพสุทิน' ถือเป็นนักการเมืองชั้นเซียนที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการ 'อยู่เป็น' มาโดยตลอด ตลอดชีวิตในทางการเมืองไม่เคยเป็นฝ่ายค้านปรับตัวอยู่ได้กับทุกสถานการณ์และขั้วอำนาจทางการเมือง จนกลายเป็นที่ของวาทะที่ว่า "ถนัดเป็นรัฐบาลมากกว่าเป็นฝ่ายค้าน"
คนที่มีภูมิหลังทางการเมืองแบบนี้มาก่อนย่อมรู้ดีว่าเวลานี้ควรอยู่ให้เป็นและอยู่ให้รอดจะต้องทำอย่างไร