มหากาพย์ 'แบบเรียน' รุ่งศิลป์ ร้อง 'เพิ่มพูน' สอบ 'สกสค.' ทำผิดมติ ครม.
ปัญหาเกี่ยวกับการจัดพิมพ์แบบเรียนให้กับนักเรียนทั้งประเทศนั้น ดูเหมือนว่าความคาราคาซังจะเข้าขั้นเป็นมหากาพย์กันเลยทีเดียว โดยล่าสุดนายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด (โรงพิมพ์รุ่งศิลป์) ได้ทำหนังสือถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอให้พิจารณาการกระทำขององค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) ว่าขัดหรือแย้งต่อมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ โดยอ้างถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤจิกายน 2546 ที่อนุมัติหลักเกณฑ์ในการให้สิทธิพิเศษแก่ โรงพิมพ์ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ รวม 7 ข้อ สาระสำคัญคือ ให้ส่วนราชการ จ้างพิมพ์จากโรงพิมพ์ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยวิธีกรณีพิเศษ ซึ่งในข้อ 7 ให้คณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษฯ กระทรวงการคลัง พิจารณาระงับสิทธิของโรงพิมพ์องค์การค้าของ สกสค. เนื่องจากตรวจพบว่า มีการส่งงานพิมพ์ให้เอกชนรับช่วงพิมพ์ต่อ ซึ่งเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรี
“ลักษณะนี้เท่ากับว่าองค์การค้าของ สกสค. มีหน้าที่เป็นเพียงนายหน้าค้ากำไร ทำให้ราคาหนังสือแบบเรียนที่ สพฐ. และ สสวท.ให้องค์การค้าของ สกสค.ดำเนินการพิมพ์มีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ราคาจำหน่ายหนังสือที่ สพฐ.เป็นผู้กำหนดสูงเกินความเป็นจริง” นายนัทธพลพงศ์ ระบุ
นายนัทธพลพงศ์ อธิบายต่อว่า นอกจากองค์การค้าของ สกสค.จะว่าจ้างโรงพิมพ์เอกชนพิมพ์หนังสือแทนตนแล้ว ยังมอบหนังสือเรียนให้แก่บริษัทตัวแทนจำหน่ายเอกชนทำการจำหน่ายหนังสือแบบบเรียนในการสถานศึกษาภายใต้สังกัด สพฐ. โดยองค์การค้าของ สกสค.แสวงหากำไรจากโรงพิมพ์ ตัวแทนจำหน่าย และ สพฐ. และ สสวท. เพื่อเป็นรายได้ขององค์การค้าของ สกสค.จึงทำให้ต้นทุนหนังสือแบบเรียนสูงเกินความเป็นจริงอย่างมาก ซึ่งองค์การค้าของ สกสค. ไม่อาจกระทำได้ เพราะขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น และขัดต่อกฎหมายด้วย
“ขอให้ สพฐ. และ สสวท. เร่งพิจารณาทบทวนการให้องค์การค้าของ สกสค. ที่ทำตัวเป็น นายหน้าค้ากำไร ในการได้รับอนุญาตให้พิมพ์แลถจำหน่ายหนังสือแบบเรียนจำหน่ายในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ต่อไปหรือไม่ เพราะ สพฐ. และ สสวท. ซึ่งเป็นเจ้าของหลักสูตรการเรียนทั้งหมด สามารถดำเนินการจัดจ้างโรงพิมพ์เอกชนเองโดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง อันจะส่งผลให้คุณภาพหนังสือแบบเรียนดีขึ้น และราคาจำหน่ายถูกลงอย่างมาก” นายนัทธพลพงศ์ กล่าว
นายนัทธพลพงศ์ ระบุอีกว่า ข้อมูลหลายๆเรื่องที่เกี่ยวกับองค์การค้าของ สกสค.นั้น ยอมรับว่า บริษัทฯ ได้รับจากคนในองค์การค้าของ สกสค. ที่รักและปรารถนาดีต่อองค์กร ทนต่อพฤติกรรมของผู้บริหารที่ทำให้องค์กรตกต่ำลงกว่านี้ไม่ได้ จนเกิดคำถามว่า ยังจำเป็นที่ต้องมีองค์การค้าของ สกสค.อีกหรือไม่