ปมร้อนข่าวลึก : ศาลสั่งไต่สวน'ทักษิณ' พลิกข้อกฎหมาย ศึกนี้ 'รอด' หรือ 'ร่วง'
เวลานี้บ้านจันทร์ส่องหล้าน่าจะเกิดอาการสั่นคลอนพอสมควร ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้หยิบยกเอากรณีคำร้องของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในเรื่องที่กรมราชทัณฑ์อนุญาตให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 8 ปี แต่ได้รับการลดโทษเหลือ 1 ปี ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล มาพิจารณาด้วยตัวเอง แม้จะมีความเห็นว่านายชาญชัย ผู้ร้องไม่ได้เป็นคู่ความในคดีของนายทักษิณมาก่อนก็ตาม
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ศาลฎีกานำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาด้วยตัวเอง คือ การที่ศาลมองว่าเมื่อความปรากฏต่อศาลว่า อาจมีการบังคับตามคำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาลนี้ ศาลย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร จึงเป็นเหตุให้มีคำสั่งให้นายทักษิณ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ แจ้งให้ศาลทราบ พร้อมกับแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งศาล อีกทั้ง ศาลมีคำสั่งให้นัดพร้อมหรือนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 เวลา 09.00 น.
เท่ากับว่าแม้ว่านายชาญชัยผู้ร้องจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีของนายทักษิณ แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงมาปรากฏต่อศาล จึงเป็นกรณีที่ศาลสามารถนำพิจารณาได้ด้วยตัวเองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 6
เป็นอีกครั้งที่ 'ทักษิณ' ต้องเตรียมตัวและเตรียมใจมาขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยประเด็นการต่อสู้ทางกฎหมายในเรื่องนี้อยู่ที่การชี้ขาดว่า
นายทักษิณได้ติดคุกจริงและการได้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนั้นเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ในประเด็นนี้มีข้อถกเถียงกันในข้อกฎหมายพอสมควร ทั้งในส่วนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 และ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 กล่าวคือ มาตรา 246 เป็นเรื่องของการอำนาจศาลสั่งให้ทุเลาการบังคับโทษจำคุก จนกว่าเหตุอันควรจะหมดไป ได้แก่ (1)เมื่อจำเลยวิกลจริต (2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก (3) ถ้าจำเลยมีครรภ์ (4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น ส่วนมาตรา 55 เป็นการให้อำนาจกรมราชทัณฑ์ในการส่งผู้ต้องขังไปรักษาอาการป่วยนอกเรือนจำได้
กลายเป็นกรณีที่กฎหมายสองฉบับกำหนดแนวทางการดำเนินการไว้แตกต่างกัน โดยกฎหมายฉบับหนึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจของศาล ส่วนกฎหมายอีกฉบับให้เป็นอำนาจของกรมราชทันฑ์ อีกทั้งในมาตรา 55 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวยังระบุว่าในกรณีที่ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ไม่ให้ถือว่าผู้ต้องขังนั้นพ้นจากการคุมขัง ถ้าตีความตามตัวอักษรของมาตรา 55 แล้วเท่ากับว่าการทุกวินาทีที่ทักษิณนอนพักที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จะถูกนับเป็นการติดคุกไปพร้อมกันด้วย
ด้วยเหตุนี้ในแง่มุมทางกฎหมาย จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยในเรื่องนี้อย่างไร ในเมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 ที่ให้อำนาจศาลโดยตรง กับ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 บัญญัติแตกต่างกันพอสมควร และที่สำคัญลำดับศักดิ์ของกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ก็มีความเท่ากันด้วย
ดังนั้น ถ้าอ่านใจทีมกฎหมายของฝ่ายทักษิณ เป็นไปได้ที่น่าจะพอเห็นช่องในการต่อสู้คดีตามข้อกฎหมายข้างต้นพอสมควร โดยเฉพาะการหยิบจับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นมาให้ศาลฎีกาเห็นว่าทักษิณป่วยจริง และการใช้ชีวิตในโรงพยาบาลก็ถือเสมือนว่าได้ติดคุกในเชิงข้อเท็จจริงแล้ว จนเข้าองค์ประกอบเงื่อนไขของการได้รับการพักโทษและอิสรภาพในทื่สุด
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าทีมกฎหมายทักษิณจะทำชิวได้มากนัก เพราะในแง่ของกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ย่อมต้องพิจารณาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มิเช่นนั้นคงไม่มีคำสั่งให้ผู้บัญชาการเรือนจำ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ส่งข้อมูลมาให้ศาลฎีกาฯ
ไม่เพียงเท่านี้ อย่าลืมว่าระบบการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ ใช้ระบบการไต่สวนเป็นสำคัญ หมายความว่า ศาลฎีกาฯ จะไม่ถูกจำกัดหรือถูกตีกรอบเฉพาะข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่นำเสนอมาจากโจทก์และจำเลยเท่านั้น แต่ศาลสามารถค้นหาความจริงได้ทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่การพิจารณาคดี
ตรงนี้เองจึงน่าสนใจว่าการชี้ขาดว่าทักษิณป่วยทิพย์หรือไม่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของเรื่องนี้
อาจพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆด้วยนอกเหนือไปจากเอกสารจากโรงพยาบาลตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้เคยชี้ขาดเรื่องนี้เอาไว้แล้วในประเด็นเกี่ยวกับการให้สิทธิพิเศษแก่ทักษิณของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่ปรากฏเป็นประจักษ์ต่อสาธารณะ
ที่สุดแล้วผลปลายทางของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆระหว่างทางของการสู้คดีนั้นทักษิณคงประเมินสถานการณ์กันทุกวินาทีกันเลยทีเดียว